23 ก.ค. 2021 เวลา 11:05 • ประวัติศาสตร์
#42 The Brain Club : History กล่องไม้แห่งความปวดใจ
กล่องไม้ทรงสี่เหลี่ยมใบหนึ่งถูกเก็บอย่างมิดชิดในโกดัง มองดูจากภายนอกมันก็เหมือนกล่องเก็บของทั่วไป มันช่างดูธรรมดา ไม่พิเศษ และไม่มีอะไรน่าสนใจเลยแม้แต่น้อย
แต่แท้จริงแล้วสิ่งที่เก็บซ้อนอยู่ภายในต่างหาก คือสิ่งที่จะทำให้กล่องไม้ธรรมดาใบนี้มีเรื่องราว น่าประหลาดที่มันสามารถทำให้คุณรู้สึกเจ็บปวดเพียงแค่ได้เห็นครั้งแรก คุณจะจินตนาการไปต่างๆ นานาถึงชะตากรรมของอดีตเจ้าของสมบัติเหล่านี้
ในบทความนี้ คือเรื่องราวในแง่มุมหนึ่งของค่ายกักกันมรณะที่ทิ้งเรื่องราวความปวดใจส่งต่อผ่านกาลเวลามาให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ถึงความน่าสะพรึงกลัวของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่มนุษย์กระทำต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง
ย้อนกลับในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง " บูเคินวัลท์ (Buchenwald) " คือชื่อที่กลายเป็นฝันร้ายของเชลยศึกที่กำลังถูกกวาดต้อน เมื่อคุณก้าวเท้าเข้าไปในสถานที่แห่งนี้แล้ว จะไม่สามารถเดินกลับออกมาพร้อมลมหายใจได้อีก
เพราะมันคือหนึ่งในค่ายกักกันมรณะที่ใหญ่ที่สุดในเขตพรมแดนของเยอรมัน ตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยวในพื้นที่ป่าเนินเขาทางเหนือของเมืองไวร์มาร์ ที่ได้มีการแบ่งออกเป็นค่ายเล็กๆ อีกหลายแห่งทั่วประเทศ
การใช้ชีวิตในค่าย เชลยจะถูกบังคับใช้แรงงานในอุตสาหกรรมขุดเหมือง และการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์สำหรับสงคราม ท่ามกลางเครื่องอำนวยความสะดวกครบครัน ไม่ว่าจะเป็นรั้วลวดหนามไฟฟ้าที่ล้อมรอบขอบชิด หอสังเกตการณ์ที่มีทหารยามติดอาวุธยืนคุมตลอดเวลา
การหลบหนีจึงไม่ใช่ความคิดที่ดีถ้าหากคุณอยากเป็นอิสระ แต่การอยู่ในค่ายแห่งนี้ก็เหมือนกับตายทั้งเป็นเช่นกัน
นอกจากการใช้แรงงานเยี่ยงทาส ค่ายแห่งนี้ยังเคยเป็นศูนย์ทดลองสำหรับผลิตวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ อหิวาตกโรค ไทฟอยด์ และไข้รากสาดใหญ่ พวกเขามีตัวทดลองที่ดีกว่าหนูอยู่ในกำมือ จึงได้ทำการจับเชลยมาใช้เป็นแทนหนูทดลอง ส่งผลให้หลายร้อยชีวิตต้องถูกสังเวยไปอย่างทรมาน
ค่ายกักกันบูเคินวัลท์ (Buchenwald)
ในปี 1945 กองทัพสหรัฐกำลังบุกเข้าประชิดบริเวณค่าย เยอรมันได้มีแผนการอพยพเชลยกว่า 28,000 ชีวิตหนีออกจากค่าย แน่นอนว่าการออกไปเดินเท้าเปล่ากลางขบวนสุดโหดย่อมทำให้เชลยบางคนเสียชีวิตจากความอ่อนล้า โดยเฉพาะบรรดาเด็กๆ และผู้หญิง
ในวันที่ 11 เมษายน องค์กรต่อต้านใต้ดินแห่งบูเคินวัลท์ ที่รับรู้การมาถึงกองทัพสหรัฐ จึงได้ออกมาขัดขวางจนทำให้แผนการอพยพล่าช้า เหล่านักโทษได้บุกโจมตีหอสังเกตการณ์จนสามารควบคุมค่ายได้ชั่วคราว พวกเขาคือฮีโร่ที่ช่วยชีวิตผู้คนเอาไว้มากมาย
ก่อนที่กองกำลังสหรัฐจะยกพลมาถึงค่ายในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน พวกเขาพบเชลยผู้รอดชีวิตราวๆ 21,000 คน พร้อมกับทรัพย์สมบัติมากมาย โดยหนึ่งในนั้นคือกล่องไม้รูปร่างธรรมดาใบหนึ่งที่เหมืองเกลือไฮล์บรอนน์
เมื่อพวกเขาเปิดดูของที่เก็บซ้อนอยู่ด้านใน กลับพบว่ามันเต็มไปด้วยแหวนแต่งงานราวๆ 3,000 วง ซึ่งในอดีตเคยมีเจ้าของสวมใส่ แต่ภายหลังจากการถูกต้อนมาเป็นเชลยราวกับไม่ใช่มนุษย์
ทหารเยอรมันก็ถอดแหวนออกจากนิ้วของพวกเธอ ในระหว่างการใช้แรงงานและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เพื่อเก็บสะสมทองคำอันล้ำค่าไม่ให้สูญสลายตายไปพร้อมตัวเจ้าของ
1
กล่องใส่แหวน
ภาพที่เห็นทำให้เราพอจะรับรู้ได้ทันทีว่า จะต้องมีครอบครัวและคู่รักมากมายพลัดพรากจากกัน จากภาพเราจะเห็นนายทหารผู้หนึ่งได้จุ่มสองมือลงไปในกล่อง พร้อมกับกวาดแหวนขึ้นมาไว้ในกำมือ แหวนหนึ่งวงเท่ากับหนึ่งชีวิตที่ต้องสูญเสียไป ซึ่งเป็นการสูญเสียเพียงบางส่วนจากจำนวนแหวนที่เหลือทั้งหมดในกล่อง
เราไม่อาจทราบได้ว่าใครคือเจ้าของแหวนบ้าง เพราะมีนักโทษจำนวนมากภายในค่าย บางส่วนถูกจับมาที่ค่ายแห่งนี้โดยตรง และบางส่วนเป็นการอพยพมาจากค่ายกักกันเอาชวิทซ์ และโกรส-โรเซิน
ทางกองทัพสหรัฐฯ ได้บันทึกภาพกล่องไม้ ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ พร้อมกับเชลยผู้รอดชีวิตในสภาพอ่อนแอ เพื่อเป็นหลักฐานประกาศต่อชาวโลกถึงความโหดร้ายของค่ายกักกันนรก
บทสรุปน่าเศร้าตลอด 8 ปี (1937-1945) นับตั้งแต่ค่ายกักกันแห่งนี้เปิดทำการ ได้กักขังเชลยมามากกว่า 250,000 ชีวิต จากหลากหลายประเทศทั่วทวีปยุโรป
จำนวนผู้เสียชีวิตไม่อาจประมาณการณ์เป็นตัวเลขที่แน่นอนได้ เพราะจำนวนนักโทษที่มีมหาศาล ประกอบกับระบบลงทะเบียนนักโทษที่ไม่ได้เรื่อง การตกหล่นของตัวเลขคือผลที่ตามมา โดยเชื้อชาติที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือชาวยิว
📌 เรียบเรียงโดย : สโมสรสมอง
** กรุณาแชร์ต่อ ห้ามคัดลอกบทความไปเผยแพร่ซ้ำ
ที่มา
ภาพประกอบจาก U.S. Army/National Archives

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา