25 มิ.ย. 2021 เวลา 04:11 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
TIMEOUT
Rising Phoenix (2020) - คืนชีพ
โดย ธ.เจริญมิตร
*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์
นกฟีนิกซ์มีชีวิตอยู่ และตายไป แม้ถูกเผาจนมอดไหม้แล้ว จะสามารถฟื้นคืนกลับมามีชีวิตได้อีกครั้งเสมอ
เบอาทริซ “เบเบ” วิโอ สาวน้อยอิตาเลียน ชอบกีฬาฟันดาบตั้งแต่ยังเล็ก ตอนอายุ 11 ขวบเธอป่วยด้วยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ส่งผลให้เสียโฉมและต้องตัดแขนขาทั้ง 2 ข้าง ถึงวัย 15 เธอกลับมาฝึกฝนกีฬาฟันดาบที่เธอรัก แม้ว่าจากนี้จะต้องอยู่บนเก้าอี้รถเข็น เบเบฝึกหนักจนฝีมือโดดเด่นและได้โอกาสลงแข่งขันพาราลิมปิกที่ริโอเกมส์ 2016 เธอทะลุถึงรอบชิงชนะเลิศ มาเจอกับสาวจีนแชมป์เก่า ที่ประสบการณ์สูงกว่าเยอะแยะ...
โอลิมปิกเกมส์เป็นรายการแข่งขันกีฬาสำหรับนักกีฬาอวัยวะครบ 32 ส่วนพาราลิมปิกเกมส์นั้นสำหรับนักกีฬาพิการประเภทต่างๆ จะกล้ามเนื้อบกพร่อง ร่างกายขยับได้ไม่คล่องแคล่ว หรืออวัยวะผิดรูปแต่กำเนิด เช่น แขนขาสั้นยาวไม่เท่ากัน รูปร่างแคระแกร็นก็เข้าข่ายทั้งนั้น ปัจจุบันยังเพิ่มผู้พิการทางสายตา และพิการทางปัญญาอย่างผู้ป่วยโรคดาวน์ซินโดรมให้ลงชิงชัยได้อีกด้วย
นักกีฬาในหนังสารคดีนี้พิการจากหลายสาเหตุ เช่น เอลลี โคล นักว่ายน้ำหญิงออสเตรเลียน โดนตัดขาขวาจากโรคมะเร็งตอนอายุ 4 ขวบ จอนนี พีค็อค หนุ่มนักวิ่งระยะสั้นจากอังกฤษ เป็นอีกคนที่ต้องถูกหั่นขาเพราะโรคร้าย ขณะที่ ฌอง-แบปติสท์ อเลซ นักกระโดดไกลชายสัญชาติฝรั่งเศส เสียขาขวาจากเหตุสงครามกลางเมืองบุรุนดีบ้านเกิด
ส่วน แม็ตต์ สตุตซ์แมน นักแม่นธนูหนุ่มอเมริกัน ไม่มีแขนสองข้างมาตั้งแต่ออกมาดูโลก เอ็นทันโด มาฮ์ลันกู นักวิ่งระยะสั้น ชายชาวแอฟริกาใต้ พิการขาขวาโดยกำเนิด ไรลีย์ แบตต์ หนุ่มออสเตรเลียนนักรักบี้วีลแชร์หุ่นล่ำ ไม่มีขาและไม่มีนิ้วมือบางนิ้วตั้งแต่เกิด รวมทั้งซุยเชอ นักยกน้ำหนักสาวชาวจีน ขาสองข้างของเธอค่อยๆ ลีบตั้งแต่ยังเล็ก
อีกคนคือ ทาเทียนา แม็คแฟดเดน นักกีฬาหญิงอเมริกันเชื้อสายรัสเซียที่พิการแต่เด็ก สมัยเป็นนักเรียนเธอเคยเรียกร้องโรงเรียนให้ตัวเองลงแข่งกีฬาร่วมกับเพื่อนนักเรียนปกติ เรื่องไปถึงประธานาธิบดี บารัก โอบามา จึงออกกฎให้ทุกโรงเรียนอนุญาตให้ผู้พิการลงแข่งกีฬาได้อย่างเท่าเทียม จนใครๆ ก็เรียกชื่อกฎนี้ว่ากฎทาเทียนา ต่อมาเธอลงแข่งวิ่งวีลแชร์ทั้งในพาราลิมปิกฤดูร้อนและฤดูหนาว ได้ครองเหรียญรางวัลและสถิติโลกมากมาย
สารคดีเรื่องนี้ยังพาเราย้อนหลังกลับไปในราวปี 1939 บรรยากาศก่อนสงครามโลกกำลังคุกรุ่น ศาสตราจารย์ลุดวิก กุตต์มันน์ นายแพทย์ชาวยิว-เยอรมันโดนทหารนาซีคุกคามบ่อยๆ เขาเห็นท่าไม่ดีจึงขอลี้ภัยมาพำนักในประเทศอังกฤษ ได้งานเป็นศัลยแพทย์ด้านประสาทวิทยาตามเดิม คอยดูแลผู้ป่วยที่โรงพยาบาลสโตกแมนเดอวิลล์ เมืองบักกิงแฮมเชียร์ ต่อมาในปี 1944 หมอกุตต์มันน์ได้ก่อตั้งศูนย์พักฟื้นผู้บาดเจ็บกระดูกสันหลังขึ้นในบริเวณโรงพยาบาลนั้นเอง
หมอกุตต์มันน์ปิ๊งไอเดียขึ้นมาว่า ผู้ป่วยมักจิตใจบอบช้ำจากสภาพร่างกายไม่สมประกอบ เกมกีฬาน่าจะช่วยพยุงพวกเขาให้มีชีวิตอยู่ต่อได้ อย่างน้อยก็ช่วยเสริมสมรรถภาพร่างกาย ช่วยคลายเครียด บันเทิงใจได้พอสมควร ผลคือนอกจากจะเยียวยาผู้ป่วยได้ผลดีแล้ว หลายครั้งยังปลุกพวกเขาให้กลับมามีชีวิตชีวา ลุกขึ้นมากระฉับกระเฉงอีกหน ผู้ป่วยบางคนถึงกับค้นพบเป้าหมายใหม่ในชีวิตได้อีกด้วย
คนไข้หลายคนขยันฝึกซ้อม และแข่งขันแบบลำลองกันมาหลายปี วันที่ 29 พฤษภาคม 1948 ที่กรุงลอนดอนกำลังจัดพิธีเปิดโอลิมปิกเกมส์ หมอกุตต์มันน์ก็จัดงานสโตกแมนเดอวิลล์เกมส์ (Stoke Mandeville Games) ในวันเดียวกัน ตั้งใจให้ผู้ป่วยทหารผ่านศึกกับผู้บาดเจ็บกระดูกสันหลังชาวอังกฤษรวม 16 คนได้ลงแข่งขันกีฬายิงธนูกันอย่างเป็นทางการ ทั้งพยาบาลและญาติมาชุมนุมกัน พาให้บรรยากาศคึกครื้นสนุกสนานคู่ขนานไปกับงานโอลิมปิกที่เมืองหลวง
นายแพทย์กุตต์มันน์จัดงานแข่งกีฬานี้ต่อเนื่องทุกปี พอเพิ่มประเภทกีฬาให้หลากหลายขึ้น ผู้ป่วยนักกีฬาเข้าร่วมก็เพิ่มตามด้วย กระทั่งปี 1952 มีทหารผ่านศึกชาวดัตช์และชาวอิสราเอลขอเข้าแข่งด้วย เขาจึงเปลี่ยนชื่อรายการเป็นอินเตอร์เนชันแนล สโตกแมนเดอวิลล์เกมส์ (International Stoke Mandeville Games) แทน
ต่อมาในปี 1960 คุณหมอขอย้ายการแข่งขันไปจัดที่กรุงโรม ประเทศอิตาลีแทน เนื่องจากมีนักกีฬาพิการเข้าร่วมมากมายถึง 400 คนจาก 23 ประเทศ โดยจะจัดเคียงคู่ไปพร้อมกับโอลิมปิกเกมส์เหมือนเคย
ภายหลังคณะกรรมการพาราลิมปิกสากลถือว่าการแข่งขันอินเตอร์เนชันแนล สโตกแมนเดอวิลล์เกมส์ครั้งที่ 9 ที่โรมนี้ เป็นพาราลิมปิกเกมส์ครั้งแรกอย่างเป็นทางการ [คำว่า “พารา” (Para) ในภาษากรีกแปลว่านอกเหนือจากนี้ หรือเคียงข้างกันไป ซึ่งก็ตรงความหมายพอดี]
ไม่กี่ปีถัดมาพระราชินีอลิซาเบธแห่งอังกฤษทรงเล็งเห็นว่า ผลงานที่นายแพทย์ผู้นี้ได้ริเริ่มเอาไว้ มีประโยชน์และคุณค่ามหาศาลต่อคนในประเทศและประชาคมโลก จึงพระราชทานยศอัศวินให้เป็น เซอร์ลุดวิก กุตต์มันน์ เพื่อสดุดีและบันทึกชื่อเอาไว้ในฐานะบุคคลสำคัญของชาติ
การจัดพาราลิมปิกดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งมีเรื่องตื่นเต้นเกิดขึ้นในปี 2016...
คณะกรรมการจัดงานโอลิมปิกชุดล่าสุดนี้แจ้งว่าไม่เหลือเงินทุนให้งานพาราลิมปิกเลย ฟิลิป เครเวน กับ ชาบี กอนซาเลซ และ แอนดรู พาร์สันส์ 3 ผู้บริหารกำลังตกที่นั่งลำบาก ข่าวงดแข่งขันพาราลิมปิกที่ริโอ ประเทศบราซิลสะพัดไปทั่ว ซ้ำร้ายศาลยังสั่งมิให้รัฐบาลบราซิลจ่ายเงินช่วยเหลืออีกด้วย เดดไลน์กระเถิบใกล้เข้ามา เหลือเวลาอีกแค่ 6 สัปดาห์เท่านั้น
บรรดานักกีฬาที่ตรากตรำฝึกซ้อมกันมายาวนานต่างกระวนกระวายใจ จิตตกกันเป็นแถว เพราะสำหรับบางคนงานนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายของพวกเขาแล้ว รวมไปถึงบรรดาผู้สนับสนุนหลายรายพลอยกังวลตามไปด้วย นายใหญ่ทั้ง 3 คนต้องวิ่งวุ่นหาเงินทุนสำรองให้ทันกาล ไม่อยากให้ไฟพาราลิมปิกเกมส์ต้องมอดดับลงในมือตัวเอง กีฬาโอลิมปิกจะเป็นกีฬาของมวลมนุษยชาติสมบูรณ์ได้อย่างไรถ้าขาดพาราลิมปิกเกมส์ไป
...และแล้วพวกเขาก็หาทุนสำเร็จได้อย่างหวุดหวิด
ช่วงวันแรกๆ ของการแข่งขันผู้ชมในสนามดูบางตา เพราะประชาสัมพันธ์ล่าช้า ทว่านักกีฬาดาวเด่นและนักกีฬาม้ามืดหลายต่อหลายคนทำลายสถิติเดิมเป็นว่าเล่น ตัวคุณภาพที่อัดแน่นของแต่ละกีฬาดึงดูดผู้ชมให้อยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์มากขึ้นเรื่อยๆ จนท้ายที่สุดยอดจำหน่ายตั๋วพาราลิมปิกเกมส์แซงหน้าโอลิมปิกเกมส์ไปอีก
ถึงพาราลิมปิกเกมส์จะจัดขึ้นสำหรับนักกีฬาร่างกายบกพร่อง ผู้ต้องฟันฝ่าอุปสรรคเกินกว่านักกีฬาปกติ แต่พวกเขาก็ก้าวข้ามพ้นมาได้ เค้นประสิทธิภาพสูงสุดจากร่างกายเท่าที่เหลืออยู่ออกมาใช้ในสนาม ยืนยันได้อย่างดีว่าหัวใจพวกเขายิ่งใหญ่ไม่แพ้ใคร
พวกเขาจึงนับเป็นภาพแทนแห่งจิตวิญญาณนักสู้ที่ดึงดูดให้ผู้ชมชายหญิงเปล่งเสียงเชียร์เอาใจช่วยดังลั่นในสนาม ตะโกนกึกก้องในโรงยิม รวมทั้งแฟนกีฬาหน้าจออีกนักไม่ถ้วน นอกจากนั้นยังเป็นตัวแทนของเหล่าผู้ทุพพลภาพอื่นๆ อีก 24 ล้านคนทั่วโลกด้วย
ขณะเดียวกันเสียงเชียร์อันกระหึ่มนั้นก็พาให้หัวใจนักกีฬาฟูฟ่องอย่างที่พวกเขาไม่เคยได้รับในชีวิตประจำวัน นักกีฬาสร้างแรงบันดาลใจให้คนดู ส่วนคนดูเสริมพลังใจให้นักกีฬา ต่างคนต่างเกื้อกูลกันไป จบการแข่งขันถือว่าได้ชัยกันไปทั้งในสนามและบนอัฒจันทร์
เซอร์ลุดวิก กุตต์มันน์ ถึงแก่กรรมต้นปี 1980 รวมอายุได้ 82 ปี หากวันนี้ยังมีชีวิตอยู่ ท่านเซอร์คงปลื้มใจที่กีฬาพาราลิมปิกเติบโตอย่างมั่นคงและรวดเร็ว ภาพน้ำใจนักกีฬาและมิตรภาพอันสวยงามที่เกิดขึ้นถูกส่งต่อออกไปในวงกว้าง ช่วยเปลี่ยนมุมที่คนปกติมองคนพิการ ยกระดับขึ้นไปอย่างมากมาย
อย่างที่ผู้ชมได้เห็นจากหนังสารคดีเรื่องนี้ เหล่านักกีฬาคนพิการที่ลงสนามแข่งขันในพาราลิมปิกเกมส์ 2016 ต่างแสดงให้เห็นถึงหัวใจนักสู้ผู้ไม่ยอมแพ้ รวมทั้ง เบอาทริซ “เบเบ” วิโอ สาวน้อยอิตาเลียนนักฟันดาบคนพิการ ที่ฝ่าฟันเข้ามาถึงรอบชิงชนะเลิศ ต้องดวลกับแชมป์เก่าชาวจีนมากประสบการณ์
... เสียงผู้บรรยายในหนังบอกว่าแชมป์เก่าต้องหนักใจมาก เพราะเธอไม่รู้ตัวว่ากำลังต่อสู้อยู่กับแชมป์ปัจจุบัน
ในที่สุด เบเบ วิโอ ก็คว้าเหรียญทองด้วยคะแนน 15-7 สาวจีนแชมป์เก่ากลายเป็นผู้พ่าย ทั้งๆ ที่ตัวเองกำลังเศร้าสลด เธอก็ยังยิ้มยินดีกับผู้พิชิตชัย ปรบมือชื่นชมและน้อมรับฝีมือที่เหนือกว่าของคู่แข่ง ผู้ชนะระเบิดอารมณ์ฉลองชัยแล้วหันกลับมาปลอบใจผู้แพ้ สองสาวนักดาบเหงื่อชุ่มโชกกอดกันแน่นแฟ้น น้ำตาแห่งความปีติพรั่งพรูออกมาไม่ทันตั้งตัว คนทั้งสองภูมิใจที่ตนได้เป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขัน ต่างอวยพรกันและกันให้มีชีวิตที่ดียิ่งขึ้นไป
อาการบาดเจ็บหรือพิการนั้นไม่ใช่จุดสิ้นสุด
มันเป็นจุดเริ่มต้นของหนึ่งชีวิตใหม่ต่างหาก
เวลานี้นกฟีนิกซ์ตัวน้อยได้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง
อ่านบทความดีๆเพิ่มเติมได้ที่ https://playnowthailand.com/
#RisingPhoenix #TIMEOUT #ภาพยนตร์ #PlayNowThailand

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา