18 ก.ค. 2021 เวลา 06:26 • ประวัติศาสตร์
#41 The Brain Club : History
จะเกิดอะไรขึ้นหากคุณต้องพบเจอกับภัยสงครามมาตลอดทั้งชีวิต? ถ้าหากสภาพจิตใจของคุณไม่แข็งแรงมากพอ มันคงแตกกระเจิงเหมือนกับขวดแก้วที่ถูกเขวี้ยงลงพื้นอย่างเต็มแรง
ในปี 1990 มีภาพถ่ายหญิงชราชาวอาร์เมเนียวัย 106 ปี ในสภาพโรยราจากการใช้ชีวิตมาอย่างยาวนาน กำลังนั่งเฝ้าหน้าบ้านของเธอด้วยปืนไรเฟิลกระบอกโตยิ่งกว่าแขนของเธอเสียอีก ถือเป็นอีกหนึ่งภาพถ่ายจากสงครามที่น่าปวดใจ
สถานที่ในภาพคือหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ใกล้กับเมืองกอริส (Goris) ทางตอนใต้ของประเทศอาร์เมเนีย เมืองทิวทัศน์สวยงามจากมนต์เสน่ห์ของเมืองยุคหินโบราณ ที่โผลให้เราเห็นในการ์ตูนยอดฮิตตลอดกาลเรื่อง " มนุษย์หินฟลิ้นท์สโตนส์ ( The Flintstones ) "
แต่น่าเศร้าที่เมืองแห่งนี้ได้รับพิษจากภัยสงครามนากอร์โน-คาราบาคห์ (Nagorno-Karabakh) ซึ่งเป็นพื้นที่ข้อพิพาทด้านอำนาจอธิปไตยการอ้างสิทธ์การปกครองระหว่างประเทศอาร์เมเนีย และอาเซอร์ไบจาน
ผลจากสงครามทำให้ผู้คนหลายแสนชีวิตต้องพลัดพรากจากครอบครัวที่รัก และบ้านหลังเดิมในความทรงจำ คุณยายในภาพถ่ายของเราก็คงเป็นหนึ่งในนั้น
ปืนที่คุณยายถืออยู่ในมือไม่ใช่ AK-47 ที่เราคุ้นเคยกันดี แต่เป็น AKM รุ่นยอดนิยมที่มีบันทึกการนำมาใช้งานอย่างแพร่หลายตั้งแต่ช่วงปลายยุค 50 ในประเทศอดีตรัฐสมาชิกจากสนธิสัญญาวอร์ซอทั้งหลาย
หากเราลองย้อนไทมไลน์ดู ตอนคุณยายอายุ 10 ขวบ เธอจะมีชีวิตอยู่ในช่วงการสังหารหมู่ชาวฮามีเดียนในจักรวรรดิออตโตมันที่เกิดขึ้นระหว่างปี 1894-1896 ที่มีผู้เสียชีวิตหลายแสนคน
ต่อจากนั้นเมื่อายุเข้าช่วงเลขสาม ชีวิตของคุณยายก็ต้องผ่านเหตุการณ์สังหารหมู่ในอาร์เมเนียรอบที่ 2 ที่เกิดจากน้ำมือของรัฐบาลออตโตมันในปี 1915-1923
ก่อนที่อีกไม่กี่ปีต่อมา อาร์เมเนียจะถูกรุกรานโดยพวกเติร์กอีกรอบ ซึ่งบทสรุปของการนองเลือดจบลงโดยการที่ฝ่ายอาร์เมเนียถูกรวมเข้ากับสหภาพโซเวียต
ในปี 1920 รัฐบาลโซเวียตที่เรืองอำนาจอย่างมากได้ก่อตั้งเขตปกครองตนเองนากอร์โน-คาราบาคห์ขึ้นมาในแถบเทือกเขาคอเคซัสซึ่งไม่ได้รับการรับรองเป็นประเทศจากนานาชาติ ประชากรส่วนใหญ่กว่า 95% เป็นคนเชื้อชาติอาร์เมเนีย
ต่อมาในปี 1988 สภานิติบัญญัติแห่งนากอร์โน-คาราบาคห์ได้มีมติให้ควบรวมเข้ากับอาร์เมเนีย ทั้งที่ความจริงแล้วสถานที่ตั้งตามกฎหมายอยู่ในเขตพรมแดนของอาเซอร์ไบจาน จึงเกิดเป็นรอยร้าวของการแย่งชิงดินแดนที่รอวันแตกออก
ความขัดแย้งระหว่างสองประเทศถูกควบคุมเอาไว้เสมอมา แต่ภายหลังที่สหภาพโซเวียตล่มสลายลงในปี 1991 สาธารณรัฐนากอร์โน-คาราบัคก็ได้ประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการ
แต่ผลที่ตามมาคือประเด็นข้อพิพาทจนกลายเป็นสงครามการแย่งชิงพื้นที่ครั้งที่ 1 ระหว่างอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจาน โดยกินระยะเวลายาวนาน ส่งผลให้มีผู้คนต้องสังเวยชีวิตกว่า 30,000 คน และยังมีผู้ลี้ภัยอีกหลายแสนคนต้องกระจายไปตามภูมิภาคต่างๆ ของทั้งสองประเทศ
สงครามการแย่งชิงพื้นที่ครั้งที่ 1
ในปี 1993 อาร์เมเนียสามารถเข้ายึดเขตปกครองนากอร์โน-คาราบาคห์ได้สำเร็จ และทำการเข้ายึดครองพื้นที่ราวๆ 20 เปอร์เซ็นต์โดยรอบเมืองอาเซอร์ไบจาน
ก่อนที่ในอีกหนึ่งปีต่อมา ทางรัสเซียจะเข้ามามีส่วนในการทำข้อตกลงหยุดยิงซึ่งยังคงมีผลบังคับใช้มานานอีก 26 ปี โดยบทสรุปของความขัดแย้งทำให้ชาวอาร์เมเนียจำนวน 230,000 คน และชาวอาเซอร์ไบจานอีก 800,000 คนกลายเป็นผู้พลัดถิ่น
เรียกได้ว่าตลอดช่วงชีวิตที่แสนยาวนานของคุณยาย ต้องพบเจอกับความยากลำบากรุนแรงจากสงครามมาโดยตลอดตั้งแต่วัยเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ มาจนถึงช่วงบั้นปลายที่นาฬิกาชีวิตกำลังเดินช้าลงเรื่อยๆ ก็ยังไม่วายต้องดิ้นรนเพื่อปกป้องบ้านเกิด
ส่วนชะตากรรมหลังจากนี้ เราแทบจะไม่รู้อะไรเกี่ยวกับคุณยายท่านนี้อีกเลย นอกจากภาพถ่ายใบนี้ก็ไม่มีข้อมูลอ้างอิงอื่นๆ มากนัก
สงครามการแย่งชิงพื้นที่ครั้งที่ 2
ล่าสุดเมื่อช่วงปลายเดือนกันยายนปี 2020 สงครามนากอร์โน-คาราบัคครั้งใหม่ก็ได้ปะทุขึ้นอีกรอบจากโจทย์เก่าคู่เดิม รอบนี้รุนแรงบานปลายมากขึ้นกว่าเดิม เพราะอาวุธทันสมัยถูกนำมาใช้งานมากขึ้น รวมไปถึงการปล่อยข่าวบนโซเชียลเน็ตเวิร์ก
โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าอาเซอร์ไบจานคือฝ่ายที่เดินหมากโจมตีก่อน เป้าหมายคือการยึดพื้นที่ทางตอนใต้ของเขตปกครองนากอร์โน-คาราบัค
สหประชาชาติได้ออกมาประณามต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น และเรียกร้องให้ทั้งสองชาติยุติความตึงเครียดครั้งนี้ลงเสีย แต่เหมือนจะยังไม่เป็นผล เพราะข้อตกลงหยุดยิงถูกทั้งสองชาติเมินเฉย
แต่ภายหลังจากที่ฝ่ายอาเซอร์ไบจานสามารถเข้ายึดเมืองใหญ่แห่งหนึ่งภายในเขตปกครองนากอร์โน-คาราบัคได้สำเร็จ ก็ได้มีการพูดคุยลงนามข้อตกลงสันติภาพเกิดขึ้น
ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2020 นับตั้งแต่เวลาเที่ยงคืนตรงเป็นต้นไป ทั้งสองฝ่ายก็ได้ยุติการสู้รบทั้งหมดในพื้นที่ นับเป็นเรื่องโชคดีที่ความขัดแย้งครั้งนี้เกิดขึ้นเพียงหนึ่งเดือน ตัวเลขผู้เสียชีวิตจึงหยุดแค่หลักพันราย
ผลสรุปคือแต่ละฝ่ายจะยังปกครองเขตที่ตนมีอำนาจสิทธ์ควบคุมในปัจจุบันต่อไป ฝ่ายอาร์เมเนียต้องยอมคืนดินแดนโดยรอบของภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัคกลับไปอาเซอร์ไบจาน โดยทางรัสเซียจะส่งกองกำลังเข้าไปทำหน้าที่เป็นหน่วยรักษาสันติภาพนาน 5 ปี
(เครดิตภาพประกอบ : Armineh Johannes / ภาพถ่ายสหประชาชาติ)
เรียบเรียงโดย : สโมสรสมอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา