9 มิ.ย. 2021 เวลา 10:28 • สุขภาพ
ราชกิจจานุเบกษา ปลดล็อคหน่วยงานรัฐ เอกชน และท้องถิ่นจัดหาวัคซีนได้เอง
เมื่อวานนี้ (8 มิ.ย.) ราชกิจจานุเบกษา กำหนดแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 มีใจความสำคัญ 6 ข้อ
1. จัดหาวัคซีนให้ได้ 70% ของจำนวนประชากร (ประมาณ 50 ล้านคน)
2. อย. เป็นผู้ดำเนินการขึ้นทะเบียนวัคซีนให้เร็วและมีประสิทธิภาพ
3. กรมควบคุมโรค องค์การเภสัชฯ สถาบันวัคซีนฯ สภากาชาดไทย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และหน่วยงานของรัฐ สามารถนำเข้าวัคซีนได้เอง
4. เอกชนสามารถจัดหาวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนกับ อย. แล้ว ผ่านหน่วยงานของรัฐและกำหนดราคาให้เหมาะสม
5. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดหาวัคซีนเองได้ วิธีการเหมือนเอกชน
6. รัฐและเอกชนต้องเชื่อมโยงข้อมูลผ่านหมอพร้อม เพื่อให้การจัดการข้อมูลมีประสิทธิภาพ
ข้อ1, 2 และ3 ทางปฏิบัติมีการดำเนินการแล้ว ส่วนประกาศนี้ก็ทำให้ชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ที่น่าสนใจคือ ข้อ4, 5 และ6 ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีปัญหามาตลอด และไม่มีความชัดเจน ประกาศนี้บอกไว้ชัดเจนว่า เอกชนและท้องถิ่นต้องจัดหาผ่านหน่วยงานของรัฐเท่านั้น ผมลองเขียนเป็นแผนภาพให้เข้าใจง่ายตามนี้ครับ
จะเห็นว่าช่องทางรับวัคซีนของประชาชนเพิ่มมากขึ้น โดยมี 3 ช่องทางหลักคือ รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเอกชนที่เราต้องจ่ายค่าวัคซีนเอง
ในส่วนของเอกชนมีการรวมกลุ่มกันอยู่แล้วสามารถรวมความต้องการวัคซีนทั้งหมดเป็นก้อนเดียวแล้วส่งให้หน่วยงานรัฐได้เลยไม่กระจัดกระจาย
แต่สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผมเข้าใจว่า คือ เทศบาล อบจ. อบต. ที่มีงบประมาณของตัวเอง ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก แล้วหน่วยงานรัฐจะแบ่งกันรับเรื่องอย่างไร คงจะวุ่นวายพอสมควร
ประเด็นเรื่องงบประมาณในการซื้อวัคซีนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ดูเหมือนจะซ้ำซ้อนกับหน่วยงานรัฐ เพราะหน่วยงานรัฐซื้อวัคซีนมา แล้วขายต่อให้ท้องถิ่นอีกทอดหนึ่ง แต่หากมองว่าเป็นการโยกกระเป๋าซ้ายไปขวา ไม่มีการกินส่วนต่าง หักหัวคิว ก็คงไม่มีปัญหา
Photo : https://www.clinicaltrialsarena.com/analysis
ที่สำคัญคือจะมีการนำไปเป็นประเด็นทางการเมืองหรือไม่ นักการเมืองจะหาประโยชน์ให้ตัวเอง เคลมเป็นผลงานหรือไม่
ยังไม่รวมปัญหาความเหลื่อมล้ำในแต่ละท้องถิ่นที่งบประมาณไม่เท่ากัน บางท้องถิ่นอาจมีเอกชนบริจาคเพิ่ม แม้ในราชกิจจาฯ ระบุให้ผู้ว่าฯ เป็นผู้กำกับดูแลก็ตาม
คงต้องรอการชี้แจงในรายละเอียดกันต่อไป เพราะราชกิจจาฯ เพิ่งประกาศเมื่อวานนี้ (8 มิ.ย.) แต่อย่างน้อยเรามีช่องทางในการรับวัคซีนเพิ่มขึ้น โอกาสจะฉีดวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดสตามแผนก็น่าจะเป็นไปได้

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา