18 ก.ค. 2021 เวลา 00:38 • การเมือง
เจ้าสาว IS: ชามิน่า เบกัม
ในช่วงที่กลุ่มกองกำลังรัฐอิสลาม (Islamic State) ต่อสู้เพื่อสร้างรัฐคอลีฟะห์ขึ้นมาใหม่ในซีเรียและบางส่วนของอิรัก มีการโฆษณาชวนเชื่อให้คนหนุ่มสาวจากที่ต่าง ๆ ทั่วโลกมาเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อสถาปนารัฐอิสลามขึ้นมาใหม่ ปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นคือเด็กสาวจำนวนมากจากโลกตะวันตกเดินทางไปเพื่อไปเป็น “เจ้าสาว IS”
เด็กสาวที่เดินทางไปยังซีเรียเพื่อไปเป็นภรรยาของนักรบในกองกำลังรัฐอิสลามนี้มาจากทั่วมุมโลก ทั้งจากยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย และที่อื่น ๆ เด็กสาวเหล่านี้ได้รับข้อมูลจากกลุ่มไอเอสทางอินเตอร์เน็ต และตัดสินใจตีตั๋วเที่ยวเดียวเพื่อไปร่วมอุดมการณ์นี้
เด็กสาวเหล่านี้มีทั้งที่ตั้งใจเดินทางไปด้วยตัวเองหรือเป็นผู้เยาว์ที่ถูกพ่อแม่นำไปด้วย บางส่วนเป็นทั้งภรรยาและเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้ แต่อีกส่วนไปเพื่อเป็นภรรยาของนักรบไอเอสเพียงอย่างเดียว ชามิน่า เบกัม (Shamima Begum) กลายเป็นเจ้าสาวไอเอสที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด เพราะจากจากข่าวที่เธอหลบหนีออกจากสหราชอาณาจักรเพื่อไปเป็นเจ้าสาวไอเอสนั้นโด่งดังไปทั่วโลกจากการที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรเพิกถอนสัญชาติและไม่อนุญาตให้เธอเดินทางกลับประเทศ
4
ที่ซีเรีย ชามิน่า เบกัม แต่งงานกับนักรบหนุ่มไอเอส มีลูกด้วยกัน แต่พอกองกำลังไอเอสถูกปราบปรามอย่างหนักจนแตกพ่ายไป เธอสูญเสียลูกและแยกจากสามี ต่อมาเธอถูกพบตัวที่ค่ายผู้อพยพและต้องการเดินทางกลับบ้าน แต่ในคราวนี้ตั๋วขากลับไม่ได้ง่ายเหมือนตั๋วขามาเพราะประเทศที่เธอเป็นพลเมืองอยู่นั้นไม่อ้าแขนต้อนรับเธอกลับ
2
ชามิน่า เบกัม (Image: Press Gazette)
• ครอบครัวและการหนีออกจากบ้าน
ชามิน่า เบกัม เกิดเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ปี 1999 ที่สหราชอาณาจักร พ่อแม่ของเธอต่างเป็นชาวบังคลาเทศทั้งคู่ พ่อของเธอชื่อว่าอาเหม็ด อาลี (Ahmed Ali) มีอาชีพตัดเสื้อ เขาอพยพไปอยู่ที่อังกฤษเมื่อปี 1975 แล้วในปี 1990 ก็เดินทางกลับบังคลาเทศเพื่อแต่งงานกับอัสมา (Asma Begum) ภรรยาคนแรก จากนั้นก็กลับมาอังกฤษใหม่โดยตั้งรกรากอยู่ที่ย่าน Bethnal Green ของแถบอีสต์เอนด์ในกรุงลอนดอน ทั้งคู่มีลูกด้วยกัน 4 คน ชามิน่าเป็นลูกคนสุดท้อง
ต่อมาเขาเริ่มเดินทางไป ๆ มา ๆ ระหว่างอังกฤษกับบังคลาเทศ และแต่งงานกับภรรยาคนที่สองที่บังคลาเทศเช่นกัน ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่บังคลาเทศกับภรรยาคนที่สอง
ชามิน่าเติบโตขึ้นมาที่ย่าน Bethnal Green และเข้าโรงเรียนในแถวละแวกบ้านชื่อว่า Bethnal Green Academy
1
เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2015 ชามิน่า ในวัย 15 ปี พร้อมเพื่อนที่โรงเรียนอีก 2 คน คือคาดิซา ซัสตาน่า (Kadiza Sultana) และอมีร่า อาเบส (Amira Abase) เก็บกระเป๋าหนีออกจากบ้าน ทั้งสามขึ้นเครื่องที่จุดมุ่งหมายปลายทางที่ตุรกี จากนั้นก็พากันลักลอบเข้าประเทศซีเรีย วัตถุประสงค์ของพวกเธอคือไปเข้าร่วมกลุ่มดาอิช (คำเรียกกลุ่มไอเอสในภาษาอาหรับ)
3
ชามิน่า เบกัม ไม่มีพาสปอร์ต เธอเดินทางออกนอกประเทศโดยใช้พาสปอร์ตผู้อื่น
พ่อของเธออยู่ที่บังคลาเทศในตอนที่เธอหนีออกจากบ้าน และไม่รู้เรื่องที่ลูกสาวได้รับแนวคิดจากพวกหัวรุนแรงไอเอส นักข่าวอังกฤษจำนวนมากแห่ไปสัมภาษณ์พ่อของเธอถึงบังคลาเทศ ส่วนแม่ของเธอไม่เคยออกมาให้สัมภาษณ์ใด ๆ กับสื่อโดยตรง
2
ชามิน่าและเพื่อนอีกสองคนในตอนที่เดินทางออกนอกประเทศที่สนามบินแกตวิกส์ (Image: PA)
• ชีวิตเจ้าสาวไอเอส
สถานที่ในซีเรียที่ชามิน่าและเพื่อนอีกสองคนมุ่งหน้าไปคือศูนย์บัญชาการใหญ่ของกลุ่มไอเอสที่เมืองรักกา (Raqqa) ซึ่งเปรียบเสมือนเมืองหลวงของรัฐอิสลามในตอนนั้น
หลังจากที่ชามิน่าเดินทางมาถึงเมืองรักกาได้เพียง 10 วัน เธอก็แต่งงานกับยาโก้ เรียดิก (Yago Riedijk) ซึ่งเป็นชาวดัตช์ที่มาเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มนักรบไอเอสเมื่อปี 2014 เขาเป็นลูกครึ่งดัตช์-อินโดนีเซีย เขามีแม่เป็นชาวเนเธอร์แลนด์ส่วนพ่อเป็นชาวอินโดนีเซีย
ความต้องการแต่งงานคือสิ่งที่ชามิน่าเลือกเอง ซึ่งมีคนมาเสนอให้ฝ่ายสามีเธอแต่งงานกับเธอ ซึ่งเขาก็ตอบตกลง พอแต่งงานชามิน่าเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม ตอนนั้นเธอมีอายุเพียง 15 ปี ส่วนสามีของเธอมีอายุได้ 23 ปี ถ้าว่าด้วยกฎหมายของเนเธอร์แลนด์แล้วการแต่งงานนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะตอนนั้นชามิน่ายังไม่บรรลุนิติภาวะ ส่วนกฎหมายอังกฤษถือว่าเป็นการพรากผู้เยาว์
1
ชามิน่าอยู่ภายใต้ร่มเงาของไอเอสเป็นเวลามากกว่า 3 ปี แต่เมื่อกลุ่มไอเอสถูกโจมตีจนราบคาบและแตกพ่ายไปความฝันที่จะก่อตั้งรัฐอิสลามก็ล่มสลาย ที่ซีเรีย เธอมีลูกกับหนุ่มนักรบไอเอสชาวดัตช์ทั้งสิ้น 3 คน สองคนแรกเสียชีวิตตั้งแต่ยังเป็นเด็กทารกเพราะขาดสารอาหาร
1
นักข่าวสงครามของอังกฤษไปเจอตัวชามิน่าที่ค่ายผู้อพยพทางตอนเหนือของซีเรียเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2019 ส่วนสามีของเธอถูกจับและถูกขังไว้ที่ค่ายกักกันของเคิร์ด หลังจากที่พบตัวเธอในค่ายผู้อพยพมีสื่อจำนวนมากไปสัมภาษณ์เธอ และบางสื่อก็ได้สัมภาษณ์สามีเธอด้วย ซึ่งข้อมูลการสัมภาษณ์แต่ละครั้งทั้งจากปากของบุคคลทั้งคู่หรือจากบุคคลที่สามและที่สี่ไม่ไปในทำนองเดียวกัน
1
เรื่องราวชีวิตการเป็นเจ้าสาวไอเอสของเธอมีการเขียนข่าวไว้มากมาย จากการรายงานของสื่อที่สัมภาษณ์สามีของเธอในตอนแรกบอกว่าชามิน่าเป็นแม่บ้านเพียงอย่างเดียวและไม่ได้รู้เรื่องใด ๆ เกี่ยวกับการสู้รบของพวกไอเอส แต่เมื่อสื่ออื่นสัมภาษณ์ผู้ถูกจับกุมคนอื่นเกี่ยวกับสามีภรรยาคู่นี้กลับระบุว่าชามิน่าได้รับค่าจ้างจากการเข้าร่วมกลุ่มไอเอสด้วย และบางสื่อรายงานว่าเธอบอกว่าเธอเดินทางมาที่ซีเรียเพื่อหาคู่และสร้างครอบครัว
แต่ข้อมูลบางส่วนระบุว่าเธอไม่ได้ไปที่นั่นเพื่อเป็นแค่ ‘เจ้าสาวไอเอส’ ที่ทำหน้าที่เป็นภรรยาและผลิตประชากรให้แก่รัฐอิสลามที่กำลังจะสร้างขึ้นมาเพียงอย่างเดียว แต่เธอยังทำหน้าที่เป็น ‘ผู้คุมกฎ’ ให้แก่ตำรวจด้านศีลธรรมของไอเอส โดยได้รับอนุญาตให้ถือปืนไรเฟิลรุ่นคาลาชนิคอฟคอยตรวจตราเรื่องการแต่งกายให้ถูกตามหลักที่ไอเอสบัญญัติขึ้นมา และเป็นผู้ชักจูงเด็กสาวคนอื่น ๆ ให้มาเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มไอเอสด้วย
2
บางสื่อยังระบุว่าชามิน่ายังทำหน้าที่เป็นผู้เย็บระเบิดเข้ากับเสื้อคลุมเพื่อทำเป็นระเบิดพลีชีพหรือระเบิดฆ่าตัวตายอีกด้วย
ยาโก้ เรียดิก สามีของชามิน่าตอนที่ถูกสื่อสัมภาษณ์ และชามิน่าตอนที่คลอดลูกคนที่สามในค่ายผู้อพยพ (Image: Daily Mail)
• คิดหวนคืน
เมื่อพบตัวชามิน่าที่ค่ายผู้อพยพเรื่องเธอก็กลายเป็นข่าวดัง ตอนนั้นเธอกำลังตั้งท้องลูกคนที่ 3 ได้ 9 เดือน ส่วนลูกอีก 2 คนนั้นเสียไปแล้ว เธอหวังว่าจะเดินทางกลับอังกฤษกับลูกเพื่อเลี้ยงดูลูกให้เติบโตขึ้นมา เพราะที่ค่ายผู้อพยพไม่ใช่สถานที่ที่เหมาะสม
ส่วนชะตากรรมเพื่อนที่ร่วมเดินทางหนีออกจากประเทศเพื่อไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของไอเอสนั้น คนแรกคือคาดิซาเสียชีวิตจากการถูกทิ้งระเบิด ส่วนอีกคนคืออมีร่านั้นไม่ทราบชะตากรรม
สื่อจำนวนมากไปสัมภาษณ์ชามิน่าถึงค่ายอพยพ ในช่วงแรก ๆ ที่ให้สัมภาษณ์เธอบอกว่าไม่ได้รู้สึกผิดใด ๆ ที่เข้าร่วมไอเอส และเหตุระเบิดที่เมืองแมนเชสเตอร์เป็นเรื่องผิดที่ทำให้ผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตแต่ก็เป็นการล้างแค้นที่สมควรแล้ว ถึงแม้ว่าเธอจะไม่ได้เห็นด้วยกับกลุ่มไอเอสในทุกเรื่อง ซึ่งแน่นอนว่าชาวอังกฤษและรัฐบาลอังกฤษไม่พอใจต่อคำสัมภาษณ์นี้
รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยในเวลานั้นคือซาจิด จาวิด (Sajid Javid ซึ่งมีพ่อแม่เป็นผู้อพยพมาปากีสถาน และตัวเขาเกิดที่อังกฤษ) เพิกถอนสถานะพลเมืองอังกฤษของเธอด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง ซึ่งในทางกฎหมายรัฐบาลอังกฤษไม่สามารถเพิกถอนสัญชาติพลเมืองได้หากทำให้พลเมืองผู้นั้นกลายเป็นบุคคลที่มีสถานภาพไร้รัฐ แต่ด้วยความที่เธอมีแม่ที่มีสัญชาติบังคลาเทศอยู่ รัฐบาลอังกฤษจึงระบุว่าเธอไม่ใช่บุคคลไร้รัฐแต่มีสถานะเป็นพลเมืองบังคลาเทศทางสายเลือดจากแม่
1
เรื่องการเพิกถอนสัญชาติและไม่อนุญาตให้เธอเดินทางกลับประเทศนี้กลายเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากในสังคมอังกฤษ ความเห็นของผู้คนแตกเป็นหลายเสียง ส่วนสมาชิกครอบครัวของเธอโดยมีพี่สาวเป็นตัวแทนต่อสู้คดีพร้อมกับทนายความพยายามสกัดกั้นการกระทำทางกฎหมายนี้ของรัฐบาลอังกฤษแต่ไม่เป็นผล ศาลได้ตัดสินว่ารัฐบาลอังกฤษทำเช่นนั้นได้โดยชอบทางกฎหมายแล้วเพราะถือว่าเธอเป็นพลเมืองบังคลาเทศโดยทางสายเลือด
4
ในเดือนกุมภาพันธ์เธอก็คลอดลูกชายในค่ายอพยพโดยตั้งชื่อว่าจาร์รา (Jarrah) ซึ่งเป็นชื่อของนักรบอิสลามในอดีต แต่ลูกคนที่สามของเธอเสียชีวิตด้วยอายุเพียง 18 วัน เพราะโรคปอดบวม
ในตอนหลัง ชามิน่าให้สัมภาษณ์ว่าเธอรู้สึกเสียใจกับการตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่มไอเอส เธอถูกล่อลวงและหวังว่าจะมีคนเห็นใจเธอ แต่ที่ให้สัมภาษณ์ไปเพราะกลัวอันตรายเพราะถูกคุกคามโดยภรรยาของนักรบไอเอสคนอื่น ๆ เธอขอโทษกับสิ่งที่ทำลงไปและอยากกลับบ้าน และเมื่อลูกตายก็คิดอยากฆ่าตัวตาย
พ่อและพี่สาวของชามิน่า เบกัม (Images: BBC, Getty)
• บุคคลที่ไม่มีประเทศใดต้องการ
ทนายความของครอบครัวชามิน่ายื่นอุทธรณ์ และในเดือนกรกฎาคม ปี 2020 ศาลอุทธรณ์ตัดสินว่าควรอนุญาตให้เธอเดินทางกลับสหราชอาณาจักรเพื่อต่อสู้คดี เพราะเธอไม่สามารถต่อสู้คดีในสถานที่อันตรายเช่นนั้นในซีเรียได้ แต่กระทรวงมหาดไทยโต้แย้งว่าการอนุญาตให้ชามิน่าเดินทางกลับประเทศจะเป็นการเสี่ยงต่อความมั่นคงของชาติ คดีนี้จึงขึ้นถึงศาลฎีกา
สุดท้าย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2021 ที่ผ่านมา คณะผู้ตัดสินจำนวน 5 คนของศาลฎีกามีคำตัดสินอย่างเป็นเอกฉันท์ว่ารัฐบาลมีสิทธิไม่อนุญาตให้ชามิน่าเดินทางกลับประเทศเพื่อต่อสู้คดีได้ แต่ส่วนการต่อสู้คดีเรื่องสัญชาตินั้นต้องหยุดไว้ก่อนจนกระทั่งเธอสามารถหาหนทางมีส่วนในการต่อสู้คดีได้
อีกหนทางหนึ่งที่จะออกจากค่ายผู้อพยพได้คือการขอสัญชาติดัตช์จากทางสามี ซึ่งเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2019 สามีของเธอให้สัมภาษณ์จากค่ายกักกันของเคิร์ดในซีเรียว่าเขาอยากเดินทางกลับประเทศเนเธอร์แลนด์พร้อมนำชามิน่าไปด้วยกัน แต่ความหวังในช่องทางนี้ก็ดับวูบลง เพราะทางรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ปฏิเสธว่าไม่มีแผนการรับเขากลับประเทศ
แต่ปัญหาของชามิน่าไม่ได้มีเพียงเท่านี้ รัฐบาลบังคลาเทศก็ปฏิเสธไม่ให้เธอเข้าประเทศเช่นเดียวกัน เพราะถือว่าเธอไม่เคยทำเรื่องขอสัญชาติบังคลาเทศ และหากเธอเดินทางเข้าประเทศบังคลาเทศจะต้องโทษถูกประหารชีวิตเพราะการก่อการร้ายถือว่าผิดกฎหมายอย่างร้ายแรงในประเทศนี้
1
ชามิน่า เบกัม ปัจจุบันอายุ 21 ปี กลายเป็นบุคคลที่ไม่มีประเทศใดต้องการตัว และทุกวันนี้เธอยังติดอยู่ในค่ายผู้อพยพ และพยายามหาหนทางเพื่อกลับประเทศให้จงได้ วิธีล่าสุดของเธอคือการแก้ต่างว่าเธอไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย ในเวลานั้นเธอเป็นเด็กโง่คนหนึ่งที่หลงผิดและเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์
1
สภาพของชามิน่า เบกัม ที่แปรสภาพไปที่ค่ายผู้อพยพในปี 2021 เธอไม่สวมชุดคลุมดังเช่นแต่ก่อน (Image: Daily Mail)
• การรับมือกับพลเมืองที่ไปเข้าร่วมกลุ่มไอเอส
ปัญหาเรื่องที่มีพลเมืองหลบหนีไปเข้าร่วมกลุ่มไอเอสที่ซีเรียและอิรักไม่ได้มีแต่กรณีของ ชามิน่า เบกัม และเพื่อนอีกสองคนเท่านั้น แต่ยังมีกรณีอื่น ๆ อีกมากมาย
1
ตามข้อมูลที่ King's College ประมาณการณ์ไว้ระบุว่า ในช่วงปี 2013-2018 มีพลเมืองที่เป็นชาย หญิง และเด็ก จำนวน 52,808 คน ได้เดินทางไปเข้าร่วมกลุ่มไอเอสที่ซีเรียและอิรัก และในช่วงเดือนกรกฎาคมปี 2019 คาดการณ์ว่า 1 ใน 5 พยายามเดินทางกลับประเทศเดิมของตน
ประเทศรัสเซียและประเทศอื่น ๆ ในแถบเอเชียกลางรับพลเมืองเหล่านี้กลับประเทศของตนเป็นจำนวนหลายร้อยคน แต่ประเทศยุโรปตะวันตกรับพลเมืองของตนกลับน้อยกว่านี้มากเมื่อเปรียบเทียบกัน ซึ่งที่รับกลับนั้นมักจะเป็นเด็ก ๆ
2
นอกจากนี้ยังเชื่อว่ามีผู้หญิงและเด็กที่เป็นพลเมืองของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปพยายามลอบกลับประเทศด้วยตนเอง
ประเทศอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อังกฤษรับมือกับการที่พลเมืองของตนเดินทางกลับประเทศโดยแก้กฎหมายหรือออกการต่อต้านการก่อการร้าย โดยประเทศในสหภาพยุโรปจัดการกับปัญหานี้ด้วยการนำตัวอดีตนักรบไอเอสที่เดินทางกลับประเทศเหล่านี้ไปดำเนินการสอบสวนและดำเนินคดีการก่ออาชญากรรม นอกจากนี้ยังให้กลุ่มคนเหล่านี้เข้าโครงการปรับพฤติกรรมสุดโต่งเพื่อเปลี่ยนทัศนคติคนเหล่านี้ด้วย ซึ่งคนเหล่านี้อาจจะถูกยึดบัตรประชาชนและพาสปอร์ต หรือไม่ก็จำกัดการเดินทางด้วยเช่นกัน ส่วนพลเมืองที่อยู่ในวัยเด็กจะถูกส่งตัวให้อยู่ภายใต้ความดูแลของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านของเด็ก หรือไม่ก็ถูกส่งตัวไปที่สถานที่กักกันเด็กและเยาวชนผู้กระทำผิด
ข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม ปี 2019 ที่พลเมืองของกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกที่ไปเข้าร่วมกลุ่มไอเอสเดินทางกลับประเทศเดิม (Image: BBC)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา