6 ส.ค. 2021 เวลา 11:19 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
ข้อคิดจากหนัง Fear Street Part 1: 1994 (2021) “การเห็นส่วนที่ดีในตัวเอง”
หากมีคนเห็นข้อดีในตัวเรา ก็อย่าลืมมองให้เห็นส่วนที่ดีนั้นในตัวเอง
Fear Street Part 1: 1994 (2021)
เล่าเหตุการณ์ฆาตกรรมสังหารโหด
ที่เกิดขึ้นในเมืองเชดี้ไซด์
ซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ ที่เสื่อมโทรม
แล้วยังมีเหตุนองเลือด และอาชญากรรมเกิดขึ้นบ่อย ๆ
ซึ่งแตกต่างกับเมืองที่อยู่ใกล้เคียงอย่างสิ้นเชิง
ที่ชื่อว่า ซันนี่เวล (ผู้คนร่ำรวย อยู่ดีกินดี และมีความสุข)
โดยจากเหตุฆาตกรรมสยองที่เกิดขึ้นนั้น
ทำให้วัยรุ่นทั้งสองเมือง
ได้มาร่วมไว้อาลัยให้กับผู้คนที่จากไป
โดยมี “ดีน่า” หญิงสาวจากเชดี้ไซด์
ที่ตั้งใจมาบอกลา “แซม” แฟนเก่าที่ย้ายมาซันนี่เวล
แต่แล้วในพิธีไว้อาลัยนั้นเอง
วัยรุ่นทั้งสองเมืองที่ไม่ถูกกันเป็นทุนเดิม
“ได้เปิดศึกฟาดปากกัน”
ลุกลามไปถึงการขับรถไล่บี้กันจนเกิดอุบัติเหตุ
แล้วหนึ่งในผู้โชคร้ายก็คือ “แซม”
ซึ่งเกือบเอาชีวิตไม่รอดจากอุบัติเหตุ
โดยเธอเกิดเห็นภาพของแม่มดคนหนึ่ง
(แม่มดผู้น่ากลัวที่เป็นตำนานเล่าขานในเมืองนามว่า ซาร่าห์ เฟียร์)
เท่านั้นยังไม่พอ
ทั้งดีน่า แซม และพวกพ้อง
ยังถูกไล่ฆ่าโดยคนที่สวมหน้ากากผี/หญิงสาวผู้ใช้ใบมีดโกน/มือขวานจอมโหด
ด้วยเหตุนี้
ทุกคนจึงต้องเอาชีวิตรอด และไขปริศนาไปด้วย
“ว่าจะรอดจากเหตุการณ์สยองครั้งนี้ไปได้อย่างไร”
ผมไม่ได้ดูหนังสยองขวัญแนวเชือดเลือดสาด
ที่สนุกแบบนี้นานแล้วครับ 5555
ซึ่งหนังเรื่องนี้คือภาคแรกของไตรภาคชุด Fear Street
(สามารถรับชมได้ทาง Netflix)
ตัวเนื้อเรื่องไม่ซับซ้อนอะไรมากครับ
แต่ด้วยบรรยากาศของหนัง
จังหวะ และวิธีการเล่าเรื่องนั้น
“บอกเลยว่า บันเทิงมาก”
โดยนอกเหนือจากเรื่องฆ่ากันเลือดสาดแล้ว
ยังมีเรื่องของความสัมพันธ์
รวมทั้งข้อคิดให้เราได้กลับมาทบทวนตัวเองด้วยครับ
นั่นคือ “เราจะมองเห็นส่วนที่ดีของตัวเราได้อย่างไร” ^^
บ่อยครั้งที่เรามักมองข้ามจุดเด่นในตนเอง
ซึ่งคล้ายกับว่า
เราไม่ค่อยให้คุณค่าส่วนนั้นเท่าใดนัก
จนท้ายที่สุดเราก็เผลอหลงลืมส่วนที่ดีที่เรามี
โดยผ่านการกระทำมากมาย เช่น
-การลดคุณค่าตนเอง
-การประเมินตัวเองให้ตกต่ำย่ำแย่
-การจ้องจับผิดตนเอง
-การมองตัวเองในแง่ร้าย/มองแต่ข้อผิดพลาด
“ไม่เคยหันมามองตัวเองอย่างรอบด้าน หรือ ชื่นชมตัวเองแม้แต่น้อย”
แต่เรายังหลงเหลือโอกาสให้มองเห็น
เพราะบางครั้งก็ยังมีผู้คนคอยเป็นกระจกสะท้อนให้เรารับรู้
ทั้งจากการบอกเราตรง ๆ หรือ การยกย่องชื่นชม
แล้วก็ยังมีอีกกรณีนึงที่แนบเนียนกว่านั้น
นั่นคือ “เราชื่นชมผู้อื่น...ยกเว้นตนเอง”
ซึ่งมันมักมีร่องรอยมาจากการตั้งมาตรฐานให้ตัวเองสูงปรี๊ด
สูงจนตัวเราเองก็ทำมันไม่ค่อยจะได้
แล้วปัญหาที่ตามมาก็คือ
เรายอมรับตัวเองเฉพาะเวลาที่ทำได้
และ ปฏิเสธตนเองทุกครั้งเมื่อทำไม่ได้
พอยิ่งทำพลาดก็ยิ่งด่าทอและเฆี่ยนตีตัวเองซ้ำไปซ้ำมา
“ฟาดฟันอย่างไม่ปราณี”
เราอาจลองนึกถึงการเดินขึ้นบันไดที่มี 10 ขั้น
แล้วคงไม่ค่อยมีใครที่กระโดดทีเดียวแล้วไปอยู่ขั้นที่ 10 เลย
แปลว่า
โดยธรรมชาติแล้ว
-ทุกย่างก้าว ตั้งแต่ขั้นที่ 1-9
คือ รากฐานที่จะนำเราไปสู่ขั้นที่ 10
-ทุกความตั้งใจ ทุกเรี่ยวแรง ทุกการหยุดพัก ทุกการเคลื่อนไหว
คือ ปัจจัยที่จะทำให้เราก้าวเดินต่อไป
แต่เราก็มักตั้งเงื่อนไขตายตัวขึ้นมา
ว่าเราจะชื่นชมและยอมรับตัวเองก็ต่อเมื่อ
“ได้อยู่บนขั้นบนสุดแล้วเท่านั้น”
จุดนี้แหละที่ทำให้เราทนทุกข์
รวมทั้งสร้างความเหนื่อยยากให้แก่ชีวิตจิตใจ
จนคล้ายกับว่า
เหมือนเราพยายามอะไรสักอย่างอยู่ตลอดเวลา
แต่มันก็ไม่เคยถึงที่หมายสักที
หากเรารับฟังผู้อื่นอย่างเอาใจใส่
โดยเฉพาะเวลาที่ผู้คนชื่นชมเราอย่างเต็มใจ
แล้วลองใคร่ครวญและเก็บเกี่ยวสิ่งเหล่านั้นมาสังเกตตนเอง
อย่างน้อยที่สุด
เราก็ได้รดน้ำให้กับใจที่เหนื่อยล้า
แล้วยังเป็นการเปิดโอกาสที่กว้างขวางให้แก่ชีวิต
ซึ่งจะทำให้เราได้เห็นเพชรเม็ดงามที่ซ่อนอยู่ในตนเอง
“ค้นพบส่วนที่ดี และ ชื่นชมส่วนที่ดีเหล่านั้น”
เพื่อรับรู้ตัวเองอย่างรอบด้าน
มิใช่รับรู้แต่เพียงข้อผิดพลาดของตนเอง ^^
โฆษณา