2 ก.ค. 2021 เวลา 02:21 • สุขภาพ
“ความรักท่ามกลางความสูญเสีย”
เราไม่จำเป็นต้องหยุดรัก แม้ว่าใครคนนั้นจะลาจากเราไปแล้ว
ประโยคในภาพประกอบบทความนี้
ผมได้มาจากหนังสือที่ชื่อ “คู่มือหัวใจสลาย”
ซึ่งผู้เขียนคือ จูเลีย ซามูเอล
และแปลโดย วรรธนา วงษ์ฉัตร
เมื่อผมได้อ่านประโยคดังกล่าว
ก็ทำให้นึกถึงเรื่องของความรัก
ที่เกิดขึ้นท่ามกลางความสูญเสียครับ
บ่อยครั้งเหลือเกินที่มนุษย์เรา
จะคิดถึงผู้คนที่จากไป
(ทั้งจากไปแบบมีชีวิต และ จากไปด้วยความตาย)
ซึ่งมีได้ทั้งความรู้สึกรัก ซาบซึ้ง ผูกพัน
โหยหา สูญเสีย และเศร้าโศกเสียใจ
แล้วบางทียิ่งรักมาก ก็ยิ่งทำให้เจ็บปวดมากขึ้นไปด้วย
จนเราไม่กล้าที่จะนึกถึง
(เพราะกลัวตัวเองจะเจ็บปวดเสียใจ)
แล้วหากเรายิ่งหลบหนีความเจ็บปวดด้วยการไม่นึกถึง
มันก็มักจะพัฒนาไปสู่การปิดกั้นประสบการณ์บางอย่างที่มี
นั่นคือ “การปิดกั้นความรักที่เคยมี”
ส่วนการหยุดยั้งและปิดกั้นความรักนั้น
จะส่งผลกระทบต่อชีวิตเราได้อย่างไรบ้าง
มาเรียนรู้ไปพร้อมกันครับ ^^
ผมขอชวนท่านผู้อ่านลองนึกถึงประตูสักบานหนึ่งครับ
มันเป็นประตูที่มนุษย์เราทุกคนมี
“นั่นคือ ประตูรับรู้ประสบการณ์”
ซึ่งมันช่วยให้เรารับรู้โลกภายนอก
รวมทั้งช่วยให้เราได้สื่อสารกับโลกรอบตัว
(เชื่อมตัวเราเอง กับ โลก)
โดยภาวะความเชื่อมโยงที่เกิดขึ้นนั้น
มันช่วยให้เราได้สัมผัสกับความสุขทุกข์ของชีวิตครับ
เช่น
-กินอาหารแล้วรู้สึกอร่อย
-แทงหวยผิดแล้วก็เซ็ง
-รู้สึกดีที่ได้ใช้เวลาร่วมกับคนที่เรารัก
-ภูมิใจที่ทำงานสำเร็จ
-เจ็บปวดที่ตัดสินใจผิด
-ดีใจที่ได้พบปะเพื่อนฝูง
ฯลฯ
ตราบใดที่ประตูยังเปิดอยู่
เราก็ยังสามารถรู้สึกเชื่อมโยงกับสิ่งต่าง ๆ ได้
แต่ปัญหาชีวิตของเราจะเกิดขึ้นทันทีครับ
“ถ้าหากเราไม่กล้าสัมผัสกับความทุกข์เลย”
แล้วเลือกที่จะปิดประตูบานนั้นลง
ผลที่ตามมาก็คือ
เราอาจไม่รับรู้ถึงความทุกข์
แต่ในขณะเดียวกัน
“เราก็สูญเสียการรับรู้ความสุขไปด้วย”
บ่อยครั้งมากครับ
หากชีวิตเราต้องเผชิญกับความสูญเสีย
มันก็ชวนให้รู้สึกเหมือนโลกทั้งใบพังทลายลงไป
(ยิ่งเป็นคนที่เรารักมากก็อาจยิ่งรุนแรง)
จนเราไม่อยากจะรับรู้อะไรอีกต่อไปแล้ว
“เพราะรู้สึกมากเกินไป จนไม่อยากจะรู้สึกอีกต่อไป”
ทีนี้ ด้วยกลไกของจิตใจที่ทำงานตามเจตจำนงของเรา
มันก็จัดการปิดประตูสำหรับรับรู้ประสบการณ์ของเราซะเลย
(เพื่อปกป้องตัวเองไม่ให้รู้สึกเจ็บอีกตามที่เราเผลอสั่งการ)
ด้วยเหตุนี้
จึงเป็นเหตุให้เรามักได้ยินคำพูดทำนองว่า
“ไม่อยากนึกถึงเรื่องนั้น/ไม่อยากพูดถึงมันอีก”
แล้วก็จะเกิดรูปแบบการใช้ชีวิตที่ด้านชา/เศร้าซึม/เบื่อหน่าย
เหมือนความสุขมันจางหายออกไปจากชีวิต
(ความสุขได้หายไปพร้อมกับคนที่จากไป)
จากกระบวนการเหล่านี้
จึงเท่ากับเป็นการหยุดที่จะคิดถึง
“หยุดรักไปเลย”
ซึ่งมันมาจากความเชื่อที่ว่า
-การนึกถึง ทำให้เจ็บปวด
-การยังมีความรักให้กับคนที่จากไป ทำให้ปวดร้าว
“ดูเผิน ๆ แล้วมันก็น่าจะใช่ครับ”
(แต่ความจริงแล้วมันมีอะไรลึกกว่านั้นครับ)
เพราะลำพังเพียงการนึกถึง
มันก็จะทำให้เราหวนรำลึกถึงอดีต
และยังทำให้เรารู้ว่า เรารักคนที่จากไปเพียงใด
แต่แล้วมันยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่แอบแฝงมาด้วยก็คือ
“เราอยากให้คนที่จากไปย้อนกลับคืนมา”
เจ้าประสบการณ์ตัวนี้ล่ะครับ
ที่มักทำให้เราชอกช้ำและทำให้เราเผลอปิดกั้นตัวเอง
การไม่ชอบตัวเองที่ยังตัดใจไม่ได้
หรือ
การไม่ยอมรับตัวเองที่ยังวางไม่ลง
“มักทำให้เราซ้ำเติมตัวเอง”
เนื่องจากเราอาจเผลอเรียนรู้ว่า
-ถ้าล้มแล้วต้องรีบลุก
-เจ็บแล้วต้องรีบหาย
“ซึ่งความจริงแล้ว...เราใช้เวลาเยียวยาได้ตามต้องการครับ”
เราจึงไม่ต้องรีบร้อนตามกฎเกณฑ์ที่คนอื่นตั้งให้
(หรือแม้แต่กฎเกณฑ์ที่เราตั้งให้ตัวเอง)
เพราะเราแต่ละคนนั้นมีจังหวะเวลาในการฟื้นตัวไม่เท่ากัน
ด้วยเหตุนี้
สิ่งหนึ่งที่เราพึงสังเกตตัวเองก็คือ
“การยอมรับตัวเอง ในวันที่เรายังตัดใจไม่ลง”
เมื่อเรายอมรับได้
ความรักหรือความคิดถึงที่เรามีต่อผู้ที่จากไป
ก็จะไม่กลายเป็นโซ่ตรวนที่ผูกมัดใจเราครับ
“เพราะความตายนั้นยุติแค่เพียงชีวิต แต่มิได้ยุติความสัมพันธ์”
ความรักนั้นเป็นตัวแทนความสัมพันธ์ที่เรามี
(และจะมีต่อไปได้ในรูปแบบที่ต่างออกไป)
ดังนั้น
เราจึงไม่จำเป็นต้องบังคับตัวเองให้หยุดรักหยุดคิดถึง
หรือ บังคับให้ตัวเองรีบปล่อยวางโดยเร็ว
การทำงานในบทบาทของนักจิตวิทยาการปรึกษา
ได้ทำให้ผมเห็นกระบวนการเหล่านี้อยู่บ่อย ๆ เลยครับ
มันทำให้ผมได้เป็นประจักษ์พยานในประสบการณ์อันมากมาย เช่น
-แม้คนที่เรารักจากไปแล้ว เราก็ยังสามารถรักใครคนนั้นได้อยู่
-รักก็คือรัก มิได้แปลว่า ตัดใจไม่ได้
-ความรักที่มีนั้น เป็นสัญลักษณ์แทนความผูกพันอันล้ำค่า
-การใช้ชีวิตที่มีความรักในหัวใจ
ทำให้เรามีกำลังก้าวเดินต่อไปได้อย่างมีความหวัง
-ถ้าเราปิดกั้นความรักที่มีให้ผู้อื่น
เราก็จะสูญเสียความรักที่มีให้แก่ตนเองด้วย
ฯลฯ
แล้วเราก็ยังสามารถใช้ชีวิตที่มีอยู่ต่อไปได้
เรายังทำงาน ศึกษาเล่าเรียน ดูแลชีวิต
พักผ่อนหย่อนใจ ทำกิจกรรมที่ชอบ
(และเราอาจจะนึกถึงผู้ที่จากไปบ่อย ๆ / นาน ๆ นึกถึงทีนึงก็ได้)
ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นการใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบันอย่างซื่อตรง
การใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบันโดยไม่เผลอไปปิดประตูใจ
จะช่วยให้เรากลับมาอยู่กับโลกของความเป็นจริงครับ
“อยู่ในโลกจริงที่เราสุขทุกข์ได้”
ซึ่งมันต่างจากการซ่อนตัวเองไว้ในโลกแห่งความฝัน
(ดินแดนที่เราไม่รู้สึกเจ็บปวดใด ๆ แต่เราก็สูญเสียการมีความสุขไปด้วย)
เมื่อเราพร้อมใช้ชีวิตด้วยการเปิดใจ
จึงเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสอันกว้างใหญ่ให้ชีวิต
เพื่อเป็นการดูแลสุขทุกข์ของตัวเอง
แล้วเติบใหญ่ไปกับทุกฤดูกาลของชีวิต ^^

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา