13 ก.ค. 2021 เวลา 02:55 • ประวัติศาสตร์
• สามสาวพี่น้องตระกูลซ่ง ตอนที่ 1:
ความรักของมาดามซุนยัดเซ็น ซ่งชิงหลิง
3
(Image: Wikimedia)
เธอเป็นผู้หญิงจีนที่เพียบพร้อมไปด้วยฐานะ และความรู้ เธอเป็นบุตรสาวของมหาเศรษฐีจีนผู้มีหัวก้าวหน้า เธอได้รับการศึกษาจากประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเวลานั้นผู้หญิงจีนน้อยคนนักที่จะได้รับโอกาสเช่นนั้น แต่เธอเลือกเส้นทางที่แตกต่างไปจากพี่น้องผู้หญิงคนอื่นที่เลือกเส้นทางสายเงินตราและอำนาจ น้องผู้ชายอีก 3 คนของเธอล้วนแต่เป็นบุคคลสำคัญในรัฐบาลสาธารณรัฐจีน อธิบายเพียงเท่านี้ก็คงจะนึกภาพออกว่าพี่น้องตระกูลนี้จะทรงอิทธิพลมากขนาดไหน
1
ผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์จีนยุคใหม่น่าจะเคยได้ยินชื่อของสามสาวพี่น้องตระกูลซ่ง ผู้ซึ่งมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจและการเมืองจีนในช่วงศตวรรษที่ 20 ซ่งอ้ายหลิงพี่สาวคนแรกผู้ซึ่งฉลาดเฉลียวที่สุดแต่งงานกับผู้อำนวยการธนาคารของจีนซึ่งเป็นผู้ชายที่รวยที่สุดของประเทศ ซ่งเหม่ยหลิงผู้น้องแต่งงานกับจอมพลเจียงไคเช็กผู้นำพรรคก๊กมินตั๋ง
1
ส่วนซ่งชิงหลิงเลือกความรักและประเทศชาติ เธอเลือกเป็นภรรยาคนที่สามของชายคนที่มีอายุมากกว่าถึง 26 ปีคือซุนยัดเซ็น ผู้ก่อตั้งและประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐจีน ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “บิดาของประเทศจีน” ต่อมาเธอกลายเป็นผู้สนับสนุนคอมมิวนิสต์ อยู่ขั้วตรงข้ามกับครอบครัวและเจียงไคเช็กผู้เป็นน้องเขย เป็นรองประธานพรรคคอมมิวนิสต์ของเหมาเจ๋อตุง และเสียชีวิตในตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์ของประเทศจีน เธอได้รับการยกย่องว่าเป็น “มารดาแห่งประเทศจีนยุคใหม่”
2
สามศรีพี่น้องนี้มิได้เป็นช้างเท้าหลังของสามี แต่พวกเธอในหลาย ๆ ครั้งเป็นช้างเท้าหน้า ที่นำพาสามีจนเปลี่ยนเส้นทางประวัติศาสตร์จีน ในวันนี้จะมาเล่าเรื่องของซ่งชิงหลิงผู้ที่ถูกเรียกว่า ‘มาดามซุนยัดเซ็น’
3
ภาพถ่ายสามพี่น้องหลังเรียนจบกลับมาจากสหรัฐอเมริกาใหม่ ๆ ต้นฉบับเป็นภาพขาวดำ จากซ้ายคือซ่งชิงหลิง ซ่งอ้ายหลิง และซ่งเหม่ยหลิง (Image: ThinkChina)
• ลูกสาวตระกูลซ่ง
2
ซ่งชิงหลิงเป็นลูกคนที่ 2 ในบรรดาลูกทั้งหมด 6 คนของชาร์ลี ซ่ง ชายชาวจีนผู้ซึ่งไปใช้ชีวิตแบบปากกัดตีนถีบที่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่นจนได้เล่าเรียนอยู่ที่นั่นเพราะความช่วยเหลือของชาวคริสต์ เขาจึงเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ และได้เดินทางกลับมาจีนเพื่อเป็นมิชชันนารีและทำธุรกิจ ต่อมาเขาได้เริ่มต้นสร้างครอบครัวและธุรกิจที่เมืองเซี่ยงไฮ้ โดยจับธุรกิจพิมพ์พระคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษาจีนจนมั่งคั่งขึ้นมา และขยายธุรกิจไปทางสายธนาคาร อาหาร และสิ่งทอด้วย
6
เขาได้มีโอกาสรู้จักกับซุนยัดเซ็นโดยบังเอิญที่โบสถ์ตั้งแต่ปี 1894 จนได้สนิทสนมกลายเป็นเพื่อนสนิทกัน ชาร์ลี ซ่ง กลายเป็นสาวกและแนวร่วมของซุนยัดเซ็นในการปฏิวัติล้มล้างราชวงศ์ชิง โดยแอบให้การสนับสนุนทางการเงินอย่างลับ ๆ เพื่อทำการปฏิวัตินี้ ความสนิทสนมนี้ลำให้ลูก ๆ ของเขาเรียกซุนยัดเซ็นว่า ‘คุณลุง’
ซ่งชิงหลิงเกิดเมื่อวันที่ 27 มกราคม ปี 1893 ที่เซี่ยงไฮ้ในสมัยที่ราชวงศ์ชิงยังปกครองจีนอยู่ ชื่อของเธอแปลว่า ‘อารมณ์ดี’ และยังมีชื่อคริสเตียนว่า ‘โรซามุนด์-Rosamond’ ตามชื่อลูกสาวของครอบครัวชาวคริสต์ที่สนับสนุนจนพ่อของเธอได้เรียนที่มหาวิทยาลัยดุ๊กและแวนเดอร์บิลท์ แถมยังเปิดโอกาสในการประกอบอาชีพให้พ่อของเธออีกด้วย
2
ซ่งชิงหลิงได้รับการศึกษาเป็นอย่างดี เมื่อมีอายุได้ 7 ขวบก็เข้าเรียนในโรงเรียนคริสต์สำหรับผู้หญิงล้วนที่เซี่ยงไฮ้ชื่อว่า McTyeire School for Girls การได้เข้าโรงเรียนเช่นนี้ทำให้เธอและพี่น้องพูดภาษาอังกฤษได้คล่องซึ่งเป็นประโยชน์ในเวลาต่อมา โดยเฉพาะกับซ่งเหม่ยหลิงที่ต้องเดินสายหาเสียงสนับสนุนทั้งเงินทุนและอาวุธจากสหรัฐอเมริกามาช่วยสามีคือเจียงไคเช็กสู้กับเหมาเจ๋อตุงในช่วงสงครามกลางเมือง
3
ลูกสาวบ้านนี้ไม่มีใครมัดเท้าตามประเพณีจีน เพราะพ่อของพวกเธอหัวสมัยใหม่เห็นว่าประเพณีล้าหลังมาก ชาร์ลี ซ่ง สร้างฐานะตนเองจนมั่งคั่งร่ำรวยมหาศาล
1
พอเกิดกบฏนักมวยเมื่อปี 1900 บรรยากาศทางการเมืองจีนยิ่งรุนแรงและอันตรายขึ้นเรื่อย ๆ ชาร์ลี ซ่ง เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องส่งลูก ๆ ไปอยู่ในที่ปลอดภัยและได้รับการศึกษาที่ดี ด้วยเครือข่ายเพื่อนฝูงที่มีเขาได้รับการแนะนำให้ส่งลูกสาวไปเรียนที่วิทยาลัยเวสเลียน (Wesleyan College) ในรัฐจอร์เจีย เขาจึงส่งลูกสาวคนโตคือซ่งอ้ายหลิงเดินทางไปก่อน
2
ต่อมาในปี 1908 ซ่งชิงหลิงก็ถูกส่งตัวไปเรียนที่สหรัฐอเมริกาพร้อมกับซ่งเหม่ยหลิงผู้น้อง ก่อนที่จะเข้าเรียน สองพี่น้องอาศัยอยู่กับครอบครัวมิชชันนารีที่รัฐนิวเจอร์ซีย์และจอร์เจียที่ทำหน้าที่ดูแลพวกเธอและสอนหนังสือให้เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย
2
สามสาวพี่น้องตระกูลซ่งเข้าเรียนมหาวิทยาลัยพร้อมกัน ที่วิทยาลัยเวสเลียน สามศรีพี่น้องตระกูลซ่งนี้จึงเป็นผู้หญิงจีนกลุ่มแรกที่เข้าเรียนและจบการศึกษาจากสหรัฐอเมริกา และได้รับอิทธิพลเรื่องแนวคิดของผู้หญิงในสังคมตะวันตกซึ่งก็จะส่งผลต่อบทบาทของพวกเธอในการส่งเสริมสิทธิสตรีจีนในเวทีการเมืองต่อไป
3
ณ วิทยาลัยเวสเลียน ซ่งชิงหลิงได้รับการจดจำว่าเธอมีบุคลิกเป็นคนเงียบ ๆ แต่ลึกซึ้ง และมีลักษณะอุทิศตัวต่อประเทศชาติของเธออย่างเต็มเปี่ยม เพราะในขณะที่ซ่งชิงหลิงเรียนอยู่นั้นราชวงศ์ชิงได้ถูกโค่นล้มลงสำเร็จจากการปฏิวัติซินไฮ่เมื่อปี 1911 และระบอบฮ่องเต้ที่มีมายาวนานนับ 2,000 ปีก็ถึงจุดสิ้นสุด ปฏิกิริยาของซ่งชิงหลิงคือเธอทึ้งธงรูปมังกรจีนบนผนังออกไปและติดธงใหม่ของประเทศจีนที่พ่อของเธอส่งมาให้แทน นอกจากนี้เธอยังเขียนบทความที่เต็มไปด้วยอารมณ์เกี่ยวกับการปฏิวัติจีนหลายชิ้นลงนิตยสารของนักศึกษา
8
เมื่อซ่งอ้ายหลิงพี่สาวคนโตจบการศึกษา เธอเดินทางกลับจีนก่อน โดยชาร์ลี ซ่ง ให้เธอทำงานเป็นเลขานุการให้กับซุนยัดเซ็น ส่วนซ่งชิงหลิงจบการศึกษาในปี 1913 แล้วก็เดินทางกลับจีนตามมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สาธารณรัฐจีนล่มเพราะอยู่ภายใต้การปกครองของหยวนซือไข่ เกิดการปฏิวัติเป็นครั้งที่ 2 ชาร์ลี ซ่ง เห็นว่าครอบครัวไม่น่าจะปลอดภัย จึงพาครอบครัวหนีมายังญี่ปุ่นพร้อมกับซุนยัดเซ็น
1
ภาพถ่ายสามพี่น้องผู้หญิงตระกูลซ่งเมื่อปี 1942 จากซ้ายมาคือซ่งเหม่ยหลิง ซ่งอ้ายหลิง และซ่งชิงหลิง (Image: Shanghai Daily)
• ชีวิตคู่ที่อื้อฉาว
หลังเรียนจบซ่งชิงหลิงจึงได้มาอยู่กับครอบครัวที่ญี่ปุ่น เธอได้พบกับซุนยัดเซ็นที่นั่น เพราะซุนยัดเซ็นลี้ภัยมาอยู่ที่ญี่ปุ่นเนื่องจากถูกกองทัพของหยวนซือไข่ตีแตกจนต้องหลบหนีมา ทั้งคู่จึงได้เริ่มสานสายสัมพันธ์กัน ซ่งชิงหลิงช่วยงานซุนยัดเซ็นเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นทำงานแปลภาษาอังกฤษให้แก่เขา ซึ่งทำให้เธอได้เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการปฏิวัติในจีนด้วย
2
พอซ่งอ้ายหลิงแต่งงานกับนักการธนาคารผู้ร่ำรวย การทำหน้าที่เป็นเลขานุการให้กับซุนยัดเซ็นจึงไม่เหมาะ ซ่งชิงหลิงจึงมารับช่วงต่อจากซ่งอ้ายหลิงพี่สาวในการเป็นเลขานุการให้กับซุนยัดเซ็นเมื่อปี 1914 จุดเริ่มต้นจากความศรัทธาต่อซุนยัดเซ็นกลายเป็นความรัก และความใกล้ชิดสนิทสนมนี้ทำให้ทั้งคู่ตกหลุมรักกัน แต่เก็บความสัมพันธ์นี้ไว้เป็นความลับ
1
หลังจากนั้นชาร์ลี ซ่ง ก็พาครอบครัวกลับมาที่เซี่ยงไฮ้ ส่วนซ่งชิงหลิงก็ยังคงติดต่อกับซุนยัดเซ็นอย่างลับ ๆ ต่อมาเธอก็ทิ้งระเบิดลงครอบครัวนี้ เพราะซ่งชิงหลิงขอพ่อกลับไปหาซุนยัดเซ็นที่ญี่ปุ่น
1
ซ่งชิงหลิงประกาศว่าเธอจะแต่งงานกับซุนยัดเซ็น ซึ่งทำให้พ่อแม่ของเธอตกตะลึงนึกไม่ถึง และต่างคัดค้านการแต่งงานระหว่างเธอกับซุนยัดเซ็น เพราะถึงแม้ซุนยัดเซ็นจะนับถือศาสนาคริสต์ แต่เขาเป็นเพื่อนพ่อที่มีอายุมากกว่าเธอถึง 26 ปี ซ่งชิงหลิงอายุ 22 ปีในขณะที่ซุนยัดเซ็นอายุ 49 ปี แถมเขามีภรรยาแล้วสองคน ภรรยาคนแรกมีลูกด้วยกัน 3 คน ภรรยาคนที่ 2 เป็นคนญี่ปุ่นที่อายุห่างกันมากร่วม 24 ปี แถมได้แต่งงานกันตั้งแต่ฝ่ายหญิงอายุยังเป็นเด็กวัยรุ่นอายุได้เพียง 15 ปี และมีลูกสาว 1 คน กับภรรยาคนแรกก็ยังไม่ได้เลิกกัน ส่วนภรรยาคนที่สองตายไปแล้ว (แถมซุนยัดเซ็นยังมีเมียน้อยอีกด้วย)
1
สิ่งที่ร้ายแรงที่สุดสำหรับครอบครัวนี้คือการยอมเป็นภรรยาคนที่ 2 ซึ่งขัดกับค่านิยมของชาวคริสต์ที่ดี ภรรยาคนแรกของซุนยัดเซ็นเป็นภรรยาตามแบบผู้หญิงจีนยุคเก่า คือมัดเท้า และไม่ได้มีบทบาทหน้าเวทีใด ๆ ร่วมกับสามี แต่ก็ยังไม่ได้เลิกกัน
2
การแต่งงานนี้จึงไม่ได้รับการอนุญาต ซ่งชิงหลิงถูกกักตัวไว้ให้อยู่แต่ในบ้านไม่ให้ไปไหนได้ แม้จะถูกต่อต้าน แต่ซ่งชิงหลิงก็หัวรั้นสู้จนได้แต่งงานกับซุนยัดเซ็นจนได้ โดยเธอหนีตามซุนยัดเซ็นไปที่ญี่ปุ่น มีเกร็ดเล่าว่าเธอถูกพ่อแม่กักบริเวณเธอไว้ให้อยู่แต่ในบ้าน แต่เธอก็หนีออกทางหน้าต่างบ้านไปได้ ส่วนพี่เลี้ยงวิ่งตามไม่ทันเพราะถูกมัดเท้าตามประเพณีจีน เธอลอบลงเรือหนีไปญี่ปุ่นตอนกลางคืน
1
ซุนยัดเซ็นหย่าขาดจากภรรยาคนแรกเพื่อจะได้มาแต่งงานกับซ่งชิงหลิง ทั้งคู่แต่งงานกันที่โตเกียวอย่างเงียบ ๆ ในวันที่ 25 ตุลาคม ปี 1915 ซ่งชิงหลิงกลายเป็นทั้งภรรยาคู่ชีวิตและคู่คิดในเส้นทางการเมืองให้แก่ซุนยัดเซ็นด้วย แต่สำหรับชาร์ลี ซ่ง มองว่าการแต่งงานของทั้งสองคนถือว่าเป็นการทรยศต่อเขา จึงตัดขาดไม่ติดต่อใด ๆ กับเพื่อนรักและลูกสาวไม่รักดีมาตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
3
3 ปีต่อมา ชาร์ลี ซ่ง ก็เสียชีวิต งานศพของเขาไม่มีซุนยัดเซ็นและสมาชิกพรรคก๊กมินตั๋งคนอื่นมาร่วมงานอย่างเป็นทางการ เพราะแผลของความขัดแย้งระหว่างเขากับซุนยัดเซ็นยังสดใหม่อยู่
หลังการแต่งงานประมาณ 1 ปี ทั้งคู่จึงมาถ่ายภาพแต่งงานเมื่อวันที่ 24 เมษายน ปี 1916 ภาพต้นฉบับเป็นรูปขาวดำ แต่มีการใส่สีเข้าทีหลัง (Image: ThinkChina)
• สตรีหมายเลขหนึ่งของสาธารณรัฐจีน
พอหยวนซือไข่ตาย ปี 1916 ทั้งคู่ก็เดินทางกลับมายังจีน ความพยายามในการปรามขุนศึกต่าง ๆ และก่อตั้งรัฐบาลไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งล่วงมาปี 1920 ซุนยัดเซ็นได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีของประเทศ
แต่เส้นทางสายการเมืองไม่เคยโรยด้วยกลีบกุหลาบ โดยเฉพาะกับประเทศที่เพิ่งก่อตั้งใหม่ที่ต้องเผชิญกับอุปสรรคนานัปการและความวุ่นวายทางการเมือง ในปี 1922 เกิดการกบฏมาบุกและทิ้งระเบิดพระราชวังของประธานาธิบดี ในระหว่างนั้นซ่งชิงหลิงกำลังท้องอยู่ เธอให้ซุนยัดเซ็นหนีไปก่อนหากไปพร้อมกันเธอจะทำให้เขาหนีไปไม่ทันและจะถูกกลุ่มกบฏจับตัวได้ มีเรื่องเล่าว่าเธอบอกกับเขาว่า “จีนอยู่ได้ถ้าไม่มีฉัน แต่จะอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีคุณ” ส่วนซ่งชิงหลิงภายหลังหาทางหนีออกไปได้ แต่ด้วยความเครียดและความเหนื่อยล้าจากการหลบหนีอันยากลำบาก เธอก็แท้งลูกไป ด้วยสภาพการแท้งที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือทางการแพทย์เธอจึงมีลูกไม่ได้อีกเลย (ในภายหลังเธอรับบุตรบุญธรรมที่เป็นผู้หญิงมาเลี้ยง 2 คน)
2
เมื่อกลายเป็นภรรยาของผู้นำประเทศ ซ่งชิงหลิงเป็นสตรีที่มีบทบาทสูงมาก เธอกลายเป็นตัวอย่างแรก ๆ ของโลกที่ภรรยาของผู้นำประเทศดำรงบทบาทและสถานะของตัวเองแบบ ‘สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง’ ที่แท้จริง
ในเวลานั้นผู้หญิงจีนที่เป็นภรรยาของคนระดับผู้นำยังไม่ก้าวออกมาสู่สายตาของคนภายนอก น้อยคนนักที่จะมาปรากฏตัวต่อสายตาของสาธารณชน และแทบไม่มีใครติดตามสามีไปร่วมงานสังคมและงานการเมืองต่าง ๆ แต่ซ่งชิงหลิงเป็นผู้หญิงจีนคนแรกที่ออกงานปรากฏตัวต่อสาธารณชนร่วมกับสามี
3
ในปี 1924 ซ่งชิงหลิงได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าฝ่ายกิจการสตรีประจำพรรคก๊กมินตั๋ง เธอจึงใช้โอกาสนี้สนับสนุนสิทธิของผู้หญิงจีนอย่างแข็งขัน เช่น
- ริเริ่มการปรับสภาพแวดล้อมสำหรับผู้หญิงที่ทำงานในโรงงานให้ดีขึ้น
- ก่อตั้งสมาคมต่าง ๆ สำหรับผู้หญิง
- จัดหาสถานที่พักพิงแก่ผู้หญิงที่หนีการคลุมถุงชน
ซ่งชิงหลิงเห็นว่ามีความจำเป็นที่ต้องปลดโซ่ตรวนผู้หญิงจีนออกจากธรรมเนียมดั้งเดิม ‘ให้อยู่ในโอวาท 3 อย่าง’ ได้แล้ว คือ การเชื่อฟังพ่อแม่ เชื่อฟังสามี และเชื่อฟังลูกชาย
พอแต่งงานกันได้ 10 ปี ซุนยัดเซ็นก็เสียชีวิตด้วยวัย 58 ปี เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ปี 1925 เพราะโรคมะเร็งที่ตับ มาดามซุนยัดเซ็นเป็นม่ายเมื่ออายุ 32 ปี เธอจัดพิธีศพให้สามีแบบคริสต์ และอุทิศชีวิตที่เหลืออยู่ด้วยการสานต่ออุดมการณ์ของสามีผู้ล่วงลับ และไม่ได้แต่งงานใหม่
เมื่อซุนยัดเซ็นใกล้เสียชีวิต (Image: Timetoast timelines)
• ทางแยกของครอบครัวและแนวคิดทางการเมือง
1
เจียงไคเช็กคือผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากซุนยัดเซ็น แต่ภายใต้พรรคก๊กมินตั๋งมีการแบ่งขั้วเป็นฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา ซึ่งซ่งชิงหลิงสนับสนุนฝ่ายซ้าย เพราะเธอไม่พึงใจกับระบอบอัตตาธิปไตยภายใต้การนำของเจียงไคเช็ก
ในปี 1927 เจียงไคเช็กได้ทำการกวาดล้างเข่นฆ่าสังหารโหดประชาชนที่มีอุดมการณ์แบบคอมมิวนิสต์ทั่วประเทศ ซ่งชิงหลิงรับไม่ได้จึงประนามการกระทำนี้ เธอต่อต้านน้องเขยอย่างเปิดเผย เธอประกาศว่าพรรคก๊กมินตั๋งภายใต้การนำของเจียงไคเช็กละทิ้งอุดมการณ์ของสามีเธอไปเสียสิ้น ซึ่งนอกจากเธอแล้วไม่มีใครกล้าต่อต้านเจียงไคเช็กอย่างเปิดเผยได้ เธอจึงเดินทางออกจากจีนไปยังกรุงมอสโก และพำนักอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 2 ปี และหลังจากนั้นไม่นานเจียงไคเช็กก็กลายเป็นน้องเขยของซ่งชิงหลิง เพราะเขาได้แต่งงานกับซ่งเหม่ยหลิง
การถูกวิพากษ์วิจารณ์จากซ่งชิงหลิงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเจียงไคเช็ก เพราะเธอไม่ได้เป็นแค่เพียงพี่สาวภรรยา แต่ยังมีสถานะเป็นแม่ในทางการเมืองของเขาเพราะเธอคือภรรยาของซุนยัดเซ็นผู้ล่วงลับ และมีอิทธิพลในการเมืองจีนมาก
2
ซ่งชิงหลิงเดินทางกลับจีนระยะสั้น ๆ เมื่อปี 1929 เพราะมีการย้ายที่ฝังศพของซุนยัดเซ็นชั่วคราวจากในปักกิ่งไปยังที่ฝังศพถาวรที่เมืองนานกิง และเธอออกจากประเทศจีนไปโดยเดินทางไปทั้งสหภาพโซเวียตและไปถึงยุโรป แล้วเธอกลับมายังจีนเมื่อปี 1931 เมื่อมารดาของเธอเสียชีวิต และพำนักอยู่ที่เซี่ยงไฮ้เช่นเดิม
4
แต่พอเกิดสงครามจีน-ญี่ปุ่น ในปี 1937 ซ่งชิงหลิงก็อพยพไปอยู่ที่ฮ่องกง จากนั้นก็มาอยู่ที่เมืองฉงชิ่งซึ่งกลายเป็นเมืองหลวงของรัฐบาลจีนช่วงสงคราม พอมาปี 1939 เธอได้จัดตั้งสันนิบาตป้องกันจีนขึ้น ซึ่งเธอระดมทุนเพื่อนำเงินมาให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์และดูแลสวัสดิการเด็กในพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ครอบครองอยู่ เธอเขียนใบปลิวกระตุ้นให้คนต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่น และยังหาทุนจากภายนอกประเทศเพื่อมาช่วยจีนทำสงครามต่อต้านการรุกรานนี้
1
ในช่วงสงคราม ฝ่ายก๊กมินตั๋งกับคอมมิวนิสต์ได้สงบศึกกันชั่วคราวเพื่อร่วมมือกันต่อต้านศัตรูร่วมกัน คือ ญี่ปุ่นที่มารุกรานประเทศ
ซ่งชิงหลิงทำทุกอย่างเพื่อวิจารณ์และต่อต้านเจียงไคเช็ก ทั้งเขียนบทความโจมตี ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวต่างประเทศ และเตือนนักการทูตอเมริกันในจีนตลอดเวลาว่าระบอบเจียงไคเช็กนั้นกดขี่ข่มเหงประชาชน เธอได้โจมตีสภาพการณ์อันไม่เป็นประชาธิปไตยในจีนกับรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเมื่อคราวเดินทางมาจีนในปี 1944 และยังพยายามเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกายุติการสนับสนุนกองทัพของเจียงไคเช็กเพราะการช่วยเหลือทางการทหารนี้จะนำมาซึ่งสงครามกลางเมืองในจีน
3
ซึ่งพอญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงครามไป ฝ่ายก๊กมินตั๋งกับคอมมิวนิสต์ก็กลับมาสู้กันใหม่กลายเป็นสงครามกลางเมืองจีน ซึ่งช่วงเวลานี้ซ่งชิงหลิงก็แตกหักกับครอบครัวโดยสมบูรณ์ เพราะครอบครัวเลือกอยู่ฝ่ายขวา แต่เธอสนับสนุนฝ่ายซ้าย
ในปี 1948 ซ่งชิงหลิงกลายเป็นประธานคณะกรรมการปฏิวัติแห่งพรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งเป็นฝ่ายที่แตกออกมาจากพรรคโดยอ้างว่าเป็นฝ่ายที่สืบทอดจากซุนยัดเซ็นอย่างแท้จริง ฝ่ายนี้จัดตั้งขึ้นที่ฮ่องกงเพื่อดำเนินการต่อต้านเจียงไคเช็ก
1
ในปี 1949 แม้ซ่งชิงหลิงจะได้รับการคัดเลือกให้รับตำแหน่งสำคัญระดับแกนนำในพรรคก๊กมินตั๋งแต่เธอก็ปฏิเสธไม่รับตำแหน่ง และในปีนั้นเธอเลือกหันมาสนับสนุนเมาเจ๋อตุงและพรรคคอมมิวนิสต์จีนแทน ซ่งชิงหลิงตัดสายสัมพันธ์กับพรรคก๊กมินตั๋งที่สามีของเธอเป็นผู้ก่อตั้งมาที่น้องเขยเป็นผู้นำพรรคต่อ โดยเห็นว่าภายใต้การนำของเจียงไคเช็ก พรรคก๊กมินตั๋งได้เดินเฉออกจากอุดมการณ์ดั้งเดิม
ส่วนน้องสาวเห็นต่างจากพี่สาวทั้งในเรื่องบทบาทของผู้หญิงจีนและอุดมการณ์ทางการเมือง ซ่งเหม่ยหลิงสนับสนุนสามีในการหยุดการแพร่ขยายของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ซึ่งแน่นอนว่าได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาที่ไม่ต้องการให้อุดมการณ์คอมมิวนิสต์มาแข่งขันการขยายอำนาจกับประเทศตนทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองในสังเวียนการเมืองโลก
1
พี่น้องตระกูลซ่งจึงหันหลังให้แก่กันและเดินคนละเส้นทาง ซึ่งในปี 1949 เธอไปเข้าร่วมฉลองพิธีก่อตั้งประเทศที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ณ กรุงปักกิ่ง รัฐบาลจีนก๊กมินตั๋งก็ออกหมายจับเธอ แต่เนื่องจากเหมาเจ๋อตุงเป็นฝ่ายชนะสงครามกลางเมืองเหนือเจียงไคเช็ก หมายจับนี้จึงไร้ความหมาย ซ่งเหม่ยหลิงติดตามเจียงไคเช็กหนีไปที่เกาะฟอร์โมซ่าหรือไต้หวัน สองพี่น้องคู่นี้จึงแยกจากกันไปตลอดกาล
ภาพถ่ายครอบครัวที่ฉงชิ่งเมื่อปี 1939 สามศรีพี่น้องตระกูลซ่งถ่ายรูปร่วมกับเจียงไคเช็ก (Image: ThinkChina)
• รางวัลตอบแทนการเป็นพันธมิตรของคอมมิวนิสต์
เมื่อเหมาเจ๋อตุงเป็นผู้กำชัย ปี 1949 ประเทศจีนคอมมิวนิสต์ภายใต้ชื่อว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนก็ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ซ่งชิงหลิงได้รับรางวัลตอบแทนการเป็นพันธมิตรกับฝ่ายคอมมิวนิสต์นี้ด้วยตำแหน่งรองประธานสภารัฐบาลกลางแห่งประชาชน และเป็นประธานกิตติมศักดิ์ของสมาพันธ์สตรีจีน
ซ่งชิงหลิงได้รับการยกย่องจากพรรคคอมมิวนิสต์ในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์ความเชื่อมโยงระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ก่อตั้งขึ้นมาใหม่กับขบวนการความเคลื่อนไหวปฏิวัติเก่าของซุนยัดเซ็น ในปี 1951 เธอได้รับรางวัลสันติภาพสตาลินจากการอุทิศตนเพื่องานด้านสวัสดิการสังคม
ปี 1957 ซ่งชิงหลิงเดินทางไปยังมอสโกพร้อมกับประธานเหมาเจ๋อตุงเพื่อร่วมประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลก
ในช่วงปี 1966-76 มีการปฏิวัติวัฒนธรรมจีนเกิดขึ้น ซึ่งซ่งชิงหลิงก็ถูกโจมตีอย่างหนักหน่วงโดยพวกกองทัพแดงหรือ Red Guards เพราะครอบครัวเธอถือว่าเป็นชั้นชั้นผู้ดี แต่บารมีที่สะสมมาจึงทำให้ไม่ถูกกระชากลงจากเก้าอี้ใดในพรรคคอมมิวนิสต์ หรือไม่ก็เป็นเพราะบารมีของซุนยัดเซ็นที่ยังคุ้มครองเธออยู่ กลุ่มกองทัพเเดงเคยบุกบ้านของเธอที่เซี่ยงไฮ้แต่นายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลออกมาปกป้องเธอและไล่พวกกองทัพแดงไป
2
ก่อนเธอจะเสียชีวิตได้ไม่กี่สัปดาห์ ซ่งชิงหลิงได้รับตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์แห่งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เป็นครั้งแรก
นอกจากนี้ พรรคคอมมิวนิสต์จีนยกซ่งชิงหลิงให้เป็นสมบัติของชาติและเป็นวีรสตรีในประวัติศาสตร์ แต่ในอีกด้านหนึ่งซ่งชิงหลิงก็ถูกวิพากษ์ว่าเปรียบเสมือน ‘นกน้อยในกรง’ ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือโดยพรรคคอมมิวนิสต์เพื่อจะได้เชื่อมโยงกับการปฏิวัติโค่นล้มราชวงศ์ชิงในอดีตและสร้างความชอบธรรมให้กับพรรคตัวเอง
ในวันที่ 29 พฤษภาคม ปี 1981 ซ่งชิงหลิงเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวด้วยวัย 88 ปี ที่กรุงปักกิ่ง มีการประกาศไว้อาลัยทั่วประเทศเป็นเวลา 3 วัน งานศพของเธอจัดขึ้นแบบรัฐพิธี มีการลดธงชาติจีนทุกสถานทูตจีนทั่วโลกเพื่อเป็นการไว้อาลัยให้แก่เธอ
ประธานเหมามาเยี่ยมซ่งชิงหลิงที่เซี่ยงไฮ้เมื่อปี 1956 (Image: ThinkChina)
อ้างอิง:
1

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา