10 ก.ค. 2021 เวลา 22:53 • ประวัติศาสตร์
• ทับทิมล้ำค่าที่หายไปของราชวงศ์พม่า
เมื่อปี 2017 ชายชาวพม่าอายุ 70 ผู้หนึ่งเดินทางไปยังกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ การเดินทางครั้งนั้นเป็นการไปปฏิบัติภารกิจอันยิ่งใหญ่ในชีวิต นั่นก็คือการไปทวงสมบัติของบรรพบุรุษของเขาที่หายไปกลับคืนมา
สมบัติที่ว่านั้นเป็นทับทิมที่กล่าวขานกันว่ามีขนาดเท่ากับไข่เป็ด ทับทิมเม็ดนี้ถูกเรียกว่า งาหม็อก (Nga Mauk) ชายคนดังกล่าวชื่อว่าโซวิน (Soe Win) เขาตั้งใจอย่างแรงกล้าเพื่อมาทวงคืนสมบัติชิ้นนี้ซึ่งเป็นของบรรพบุรุษของเขาคือกษัตริย์ธีบอ กษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่า กลับคืนมา
1
โซวินเชื่อว่าเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วนายพันเอกอังกฤษเป็นผู้ฉกฉวยทับทิมนี้มา และเขาเชื่อว่าตอนนี้ทับทิมเม็ดนั้นได้ไปประดับไว้ที่เครื่องราชกกุธภัณฑ์แห่งราชวงศ์อังกฤษซึ่งถูกเก็บไว้ที่หอคอยแห่งกรุงลอนดอน การทวงคืนสมบัติครั้งนี้โซวินหวังว่าจะเป็นการกู้คืนความภาคภูมิใจให้แก่ชาติของเขา ว่าครั้งหนึ่งพม่าเคยเป็นชาติที่เป็นเอกราชและเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์อันรุ่งเรือง
3
โซวินที่อังกฤษกับบรรพบุรุษของเขาคือกษัตริย์ธีบอและพระนางสุภยลัต (Images: Getty; Frontier Myanmar)
• ประวัติทับทิมที่หายไป
3
ทับทิมงาหม็อกถูกค้นพบในรัชสมัยของกษัตริย์มินดง สาเหตุที่ได้ชื่อนี้เพราะตั้งตามผู้ค้นพบ ตำนานเล่าว่าตอนที่ถูกพบนั้นทับทิมเม็ดนี้มีขนาดถึง 560 กะรัต ตามกฎในเวลานั้นสมบัติที่ค้นพบจะต้องมอบให้แก่กษัตริย์ ด้วยความเสียดายงาหม็อกจึงแบ่งครึ่งทับทิมเม็ดนี้ ซีกที่ใหญ่กว่าเขานำไปถวายแก่กษัตริย์มินดง ส่วนซีกที่เล็กกว่าเขาแอบนำไปขายที่เมืองกัลกัตตาของอินเดีย
กษัตริย์มินดงทรงปลื้มปิติมากเมื่อได้รับทับทิมล้ำค่านี้ จึงทรงตั้งชื่อทับทิมตามงาหม็อก แต่เมื่อทรงรู้ความจริงว่าเขาแอบเอาอีกซีกไปขายจึงกริ้วมาก มีพระบัญชาให้เผางาหม็อกทั้งเป็น อีกทั้งให้เผาหมู่บ้านของงาหม็อกเพื่อเป็นการลงโทษมิให้ผู้ใดเอาเป็นเยี่ยงอย่าง
3
กษัตริย์มินดงทรงส่งอุปทูตไปซื้อทับทิมอีกซีกกลับคืนมาจากกัลกัตตาได้ ทับทิมทั้งสองซีกนำมาประกบกันได้พอดิบพอดี ซีกใหญ่งาหม็อกมีขนาด 98 กะรัต ส่วนอีกซีกถูกตั้งชื่อว่ากัลละพยัน (Kallahpyan) ซึ่งแปลว่า ‘ได้คืนมาจากอินเดีย’ มันมีขนาด 75 กะรัต กษัตริย์มินดงทรงพอพระทัยมากที่ได้ครอบครองทับทิมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
2
ทับทิมงาหม็อกถูกนำไปทำเป็นแหวน เพื่อที่กษัตริย์มินดงจะได้สวมใส่และแสดงให้คนเห็นความมั่งคั่งที่พระองค์ได้ครอบครอง ทับทิมเม็ดนี้มีสีแดงสุกปลั่งเหมือนมีเปลวไฟข้างใน มันมีสีแดงเหมือนเลือดนกพิราบ เชื่อกันว่าทับทิมเม็ดนี้มีอำนาจช่วยรักษาอาการเจ็บป่วยของคนที่ได้ยลมัน เท่านั้นไม่พอ มันยังทำให้ผู้ครอบครองประสบแต่ความโชคดีอีกด้วย
2
เมื่อปี 1885 สงครามอังกฤษ-พม่าครั้งที่ 3 จบลงที่ฝ่ายหลังเป็นฝ่ายปราชัย พอแพ้สงคราม กองกำลังอังกฤษ 10,000 นายถูกส่งไปบุกพระราชวังมัณฑะเลย์เพื่อโค่นกษัตริย์ธีบอลงจากบัลลังก์ นายพันเอกเอ็ดเวิร์ด สเลเดน (Edward Sladen) คือผู้เกี่ยวข้องคนสำคัญกับการหายไปของสมบัติล้ำค่าของราชวงศ์พม่า กล่าวกันว่าทหารอังกฤษกวาดเอาสมบัติล้ำค่าของราชวงศ์พม่าไปมากมาย
4
อังกฤษไม่เก็บสถาบันกษัตริย์ไว้ให้คงอยู่กับพม่า เหตุเพราะรัฐบาลอังกฤษในเวลานั้นมองว่ากษัตริย์ธีบอเอาแน่เอานอนไม่ได้ เป็นตัวอุปสรรคสำคัญในการขัดขวางการค้าระหว่างอังกฤษกับจีน แถมยังพยายามจะเปิดประตูหลังเอาฝรั่งเศสซึ่งเป็นคู่แข่งกับอังกฤษเข้ามาช่วงชิงผลประโยชน์ในแถบนี้ไป อังกฤษไม่ต้องการให้ฝรั่งเศสมีโอกาสมาประชิดติดอินเดียที่อังกฤษถือว่าเป็นเพชรเม็ดงามที่มาประดับมงกุฎแห่งจักรวรรดิอังกฤษ ดังนั้นกษัตริย์ธีบอจึงต้องเป็นฝ่ายไป
3
มีการยื่นคำขาดให้กษัตริย์ธีบอพร้อมครอบครัวเก็บข้าวของเพียงไม่นานเพื่อเตรียมถูกเนรเทศไปยังอินเดีย เมื่อไม่มีบอกล่วงหน้าให้เตรียมตัวก่อน กษัตริย์ธีบอพร้อมครอบครัวจึงไม่มีเวลาทำอะไรได้มากนัก กษัตริย์ธีบอเล่าว่าพระองค์ได้ฝากทับทิมเม็ดนี้ไว้กับนายพันเอกสเลเดนไว้เพราะคิดว่ามันน่าจะปลอดภัยกว่าการที่พระองค์นำติดตัวไปด้วยแล้วเสี่ยงทำสูญหายไประหว่างการเดินทาง ซึ่งนายพันเอกสเลเดนสัญญาว่าจะคืนให้เมื่อพระองค์ต้องการเรียกคืนเมื่อถึงเวลาที่ปลอดภัยพอ
2
แต่เวอร์ชั่นที่เล่าโดยพระธิดาของกษัตริย์ธีบอระบุว่านายพันเอกสเลเดนเป็นผู้ควบคุมการเก็บข้าวของล้ำค่าของพระองค์ สเลเดนขอดูทับทิมงาหม็อก กษัตริย์ธีบอกับราชินีศุภยลัตซึ่งในเวลานั้นท้องแก่มากแล้วจึงยื่นให้เขาดู สเลเดนฉวยไปดูอยู่ครู่หนึ่งแล้วเก็บใส่กระเป๋าตัวเองหน้าตาเฉย พอถูกทวงให้คืนเขาก็เฉไฉทำไม่รู้ไม่ชี้
1
นายพันเอกเอ็ดเวิร์ด สเลเดน ผู้ถูกกล่าวหาว่านำทับทิมงาหม็อกไป (Image: Wikitree)
นักข่าวของหนังสือพิมพ์ The Times รายงานบทสนทนาของกษัตริย์ธีบอกับนายพันเอกสเลเดน และนำมาตีพิมพ์เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ปี 1885 ซึ่งในบทสนทนานี้ระบุถึง ‘a magnificent ruby ring’ ซึ่งน่าจะหมายถึงทับทิมงาหม็อกนั่นเอง (Image: BBC)
ภาพวาดบันทึกเหตุการณ์วันที่กษัตริย์ธีบอสละราชสมบัติโดยจิตรกรประจำราชสำนักพม่า นายทหารที่ยืนเจรจากับกษัตริย์ธีบอน่าจะเป็นสเลเดน (Image: Wikipedia)
• จุดเริ่มต้นของการทวงคืนสมบัติ
ในวันที่ 29 พฤศจิกายน ปี 1885 กษัตริย์ธีบอพร้อมครอบครัวถูกขับออกจากพม่าเพื่อเดินทางไปยังเมืองรัตนคีรีที่อินเดีย ส่วนนายพันเอกได้รับการประดับยศเป็นอัศวินเพราะ ‘ปฏิบัติหน้าที่พิเศษที่พม่า’ จึงทำให้คนพม่าเชื่อว่าเขานำทับทิมงาหม็อกไปมอบให้แก่สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย จึงได้ติดยศเป็นอัศวินเป็นการตอบแทน
5
เมื่อนายพันเอกผู้นี้ไม่ยอมคืนทับทิมเม็ดนี้ให้แก่กษัตริย์ธีบอ พระองค์จึงทำการทวงคืนเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 1886 โดยพระองค์ทรงเขียนจดหมายร้องขอให้คืนทับทิมงาหม็อกส่งไปยังอุปราชอังกฤษแห่งอินเดีย โดยจดหมายนั้นได้แนบรายการสมบัติที่พระองค์ต้องการทวงคืน ซึ่งผู้ทำรายการดังกล่าวเป็นผู้ดูแลพระคลังสมบัติของราชวงศ์พม่าซึ่งทำรายการนี้ไว้เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 1885 และลงนามรับรองโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเมืองของอังกฤษ ซึ่งในรายการสมบัติที่ทวงคืนนี้มี “แหวนทับทิม 1 วง มีชื่อเรียกว่า นากาหม็อก”
1
ในเดือนธันวาคม ปี 1886 อุปราชแห่งอินเดียสั่งให้เจ้าหน้าที่สอบสวนการหายไปของทับทิมงาหม็อก โดยบุคคลที่อยู่ในมัณฑะเลย์ตอนที่ขับกษัตริย์ธีบอนั้นได้รับการติดต่อเพื่อสอบถาม รวมถึงนายพันเอกสเลเดนผู้ซึ่งได้รับการอวยยศเป็นอัศวินที่อยู่ในลอนดอน และกำลังเตรียมตัวที่จะเกษียณ แน่นอนว่าเขาปฏิเสธคำกล่าวหานี้ ร่างจดหมายที่เขาตอบกลับอุปราชแห่งอินเดียนั้นมีอยู่ 3 ฉบับและขีดฆ่าเต็มไปหมด คงจะเป็นเพราะพยายามที่จะเรียบเรียงคำพูด และเขาใช้เวลาเขียนจดหมายตอบกลับนั้นอยู่หลายวัน
2
ในจดหมายชี้แจงนั้น นายพันเอกสเลเดนระบุว่าเนื่องจากความโกลาหลวุ่นวายที่เกิดขึ้น กษัตริย์ธีบอมิได้พยายามส่งมอบสิ่งใดให้แก่เขา เขาปฏิเสธว่ามิได้พบเห็นวัตถุมีค่าใดตามรายงานสมบัติที่กษัตริย์ธีบอแนบมากับจดหมายร้องเรียนต่ออุปราชแห่งอินเดีย และยืนยันว่าข้าวของทุกอย่างที่เขายึดมานั้นได้ส่งมอบต่อรัฐบาลอังกฤษหมดสิ้นแล้ว แถมยังบอกว่าคนที่อยู่ในพระราชวังมัณฑะเลย์ในเวลานั้นสามารถฉกฉวยลักขโมยเอาข้าวของชิ้นเล็ก ๆ ที่มีค่าอย่างแหวนทับทิมไปได้ทั้งนั้น
2
ดังนั้น… เมื่อนายพันเอกสเลเดนปฏิเสธและไม่มีหลักฐานใดบ่งชี้ว่าเขานำไปจริง ก็ยากจะตามเอาสมบัติชิ้นนี้กลับคืนมา
แต่กษัตริย์ธีบอทรงไม่ยอมแพ้ ในปลายปี 1911 พระองค์พยายามครั้งสุดท้าย เขียนจดหมายไปร้องเรียนโดยตรงไปยังกษัตริย์จอร์จที่ 5 แห่งอังกฤษ (George V) ที่เพิ่งขึ้นครองราชย์ใหม่ ว่าทับทิมงาหม็อกล้ำค่าของพระองค์ถูกนายพันสเลเดนขโมยไป แต่กษัตริย์จอร์จที่ 5 ก็ทรงไม่นำพาใด ๆ เช่นกัน ทางการอังกฤษก็ไม่ดำเนินการใด ๆ และนายพันเอกสเลเดนนั้นก็เสียชีวิตไปได้ 21 ปีแล้ว
3
การที่กษัตริย์แห่งอังกฤษนิ่งเฉยยิ่งเติมเชื้อเพลิงให้ฝั่งพม่าเชื่อข่าวที่ลือกันมาว่าทับทิมนั้นตกอยู่ในมือของราชวงศ์อังกฤษแล้ว เรื่องจึงเงียบโดยที่ฝ่ายทางการอังกฤษไม่ดำเนินการสืบสวนอะไรให้
3 ทศวรรษที่ถูกเนรเทศมายังต่างบ้านต่างเมืองที่รัตนคีรี อดีตกษัตริย์พม่าและครอบครัวต้องมีชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยวสิ้นไร้ผู้คนล้อมหน้าล้อมหลัง 5 ปีหลังจากที่พระองค์เขียนจดหมายฉบับนั้นไปยังกษัตริย์จอร์จที่ 5 กษัตริย์ธีบอก็สิ้นพระชนม์ในปี 1916 แต่ความพยายามทวงคืนสมบัติก็ไม่ได้สิ้นสุดตามชีวิตของพระองค์
1
ธีบอ กษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่า (Image: Wikipedia)
ภาพสเก็ตช์การประมูลสมบัติที่ปล้นมาในพระราชวังมัณฑะเลย์ (Image: Fine Art America)
บันทึกประจำวันที่เซอร์สเลเดนเขียนไว้ ซึ่งถูกเก็บไว้ที่ British Library และในหน้าของวันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน ปี 1885 ซึ่งเป็นวันที่ขับกษัตริย์ธีบอออกจากพม่านั้น จะพบว่ามีการขีดฆ่าเต็มไปหมด (Image: BBC)
• การทวงสมบัติคืนโดยคนรุ่นต่อมา
เมื่อกษัตริย์ธีบอสิ้นพระชนม์ ลูกสาวคนเล็กของพระองค์ซึ่งก็คือย่าของโซวิน ก็สานต่อการทวงคืนสมบัติชิ้นนี้ โดยเธอถึงขั้นเขียนจดหมายส่งไปยังองค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations) พอเธอเสียชีวิต อาของโซวินคือตอพะยากะเล (Taw Phaya Galae) ก็รับไม้ต่อ
ตอพะยากะเลได้เขียนจดหมายมากมายหลายฉบับเพื่อส่งถึงแก่สมเด็จพระราชินีนาถอีลิซาเบธที่ 2 กับเจ้าชายฟิลิป และขอร้องให้เพื่อนฝูงที่เดินทางไปยังกรุงลอนดอนไปตรวจสอบทายาทของนายพันเอกสเลเดนเพราะสงสัยว่าอยู่สุขสบายมั่งคั่งเกินไปไหม นอกจากนี้เขายังลงมือจรดปากกาเพื่อเขียนหนังสือตั้งข้อสันนิษฐานถึงชะตากรรมของทับทิมเม็ดนั้น ข้อสันนิษฐานของตอพะยากะเลก็คือ ทับทิมงาหม็อกอาจจะถูกซ่อนไว้ในเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของราชวงศ์อังกฤษ
4
คนที่สงสัยว่าทับทิมเม็ดนี้น่าอยู่กับราชวงศ์อังกฤษมักจะพุ่งเป้าไปที่เครื่องประดับทับทิมของสมเด็จพระราชินีนาถอีลิซาเบธที่ 2 กับมงกุฎที่เรียกว่า Imperial State Crown เพราะมงกุฎใบนี้มีเม็ดทับทิมขนาดใหญ่ประดับอยู่ แต่มีข้อมูลว่าทับทิมเม็ดนี้เป็นของ ‘เจ้าชายดำ’ (Black Prince ซึ่งมีมานานก่อนที่ทับทิมงาหม็อกจะถูกชิงไปจากพม่า) มีหลักฐานบันทึกว่ากษัตริย์เฮนรีที่ 5 สวมหมวกเหล็กที่ประดับทับทิมเม็ดนี้ในการทำศึกอันเลื่องชื่อที่ Agincourt ที่มีชัยเหนือฝรั่งเศสอันเป็นส่วนหนึ่งของสงครามร้อยปีด้วย
4
เมื่อปรากฎข้อมูลเช่นนี้ ตอพะยากะเลจึงตั้งสมมติฐานว่าทับทิมงาหม็อกน่าจะถูกนำไปประดับไว้ที่มงกุฎจักรพรรดิแห่งอินเดีย (Imperial Crown of India) ของกษัตริย์จอร์จที่ 5 ซึ่งถูกสั่งทำขึ้นในวาระพิเศษเพื่อให้พระองค์สวมในครั้งที่พระองค์พร้อมราชินีแมรี่เสด็จมายังเมืองเดลีของอินเดียเมื่อปี 1911 ซึ่งมีการทำพิธีประกาศให้กษัตริย์จอร์จที่ 5 กับราชินีแมรี่เป็นองค์จักรพรรดิและจักรพรรดินีแห่งอินเดีย
1
ทับทิมงาหม็อกอยู่ในมือนายพันเอกสเลเดนมาตั้งแต่เมื่อปี 1885 ส่วนพิธีสถาปนาเป็นจักรพรรดิแห่งอินเดียเกิดขึ้นเมื่อปี 1911 ซึ่งช่วงเวลาประจวบเหมาะ ทับทิมงาหม็อกน่าจะถูกนำมาใช้ประดับมงกุฎใบนี้ และแม้ขนาดของทับทิมในมงกุฎจักรพรรดิแห่งอินเดียจะมีขนาดเล็กกว่าทับทิมงาหม็อกมาก แต่ผู้แปลหนังสือของตอพะยากะเลมาเป็นภาษาอังกฤษนั้นระบุความเป็นไปได้ว่าตัวทับทิบงาหม็อกอาจจะถูกแบ่งออกเป็น 4 ชิ้นแล้วนำมาประดับมงกุฎใบนี้ทั้ง 4 ด้าน
3
ทับทิมที่ประดับมงกุฎจักรพรรดิแห่งอินเดียทั้ง 4 เม็ดนั้นมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5 เซนติเมตร
1
ส่วนที่มาของทับทิมที่ประดับมงกุฎจักรพรรดิแห่งอินเดียมาจากพม่า เพราะในหนังสือที่เล่าถึงประวัติของเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของราชวงศ์อังกฤษอย่างเป็นทางการจำนวน 2 เล่มที่ตีพิมพ์ในปี 1998 ระบุไว้เช่นนั้น ถึงแม้ว่าจะเอามาเป็นหลักฐานชี้ชัดไม่ได้ว่าเป็นทับทิมงาหม็อกเพราะทับทิมจำนวนมากส่วนใหญ่ก็มาจากพม่าแทบทั้งนั้น
2
ส่วนหน่วยงานที่ดูแลทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อย่าง The Royal Collection Trust ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ อย่างดีก็เพียงแต่ชี้แจงว่าไม่มีเอกสารหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรใดระบุที่มาของทับทิมในมงกุฎจักรพรรดิแห่งอินเดีย แต่ก็ไม่สามารถหยุดข่าวลือและความเชื่อว่าราชวงศ์อังกฤษมีทับทิมนี้อยู่ในมือ
1
บรรดาเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของราชวงศ์อังกฤษ (Image: Historic Royal Palaces)
มงกุฎ Imperial State Crown วัตถุล้ำค่าชิ้นหนึ่งในบรรดาเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของราชวงศ์อังกฤษ (Image: Wikipedia)
แนวคิดหนึ่งเชื่อว่าทับทิมงาหม็อกถูกนำมาใช้ประดับมงกุฎจักรพรรดิแห่งอินเดีย หรือ Imperial Crown of India (Image: BBC)
พิธี Delhi Durbar ที่อินเดีย โดยมงกุฎ Imperial State Crown นั้นไม่สามารถนำออกมาจากอังกฤษได้ จึงมีการสั่งทำมงกุฎใหม่เพื่อวาระนี้โดยเฉพาะ คือมงกุฎจักรพรรดิแห่งอินเดีย หรือ Imperial Crown of India ดังรูปที่กษัตริย์จอร์จที่ 5 สวมอยู่ (Image: Historic Royal Palaces)
• ผู้ตามทวงทับทิมคนปัจจุบัน
1
โซวินเป็นเหลนของกษัตริย์ธีบอ เขาเคยเป็นนักการทูตของพม่าที่ไปประจำยังประเทศต่าง ๆ แต่เกษียณอายุแล้ว ที่ผ่านมาเขาใช้ชีวิตอยู่เงียบ ๆ แต่เมื่อเสร็จสิ้นจากการทำหน้าที่รับใช้ชาติ ก็ถึงเวลาออกมาส่งเสียงดัง ๆ ต่อการตามหาสมบัติล้ำค่าของบรรพบุรุษ
การทวงสมบัติครั้งนี้เขาเดินทางมายังประเทศอังกฤษ โดยที่มีอเล็กซ์ เบสโคบี (Alex Bescoby) นักประวัติศาสตร์และผู้ผลิตภาพยนตร์คอยช่วยเหลือ พวกเขาเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ เช่น หอคอยแห่งกรุงลอนดอน พิพิธภัณฑ์วิกตอเรียกับอัลเบิร์ต หรือพระราชวังบักกิงแฮม เพื่อตามหาร่องรอยของทับทิมงาหม็อก อีกทั้งยังมีอเล็กซ์ เบสโคบี คอยสืบเสาะค้นหาเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่พอจะเป็นร่องรอยเพื่อตามหาว่าทับทิมงาหม็อกนั้นตกไปอยู่ที่ใด ทั้งค้นข้อมูลจาก British Library ติดต่อขอสัมภาษณ์ The Royal Collection Trust และแม้กระทั่งตามไปสัมภาษณ์ลูกหลานของนายพันเอกสเลเดน ซึ่งลูกหลานของเขาบอกว่าหากสเลเดนเก็บทับทิมงาหม็อกนั้นไว้กับตัวป่านนี้ครอบครัวของพวกเขาคงมั่งคั่งร่ำรวยไม่ต้องอยู่อย่างลำบากแบบนี้
1
มาถึงจุดนี้ ความเป็นไปได้จึงอยู่ที่นายพันเอกสเลเดนมอบทับทิมให้แก่สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียตามแบบเจ้าหน้าที่ผู้ซื่อสัตย์ในยุควิกตอเรีย ซึ่งปฏิบัติการค้นคว้าหาทับทิมงาหม็อกอย่างไม่ลดละว่าหายไปไหนทำให้พวกเขาได้พบข้อมูลใหม่ว่า ในเอกสารหลักฐานรายการทรัพย์สมบัติของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียเมื่อปี 1896 ที่ The Royal Collection Trust มีอยู่พบว่า องค์ราชินีมีทับทิมอยู่ในความครอบครองเม็ดชิ้นซึ่งน่าจะมีขนาดราว 75 กะรัต
3
แม้ทับทิมงาหม็อกจะมีขนาดมากกว่า 80 กะรัต แต่เป็นไปได้ว่ามันถูกเจียระไนให้เล็กลง ซึ่งตามข้อมูลของ The Royal Collection Trust ระบุว่าทับทิมเม็ดนั้นได้มาจาก ‘กษัตริย์แห่งพม่า’ และนำมามอบให้แก่องค์ราชินีโดย ‘ราชทูตพม่า’ และถูกนำไปทำสร้อยคอ ซึ่งสร้อยคอชิ้นนี้ถูกมอบต่อให้แก่เจ้าหญิงลูอีส ดัชเชสแห่งอาร์ไกล์ (Princess Louise, Duchess of Argyll) แล้ว ดังนั้นจึงกลายเป็นสมบัติส่วนตัวที่ไม่ได้อยู่ในความดูแลของ The Royal Collection Trust แต่อย่างใด
1
แน่นอนว่าพวกเขาได้ติดต่อสอบถามไปยังลูกหลานที่เป็นทายาทของเจ้าหญิงลูอีส พระธิดาองค์ที่ 4 (หรือองค์ที่ 6 ถ้านับรวมพระโอรส) ของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย และได้รับการตอบกลับว่าไม่มีของแบบนั้นอยู่ในความครอบครองของตระกูลของพวกเขา
1
สำหรับคนพม่า มองว่าการระบุว่าทับทิมถูกมอบให้โดย ‘ราชทูตพม่า’ เป็นเล่ห์ของพวกจักรวรรดินิยมอังกฤษที่ปกปิดการฉกฉวยเอาสมบัติของพม่าไป และแม้เวลาจะผ่านไปนานสักเท่าใด คนพม่ายังจดจำเรื่องราวของทับทิมงาหม็อกชิ้นนี้อยู่
2
เมื่อการสืบเสาะหาทับทิมงาหม็อกทำได้เพียงเท่านี้ หลังการค้นคว้าตามหาหลักฐานมากมาย โซวินจึงได้แต่กล่าวกับอเล็กซ์ เบสโคบี เพียงว่า “คุณมีอะไรมากมายที่เอามาแสดงให้เห็นจากประวัติศาสตร์ของชาติคุณ แต่เราไม่มีอะไรเลย…”
อดีตนั้นผ่านไปแล้ว แต่แผลในประวัติศาสตร์ที่คนรุ่นก่อนสร้างไว้ยังส่งผลมาถึงคนรุ่นปัจจุบัน โดยเฉพาะต่อลูกหลานของคนที่ถูกฉกฉวยเอาสมบัติไปอย่างโซวิน ภารกิจต่อไปสำหรับเขาคือการนำพระศพของกษัตริย์ธีบอที่ถูกฝังไว้ที่อินเดียนำกลับมายังพม่าให้จงได้
1
จดหมายจาก The Royal Collection Trust (Image: BBC)
ภาพเจ้าหญิงลูอีส พระธิดาของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ในวันอภิเษกของพระองค์เมื่อปี 1871 ซึ่งเชื่อกันว่าทับทิมงาหม็อกน่าจะทำเป็นสร้อยคอแล้วนำมามอบให้แก่เจ้าหญิงพระองค์นี้ (Image: Wikipedia)
• สมบัติอื่น ๆ
ในปี 1964 เพื่อแสดงถึงมิตรไมตรีอันดีระหว่างสองประเทศ อังกฤษได้ส่งมอบสมบัติของราชวงศ์พม่าคืนให้แก่ประเทศพม่าเป็นจำนวน 167 ชิ้น เมื่อครั้งที่อังกฤษนำมาจากพระราชวังมัณฑะเลย์ตอนที่บุกเข้าไปจับตัวกษัตริย์ธีบอเพื่อให้สละราชบัลลังก์พร้อมกับเนรเทศพระองค์พร้อมครอบครัวไปยังอินเดีย
ก่อนหน้าที่จะมีการส่งมอบ นายพลเนวินผู้นำประเทศพม่าในเวลานั้นได้เดินทางไปเยือนอังกฤษ และได้เรียกร้องให้ทางการอังกฤษมอบสมบัติเหล่านี้กลับคืนให้พม่า ซึ่งได้รับการตอบสนอง แต่แน่นอนว่าในสมบัติที่คืนมานั้นไม่มีทับทิมงาหม็อกอยู่ด้วย
นายพลเนวินเมื่อได้รับสมบัติคืนจึงส่งสมบัติเหล่านี้ไปจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์ที่เมืองหลวงย่างกุ้ง
สมบัติของราชวงศ์พม่าที่อังกฤษส่งมอบคืนให้ในสมัยนายพลเนวิน (Image: Irrawaddy)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา