31 พ.ค. 2021 เวลา 05:30 • หนังสือ
Ep. 6/7 Eat that Frog!
มนุษย์มีสมาธิสั้นกว่าปลาทอง?
ปลาทองมีช่วงความสนใจ (attention span) หรือช่วงสมาธินาน 9 วินาที เปรียบเทียบกับมนุษย์ ที่พบว่าปัจจุบันคนมีสมาธิที่สั้นลงเหลือเพียง 8 วินาที ซึ่งได้จากการศึกษาวิจัยของ Microsoft [1]
นักวิจัยในแคนาดาได้สำรวจผู้เข้าร่วม 2,000 คน และศึกษาการทำงานของสมองโดยใช้เครื่องตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าสมอง (electroencephalograms) ซึ่งเป็นการตรวจการทำงานของเซลล์ประสาทของผู้เข้าร่วมทดลอง 112 คน พบว่าช่วงสมาธิเฉลี่ยของกลุ่มทดลองลดลงจาก 12 วินาทีเหลือเพียง 8 วินาที ตั้งแต่ปี 2000 ซึ่งเป็นปีที่มีการเริ่มใช้โทรศัพท์มือถือและมีการพัฒนามันอย่างต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
สมาร์ทโฟนยังมีข้อดีอยู่บ้าง งานวิจัยได้ระบุว่าคนยุคใหม่มีการพัฒนาความสามารถในการทำงานหลายอย่างพร้อมๆ กัน (multitask) ได้อย่างดี
แต่ในมุมกลับกัน การที่เราไม่สามารถจดจ่อในสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เสพติดโซเชียลมีเดีย จะทำให้สมองไม่มีการจำรายละเอียดของเนื้อหา ไม่เกิดการสังเคราะห์ความคิด ทำให้สมองรับรู้แค่ว่ามีข่าว มีดราม่าเรื่องอะไร แต่ไม่มีการนำไปคิดพิจารณาต่อ ก็ยิ่งทำให้เกิดการแชร์ การโพสต์ตอบสนองโดยไม่ไตร่ตรอง กระทบเป็นลูกโซ่เกิดเป็นกระแสดราม่าอย่างต่อเนื่อง
เทคโนโลยี อินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียมีประโยชน์มหาศาล เราต้องเป็นเจ้านายของมันและใช้มันเยี่ยงทาส อย่ากลับตกไปเป็นทาสของมันและถูกมันทำลายชีวิต
Cr. unsplash.com
กลับมาคุยกันต่อใน Ep. 6 ของซีรีย์หนังสือ "กินกบตัวนั้นซะ" เรามาดูกฏ 3 ข้อถัดมา
กฏข้อที่ 16 เทคโนโลยีเป็นทาสรับใช้ที่ยอดเยี่ยม
เราต้องฝึกตัวเองให้ปฏิบัติต่อเทคโนโลยีเหมือนมันเป็นทาสรับใช้ ไม่ใช่เจ้านาย หน้าที่ของมันคือทำให้ชีวิตคุณง่ายขึ้น ไม่ใช่สร้างความสับสน วุ่นวายและความเครียด โดยการถามตัวเองอยู่เสมอในขณะที่กำลังใช้เทคโนโลยีหรือโซเชียลมีเดียว่า "อะไรคือสิ่งสำคัญในตอนนี้" [และเรากำลังใช้มันทำไม เพื่ออะไร]
อาจมีคำถามว่าหากมีเรื่องฉุกเฉินในขณะหยุดพักการใช้โทรศัพท์มือถือแล้วจะทำอย่างไร เช่นเหตุฉุกเฉินจากครอบครัว ลูกค้าคนสำคัญ คำแนะนำคือ ให้มีเบอร์โทรศัพท์อีกหนึ่งเบอร์ที่ใช้เฉพาะเวลาฉุกเฉิน และคนสำคัญเท่านั้นที่รู้เบอร์โทรศัพท์นี้
และลองหาแอพพลิเคชั่นมาใช้ในการจัดการเวลาหรือการทำงานให้มีประสิทธิภาพ แล้วเราก็สามารถใช้เทคโนโลยีอย่างเจ้านายมัน [โดยส่วนตัวลองใช้มาหลาย app แล้วพบว่าการใช้ app ที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อน เข้าถึงได้ง่ายในทุกอุปกรณ์ และมีการ sync ได้ และใช้ร่วมกับสมุดโน๊ตและจดบันทึกอย่าง BuJo จะมีประสิทธิภาพสูงสุด]
กฏข้อที่ 17 ใช้ประโยชน์จากพลังแห่งการจดจ่อ
การจดจ่อคือกุญแจสำคัญของการทำงานอย่างมีประสิทธภาพ [เราเชื่อว่าสิ่งนี้คือ key success factor ของชีวิต]
มีงานวิจัยที่ระบุว่า การตอบอีเมล์ โทรศัพท์ chatter อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา จะทำให้สมาธิสั้นลง และเสียงแจ้งเตือน notification ทั้งหลายเหล่านี้ทำให้เรารู้สึกเสพติด เพราะสมองจะหลั่งสารโดพามีนออกมาเล็กน้อยเมื่อเราได้ยินเสียงเตือน และการทำงานหลายอย่างพร้อมกันแบบ multitask เป็นเพียงภาพลวงตา เพราะเราต้องใช้เวลา 17 นาที ในการดึงสมาธิกลับมาทำงานตรงหน้าต่อได้
วิธีแก้ปัญหาคือ อย่าเช็คอีเมล์ในตอนเช้า ถ้าจำเป็นต้องเช็คให้รีบทำอย่างรวดเร็วแล้วกลับไปทำงานต่อ เช็คอีเมล์แค่วันละสองครั้งคือตอน 11 โมงเช้าและบ่ายสามโมง วางแนการทำงานไว้ล่วงหน้า เลือกทำงานสำคัญที่สุดตอนเช้า 90 นาทีต่อเนื่องแล้วพัก 15 นาที กลับมาทำงานต่ออีก 90 นาที แล้วพักหลังจากนั้นจึงเช็คอีเมล์ และช่วงบ่ายก็อาจทำเช่นเดียวกัน
กฏข้อที่ 18 หั่นงานเป็นชิ้นๆ
เหตุผลหลักที่เรามักเลื่อนงานใหญ่ๆ ที่สำคัญคือ ตอนที่เราเห็นมันครั้งแรก มันดูใหญ่โตเกินกว่าจะรับมือได้
วิธีการแก้ปัญหานี้คือแบ่งงานออกเป็นส่วนเล็กๆ และตั้งใจทำทีละส่วน
ยกตัวอย่างเช่นมีหนังสือที่ต้องอ่าน 800 หน้า [text book ใหญ่ๆ 1 เล่ม] เราสามารถแบ่งการอ่านหนังสือทีละ 50 หน้า ในหนึ่งวันแบ่งการอ่านเป็น 2 ช่วงเช้าและเย็น และทำบันทึกติดตามการอ่านแล้วสนุกไปกับบันทึกผลงานการอ่านนี้ เพียงเท่านี้เราก็สามารถอ่านหนังสือเล่มใหญ่ๆ จบได้ภายใน 8 วัน
ในตอนหน้าเป็น Ep สุดท้ายในซีรีย์ Eat that Frog!
ขอบคุณสำหรับการติดตาม ขอให้เพื่อนๆ ที่ตามอ่านบทความของพวกเรา ประสบความสำเร็จในทุกด้านของชีวิตตามเป้าหมายครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา