26 มิ.ย. 2021 เวลา 02:00 • ปรัชญา
#Happiness vs. Pleasure ... ความต่างของ "ความสุข"
คำเตือน: บทความนี้ค่อนข้างยาว แต่ยืนยันว่าคุ้มค่าที่จะอ่านค่ะ ... วันนี้เราไม่ได้มาพูดถึงคำศัพท์ภาษาอังกฤษกันนะคะ เราจะมาพูดถึงความต่างของความสุข
เนื่องจากในภาษาไทยนั้นคำว่า “ความสุข” มีเพียงแค่คำเดียว ไม่มีคำอื่นที่สามารถมาแทนคำว่า “ความสุข” ได้ แต่จริงๆแล้วความสุขไม่ได้มีเพียงระดับเดียว เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน จึงขอทับศัพท์โดยแยกเป็น “Happiness” กับ “Pleasure”
1
Image by Alexandra Haynak from Pixabay
ซึ่งคำทั้งสองคำนี้ถ้าแปลเป็นภาษาไทยจะมีความหมายว่า "ความสุข" ทั้งคู่ แต่หากแปลเป็นภาษาอังกฤษ คำทั้งสองคำนี้จะมีความหมายที่ไม่เหมือนกันสักทีเดียวค่ะ
เรามาเริ่มกันที่คำว่า "Pleasure" กันก่อนนะคะ
PLEASURE (เพล-เช่อ)
“Pleasure” อาจจะมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า “Joy” ที่แปลว่าความเบิกบานใจ หรือ สิ่งที่ทำให้ดีอกดีใจ มากกว่าคำว่า "Happiness"
แต่ถ้าค้นหาในคอมพิวเตอร์ให้แปลคำว่า “Pleasure” ออกมาเป็นภาษาไทย เราจะได้ความหมายว่า “ความสุข”
ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว “Pleasure” ไม่ได้หมายความว่าความสุข แบบสุขจริงๆ สุขแท้ๆ แต่ “Pleasure” คือสภาวะของการดีใจ การสุขใจ ที่ได้จากความพึงพอใจหรือสนุกสนาน โดยเกิดมาจากการที่สารเอ็นโดรฟิน (Endorphin) หรือ สารโดพามีน (Dopamine) หลั่งในร่างกายของเรา และสถานะหรือความรู้สึกนี้จะอยู่เพียงไม่นาน
เคยได้ยินบางคนบอกว่า “เงินสามารถซื้อความสุขได้” ความสุขที่ว่านั่นน่าจะหมายถึง “Pleasure” เสียมากกว่า การตลาดในโลกปัจจุบันล้วนแล้วแต่ขาย “Pleasure” ทั้งนั้น ไม่ได้ขาย “ความสุข” อย่างที่บางคนเข้าใจ ดังนั้นเงินจึงสามารถซื้อได้เพียงแค่ “Pleasure” บางอย่างเท่านั้น
จะขอยกตัวอย่างให้ทุกคนพอเห็นภาพว่า “Pleasure” คืออะไรบ้าง: ช้อปปิ้งกระเป๋างามๆสักใบ, ได้ทานอาหารอร่อยๆ, ปาร์ตี้สังสรรค์กับเพื่อนฝูง, ได้ดูหนังดีๆที่ชอบ, นั่งเล่นเกมส์อย่างเพลิดเพลิน, ลดน้ำหนักได้ตามเป้าหมาย, มีคนกดไลค์เป็นร้อย, มีคนฟอลโลว์เป็นพัน, ได้ไปเที่ยวยุโรป, ได้รถใหม่, ได้งานใหม่, ได้แฟนใหม่, ได้เลื่อนตำแหน่ง, ได้แต่งงาน, ได้ถึงจุดสุดยอดในเซ็กส์ เป็นต้น
1
ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ใช่ว่า “Pleasure” ไม่ดี “Pleasure” ก็จำเป็นต่อชีวิตเราเหมือนกัน ชีวิตใครๆก็ต้องการมี “Pleasure” ผสมอยู่บ้าง ไม่อย่างนั้นก็คงแห้งเหี่ยวเฉาตายกันพอดี จริงไหม?
เพียงแต่ให้เราตระหนักรู้ว่า สิ่งเหล่านั้น หรือ ความรู้สึกที่เราได้จากสิ่งเหล่านั้น มันคือ “Pleasure” เมื่อเรามีความดีใจ หรือ สุขใจ แบบ “Pleasure” มันทำให้เรารู้สึกดีมากๆในตอนแรก แต่ไม่นาน ความรู้สึกเหล่านั้นมันก็จะหายแว๊บไป ราวกับว่าไม่ได้มีอะไรเกิดขึ้นเลย เรากลับมาเป็นเราคนเดิมที่ไม่ได้มีความสุขเพิ่มขึ้นแม้แต่น้อย
“Pleasure” เหล่านี้ทำให้เรารู้สึกมีความสุขขึ้นกว่าเดิมในช่วงแรก ใช่! มันคือความสุขเล็กๆ แต่อีกไม่ช้าไม่นานมันก็จะกลายเป็นเพียงแค่ “New Normal” ในชีวิต หลายครั้งที่ผู้คนทำทุกอย่างเพื่อที่จะไล่ตามหาสิ่งที่พวกเขาคิดว่ามันคือ “ความสุข”
... เคยไหม? ซื้อของบางอย่าง เพราะคิดว่ามันจะนำพาความสุขมาให้
... เคยไหม? ออกท่องเที่ยวตาม wish list ที่วางไว้ เพราะคิดว่ามันจะเติมความสุขให้กับชีวิต
จริงๆแล้ว “Pleasure” ก็คือส่วนหนึ่งของ “Happiness” แต่มันไม่ได้ทำให้เกิด “Happiness” อย่างที่เข้าใจ
เคยมีเพื่อนคนหนึ่งมาปรึกษาว่าเขาจะจัดการกับความรู้สึกตรงนี้อย่างไรดี? เขารู้สึกว่าชีวิตไม่มีความสุข จะทำอย่างไรให้รู้สึกเป็นสุข? ทั้งๆที่ทุกอย่างในชีวิตก็ดูเหมือนสมบูรณ์ดี มีพ่อแม่พี่น้องที่สนิทรักใคร่กลมเกลียว มีคู่ชีวิตที่แสนดี มีการงานที่ดี มีการเงินที่มั่นคง ได้ไปเที่ยวตามที่ใจต้องการ ญี่ปุ่นก็ไปบ่อย ยุโรปก็เพิ่งไปมา แต่พอกลับมาบ้าน ทริปในฝันก็ไม่ได้ทำให้มีความสุขขึ้นเลย
“Pleasure” คือรูปแบบที่ฉาบฉวย ที่หลายคนเลือกใช้ให้มันเป็นรูปแบบของความพึงพอใจในชีวิต ประหนึ่งว่าเมื่อมีสิ่งนี้ เมื่อได้ทำสิ่งนั้น นั่นแหละคือความสมบูรณ์ในชีวิต
1
คนหลายคนวนเวียนขุดหาความสุขอยู่ในหลุมที่ชื่อว่า "Pleasure" นี้ การไล่ล่าหาความสุขที่ดูเหมือนไม่มีวันจบสิ้น เหมือนยิ่งขุดหาความสุขเท่าไร หลุมก็ยิ่งกว้างขึ้น ยิ่งลึกขึ้น มากเท่านั้น และทับถมไปด้วยกองสมบัติ ความสุขที่คิดว่าจะได้มาจากสมบัตินั้น กลับระเหยไปหมดแล้ว เพราะสิ่งที่เราขุดหามันหาใช่ความสุขไม่ มันเรียกว่า “Pleasure” ต่างหากเล่า
1
แต่อย่างไรก็ตาม “Pleasure” นั้นก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อชีวิต แต่ทว่ามันไม่เพียงพอกับความต้องการด้านจิตใจ ชีวิตเราต้องการมากกว่านั้น … และสิ่งนั้นคือ “Happiness”
HAPPINESS
“Happiness” คือสภาวะของความพึงพอใจในชีวิต หรือ ความพึงพอใจในการใช้ชีวิต มีความรู้สึกอิ่มเอมใจ และ “Happiness” นี่แหละคือคำที่เราควรเรียกว่า “ความสุข” ได้อย่างแท้จริง แต่อย่างไรก็ตาม สภาวะนี้ก็ไม่ได้คงอยู่ตลอดไป
อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า เงินไม่สามารถซื้อความสุขได้ ในขณะเดียวกันยิ่งแสวงหามากเท่าไร ก็ยิ่งไม่เจอความสุขมากเท่านั้น
1
(ถ้าคุณต้องพยายามที่จะเท่ห์, คุณไม่มีวันที่จะเท่ห์
ถ้าคุณต้องพยายามที่จะมีความสุข, คุณจึงไม่มีวันที่จะมีความสุขได้)
ความสุขไม่สามารถพบเจอได้จากการตามหา เพราะความสุขไม่ใช่จุดมุ่งหมายปลายทาง ไม่ใช่สิ่งที่นอนรออยู่ในตัวคุณเหมือนเซลล์มะเร็งที่พร้อมจะโชว์ตัวออกมาเมื่อมีบางอย่างไปกระตุ้น
แต่ความสุขนั้นจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคุณเริ่มค้นหาว่าอะไรที่อยู่ในตัวคุณ คุณภูมิใจอะไรในตนเองบ้าง ตัวคุณมีความชอบแบบหลงใหล หรือ Passion ในการทำอะไรบ้าง
กล่าวคือ ความสุขจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคุณมี “Self Actualization” ซึ่งก็คือ การค้นพบความต้องการที่แท้จริงของตนเอง อาจคล้ายๆกับ การรู้จักตัวตน หรือ “Self Realization”
1
และในระหว่างทาง หรือ ในกระบวนการค้นหาตัวตนนั่นแหละ ความสุขจะเกิดขึ้น โดยที่เป้าหมายไม่ใช่ความสุข ไม่ใช่ความสำเร็จ แต่ความสุขคือ "side effect" หรือ ผลข้างเคียง ของกระบวนการเหล่านั้น เช่น การที่ได้วิ่งมาราธอนจบทำให้เรามีความสุขมากกว่าการได้ทานเค้กอร่อยๆ ซึ่งความสุขที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้อยู่ที่การวิ่งจบมาราธอน แต่อยู่ที่การได้ชนะในความยากลำบากที่ต้องฝ่าฟันจนจบด้วยตนเอง
1
(ความสุขไม่ได้อยู่ข้างในคุณ แต่ความสุขเกิดขึ้นเมื่อคุณตัดสินใจที่จะตามหาสิ่งที่อยู่ข้างในคุณต่างหาก)
1
เมื่อตอนสมัยวัยรุ่นเราเคยเดินขึ้นภูกระดึง และนอนค้างในเต๊นท์น่าจะสักสามคืนได้ หลังจากกลับมาที่บ้าน รู้สึกเหนื่อยมากๆ ล้าไปทั้งร่างเลยทีเดียว และคิดในใจว่าเหนื่อยขนาดนี้ครั้งเดียวก็พอแล้วนะ
แต่หลังจากเวลาผ่านไปอีกนาน เรากลับรู้สึกมีความสุขที่ได้ไปขึ้นภูกระดึงในครั้งนั้น ไม่ใช่เพราะว่าได้ไปถ่ายรูปตอนพระอาทิตย์ตกที่ผาหล่มสัก หรือ ได้ยืนถ่ายรูปกับป้าย “ครั้งหนึ่งในชีวิต เราคือผู้พิชิตภูกระดึง”
หากแต่ความสุขของเราในตอนหลัง เกิดจากการที่ได้ผ่านความยากลำบากของการเดินในทุกๆวัน เป็นการเดินที่ต้องใช้ความทรหดอดทนมากตั้งแต่วันแรกยันวันสุดท้าย รวมถึงการกินอยู่แบบง่ายๆ นอนก็ไม่ได้สบาย อาบน้ำแบบหนาวๆ
แต่ทั้งหมดนี้มันกลับทำให้รู้สึกอิ่มเอม แม้กระทั่งทำให้เกิดความคิดที่ว่า อยากจะไปขึ้นภูกระดึงอีกสักครั้งถ้ามีโอกาส มันคือความสุขใจที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ของความอดทนในการขึ้นภูกระดึงนั่นเอง
มีการวิจัยออกมาว่า 50% ของความสุขในมนุษย์เรามาจากพันธุกรรม อีก 10% มาจากสิ่งแวดล้อมต่างๆรวมถึงการถูกเลี้ยงดูในช่วงวัยเยาว์ ที่เหลืออีก 40% คือความสุขที่สามารถเกิดได้จากการกระทำของเรา
สำหรับ 50% แรก เปรียบเหมือนต้นทุนของชีวิตที่ทุกคนมีไม่เท่ากันตั้งแต่เกิด หากพ่อแม่เป็นคนอารมณ์ร้อน เราย่อมได้ความอารมณ์ร้อนจากพ่อแม่ด้วย ในขณะเดียวกันหากพ่อแม่เป็นคนอารมณ์ดี ร่าเริง เราย่อมได้ความอารมณ์ดีและร่าเริงมาจากพ่อแม่เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถที่จะแก้ไขอะไรในจุดนี้ได้
อีก 10% ก็น่าจะไม่สามารถแก้ไขอะไรได้อีกเหมือนกัน เราทุกคนต่างพบเจอเรื่องราวในชีวิตมาไม่เหมือนกัน บางคนเจอเรื่องร้ายๆมามาก บางคนเจอเรื่องดีๆมากกว่า เลยอาจทำให้แต่ละคนมองโลกใบนี้ไม่เหมือนกัน บางคนอาจมองว่าโลกนี้ช่างโหดร้าย แต่บางคนกลับมองว่าโลกนี้ช่างสวยงาม
ส่วนที่เหลืออีก 40% นั้นเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด ที่มันสำคัญที่สุดก็เพราะว่ามันสามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยเรา เรานั่นแหละคือผู้กำหนด
หากว่าเราได้ความอารมณ์ร้อนมาจากพ่อแม่ เราก็คงต้องฝึกใจมากกว่าคนที่เกิดจากพ่อแม่อารมณ์ดี แต่ก็ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะฝึก
ในขณะเดียวกันหากประสบการณ์ในชีวิตของเรามันให้ความรู้สึกที่ย่ำแย่ ก็เราอีกนั่นแหละที่สามารถที่จะเปลี่ยนมุมมองได้ ถึงแม้ว่าจะแก้ไขอดีตไม่ได้เลยก็ตาม
สรุปง่ายๆคือ 40% นี้ จะสุขหรือทุกข์ อยู่ที่ตัวเราเพียงผู้เดียว ตัวเราล้วนๆ ไม่ว่าจะเป็นกูรูเก่งฉกาจปานใด ก็ไม่สามารถทำให้ 40% ของคุณตรงนี้กลายเป็นความสุขขึ้นมาได้ หากคุณไม่ได้เข้าใจความสุขอย่างแท้จริง ไม่ได้พยายามฝึกตนให้อยู่ในทิศทางที่จะเอื้อต่อความสุข
ในชีวิตมนุษย์เรา Pleasure และ Happiness ต่างเป็นของคู่กัน เป็นสิ่งที่มนุษย์เราต้องการทั้งสองอย่าง ขอเพียงแต่เราอย่าหลงคิดว่า Pleasure คือ Happiness มิเช่นนั้นแล้ว เราก็คงไม่สามารถมีความสุขที่แท้จริงได้เพราะมัวลุ่มหลงอยู่กับความสุขปลอมๆ
ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์หรือความสุข ต่างไม่ได้สิงสถิตอยู่กับตัวเราไปชั่วนิจนิรันดร์ เพราะฉะนั้นเราต้องหมั่นเติมความสุข หรือ Happiness ให้กับจิตใจเราอยู่เสมอ
หมั่นถามตัวเองว่า “วันนี้ฉันมีความสุขแล้วหรือยัง?”
เนื้อหาบางส่วนอ้างอิงมาจาก: https://markmanson.net/stop-trying-to-be-happy
#สมองสองช้อน ขอให้ทุกคนมีความสุขที่แท้จริงนะคะ และขอบคุณทุกคนที่แวะมาอ่าน มาเป็นกำลังใจให้กันค่ะ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา