15 มิ.ย. 2021 เวลา 15:46 • สุขภาพ
“การไม่มีเงื่อนไข”
ผืนดินไม่ได้ตั้งกฎว่า ต้นไม้ต้องเติบโตอย่างไร
ประโยคในภาพประกอบบทความนี้
ผมได้มาจากหนังสือที่ชื่อ “มีเธอจึงมีฉัน”
ซึ่งผู้เขียนคือ สาทิศ กุมาร
และแปลโดย ทาคินี
เมื่อผมได้อ่านประโยคดังกล่าว
ก็เหมือนถูกเชื้อเชิญให้ได้เรียนรู้
ถึงบทเรียนของธรรมชาติอันเรียบง่าย
นั่นคือเรื่องของ “การไม่มีเงื่อนไข”
ซึ่งพอเรากลับมามองที่ชีวิตของมนุษย์
เรากลับพบความยุ่งยากซับซ้อน
และความขัดแย้งมากมาย
“ที่มักเกิดขึ้นจากการตั้งเงื่อนไข/ตั้งกฎเกณฑ์ตายตัว”
ส่วนสิ่งใดที่ทำให้มนุษย์เรานั้นหลงลืมความเรียบง่ายนี้ไป
ลองมาเรียนรู้ไปด้วยกันครับ ^^
บางครั้ง
เราก็อาจโดนวางเงื่อนไขมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กครับ
เช่น
-ถ้าทำสิ่งนี้จะได้ของเล่น
-ถ้าเป็นเด็กดีจะให้ของขวัญ
-ถ้าทำแบบนี้จะไม่มีใครรัก
-ถ้าทำตัวไม่ดีจะโดนตี
ฯลฯ
แล้วด้วยความไม่รู้
เราก็เผลอหลวมตัวเข้าไปเล่นเกมนี้
ซึ่งบางทีเราก็ผิดหวังเมื่อทำไม่ได้
และบางครั้งเราก็สมหวังเมื่อทำได้ตามเงื่อนไข
ด้วยเหตุนี้เอง
เราจึงเผลอสร้างแผนที่ชีวิตซึ่งเต็มไปด้วยกฎเกณฑ์มากมาย
“แล้วเราก็นำทางชีวิตตัวเองด้วยการมีเงื่อนไขมานับจากนั้น”
เมื่อเราเผลอครอบงำตัวเองเช่นนี้
เราก็จะเริ่มตั้งเงื่อนไข/วางกฎ/สร้างมาตรฐาน
“แล้วนำสิ่งเหล่านี้มากักขังตัวเอง”
ซึ่งกระบวนการอันเงียบงันเหล่านี้
มักจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
จนบางทีเราก็ไม่รู้ตัวว่ามันได้เกิดขึ้นครับ
ท่าทีในชีวิตของเรา
ก็จะมุ่งเน้นการแสวงหาความสุข
และหลบหนีความทุกข์
“วิ่งหนีความทุกข์...วิ่งตามความสุข”
หมัดเด็ดอยู่ตรงนี้เลยครับ
มันมักจะทำให้เราเกิดคำพูดติดปากทำนองว่า
ฉันต้องได้...ฉันต้องชนะ...ฉันต้องมีความสุข
“ถ้าฉันตั้งเงื่อนไข...ฉันก็ต้องได้ตามเงื่อนไข”
เท่านั้นยังไม่พอ
เรายังสามารถสร้างเงื่อนไขสำหรับผู้อื่น
แล้วเราก็มักจะครอบงำผู้คนเหล่านั้น
“ให้มาตอบสนองความต้องการของเรา”
(ซึ่งดูไปแล้วก็คล้ายกับสิ่งที่เราได้บีบคั้นตัวเองครับ)
โดยทุกครั้งที่เราทำเช่นนี้ “ใจเราย่อมแคบลง”
ดังนั้น
การบีบคั้นให้ทุกสิ่งเป็นไปตามเงื่อนไขของตัวเราเอง
จึงเป็นสิ่งที่สร้างแรงกดดันทางใจให้แก่ตัวเราครับ
และเราก็มักจะใช้คลื่นแห่งเงื่อนไขนี้ไปถล่มใส่คนรอบข้าง
“แล้วมันก็จะนำมาซึ่งปัญหาสัมพันธภาพต่าง ๆ มากมาย”
หากเรานำเรื่องการตั้งเงื่อนไขอันซับซ้อนของมนุษย์
มาพิจารณาร่วมกับความเรียบง่ายของธรรมชาติแล้ว
ผมขอชวนให้ท่านผู้อ่านนึกถึง “ผืนดิน กับ ต้นมะม่วง”
ถ้าผืนดินเผลอมีจิตใจคับแคบแบบมนุษย์
มันก็อาจพูดกับต้นมะม่วงว่า
“เฮ้ย ไอ้ต้นมะม่วง...ถ้าเอ็งไม่รีบโตให้สูงสองเมตรภายในเจ็ดวัน...
ข้าจะถือว่าเอ็งหมดสิทธิ์ในการเป็นต้นไม้...เอ็งไม่คู่ควรอยู่ที่นี่”
(จะโตไวขนาดนั้นได้ไงกันเล่า 5555)
แต่ความจริงแล้วผืนดินไม่เคยตั้งเงื่อนไขแบบนี้ครับ
“ธรรมชาตินั้นมีความใจกว้างยิ่งนัก”
ซึ่งให้โอกาสกับสิ่งต่าง ๆ ได้เติบโตตามจังหวะและเวลาของตัวเอง
โดยไม่มีการรีบเร่ง-ไม่มีการบีบคั้น-ไม่มีการเรียกร้อง
ธรรมชาตินั้น
สอนเรื่องความกว้างใหญ่ไพศาลให้เราได้เรียนรู้เสมอครับ
หากเราลองสังเกตตัวเอง
ในเวลาที่เราไปเที่ยวตามภูเขา/ป่า/แม่น้ำ/ทะเล
มันมักจะทำให้เรารู้สึกว่า
“เราเป็นส่วนเล็ก ๆ ของธรรมชาติ”
แล้วก็จะทำให้เรารู้สึกอิสระ, รู้สึกปลอดโปร่งโล่งสบาย,
รู้สึกเหมือนได้เติมพลัง และรู้สึกอิ่มเอม
ซึ่งปรากฎการณ์เหล่านี้
กำลังบอกเราว่า
จิตใจของเราได้กลับมาทำงานอย่างเป็นธรรมชาติที่สุด
“เป็นใจที่กว้างใหญ่ไพศาล/เป็นใจที่ไม่ถูกจองจำไว้ในเขื่อนไข”
เมื่อใดก็ตามที่เราเผลอตั้งเงื่อนไขให้กับตนเองและผู้อื่น
เราก็มักจะรู้สึกถึงความหนัก ความกดดัน และความตึงเครียด
(สัญญาณเตือนภัยของความไม่เป็นสุขดังขึ้นแล้วครับ)
สิ่งที่เราพึงทำในการกู้คืนความสุขให้กับชีวิต ก็คือ
“การกลับมารับผิดชอบในเงื่อนไขที่เราสร้างไว้”
ก่อนที่มันจะถล่มทับใส่เราและคนรอบตัวเราครับ ^^

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา