4 มิ.ย. 2021 เวลา 09:07 • ประวัติศาสตร์
เส้นทางราคาของ แสตมป์แพงที่สุดในโลก
The British Guiana 1c magenta
นับจากนี้ไปอีก 4 วัน เราจะได้รู้กันว่าแสตมป์บริติชกายาน่า ดวงสีแดงราคาหนึ่งเซ็นต์ ซึ่งรู้จักกันในนามแสตมป์ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกปัจจุบัน จะทุบสถิติของตัวเองกีครั้งด้วยราคาเท่าใด ระหว่าง 10 - 15 ล้านดอลลาร์สหร้ฐฯ หรือมากกว่านั้น ในการประมูลครั้งประวัติศาสตร์โดยโซเทบีส์ บริษัทการประมูลชั้นนำของโลก ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 8 มิถุนายนนี้ ที่นครนิวยอร์ก
แสตมป์บันลือโลกดวงนี้ อยู่ยั้งยืนยงมานานถึง 165 ปี แล้ว เป็นหนึ่งใน 3 ชุดแสตมป์ที่นายไปรษณีย์ท้องถิ่นจัดทำขึ้นเมื่อปี 1856 เพื่อใช้ฉุกเฉิน (เหมือนวัคซีนโควิด อย่างไรอย่างนั้น) เพราะแสตมป์จริงจากเจ้าอาณานิคม คืออังกฤษจัดส่งมาไม่ทัน ส่วนอีกสองชุดเป็นแสตมป์ชนิดราคา 4 เซ็นต์เหมือนกัน แต่ต่างกันที่พิมพ์บนกระดาษสีแดง และสีน้ำเงิน
ด้วยเป็นแสตมป์ที่ทำขึ้นเพื่อใช้แก้ขัดชั่วคราว พิมพ์ที่โรงพิมพ์ของหนังสือพิมพ์ Official Gazette ในจอร์จทาวน์ เมืองหลวงของบริติชกายาน่าขณะนั้น รูปแบบจึงไม่มีอะไรมากไปกว่ากรอบลายเส้นล้อมรูปเรือที่กำกับคำขวัญภาษาละติน “Damus Petimus Que Vicissim" ของดินแดนอาณานิคม ส่วนด้านนอกกรอบมีข้อความโดยรอบระบุคำว่าแสตมป์ ชนิดราคา และชื่ออาณานิคม พิมพ์สีดำบนกระดาษสีต่างกันตามชนิดราคา ไม่มีรูปรุแต่ตัดเป็นดวงสี่เหลี่ยมผืนผ้า
และเพื่อป้องกันการปลอมแปลง แสตมป์เหล่านี้เมื่อใช้งานจะต้องมีลายเซ็นของเจ้าหน้าที่ในที่ทำการไปรษณีย์กำกับบนดวงแสตมป์ด้วยทุกครั้ง โดยแสตมป์ใช้แล้วดวงนี้มีตราประทับพร้อมลายเซ็น E.D.W. ของเจ้าหน้าที่ที่ชื่อ เอ็ดมันด์ ดี.ไวต์ แถมยังมีเอกลักษณ์พิเศษคือ การตัดมุมดวงแสตมป์จนกลายเป็นทรงแปดเหลี่ยม
เมื่อทอดสายตาทั่วพิภพแล้ว มันจึงกลายเป็นหนึ่งเดียวดวงนี้ที่ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน อีกทั้งได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นของแท้แน่นอน แม้ระหว่างทางจะมีข่าวลือเป็นระยะว่ามีคู่เทียบดวงนั้นดวงนี้ แต่เมื่อตรวจสอบก็พบว่าล้วนเป็น Fakenews ทั้งสิ้น เลยทำให้ตลอดเส้นทางการเปลี่ยนมือจึง “ขึ้นดอย” ในด้านราคาโดยตลอด จนกระทั่งแซงหน้าทุกดวงแสตมป์ที่เคยครองแชมป์มาก่อนทั้งสิ้น
มาย้อนรอยเส้นทางกันสักหน่อยว่า นับจากราคาหน้าดวงอันน้อยนิด ที่เป็นอัตราสำหรับค่าจัดส่งหนังสือพิมพ์เมื่อกว่าศตวรรษที่แล้ว ขยับขึ้นมาอย่างไรกว่าจะมาถึงราคาล่าสุดเกือบ 9.5 ล้านดอลลาร์ ในปี 2014
1873 หลุยส์ เวอร์นอน วอห์น เด็กชายชาวสกอตต์ วัย 12 ปี ซึ่งพำนักในบริติชกายาน่า ขายแสตมป์ดวงนี้ซึ่งเขาไปพบอยู่ในกองจดหมายของลุง ให้แก่นักสะสมท้องถิ่นที่ชื่อ นีล รอสส์ แมกคินนอน ในราคา 6 ชิลลิง
1878 แมกคินนอน ขายต่อให้ โทมัส ริดพาธ ผู้ค้าแสตมป์เมืองลิเวอร์พูล ในราคา 120 ปอนด์ ซึ่งในปีเดียวกันริดพาธขายต่อให้ ฟิลิปป์ ฟอน เฟอร์รา นักสะสมแสตมป์ ในราคา 150 ปอนด์
Philip Ferrari de La Renotière (Stamp collector)
1917 เฟอร์รารี่ ตั้งใจจะยกคอลเลกชันแสตมป์ทั้งหมดให้พิพิธภัณฑ์เบอร์ลิน แต่เมื่อเขาเสียชีวิตในปีนี้ คอลเลกชันทั้งหมดก็ถูกฝรั่งเศสยึดไปเป็นค่าปฏิกรรมสงคราม หลังจากเยอรมนีพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1
1922 อาเธอร์ ฮินด์ ได้แสตมป์ดวงนี้มาครอบครอง จากราคาประมูลคิดเป็นมากกว่า 36,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ขายที่ 3 แสนฟรังก์ รวมภาษีแล้วมากกว่า 3.5 แสนฟรังก์ และว่ากันว่าเอาชนะราคาที่เสนอโดยกษัตริย์สามองค์ ซึ่งรวมถึงพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งอังกฤษด้วย)
1935 หวุดหวิดเปลี่ยนมือในการประมูลอีกครั้ง แต่มีการถอนประมูลและกลับไปเป็นของนางสกาลา หรือ นางฮินด์ อดีตภรรยาของอาเธอร์ ฮินด์ ซึ่งได้แต่งงานใหม่หลังสามีเสียชีวิต
1940 สกาลา เสนอขายผ่านฝ่ายแสตมป์ของห้างสรรพสินค้าเมซี่ส์ ในนครนิวยอร์ก ให้แก่ เฟรด “พอสส์” สมอลล์ วิศวกรออสเตรเลียที่ย้ายมาอยู่ที่ฟลอริดา ในราคา 40,000 ดอลลาร์
1970 ในการเปิดประมูลคอลเลกชันทั้งหมดของตน สมอลล์ ได้ราคา 280,000 ดอลลาร์ สำหรับแสตมป์ดวงนี้ จากกลุ่มนักลงทุนในเพนซิลเวเนีย ที่นำโดยเออร์วิน ไวน์เบิร์ก ซึ่งหลังจากนั้นได้นำออกจัดแสดงไปทั่วโลกนานนับสิบปี
1980 จอห์น อี.ดูปองต์ ทายาทของผู้ร่ำรวยของธุรกิจเคมีภัณฑ์ระดับโลก ตัดสินใจซื้อแสตมป์ดวงนี้ในราคา 935,000 ดอลลาร์ สร้างสถิติสูงสุดใหม่สำหรับแสตมป์ดวงเดียวในเวลานั้น ระหว่างที่เจ้าของกลายเป็นนักโทษในคดีฆาตกรรม จนเสียชีวิตเมื่อปลายปี 2010 เชื่อว่าแสตมป์เก็บอยู่ในห้องนิรภัยธนาคาร
2014 กองมรดกของดูปองต์ นำแสตมป์ดวงนี้ออกประมูลโดยโซเทบีส์ ที่นิวยอร์ก ในราคา 9.48 ล้านดอลลาร์ ด้วยเวลาเพียงสองนาทีจากผู้ประมูลนิรนาม ซึ่งทราบต่อมาว่าคือ สจ๊วต ไวตซ์แมน นักออกแบบและเจ้าของธุรกิจรองเท้าระดับไฮโซ ราคานี้เท่ากับทุบสถิติสูงสุด 2.3 ล้านดอลลาร์ ที่เคยทำไว้ของ Treskilling Yellow แสตมป์สวีเดนปี 1855 ชนิดไม่เห็นฝุ่น
The Treskilling Yellow
เห็นหรือยังว่าน่าอเมซิ่งขนาดไหนกับราคาจากต้นทางมาจนถึงปัจจุบันที่ห่างกันเป็นพันล้านเท่า สำหรับชิ้นกระดาษเล็กๆ ที่เรียกว่าแสตมป์ ซึ่งได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่าศตวรรษ ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนักเก็งกำไรจนถึงคหบดีผู้ร่ำรวยมาก็หลายราย แต่ละรายในระยะหลังยังได้ฝากสัญลักษณ์ของตัวเองเอาไว้ที่ด้านหลังแสตมป์อีกต่างหาก รวมถึงล่าสุดมีเพิ่มรูปรองเท้าส้นเข็มพร้อมอักษรย่อ SW
คุณสจ๊วต ไวตซ์แมน กำลังสลักสัญลักษณ์ลงบนหลังดวงแสตมป์บริติชกายาน่า
ตำแหน่งการสลักหลังอดีตผู้ที่เคยครอบครอง
มาลุ้นกันว่า ราคาแสตมป์ดวงละ 15ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 465 ล้านบาทจะเอาอยู่หรือไม่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา