5 ก.พ. 2023 เวลา 12:28 • ข่าวรอบโลก

Ala Kachuu ธรรมเนียมการลักพาตัวเจ้าสาว

“ฉันไม่เคยตอบว่า ‘ตกลง’”
นี่คือคำพูดของ Aisuluu ผู้ถูกลักพาตัวเมื่ออายุ 17 ปี โดยถูกบังคับให้แต่งงานกับชายที่เธอไม่เคยรู้จักไม่เคยเห็นหน้ามาก่อน สองเดือนต่อมาหลังจากถูกลักพาตัวเธอสามารถหนีออกมาได้ เธอหนีออกมาจากหมู่บ้าน หนีออกมาจากครอบครัว และหนีออกมาจากชายที่ใช้กำลังให้เธอแต่งงานด้วย
25 ปีผ่านไป Aisuluu ก็ยังไม่เคยลืมฝันร้ายในครั้งนั้น เธอไม่สามารถยกโทษให้กับคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ลักพาตัวครั้งนั้นแม้กระทั่งพ่อแม่ของเธอเอง เพราะเธอถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ
1
สิ่งที่เกิดกับ Aisuluu หญิงสาวจากประเทศคีร์กิซสถานผู้นี้เรียกว่า Ala Kachuu-อะลา คาชู แปลตรง ๆ ตัวคือ “จับตัวแล้วหนีไป” เป็นธรรมเนียมการลักพาตัวหญิงสาวไปแต่งงานด้วยโดยที่เจ้าตัวมิได้ยินยอม
ลองจินตนาการดูว่าหากเราเป็นสาวน้อยวัยรุ่นอายุไม่ถึง 20 ปีที่ใช้ชีวิตไปตามปกติ แล้วเดินออกจากบ้านไปทำธุระที่ไม่ไกลจากบ้านมากนัก จู่ ๆ ก็มีรถมาจอดกึกแล้วมีกลุ่มผู้ชายมาฉุดกระชากลากถูขึ้นรถทั้งหัวเราะและตะโกนใส่
จากนั้นเราถูกนำไปยังบ้านของชายที่ลักพาตัวเรามา ซึ่งเราอาจจะไม่เคยรู้จักเขาหรือเพิ่งเห็นหน้าค่าตาได้ไม่นาน แม้เราจะขัดขืนตะโกนกรีดร้องอย่างไรก็ไม่มีใครมาช่วย เราถูกพาตัวเข้าบ้าน ญาติ ๆ ของชายผู้นั้นผลักเราเข้าไปแล้วกักขังหน่วงเหนี่ยวเราไว้และบอกกับเราว่าในวันนั้น เราจะต้องแต่งงานกับชายผู้นั้น
ถ้าเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นกับเรา จะเป็นเช่นไร?
ภาพปกนำมาจากวารสาร Newsweek (NORIKO HAYASHI/PANOSA) ที่บรรยายภาพว่าหญิงสาววัย 20 ปีถูกบังคับให้ไปยังบ้านฝ่ายชายโดยมีญาติ ๆ ของเขาแห่แหนตามไปด้วย
โปสเตอร์หนังสั้นถ่ายทอดเรื่องราวประเพณี ala kachuu ของคีร์กิสถาน ผ้าโพกหัวสีขาวคือสัญลักษณ์ของการยอมรับการแต่งงานซึ่งขัดแย้งกับสีหน้าที่ไม่เต็มใจของผู้หญิง (ที่มา: Wikipedia)
• ความเป็นมา
Ala Kachuu การลักพาตัวเจ้าสาวเพื่อบังคับให้ไปแต่งงาน เป็นธรรมเนียมที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ และในปัจจุบันก็ยังคงปฏิบัติอยู่ในประเทศแถบเอเชียกลางที่คาบเกี่ยวกับยุโรป เช่น มอลโดวา ดินแดนเชชเนีย อาร์มาเนีย คีร์กิซสถาน และคาซักสถาน เป็นต้น (และปรากฏในทวีปแอฟริกาด้วย เช่นที่ประเทศเอธิโอเปีย และแอฟริกาใต้)
2
โดยเฉพาะในประเทศคีร์กิซสถาน ที่มีประชากรทั้งหมดประมาณ 6.5 ล้านคน ถือว่าเป็นศูนย์กลางของโลกในการบังคับลักพาตัวไปแต่งงาน ธรรมเนียมนี้ยังคงปฏิบัติอยู่อย่างแพร่หลายเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะในเขตชนบท แม้ทุกวันนี้จะกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายแล้วก็ตาม แต่สำหรับคนคีร์กิซจำนวนมากโดยเฉพาะคนรุ่นเก่ามองว่าธรรมเนียมนี้ไม่ใช่เรื่องผิดแปลก
เฉพาะในเขตชนบท ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่มากกว่า 60% ของประชากรทั้งประเทศ มีการทำสำรวจและพบว่าการแต่งงานที่เกิดขึ้นโดยการบังคับลักพาตัวนั้นมีอัตราถึง 1 ใน 3 ของการแต่งงาน ซึ่งมีแนวโน้มทำให้หญิงสาวมักจะหนีออกจากหมู่บ้านเพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับลักพาตัวไปแต่งงาน
2
ธรรมเนียมนี้ถูกปราบปรามในช่วงที่เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต แต่พอสหภาพโซเวียตล่มสลาย ธรรมเนียมนี้ก็กลับมาแพร่หลายอีกครั้ง
1
ในปัจจุบัน การลักพาตัวไม่ได้ซับซ้อนอะไร ฝ่ายเจ้าบ่าวจะรวบรวมเพื่อนฝูงแล้วพากันขับรถเพื่อมองหาหญิงสาวที่เจ้าบ่าวต้องตาต้องใจอยู่ พอเห็นเป้าหมายก็จับตัวหญิงสาวขึ้นรถ แล้วพาไปบ้านของตัวเอง ซึ่งการลักพาตัวนี้เกิดขึ้นในที่สาธารณะตอนกลางวันแสก ๆ
จากนั้นญาติฝ่ายชายที่เป็นหญิงจะเข้ามาข่มขู่หญิงสาวที่ถูกลักพาตัวให้ตกลงปลงใจยินยอมแต่งงาน จะมีการกักขังผู้หญิงคนนั้นไว้ แล้วจะมีการสวมผ้าพันคอสีขาวพันศีรษะหญิงผู้นั้นไว้ ซึ่งหากหญิงสาวคนใดยอมให้คลุมผ้าคลุมผมสีขาว นั่นคือเป็นสัญลักษณ์แสดงว่าหญิงผู้นั้นตกลงปลงใจแต่งงานแล้ว
2
สิ่งที่เลวร้ายที่สุดสำหรับผู้หญิงที่ถูกลักพาตัวคือพ่อแม่ของเธอมักจะกดดันให้ลูกสาวของตนยอมแต่งงานไปเสีย เพราะถือกันว่าถ้าหญิงสาวคนใดได้ถูกนำตัวเข้าบ้านฝ่ายชายที่ลักพาตัวไปแล้วจะถือว่าไม่ใช่สาวบริสุทธิ์อีกต่อไป การที่ลูกสาวกลับบ้านโดยไม่ได้แต่งงานจะถือว่าเป็นเรื่องอับอายสำหรับครอบครัว
ดังนั้น เพื่อไม่ต้องเผชิญกับความเสื่อมเสียอัปยศต่อครอบครัว ผู้หญิงหลายคนจำใจอยู่กับชายที่ลักพาตัวเธอไป มีตัวเลขว่ามีผู้หญิงที่ถูกลักพาตัวถึง 84% ที่สุดท้ายแล้วก็ตกลงใจแต่งงานไป ส่วนที่เหลืออันน้อยนิดคือไม่ยอมและหนีกลับบ้านไป
มีเหยื่อเพียงน้อยนิดที่พอจะโชคดีที่ครอบครัวไม่ยินยอม จึงมีพ่อหรือญาติที่เป็นผู้ชายไปช่วยพาเธอกลับบ้านได้
การลักพาตัวนี้มักจะไม่ใช่เรื่องโรแมนติกอย่างในละครไทย เพราะบางครั้งฝ่ายชายที่ลักพาตัวนั้นจะลงไม้ลงมือหรือลงมือข่มขืนผู้หญิงที่ลักพาตัวเพื่อให้เธออับอายและยอมอยู่กับเขา (แต่การใช้กำลังและข่มขืนไม่จัดว่าเป็นส่วนหนึ่งของธรรมเนียมนี้)
แต่เหรียญมีสองด้าน ในอีกด้านหนึ่งของธรรมเนียมนี้ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่สื่อตะวันตกที่ไม่เข้าใจในวัฒนธรรมชอบนำเสนอ
หญิงชราวัย 60 ปีเล่าว่า Ala Kachuu เป็นธรรมเนียมที่เก่าแก่มาก ๆ ตัวของคุณยายเองก็ถูกลักพาตัวไปแต่งงาน ซึ่งตัวคุณยายเองก็มีความสุขดีกับชีวิตครอบครัว สามีไม่เคยตบตีคุณยายเลย และทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี
2
สำหรับคนรุ่นใหม่ที่อายุต่ำกว่า 50 ปีมักจะไม่ยอมรับธรรมเนียมนี้ โดยเฉพาะหากคนที่ลักพาตัวไปไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลย แต่ถึงกระนั้น และก็มีบางส่วนการมองว่าธรรมเนียมการบังคับลักพาตัวไปแต่งงานนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ส่วนที่ยังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันนั้นเป็นการแสร้งทำตามธรรมเนียมเฉย ๆ
มีผู้หญิงชาวคีร์กิซหลายคนยืนยันว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเธอตามธรรมเนียม Ala Kachuu เป็นสิ่งที่ตกลงกันล่วงหน้าแล้วก่อนที่จะเกิดการลักพาตัวไปแต่งงาน สิ่งที่เห็นคือการแสดงเพื่อทำตามธรรมเนียมให้คงอยู่สืบไป หญิงหลายคนมองว่าธรรมเนียมนี้เป็นเกียรติสำหรับตัวผู้หญิงเองด้วยซ้ำเพราะแสดงถึงการที่เธอมีคุณค่าคู่ควรต่อการได้เป็นภรรยา
ภาพถ่ายระหว่างปี 1871 - 1872 ที่ทุ่งหญ้าสเต็ปป์ของคีร์กีซสถาน จะเห็นหญิงสาวคนแรกที่เตรียมตัวให้กลุ่มชาย 4 คนลักพาตัวเธอไปเป็นเจ้าสาว (ที่มา: Wikipedia)
• ปัญหาที่ยังแก้ไขไม่ได้
จากรายงานตัวเลขผู้หญิงจำนวน 12,000 คนที่ถูกบังคับลักพาตัวในปี 2013 นั้น มีผู้หญิงเป็นจำนวนถึง 2,000 คนที่ถูกข่มขืน
ในแต่ละปี ประมาณการณ์ว่าในคีร์กิซสถานจะมีหญิงสาวถูกลักพาตัวไปบังคับให้แต่งงานประมาณ 12,000 คน คิดเป็นในบรรดาผู้หญิง 4 คน จะมีอยู่ 1 คนที่ถูกลักพาตัวแล้วบังคับให้แต่งงาน และหญิงที่ถูกลักพาตัวนั้นมักจะอายุน้อยมาก อายุน้อยกว่าหญิงที่แต่งงานด้วยความรักหรือหญิงที่แต่งงานเพราะถูกคลุมถุงชน ค่าเฉลี่ยของอายุหญิงสาวที่ถูกลักพาตัวไปแต่งงานคือ 19 ปีเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังมีตัวเลขรายงานว่าเด็กผู้หญิงในคีร์กิซสถาน 1 ใน 10 คนจะได้แต่งงานก่อนมีอายุได้ 18 ปี
การลักพาตัวแล้วบังคับให้แต่งงานนั้นกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายในคีร์กิซสถานเมื่อปี 1994 และต่อมาในปี 2013 ประธานาธิบดี Almazbek Atambayev รับร่างกฎหมายเพิ่มโทษการลักพาตัวผู้หญิงไปเป็นเจ้าสาวเป็นการจำคุก 10 ปี โดยก่อนหน้านี้ โทษที่ผู้ชายได้รับจากการขโมยแกะสูงกว่าโทษที่ลักพาตัวผู้หญิงที่อายุยังไม่บรรลุนิติภาวะเพื่อไปแต่งงานเสียอีก
ปัจจุบัน ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวไกล มีการถ่ายคลิปการลักพาตัวผู้หญิงไปบังคับให้แต่งงานตอนกลางวันแสก ๆ แล้วนำคลิปไปลงยูทูปมากมายนับไม่ถ้วน (ซึ่งไม่อาจระบุได้ว่าเป็นพิธีที่ทำตามธรรมเนียมแต่มีการตกลงกันมาก่อน หรือเป็นการบังคับลักพาตัวจริง ๆ หากไปติดตามดูจงพิจารณาเอาเอง) แต่จากรายงานประจำปี 2015 นั้น มีคนลักพาตัวที่ถูกดำเนินคดีเพียงรายเดียวเท่านั้นนับตั้งแต่ปี 2008
เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะเจ้าหน้าที่ทางการมักจะเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ เพราะสิ่งนี้เป็น “ธรรมเนียมมาตั้งแต่สมัยโบราณ” และเหตุที่คนทั่วไปยังยอมรับเพราะมันเป็นแนวปฏิบัติซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของพวกเขาที่ทำกันมาเป็นเรื่องปกติ
แม้สภาพสังคมจะเปลี่ยนแปลงไป แต่ก็มีการหยิบยกเหตุผลที่ชอบธรรมของธรรมเนียมนี้ เช่น
- ธรรมเนียมนี้คนคีร์กิซทำกันเสมอมานานแล้ว เป็นสิ่งที่ชนเผ่าเร่ร่อนชิงชัยชิงใจผู้หญิง เป็นเรื่องที่โรแมนติกมาก และเป็นไปในลักษณะที่หนีตามผู้ชายด้วย หรือ
- ไม่มีเงินไปจ่ายเจ้าสาวหรือจ่ายค่าแต่งงาน นี่เป็นข้อโต้แย้งทางเศรษฐกิจสำหรับฝ่ายชายที่มีฐานะด้อยกว่า เพราะในประเทศคีร์กิซสถานหากแต่งงานจะต้องจ่ายค่าเจ้าสาวและเป็นเจ้าภาพ ซึ่งค่าใช้จ่ายเกินที่ฝ่ายชายจะจ่ายได้
ด้านลบของธรรมเนียมนี้คือผลกระทบที่มีต่อผู้หญิงที่ไม่ยินยอมพร้อมใจ ไม่เฉพาะเรื่องถูกบังคับให้แต่งงานแล้วถูกทำร้ายทั้งทางกายและใจ แต่ยังส่งผลต่อชีวิตด้วย
1
ประเทศคีร์กิซสถานที่อัตราการเสียชีวิตของเพศหญิงสูงที่สุดในเอเชียกลาง ปัจจัยหนึ่งมาจากการเสียชีวิตระหว่างคลอดลูกของหญิงสาวที่อายุน้อยยังไม่บรรลุนิติภาวะที่ถูกบังคับให้แต่งงาน นอกจากนี้ คือการที่หญิงที่ถูกลักพาตัวตัดสินใจฆ่าตัวตายก็มีอัตราสูงจนน่าตกใจไม่น้อย
1
และปัญหาอื่นที่ตามมาจากการบังคับลักพาตัวไปแต่งงานคือเกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและการหย่าร้างที่มีอัตราที่สูงมาก
1
กรรมยังไปตกแก่ลูกที่เกิดมาจากการลักพาตัวไปแต่งงานด้วย เด็กชนเผ่าในประเทศคีร์กิซสถานตัวเล็กกว่าค่าเฉลี่ยปกติ และเด็กที่ตัวเล็กกว่าปกติยังมีปัญหาเชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่จะเป็นโรคภัยที่รุมเร้าสูงกว่าเด็กอื่น ๆ อีกด้วย
1
คีร์กิซสถานมีนักการเมืองที่เป็นผู้หญิงอยู่ในสภา แต่การแก้ปัญหานี้เป็นเรื่องยากลำบากมาก เพราะพอพูดถึงปัญหานี้นักการเมืองชายจะพากันพร้อมใจเดินออกจากที่ประชุม
ภาพที่ถูกระบุว่าเป็นเจ้าสาวที่ถูกลักพาตัวที่ถ่ายในปี 2012 (ที่มา news.com.au)
• กรณีตัวอย่าง
Kasymbay Urus คือหญิงสาวชาวคีร์กิซผู้ถูกชายชื่อ Imonakunov Seitbek ลักพาตัวไปแต่งงาน เธอถูกข่มขืน และแม้ว่าสองวันต่อมาเธอจะหนีกลับบ้านได้ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเธอตามมาหลอกหลอนอย่างรุนแรงจนเธอผูกคอตายที่หลังบ้าน ส่วนชายที่ลักพาตัวเธอถูกดำเนินคดี และต้องโทษจำคุก 6 ปีในข้อหาลักพาตัวและข่มขืน
Aizada Kanatbekova และ Burulai Turdaaly Kyzy เป็นหญิงสาวที่ถูกบังคับลักพาตัวไปแต่งงานทั้งสองคน และเธอทั้งสองขัดขืน จึงถูกชายที่ลักพาตัวไปฆ่าตาย จึงเกิดการประท้วงต่อต้านธรรมเนียมนี้ไปทั่วประเทศ
สรุปได้ว่า Ala Kachuu เป็นธรรมเนียมที่มี 2 ด้าน ด้านหนึ่งคือเกิดจากการยินยอมพร้อมใจและเตี๊ยมกันมาก่อนจัดฉากการลักพาตัวเพื่อทำตามประเพณีที่สิบทอดกันมา ส่วนอีกด้านเป็นการบังคับลักพาตัวไปโดยฝ่ายหญิงไม่ได้ยินยอมพร้อมใจ
การประท้วงต่อธรรมเนียมการบังคับลักพาตัวไปแต่งงานที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2021 ที่คีร์กีซสถาน เกิดขึ้นหลังจากการฆาตกรรมหญิงสาวที่ถูกลักพาตัวไปแต่งงาน (ที่มา: Vyacheslav Oseledko/AFP via Getty Images/The Conversation)
อ้างอิง:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา