17 ก.ค. 2021 เวลา 23:38 • ไลฟ์สไตล์
ทำไมที่ออสเตรเลียทิ้งขยะกันเลอะเกลื่อนแบบนี้ !?
E.p. 2 ตอนขยะชิ้นใหญ่ ๆ ไปไหนล่ะ ?
ต่อจาก E.p. แรก เราได้เห็นกันแล้วนะคะว่า รถเก็บขยะของออสเตรเลียทำงานอย่างไร และคนออสซี่ทำการแยกขยะกันอย่างไร ย้อนอ่านได้ที่นี่นะคะ https://www.blockdit.com/posts/60f294dff17d610c81ad8b9a
ในบทนี้เรามาต่อกันด้วย ขยะชิ้นใหญ่ ๆ ที่ทิ้งลงถังขยะไม่ได้ ขยะอิเลคทรอนิคส์ชิ้นใหญ่ ๆ เช่น ทีวี เครื่องออกกำลังกาย ตู้ โต๊ะ เตียง ที่นอนหมอนมุ้ง เศษเหล็ก เศษไม้
ขยะเหล่านี้ถ้ามีความจำเป็นต้องทิ้ง คนออสซี่เขาทำกันอย่างไร ? ตามมาค่ะ ฉันจะเล่าต่อนะคะ
ขยะประเภทที่ว่ามาแล้ว มีวิธีการทิ้งได้ 3 วิธีค่ะ
วิธีแรก ถ้าเป็นของที่ยังใช้งานได้อยู่ และชิ้นไม่ใหญ่มากนัก เขาก็จะเอาไปบริจาคค่ะ สถานที่บริจาคก็คือร้านที่เรียกว่า Op Shop ในบทต่อไปเราจะมาเจาะลึกถึงร้านออฟช้อปกันนะคะ แต่ตอนนี้ขอไปต่อเรื่องการทิ้งขยะชิ้นใหญ่ให้จบก่อนค่ะ
วิธีที่ 2 คือ เอาไปทิ้งที่สถานที่รับทิ้งขยะ ต้องเซิร์ชดูว่าใกล้บ้านเรามีอยู่ตรงไหนบ้าง แต่การทิ้งแบบนี้มีค่าใช้จ่ายสูงมาก บางทีค่าทิ้งสูงกว่ามูลค่าของ 😂 ฉะนั้นถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ก็จะพยายามเลี่ยงวิธีนี้กัน
วิธีที่ง่ายที่สุดคือ รอทางเขตมาเก็บให้ ขยะเหล่านี้จะเรียกว่า ฮาร์ด รับบิช (Hard rubbish) ซึ่งทางเขตจะจัดให้มีวันที่เรียกว่า Hard rubbish day ในหนึ่งปีจะจัดให้หนึ่งวัน แต่ละหมู่บ้าน แต่ละเขตจะมีวันที่แตกต่างกันไป ต้องคอยเช็คประกาศจากทางเขตว่าจะมีวันไหน แต่วันจะใกล้เคียงกันในทุก ๆ ปี
วันฮาร์ด รับบิช เดย์ คือวันที่ทางเขตจะมาเก็บขยะชิ้นใหญ่ให้ฟรี ไม่ต้องเอาไปทิ้งให้เสียตังค์
ซึ่งสิ่งนี้ ทำให้เกิดวัฒนธรรม Hard rubbish hunting หรือ การออกเก็บขยะฮาร์ด รับบิช นั่นเอง
ประมาณไม่เกิน 10 วันก่อนหน้าที่จะถึงวันเก็บขยะ ทางเขตจะอนุญาตให้ประชาชนเอาขยะชิ้นใหญ่ ๆ เหล่านั้นออกมาวางหน้าบ้าน เตรียมรอรถขนขยะของทางเขตมาเก็บไป แต่ของที่ผู้คนนำออกมาวาง ไม่ใช่ของเสียเสมอไป บางอย่างยังเป็นของดี ๆ เพียงแต่เขาไม่ใช้แล้ว เขาก็เอามาวางหน้าบ้าน ซึ่งเราสามารถไปเก็บมาใช้ได้ ถ้าเห็นว่ามันมีประโยชน์ต่อเรา และเราต้องการมัน
คนออสซี่ไม่รังเกียจขยะ บางคนภูมิใจมากด้วย ถ้าเขาเก็บได้ของดีมาจากกองขยะ และออกจะคุยโวด้วยซ้ำว่า ดูสิ ฉันไปได้อะไรมา
ตู้ โต๊ะ เตียง เก่า ๆ สภาพยังดี อาจไม่ค่อยสวยแล้ว เอาไปซ่อมแซมเสียหน่อย ก็กลายเป็นของใหม่ไฉไลสำหรับเรา หรือบางคนอาจยึดอาชีพเก็บขยะไปซ่อมแซม และนำไปขายต่อก็ได้ราคาดี
บางบ้านได้ทำการรีโนเวทบ้านใหม่ ครัวใหม่ เขาก็ยกเอาทั้งครัวออกมาวางกันเลยทีเดียว อุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ ยังดีพร้อม แค่เขาอยากได้ของใหม่เท่านั้นเอง
ฉันเคยเก็บจักรยานออกกำลังกายของคุณลุงคุณป้าข้างบ้าน สภาพใหม่กิ๊ก เดาว่าตอนซื้อนี่คงมือลั่น ซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้ ก็เอามาวางหน้าบ้าน ฉันไปเก็บมาชื่นชมอยู่ 1 ปี ผลปรากฎว่า ไม่ได้ใช้เหมือนกัน ฮา อีกปีถัดมา ฉันต้องแอบลากเอาไปทิ้งอีกด้านหนึ่งของบ้าน เพราะอาย กลัวคุณลุงคุณป้าหัวเราะเยาะเอา 😅😅
ขยะที่เหลือจากการเก็บแล้ว พอถึงวันเจ้าหน้าที่เขตจะส่งรถขนขยะขนาดใหญ่ และเจ้าหน้าที่มาเก็บทุกสิ่งทุกอย่างโยนเข้ารถบดอัดทันที
และถนนก็กลับมาสะอาดสดใสเหมือนเดิม
ฉันว่าการที่ออสเตรเลียมีการเก็บค่าทิ้งขยะที่แพงมาก ส่งผลดีถึงการลดขยะในระยะยาว เพราะจะมือลั่นซื้ออะไรทีก็ต้องคิดแล้วคิดอีก ถ้าซื้อแล้วไม่ได้ใช้ มันเป็นภาระที่จะต้องไปหาที่ทิ้ง เสียเงินเพิ่มไปอีก หรือต้องรอถึง 1 ปีเต็ม ๆ กว่าจะถึงวันทิ้งขยะเวียนมา
และนี่ก็เป็นวิธีทิ้งขยะในแบบที่เรียกว่า ฮาร์ด รับบิช ของประเทศออสเตรเลีย ที่ฉันมีมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้
หมายเหตุ
: อาจมีบางเขตที่เป็นเขตเมืองใหญ่ไม่อนุญาตให้มีการเก็บขยะประเภทนี้ ต้องเช็คข้อมูลของแต่ละเขตก่อนค่ะ
: ถ้าไม่ใช่วันที่กำหนด เอาขยะไปวางทิ้งหน้าบ้านถือว่าผิดกฎหมายนะคะ
หนังสือดอกไม้ในถังขยะ https://raka.is/r/QeQw
หนังสือด็อกเตอร์จากกองขยะ https://raka.is/r/lxXp
# ผู้เขียน
เกิดกรุงเทพ เติบโตริมคลองแสนแสบที่ฉะเชิงเทรา จบการศึกษาจากขอนแก่น แล้วกลับไปทำงานที่กรุงเทพ ปัจจุบันอยู่บ้านเล็ก ๆ ในป่ากัมที่ประเทศออสเตรเลีย
เรียนและรักษ์ภาษาไทย ชอบออกไปดู ไปดม ไปชมโลก ด้วยความหลงใหลแล้วนำกลับมาเล่า
ฝากผลงาน E-book เที่ยวเมลเบิร์นด้วยตัวเองไปกับรถรางสาย 35 https://bit.ly/3g5QoC3
และบล็อก www.anattaland.com

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา