17 ก.ค. 2021 เวลา 04:55 • ประวัติศาสตร์
#40 The Brain Club : History คนครึ่งตั๊กแตน
งานศิลปะคือสิ่งที่แสดงออกถึงจิตวิญญาณในตัวเรา เช่นเดียวกับในอดีตที่บรรพบุรุษของมนุษย์ยุคแรกยังคงอาศัยอยู่ในถ้ำ พวกเขาจะสลักงานศิลปะบนก้อนหินและผนังถ้ำ เพื่อใช้สำหรับสื่อสาร แสดงความคิดเห็น ตลอดจนการจดบันทึกเรื่องราวสำคัญๆ
ในปี 2017 ทีมนักโบราณคดีอิหร่านได้ค้นพบศิลปะสกัดหิน (Petroglyph) เป็นภาพสลักเก่าแก่ในแหล่งโบราณคดี " Teymareh " ในจังหวัดมาร์ซากิ ประเทศอิหร่าน
หากมองเพียงผิวเผินมันก็เหมือนภาพสลักหินโบราณของสิ่งมีชีวิตทั่วไป แต่ที่แปลกคือมันมีรูปร่างสูงยาวมีหกแขน บ่งบอกว่ามันเป็นแมลงชนิดหนึ่ง ในระหว่างการตีความหมายก็ได้เกิดคำถามชวนสงสัยในหัวของทีมนักโบราณคดี ว่าสิ่งที่พวกเขาเจอมันคืออะไรกันแน่ ?
ถือเป็นเรื่องพบได้ยากมากๆ เพราะในแหล่งโบราณคดีบริเวณนี้ไม่เคยมีการค้นพบภาพสลักที่สื่อถึงสัตวน์ขนาดเล็กจำพวกแมลง หรือสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังมาก่อน
ภายหลังการคนพบจึงได้มีการขอความร่วมมือจากนักกีฏวิทยาผู้เชี่ยวชาญมาระดมสมองช่วยกันตรวจสอบว่าภาพสลักปริศนานี้นั้นคือแมลงชนิดใด
แหล่งโบราณคดี " Teymareh " ในภาคกลางของอิหร่าน
นักกีฏวิทยาตีความว่าภาพสลักดังกล่าวคือเจ้า " ตั๊กแตนตำข้าว " โดยอ้างอิงจากรูปร่างบนภาพสลักที่มีลำตัวยาวเก้งก้างประมาณห้านิ้ว มีแขนขายาวผิดปกติ หัวรูปทรงสามเหลี่ยม และช่องดวงตาขนาดใหญ่
ตั๊กแตนตำข้าวสามารถพบได้ทั่วโลก มีมากกว่า 2,000 สายพันธุ์ โดยสายพันธ์ที่ถูกแกะสลักน่าจะเป็น " ตั๊กแตนตำข้าวเอมปูซา (Mantis Empusa) " ตั๊กแตนสายพันธ์หายากซึ่งมีถิ่นกำเนิดอยู่ในภูมิภาคแถบนี้ พบมากในภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียน มีลักษณะโดดเด่นตรงเขาสองข้างที่ยื่นยาวออกมาจากบริวณหัว
จึงมีความเป็นไปได้ว่าช่างแกะสลักจากยุคก่อนประวัติศาสตร์ผู้นี้ คงได้แรงบัลดาลใจมาจากการพบเห็นเจ้าตั๊กแตนเอมปูซาในชีวิตประจำวันมาก่อน
การตีความอีกแบบที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือจากรูปสลักที่เราเห็นจะมีวงกลมแปลกประหลาดที่ต่อท้ายบริเวณแขนขาของเจ้าแมลงตัวนี้ คล้ายกับรูปบนภาพสกัดหินที่มีบันทึกการค้นพบทั่วโลกอย่าง " Squatter Man " ที่จะเป็นภาพสลักรูปร่างมนุษย์ที่มีวงกลมแนบอยู่ข้างลำตัวทั้งสองข้าง ในบ้านเราก็เคยมีการค้นพบภาพสลักแบบนี้เหมือนกัน
ทีมนักโบราณคดีจึงตีความว่าภาพสลักปริศนาชิ้นนี้ แท้จริงอาจะเป็นสิ่งมีชีวิตครึ่งมนุษย์ครึ่งตั๊กแตนตำข้าวก็เป็นได้ พวกเขาจึงตั้งชื่อให้มันว่า " Squatter Mantis Man " หรือภาพสลักหินของมนุษย์ตั๊กแตนตำข้าว กลายเป็นชื่อที่ถูกเขียนในงานตีพิมพ์วารสารวิชาการ Journal of Orthoptera Research ในช่วงสัปดาห์นั้น
เกิดคำถามตามมาอีกว่า ทำไมมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ถึงสลักภาพมนุษย์ประหลาดเช่นนี้ ในอดีตเคยมีมนุษย์ครึ่งตั๊กแตนอาศัยอยู่บนโลกมาก่อนอย่างนั้นหรือ ?
แน่นอนว่านักโบราณคดีไม่ได้คิดแบบนั้น เพราะมันดูเกินเลยจากความจริงไปหน่อย แต่พวกเขาเชื่อว่าช่างแกะสลักเจ้าของผลงานอาจนับถือตั๊กแตนตำข้าวเรื่องความสามารถที่น่าทึ่งในการพรางตัวกับสภาพแวดล้อม และความเก่งกาจในการล่าเหยื่อ ที่เป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้เหล่านายพรานภายในเผ่าของพวกเขา
นอกจากนี้ยังมีแนวคิดว่าภาพสลักอาจสื่อถึงการใช้พืชที่มีฤทธิ์ทำให้เกิดอาการประสาทหลอน แต่ก็ไม่มีหลักฐานสนับสนุนที่เพียงพอ
สุดท้ายแล้วทฤษฎีทั้งหมดคือการคาดเดาจากหลักฐานที่มีเท่านั้น ความจริงที่ว่าเหตุใดช่างแกะสลักผู้นี้ถึงรังสรรค์สิ่งมีชีวิตลูกผสมครึ่งแมลงออกมาไม่มีใครรู้ได้ มันจะเป็นความลับไปตลอดกาลให้พวกเราได้สงสัยกันต่อไป
แต่ภาพสลักโบราณที่คาดว่ามีอายุเก่าแก่ระหว่าง 4,000 - 40,000 ปีก่อน กลายเป็นภาพสลักเกี่ยวกับตั๊กแตนที่เก่าแก่ที่สุดที่เคยค้นพบมา
ไม่สามารถบอกได้แน่ชัดว่าภาพสลักชิ้นนี้มีอายุเก่าแก่ขนาดไหน การใช้เทคนิคเรดิโอคาร์บอน ( Radiocarbon Dating ) ในการตรวจสอบอายุของวัตถุโบราณจากปริมาณของคาร์บอนก็ทำไม่ได้ เป็นผลจากการคว่ำบาตรในอิหร่านที่สั่งห้ามไม่ให้ใช้อุปกรณ์ที่มีกัมมันตภาพรังสี
ทีมนักโบราณคดีต้องหันมาใช้วิธีการคาดคะเนจากอายุของแหล่งโบราณคดีรอบๆ จนประมาณการคร่าวๆ ได้ว่าภาพสกัดหินของมนุษย์ครึ่งตั๊กแตนตำข้าวมีอายุเก่าแก่ย้อนไปได้ไกลระหว่าง 4,000 - 40,000 ปีก่อน
ภาพสลักดังกล่าวถือเป็นเป็นหลักฐานสำคัญที่ชี้ว่ามนุษย์เรามีวิถีชีวิต ความเชื่อ ที่เชื่อมโยงกับเพื่อนแมลงตัวเล็กมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้วนั้นเอง
📌 เรียบเรียงโดย : สโมสรสมอง
** กรุณาแชร์ต่อ ห้ามคัดลอกบทความไปเผยแพร่ซ้ำ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา