10 ก.ค. 2021 เวลา 03:15 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
ข้อคิดจากซีรีส์ Star Wars: The Clone Wars (Season 2, EP 11 : 2009) “ทุกสิ่งนั้นไม่ได้ง่ายอย่างที่เห็นเสมอไป”
สิ่งที่ดูง่ายนั้นไม่ได้แปลว่า มันจะต้องง่ายดายเสมอไป
Star Wars: The Clone Wars (Season 2, EP 11 : 2009)
อนิเมชั่นซีรีส์แห่งจักรวาล Star Wars
ที่เล่าเรื่องราวการทำภารกิจต่าง ๆ ของเหล่าเจไดและทหารโคลน
“ในสงครามครั้งใหญ่ของกาแล็คซี่”
(เป็นสงครามที่กินเวลากว่า 3 ปี
ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างภาพยนตร์เรื่อง
Star Wars Episode II: Attack of the Clones กับ Star Wars Episode III: Revenge of the Sith)
โดยดำเนินเรื่องผ่านตัวละครหลักคือ
โอบีวัน เคโนบี, อนาคิน สกายวอล์คเกอร์ (ข้าไม่ชอบทราย 555)
และ อาโซก้า ทาโน่ (ลูกศิษย์ของอนาคิน)
โดยเนื้อหาจะเปิดเผยถึงความรุนแรงของสงคราม
รวมทั้งผลกระทบจากการต่อสู้
ซึ่งจะทำให้เราผู้ชมได้เห็นถึง
“พัฒนาการและการเรียนรู้ของตัวละครหลักในเรื่อง”
ก่อนอื่นเลยต้องขอบอกว่า
ผมเป็นสาวกของ Star Wars เลยครับ
นี่จึงทำให้ผมไม่สามารถพลาดอนิเมชั่นซีรีส์เรื่องนี้ได้ 5555
(สามารถรับชมได้ทาง Disney+ Hotstar)
ถึงแม้ภาพภายนอกจะดูเป็นเพียงอนิเมชั่นสำหรับเด็ก
แต่เนื้อหาข้างในนั้นมันสำหรับผู้ใหญ่เลยครับ
เช่น
-การตัดสินใจ
-การดูแลความรู้สึก
-ความสงบทางใจ
-ความผูกพัน
-ความสูญเสีย
โดยเนื้อหาใน Season 2 - EP: 11 ที่ผมหยิบมานี้
เป็นเรื่องของอาโซก้า ทาโน่ (ลูกศิษย์ของอนาคิน)
ที่โชคร้ายโดนโจรขโมยดาบพลังแสงไป
(เป็นอาวุธประจำตัวที่อนาคินย้ำตลอดว่า อย่าทำหายยย!! 555)
แล้วด้วยความที่ไม่อยากให้อาจารย์ของตัวเองรู้
“อาโซก้าจึงออกตามหา โดยมีอาจารย์เจไดอาวุโสเป็นเพื่อนร่วมทางไปด้วย”
เหมือนได้ดูเด็กวัยรุ่นเลือดร้อน กับ ผู้เฒ่าใจเย็นออกเดินทางด้วยกันเลยครับ
ที่คนหนึ่งก็เอาแต่เร่งรีบ อีกคนหนึ่งก็เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปก็ได้ 555
ซึ่งจุดนี้ล่ะครับ ที่อนิเมชั่นซีรีส์เรื่องนี้ได้มอบบทเรียนให้กับเรา
“ทุกสิ่งนั้นมิได้ง่ายดายอย่างที่มองเห็นเสมอไป”
บางครั้งเราก็เผลอประมาทกับสิ่งง่าย ๆ ในชีวิตประจำวันครับ
ซึ่งเป็นสิ่งที่เรามักมองข้าม หรือ ไม่ค่อยเห็นความสำคัญ
เช่น
-การเดินข้ามถนน (เล่นมือถือแล้วเดินด้วยความเคยชินไม่ยอมดูทาง)
-การสั่งซื้อของออนไลน์ (ไม่ได้ตรวจสอบให้ละเอียดก่อนซื้อ)
-การทำงานที่เคยทำได้ (ใช้ความเคยชินแล้วทำลวก ๆ ให้มันจบไป)
-การอ่านข่าวสาร (ไม่ได้ตรวจสอบที่มาก่อนเชื่อและแชร์)
-การพูดคุย/คอมเมนท์ (รีบคุย/รีบโต้ตอบโดยไม่ได้ตั้งใจฟังและเห็นใจผู้อื่น)
-การกิน/การดื่ม (ไม่เลือกอาหารและเครื่องดื่มจนทำลายสุขภาพ)
-การรับปาก (รีบตอบตกลงโดยไม่ได้พิจารณาอย่างรอบคอบ)
-การวางแผนงาน (คิดว่าทำได้ง่าย ๆ เลยไม่เตรียมตัว แต่พอถึงหน้างานแล้วยากกว่าที่คิด)
ฯลฯ
โดยเหตุการณ์ทั้งหมดนี้นั้น
เหมือนเรายินยอมให้มันผ่านหูผ่านตาไป
“แต่ไม่ได้พิจารณาด้วยใจ”
จนมันส่งผลให้เราผิดพลาดกับเรื่องที่ดูเหมือนง่าย
และเกิดผลร้ายแรงตามมาในที่สุด
“เมื่อเราไม่อยู่กับปัจจุบัน ความประมาทย่อมเกิดขึ้นได้”
คำถามก็คือ
แล้วเราไปอยู่ที่ไหนกันล่ะ หากเราไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน
โดยมากแล้วเรามักผูกติดอยู่กับอดีต
หรือ อนาคตครับ
“ตกหลุมพรางความเคยชิน (อดีต) และ โดนภาพสิ่งที่ฝันบังตา (อนาคต)”
ซึ่งจิตใจที่ไม่อยู่กับสิ่งที่กำลังทำเช่นนี้
จะโดนลดทอนประสิทธิภาพในการเอาใจใส่
โดนบดบังการทำความเข้าใจ
และรบกวนสมาธิในสิ่งที่กำลังทำครับ
“เปิดช่องทางให้เราทำพลาดได้อย่างง่ายดาย”
หากเราลองเปลี่ยนท่าที
โดยกลับมาอยู่กับสิ่งที่กำลังทำอย่างเต็มที่
“เหมือนเรากำลังทำมันเป็นครั้งแรก”
ความเอาใจใส่ก็จะเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติครับ
ผลที่ตามมาก็คือ
จากที่เรามัวแต่รีบเร่ง
หรือ จากที่เราชอบเผลอปล่อยมันผ่านไป
“เราจะมอบหัวใจให้กับสิ่งที่กำลังทำมากขึ้น”
แล้วเมื่อเราไม่รีบด่วนตัดสินความยากง่ายของสิ่งที่กำลังทำ
จิตใจของเราย่อมเปิดกว้างมากยิ่งขึ้นครับ
ซึ่งจะส่งผลให้ท่าทีในชีวิตเปลี่ยนแปลงไป
“จากการมองอย่างผิวเผิน เปลี่ยนเป็น การมองอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น” ^^
โฆษณา