18 มิ.ย. 2021 เวลา 12:29 • ประวัติศาสตร์
💀หน้ากากแห่งความตาย:
ประวัติศาสตร์แห่งความตายของมนุษย์
ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ความตายคือส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ และมนุษย์มีวิธีแสดงความเคารพผู้ตายและเก็บความทรงจำเกี่ยวกับคนตายมากมายหลายวิธีจนเหลือคณานับ วิธีหนึ่งคือการทำหน้ากากแห่งความตาย (death masks) ซึ่งการทำหน้ากากของคนตายขึ้นมาเป็นวิธีที่จะได้เห็นหน้าคนตายเป็นครั้งสุดท้าย แต่การประดิษฐ์คิดทำหน้ากากแห่งความตายกลายเป็นสิ่งที่น่ากลัวสยดสยองแทนสำหรับคนในยุคปัจจุบัน
เหตุเพราะความตายเป็นสิ่งที่มนุษย์แทบทุกคนไม่พึงปรารถนา ความตายห่อหุ้มปกคลุมด้วยความเจ็บป่วย ความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมาน และในกรณีที่ดีหน่อยคือความสงบสุข แต่ความตายสำหรับมนุษย์เกือบทุกผู้ทุกคนคือความกลัว หน้ากากแห่งความตายที่ทำขึ้นมาจากศพของคนตายจึงกลายเป็นสิ่งน่ากลัวตามไปด้วย
(Image: Hulton Archive / Stringer / CNN)
💀หน้ากากแห่งความตายในประวัติศาสตร์
หน้ากากแห่งความตายเริ่มทำขึ้นครั้งแรกเมื่อใดไม่มีใครรู้ แต่จากหลักฐานที่มีสิ่งนี้ปรากฏให้เห็นเป็นครั้งแรกในยุคอียิปต์โบราณ
ชาวอียิปต์โบราณเชื่อว่าหน้ากากแห่งความตายจะช่วยให้วิญญาณของผู้ตายกลับมาหาร่างของตนเองเจอเมื่อตายไปแล้ว ดังนั้นชาวอียิปต์โบราณจึงทำหน้ากากของคนตายเพื่อไว้ฝังศพขึ้นมา ซึ่งจะนำสิ่งนี้ไปฝังไว้พร้อมกับร่างของคนตาย เพราะแม้ร่างกายของคนตายจะเน่าเปื่อยย่อยสลายไป แต่หน้ากากคนตายจะไม่สลาย จึงเชื่อว่าวิญญาณเจ้าของร่างจะกลับมาหาเจอได้
หน้ากากแห่งความตายของชาวอียิปต์โบราณที่โด่งดังมากที่สุดและเป็นที่รู้จักมากที่สุดคงหนีไม่พ้นหน้ากากของกษัตริย์ตุตันคาเมน
กรีกโบราณยุคไมซีนีก็มีธรรมเนียมดังเช่นอียิปต์โบราณ ที่มีการทำหน้ากากแห่งความตายฝังไว้กับศพ ดังเช่นหน้ากากแห่งความตายของกษัตริย์อะกาเมมนอนที่ทำมาจากทองคำ
ในบางเผ่าแอฟริกันบางที่ เชื่อกันว่าหน้ากากแห่งความตายจะกระตุ้นให้ผู้สวมใส่มีพลังอำนาจที่ได้มาจากคนตาย
หน้ากากแห่งความตายของกษัตริย์ตุตันคามุนของอียิปต์โบราณและกษัตริย์แอกะเม็มนอนของกรีกโบราณ (Images: WIkipedia)
ในยุคกลางของยุโรป หน้ากากแห่งความตายกลายเป็นสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องจิตวิญญาณ แต่เป็นสิ่งที่ทำขึ้นเพื่อระลึกถึงคนตาย โดยตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 เป็นต้นมาจนถึงศตวรรษที่ 19 หน้ากากแห่งความตายถูกใช้เป็นต้นแบบให้แก่ช่างปั้นเพื่อทำรูปปั้นของผู้ตาย
นอกจากนี้ ในฝรั่งเศสและอังกฤษช่วงยุคกลางนั้น หน้ากากแห่งความตายถูกใช้เป็นหุ่นจำลองขนาดเท่าคนจริงเพื่อใช้ในพิธีฝังศพและเก็บไว้ในสุสานฝังศพของสมาชิกราชวงศ์ (แต่ไม่ได้ถูกฝังในโลงศพ) แต่ตัวอย่างของสิ่งนี้มีให้เห็นเฉพาะที่ในอังกฤษเท่านั้น ส่วนของฝรั่งเศสได้ถูกทำลายไปในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศสจนหมดสิ้นแล้ว
หน้ากากแห่งความตายของกษัตริย์เฮนรีที่ 7 น่าจะเป็นหน้ากากที่ยังคงมีสภาพดีที่สุด ส่วนหน้ากากแห่งความตายของกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 3 น่าจะเป็นหน้ากากแห่งความตายรุ่นแรกสุดเท่าที่มีในยุโรป ซึ่งหน้ากากแห่งความตายของกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 3 บันทึกความบิดเบี้ยวของใบหน้าของพระองค์ที่สิ้นพระชนม์จากอาการเส้นเลือดในสมองแตกเฉียบพลัน
ระหว่างช่วงศตวรรษที่ 18-19 มีการทำหน้ากากแห่งความตายเพื่อใช้บันทึกลักษณะของศพที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้ เผื่อญาติของผู้ตายมาตามหาคนหายอาจจะจำได้จากหน้ากากนี้ แต่ต่อเมื่อเมื่อมีการถ่ายภาพเกิดขึ้นจึงใช้ภาพถ่ายแทน
สตรีผู้หนึ่งที่ชื่อว่า Marie Grosholtz ซึ่งถ้าเอ่ยชื่อนี้แล้วหลายคนอาจจะไม่รู้จัก แต่ถ้าบอกว่าเธอก็คือมาดามทุซโซ่ ทุกคนก็จะร้องอ๋อ ในยุคปฏิวัติฝรั่งเศสเธอถูกว่าจ้างในทำหน้ากากแห่งความตายให้แก่เหยื่อจากการปฏิวัติเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นราชินีมารี อังตัวเน็ตต์ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 โรแบสปิแยร์ หรือแม้กระทั่งดันเต้
1
ด้วยพัฒนาการเป็นมาเช่นนี้ หน้ากากแห่งความตายในความรับรู้ปัจจุบันจึงหมายถึงหน้ากากที่ทำมาจากขี้ผึ้ง หรือปูนปลาสเตอร์ ที่เอาไปขึ้นแบบมาจากใบหน้าของคนตาย หน้ากากของคนตายจึงเสมือนหนึ่งภาพคน(ตาย)จริง ๆ เพราะไปพิมพ์มาจากใบหน้าของเจ้าของ แต่บางครั้งก็มีการปรับเปลี่ยนบ้างเล็กน้อยตรงดวงตาเพื่อให้ดูเหมือนประหนึ่งว่าใบหน้านั้นยังมีชีวิตอยู่
1
หน้ากากแห่งความตายเช่นนี้ปรากฏอยู่ในยุโรปและอเมริกา บุคคลที่มีชื่อเสียงที่มีการทำหน้ากากแห่งความตายเมื่อเสียชีวิตก็เช่น เซอร์ไอแซค นิวตัน, บีโธเฟ่น, และนโปเลียน โบนาปาร์ต เป็นต้น
อนึ่ง มีการทำ Life Masks หรือหน้ากากของคนเป็นด้วย ซึ่งไม่ต่างอะไรกับหน้ากากของคนตาย ต่างแต่เพียงทำเมื่อคนผู้นั้นยังมีชีวิตอยู่นั่นเอง
หน้ากากแห่งความตายของกษัตริย์เฮนรีที่ 7 (Image: Abroad in the Yard)
💀หน้ากากแห่งความตายของบุคคลที่มีชื่อเสียง
ทราบหรือไม่ว่ามีการทำหน้ากากแห่งความตายของบุคคลสำคัญมากมายไว้ เรามาดูตัวอย่างหน้ากากแห่งความตายเหล่านี้ดู บางทีเราอาจจะรู้สึกได้สัมผัสใกล้ชิดกับความตายของบุคคลที่มีชื่อเสียงนั้นมากยิ่งขึ้น
• หน้ากากแห่งความตายของบีโธเฟ่น เขาน่าจะเสียชีวิตจากการที่ตับถูกทำลายเนื่องจากการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปในปี 1827 เมื่อมีอายุได้ 56 ปี
(Image: Abroad in the Yard)
• หน้ากากแห่งความตายของนโปเลียน เขาเสียชีวิตเมื่อปี 1821 ด้วยวัย 51 ปี จากโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร แต่ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตตัวเขาเองเชื่อว่านักฆ่าอังกฤษจะฆ่าเขาด้วยการวางยาพิษ หน้ากากแห่งความตายของเขาถูกทำขึ้นที่เกาะเซนต์ เฮเลน่า ซึ่งทำไว้หลายชิ้น
(Image: Abroad in the Yard)
• หน้ากากแห่งความตายของครอมเวลล์ เขาเสียชีวิตเมื่อปี 1658 ด้วยวัย 59 จากภาวะการมีเชื้อแบคทีเรียในโลหิตเนื่องมาจากการติดเชื้อในปัสสาวะ
(Image: Abroad in the Yard)
• หน้ากากแห่งความตายของเจมส์ ดีน นักแสดงฮอลลีวู้ดผู้นี้เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์เมื่อปี 1955 ด้วยวัยเพียง 24 ปี
(Image: Abroad in the Yard)
• หน้ากากแห่งความตายของเบนจามิน แฟรงคลิน เขาเสียชีวิตเมื่อปี 1790 จากโรคเยื่อหุ้มปอดอักเสบ ด้วยวัย 84 ปี
(Image: Abroad in the Yard)
• หน้ากากแห่งความตายของเฟรเดอริกมหาราช เสียชีวิตในปี 1786 จากโรคอะไรไม่ระบุไว้ ด้วยอายุ 74 ปี
(Image: Abroad in the Yard)
• หน้ากากแห่งความตายของไฮน์ริค ฮิมเลอร์ เขาตายเมื่อปี 1945 เพราะฆ่าตัวตายด้วยการกินยาพิษไซยาไนด์ จบชีวิตด้วยวัย 44 ปี
(Image: Abroad in the Yard)
• หน้ากากแห่งความตายของวลาดิเมียร์ เลนิน เขาเสียชีวิตในปี 1924 ซึ่งสาเหตุน่าจะมาจากโรคซิฟิลิส ด้วยวัย 53 ปี
(Image: Abroad in the Yard)
• หน้ากากแห่งความตายของมาร์ติน ลูเธอร์ เขาเสียชีวิตในปี 1546 สาเหตุจากโรคเส้นเลือดในสมองอุดตัน อายุได้ 62 ปี
(Image: Abroad in the Yard)
• หน้ากากแห่งความตายของไอแซค นิวตัน เขาเสียชีวิตในปี 1727 สาเหตุมาจากนิ่วในไต มีอายุได้ 84 ปี
(Image: Abroad in the Yard)
• หน้ากากแห่งความตายของแม็กซิมิเลียน โรแบสปิแยร์ นักปฏิวัติฝรั่งเศสผู้นี้เสียชีวิตในปี 1794 เพราะถูกประหารชีวิตด้วยการตัดหัว มีอายุได้ 36 ปี
(Image: Abroad in the Yard)
• หน้ากากแห่งความตายของธีโอดอร์ รูสเวลท์ เขาเสียชีวิตในปี 1919 จากโรคลิ่มเลือดในปอด มีอายุได้ 60 ปี
(Image: Abroad in the Yard)
• หน้ากากแห่งความตายของวู้ดโรว์ วิลสัน เขาเสียชีวิตในปี 1924 จากโรคหัวใจล้มเหลว ด้วยอายุ 67 ปี
(Image: Abroad in the Yard)
ในเรื่องเล่าชิ้นต่อไปจะเล่าเรื่อง แมรี่ ราชินีแห่งสก็อตแลนด์กับหน้ากากแห่งความตายของพระนาง และวิญญาณที่มาหลอกหลอนผู้คนจนถึงปัจจุบัน
ชายสองคนในนิวยอร์กกำลังทำหน้ากากของคนตาย ประมาณปี 1908 (Image: Wikipedia)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา