2 ก.ค. 2021 เวลา 12:08 • สุขภาพ
“การไม่กักขังตัวเองไว้ในความรุนแรง”
ทั้งผู้มีชัยและผู้ปราชัย ล้วนมีบาดแผลไม่ต่างกัน
ประโยคในภาพประกอบบทความนี้
ผมได้มาจากหนังสือที่ชื่อ “สุดทางทุกข์”
ซึ่งผู้เขียนคือ คล้อด อันชิน ธอมัส
และแปลโดย อมร แสงมณี, อัฐพงศ์ เพลินพฤกษา
เมื่อผมได้อ่านประโยคดังกล่าว
ก็ทำให้นึกถึงภาพของสมรภูมิสงคราม
“ที่แบ่งออกเป็นสองฟากฝั่ง”
แล้วจากนั้นต่างฝ่ายก็เปิดฉากเข้าห้ำหั่นกัน
ซึ่งไม่ว่าผลจะออกมาเป็นแบบไหน
จะเป็นการเสมอกัน หรือ จะมีผู้แพ้/ผู้ชนะ
“สุดท้ายแล้วต่างฝ่ายก็ต้องล้วนมีบาดแผล”
สงครามและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในชีวิตนั้น
ใกล้ตัวกว่าที่เราคิดครับ
มันสามารถเกิดขึ้นได้ในครอบครัว
ที่สามีภรรยาระเบิดอารมณ์ใส่กัน,
พ่อแม่ลูกทะเลาะกัน, ญาติไม่ถูกกัน,
เพื่อนแตกคอกัน, หัวหน้ากับลูกน้องฟาดปากกัน,
การแย่งที่จอดรถ, การเบียนกันบนท้องถนน,
การเถียงกันในโลกโซเชียล ฯลฯ
หากเราลองสังเกตจะพบจุดร่วมอันหนึ่งเลยครับ
“นั่นคือ การอยากเอาชนะ”
ซึ่งมันทำให้เรายอมใช้พลังของความรุนแรง
เพื่อฟาดฟันฝั่งตรงข้ามให้พังพินาศ
(เราจะได้ชนะ หรือ ได้มาซึ่งสิ่งที่เราต้องการ)
ส่วนกระบวนการเหล่านี้จะมีผลต่อเราอย่างไร
มาเรียนรู้ไปพร้อมกันครับ ^^
ทุกครั้งที่จิตใจของเรา
ถูกครอบงำด้วยการอยากเอาชนะและความรุนแรง
มันมักจะทำให้เรามองผู้คนที่อยู่ต่างฝ่ายแคบลง
จนบางทีเราเห็นเพื่อนมนุษย์เหล่านั้นเป็นเพียง...
-ชิ้นเนื้อก้อนหนึ่ง
-คนที่อยู่ต่ำกว่าเรา
-คนที่เราไม่จำเป็นต้องให้เกียรติ
-คนที่เราจะทำอะไรกับมันก็ได้
“พวกมันทั้งหมดคือศัตรู”
การมองผู้อื่นในลักษณะนี้สามารถเกิดขึ้นได้ครับ
โดยประสบการณ์เหล่านี้
ถือเป็นสัญญาณที่ดีอย่างหนึ่งครับ
เพราะมันกำลังบอกเราว่า
“เราพร้อมที่จะทำสงครามแล้ว”
“การไม่อยากแพ้”
คือเชื้อเพลิงอันหนึ่งที่ทำเราพร้อมทำศึกครับ
มันผลักดันให้เราอยากเอาชนะ
รวมทั้งผลักดันให้เราไขว่คว้าบางสิ่งที่เราต้องการ
ซึ่งหากเราใช้มันอย่างเป็นประโยชน์
ประสบการณ์นี้ก็อาจช่วยให้เรามีเรี่ยวแรง
หรือ มีกำลังในการฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ
แต่หากเราเผลอโดนมันครอบงำเสียแล้ว
ทีนี้ล่ะครับ
มันก็มีอำนาจที่จะลากจูงเราได้อย่างง่ายดาย
แล้วถ้าหากเรายอมให้มันมีอำนาจเหนือสติรู้ตัวของเรา
“การอยากเอาชนะ”
จะทำให้เรากลายเป็นเครื่องจักรที่พร้อมทำสงคราม
และพร้อมปะทะกับทุกสิ่งที่ขวางทางเรา
ปัญหาสัมพันธภาพที่ลุกลามใหญ่โต
ก็ล้วนเริ่มต้นจากการโดนภาวะของ
“การอยากเอาชนะครอบงำจิตใจ”
มันทำให้ใครก็ตามที่โดนครอบงำ...
-พร้อมใช้ทุกวิถีทาง
-พร้อมใช้ทุกคำพูด
-พร้อมตัดสินใจทุกรูปแบบ
“เพื่อเอาชนะคนที่อยู่ฝั่งตรงข้าม”
(เหมือนกับการทำศึกไม่เกี่ยงวิธี)
ทีนี้พอเรายิ่งไม่เห็นคุณค่าของผู้อื่น
หรือ
ไม่เห็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น
มันก็จะยิ่งผลักดันให้เรา...
-ทำลายล้างคนอื่นอย่างง่ายดาย
-ทำลายความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นลง
แล้วหากเราสะสมจนเป็นความเคยชินแล้วล่ะก็
“มันก็อาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพเราไปเลยครับ”
จริงอยู่ที่การได้ชนะผู้อื่นมันทำให้รู้สึกมีอำนาจ,
รู้สึกตัวพอง, รู้สึกสะใจ ฯลฯ
แต่มันก็ล้วนแลกมาด้วยความขัดแย้งไม่ลงรอยครับ
“ซึ่งไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับใครในความสัมพันธ์”
สัมพันธภาพนั้นย่อมเกิดรอยร้าว
(เป็นผลมาจากร่องรอยของการอยากเอาชนะ และการฟาดฟัน)
ดังนั้น
ไม่ว่าจะเป็นคนที่ด่า หรือ คนที่ถูกด่า
ไม่ว่าจะเป็นคนที่ทุบตี หรือ คนที่โดนทุบตี
“ไม่ว่าจะเป็นคนที่ชนะ หรือ แพ้”
ก็ไม่มีใครรอดพ้นบาดแผลไปได้
เนื่องจากผู้กระทำก็ต้องสะสมความรุนแรงไว้ในใจ
และผู้ถูกกระทำก็ถูกคลื่นแห่งความรุนแรงนั้นฟาดฟัน
“ทั้งสองฝั่งจึงมีบาดแผลไม่ต่างกัน”
สุดท้ายนี้
การไม่มีความอยากเอาชนะ
ไม่ได้แปลว่า
“เราไม่รักตัวเอง / เราไม่ปกป้องตัวเอง / เราไม่พัฒนาตัวเอง”
แต่หมายถึง
-การที่เราไม่ยอมให้เจ้าความอยากเอาชนะมันครอบงำใจเรา
-การเลือกที่จะไม่หล่อเลี้ยงความรุนแรงให้งอกงามในใจเรา
-การเลือกความยืดหยุ่น/ความอ่อนโยน แทนที่จะเลือกความแข็งกระด้าง
“ไม่ขังตัวเองไว้ในความรุนแรง”
เมื่อเราไม่ผูกตัวเองไว้กับการอยากเอาชนะ
ใจเราก็จะมีพื้นที่กว้างขึ้น
ซึ่งจะเอื้อเฟื้อให้เราค่อย ๆ ทบทวนสิ่งต่าง ๆ
แล้วตอบสนองออกไปอย่างรอบคอบ
(แทนที่จะรีบฟาดฟันเพื่อเอาชนะ จนความสัมพันธ์พังพินาศ)
“ใจที่อ่อนโยน จึงช่วยให้เรามีสัมพันธภาพกับสิ่งรอบตัวอย่างเกื้อกูล” ^^

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา