21 ก.ค. 2021 เวลา 02:09 • การศึกษา
ครอบจักรวาล!!! รวมเทคนิคอ่านหนังสือยังไงให้ได้ประสิทธิภาพ เพื่อนำไปปรับใช้ในช่วงต่างๆ ของชีวิตได้อย่างเหมาะสม
มาอ่านหนังสือกัน
แน่นอนว่าจุดประสงค์ในการอ่านหนังสือของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน บ้างอ่านเพื่อความบันเทิง บ้างก็อ่านเพื่อหาคำตอบในบางสิ่ง บ้างก็เพื่อจดจำ ทบทวน หรือเพิ่มพูนความรู้ ฯลฯ
ซึ่งในการอ่านหนังสือแต่ละเล่มให้ได้ประสิทธิภาพนั้น เราจำเป็นต้องอาศัยความจำ และความเข้าใจในเนื้อหาที่อ่านเป็นอย่างมาก ยิ่งหนังสือเรียน หรือหนังสือให้ความรู้ทางวิชาการยากๆ นั้น ก็ยิ่งต้องเพิ่มความพยายามดังกล่าวมากขึ้นไปอีก
ได้โอกาสดี วันนี้จะขอพาทุกท่านไปพบกับเทคนิคที่จะช่วยให้อ่านหนังสือได้เข้าใจ จำได้เร็ว จำได้นาน และสามารถนำความรู้เหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้เสียเวลาเชิญไปพบกับเคล็ดลับที่ว่ากันได้เลยครับ
1. ขั้นตอนแรกต้องรู้ให้ได้ก่อนว่า คุณอ่านหนังสือได้ดีที่สุดในช่วงใด?
เพราะทุกคนนั้นแตกต่าง ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรถ้าเวลาที่ถนัดในการอ่านหนังสือของแต่ละคนนั้นจะไม่เหมือนกัน บางคนอาจจดจำ และเข้าใจได้ดีในตอนเช้า ในขณะที่อีกคนหนึ่งอาจเป็นเวลากลางวัน ตอนเย็น หรือว่าดึกๆ สิ่งแรกที่คุณต้องทำนั่นก็คือ หันมาดูตนเองก่อนเลยว่า อ่านเวลาไหนแล้วได้ประสิทธิภาพสูงสุด ด่วนเลยครับ รีบหาให้เจอนะ
1
2. ถามตัวเองว่า พร้อมที่จะมีสมาธิในการอ่านหนังสือเพียงอย่างเดียวหรือยัง?
การเพ่งสมาธิไปที่การทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงอย่างเดียวนั้นดีแน่นอน ดังนั้นจงโฟกัสไปที่การอ่านเพียงอย่างเดียวเท่านั้น การทำงานของร่างกายทุกส่วนจะได้ประสานกัน และเพ่งสมาธิรวมไปที่จุดๆ เดียว เพราะหากระหว่างอ่านหนังสือมีการเปิดเพลง หรือพูดคุยกับเพื่อนพร้อมกันไปด้วย จะทำให้สมองต้องแยกส่วนในการทำกิจกรรมหลายอย่างไปพร้อมๆ กัน ทำให้ประสิทธิภาพในการอ่าน และการท่องจำนั้นลดลงโดยใช่เหตุ และถ้าให้ดีการอยู่ในสถานที่ที่เงียบสงบ อากาศดี ไม่ร้อนหรือหนาวมากจนเกินไป จะทำให้ร่างกายผ่อนคลายส่งผลดีต่อการอ่านหนังสืออีกทางหนึ่งด้วยนะ
3. กำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมในการอ่านหนังสือ
หนึ่งในสิ่งที่สำคัญในการอ่านหนังสือนั่นก็คือการกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน ทั้งนี้ก็เพื่อฝึกระเบียบวินัยให้ตนเองอีกทางหนึ่งไปในตัวด้วย โดยอาจจะทำเป็นตาราง อาทิ กำหนดการอ่านหนังสือเป็น วันจันทร์ พุธ ศุกร์ เวลา 05:00-06:00 น. เป็นต้น ทั้งนี้ไม่ควรกำหนดเวลาเกิน 2 ชั่วโมง เพราะจะเป็นการใช้งานสมองที่หนักมากเกินไป โดยในการอ่านครั้งแรกอาจจะเริ่มต้นด้วยระยะเวลาสั้นๆ อย่าง 30 นาทีก่อน จากนั้นจึงค่อยๆ เพิ่มเวลาให้มากขึ้นในภายหลัง
4. อ่านคำนำ สารบัญ และบทสรุปก่อนเข้าสู่เนื้อหาภายในเล่ม
เชื่อไหมว่าการอ่านคำนำ สารบัญ และบทสรุปก่อนเข้าสู่เนื้อหาภายในเล่มนั้นมีข้อดี อยากจะบอกว่านี่ล่ะทีเด็ดเลย เพราะถือเป็นสิ่งแรกที่จะช่วยให้เราทราบเนื้อหาโดยรวมทั้งหมด ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สมองของเราจะได้รวบรวมความคิด กระตุ้นให้เกิดความจำ เพื่อนำเนื้อหามาปะติดปะต่อกันในหัวได้ง่ายมากยิ่งขึ้น รวมๆ แล้วก็เปรียบได้กับการอุ่นเครื่องให้สมองนั่นแหละ ทำให้เมื่อเริ่มต้นอ่านเนื้อหาภายในเล่มอย่างจริงจัง ก็จะสามารถทำความเข้าใจในความรู้ต่างๆ ในเล่มได้ง่ายดายมากยิ่งขึ้นนั่นเอง
5. อ่านออกเสียงเบาๆ เหมือนคุยกับตัวเองไปพร้อมๆ กัน
เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนผู้อื่น วิธีนี้ควรใช้เมื่ออยู่คนเดียวจะเป็นการเหมาะสมที่สุด การอ่านออกเสียงจะควบคู่ไปกับการทำความเข้าใจ จากนั้นจึงสรุปออกมาเป็นคำพูดของเรา ซึ่งจะช่วยทำให้เราเข้าใจเนื้อหาได้ดีมากยิ่งขึ้น เทียบแล้วก็จะคล้ายกับการกระตุ้นตัวเองให้มีสมาธิจดจ่ออยู่กับเนื้อหาในเล่มนั่นแหละครับ
6. จดทุกคำถามหรือข้อสงสัยที่เกิดขึ้นในระหว่างการอ่านหนังสือ
หนึ่งในหัวใจหลักของเทคนิคนี้ก็คือการตั้งคำถาม อย่าเพิ่งปักใจเชื่อในสิ่งที่อ่านไปซะเลยทีเดียว แต่ให้คิด และวิเคราะห์ควบคู่ไปกับการอ่านนั้นด้วย อาทิ ทำไมผู้เขียนจึงให้ความหมายอย่างนั้น? คำอธิบายนี้มีเหตุผลหรือข้อเท็จจริงอย่างไร?
ผู้เขียนต้องการสื่ออะไรในแก่นที่แท้จริงของเรื่องนี้? คำถามที่สงสัยอาจซับซ้อนหรือง่ายกว่านี้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหนังสือที่เราอ่านว่าเป็นแบบไหน ซึ่งเคล็ดลับเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้เราอ่านหนังสือได้เข้าใจ และจดจำได้ดีมากยิ่งขึ้น
7. หาความรู้เพิ่มเติมบ้างก็ได้
สืบเนื่องมาจากข้อที่แล้วเลย ถ้ามีโอกาสเราควรหาโอกาสตอบคำถามที่คาใจอยู่นะ ไม่ว่าจะเป็นการค้นคว้าในอินเตอร์เน็ต หรือหนังสือเล่มอื่นที่มีเนื้อหาคล้ายกัน ซึ่งนั่นอาจทำให้เราเข้าใจในสิ่งที่ต้องการหาความรู้เพิ่มมากกว่าเดิมนั่นเอง
8. กระตุ้นสมองด้วยการขยับตัวขณะอ่านหนังสือบ้างนะ
เมื่ออ่านหนังสือต่อเนื่องนานๆ เพื่อให้ร่างกายรู้สึกตื่นตัว เราอาจจะต้องมีการขยับร่างกายเพื่อผ่อนคลายกันบ้าง อาจจะเป็นการพลิกตัว เปลี่ยนท่านั่ง หรือขยับแขนขาก็ได้ ลองทำดูครับ
9. เชื่อไหมว่าบางครั้งเราไม่ต้องอ่านทุกคำก็ได้
เชื่อว่าหลายคนคงคิดว่า การอ่านทุกคำทุกตัวอักษรจะช่วยให้เราจดจำข้อมูลได้แม่นยำจากการเจาะลึกรายละเอียดยิบย่อยพวกนั้นใช่ไหม เปล่าเลย บางครั้งการที่สมองได้รับข้อมูลมากเกินไป อาจจะทำให้เกิดการล้าได้ จากนั้นจึงพัฒนาไปเป็นการเบื่อหน่าย จนบางครั้งถึงขั้นอ่านหนังสือไม่เข้าหัวกันเลยทีเดียว
เพราะหนังสือบางเล่มนั้น ผู้เขียนต้องการที่จะอธิบายให้กระจ่าง บางครั้งก็ทำให้ใส่น้ำเยอะไป ทั้งที่ใจความสำคัญจริงๆ แล้วอยู่ที่บทสรุปเพียงไม่กี่ย่อหน้า ทำให้การอ่านเพิ่มเติม อาจเป็นแค่การย้ำถึงประเด็นเดิม ดังนั้นเลือกอ่านในส่วนที่น่าสนใจที่สุด แล้วข้ามไปอ่านบทต่อไปก็ได้นะ
10. หัดคิดให้เป็นภาพ
สิ่งหนึ่งที่ช่วยให้เราจำได้อย่างรวดเร็ว และนานขึ้น นั่นก็คือการใช้รูปภาพเข้ามาแทนบางคำพูดในช่วงที่เราโน้ตนั่นเอง การอ่าน และการคิดเป็นภาพในใจ จะช่วยให้เราสามารถเรียกความทรงจำของข้อมูลช่วงนั้นออกมาในภายหลังได้ง่ายกว่า ดังนั้นลองผูกเรื่องเข้ากับภาพเพื่อเป็นการช่วยจำดูครับ
11. อย่าลืมใช้ปากกาไฮไลต์เพื่อเน้นใจความสำคัญล่ะ
ความจริงแล้ว การไฮไลต์ข้อความนั้นมีประโยชน์มากมายเลย ถ้าหากว่าเราใช้อย่างถูกวิธีนะ หลักการง่ายๆ ก็คือ ไม่ควรขีดเพื่อเน้นทุกอย่างภายในหนึ่งหน้า ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ขีดเน้นเลย สิ่งที่ควรทำก็คือ ไฮไลต์ไปที่หัวข้อสรุป หรือใจความสำคัญเด่นๆ เมื่อเราเปิดหนังสือเล่มนี้มาอ่านอีกครั้ง ก็จะสามารถทราบทุกอย่างที่จำเป็นต้องรู้ด้วยการมองเพียงแวบเดียว ซึ่งมันประหยัดเวลาได้มากมายเลยใช่ไหมล่ะ
12. ปิดเนื้อหา และท่องสิ่งที่เรียนรู้มาทั้งหมดให้ขึ้นใจ
การทดสอบการท่องจำแบบนี้จะทำให้เราทราบว่าสิ่งที่อ่านไปแล้ว มีการตกหล่นตรงส่วนใดไหม และระหว่างที่อ่านมีการสับสนเนื้อหาตรงส่วนใดหรือไม่ ซึ่งการปิดเนื้อหาแล้วท่องจำสิ่งที่ได้อ่านผ่านไปจะทำให้เราเห็นปัญหาเหล่านี้ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
13. เขียนสิ่งที่อ่านมาทั้งหมด สรุปมันออกมาในมุมมองของเรา
การเขียนมุมมองของเราสรุปออกมาเช่นนี้ จะช่วยให้เราเข้าใจ และจดจำเนื้อหาได้ดีมากยิ่งขึ้น ในโอกาสต่อไปถ้าต้องหาข้อมูลจากหนังสือเล่มนี้อีก ก็จะง่ายละ เพราะการทำสรุปสั้นๆ จะทำให้เราได้อ่านประเด็นหลักของหนังสือ โดยไม่ต้องไปอ่านใหม่ทั้งเล่มให้เสียเวลาเลย
14. อ่านอย่างเดียวไม่พอ บางครั้งต้องฝึกทำโจทย์ด้วย
ข้อนี้ในกรณีที่อ่านหนังสือเพื่อไปสอบในการเรียน หรือแข่งขันต่างๆ นะครับ เมื่ออ่านแล้ว ทำสรุปแล้ว อีกหนึ่งเคล็ดลับที่ไม่ควรพลาดเลยก็คือ การฝึกทำโจทย์นั่นเอง เพราะการฝึกทำโจทย์ไม่ใช่เพียงแค่ฝึกทำเพื่อให้เราได้คุ้นชินกับโจทย์อย่างเดียว แต่มันยังเป็นการเพิ่มความรู้ และเทคนิคในการแก้ไขโจทย์แต่ละข้ออีกด้วย ซึ่งถือได้ว่าเป็นการทดสอบความรู้ที่เราเพิ่งอ่านมาได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว
15. พักผ่อนบ้าง ‘ไรบ้าง
หลังจากที่เราอ่านหนังสือเสร็จแล้ว ก็อาจจะต้องมีการผ่อนคลายบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการฟังเพลง ท่องโลกอินเตอร์เน็ต หรือว่านอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะนำความรู้ที่เราได้ศึกษาผ่านไปแล้วนั้นไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพนั่นเอง
16. อภิปรายกับผู้อื่นเมื่อมีโอกาส
นี่ถือเป็นการใช้หลักการเชื่อมโยงข้อมูลที่ทำให้สมองของเราทำงานได้ง่ายขึ้น การพูดคุยกับผู้อื่นเกี่ยวกับหนังสือที่อ่านมา จะช่วยทำให้เราได้รับข้อมูลเพิ่มเติม หรือมองเห็นมุมอื่นที่เราอาจเผลอมองข้ามไป หลายคนนั้นชอบเรียนรู้โดยการฟัง และมักจะเรียนรู้ได้ดีที่สุดเมื่อได้ยินข้อมูล ดังนั้นการพูดคุยสนทนาถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นที่อยู่ในหนังสือ จะทำให้เราจำประเด็นสำคัญนั้นได้ดีเพิ่มมากยิ่งขึ้น ทำให้เราสามารถระลึกถึงข้อมูลส่วนนั้นได้เมื่อต้องการนั่นเอง
17. เข้าใจในสิ่งที่จำ และหมั่นทบทวนอยู่เสมอ
การอ่านเพื่อท่องจำนั้นถือเป็นการเก็บความรู้ ซึ่งการจะท่องจำให้ได้ผลนั้น ต้องมีความเข้าใจที่ดีประกอบด้วย เพราะการท่องจำเป็นเพียงการจดจำคำมากมายมาเรียงร้อยกันเป็นประโยค แต่การเข้าใจเนื้อหาจะช่วยให้เราสามารถจดจำได้อย่างยาวนานมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ขอให้ทุกคนหมั่นทบทวน และนำความรู้ที่ได้จากการอ่านหนังสือมาใช้ประโยชน์ในช่วงต่างๆ ของชีวิตให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดครับ
หนังสือเล่มเก่า - คิงส์ ชนาวิทย์
ทั้งนี้ยืนยันว่าบทความของผมไม่ใช่คำตอบ หรือบทสรุปที่ดีที่สุด ทุกท่านควรใช้วิจารณญาณส่วนตัวในการรับข้อมูลด้วยนะครับ
ขอบคุณทุกการตอบรับ ไม่ว่าจะเป็นการติดตาม ไลค์ คอมเมนท์ หรือว่าแชร์ ทุกกำลังใจสำคัญสำหรับผมเสมอ
ติดตามอ่านบทความได้ที่
ขอบคุณทุกคนครับ
แล้วพบกันใหม่ในโพสต์หน้า
สวัสดีครับ
ขอบคุณเจ้าของรูปภาพทุกท่าน
ขอบคุณข้อมูลจาก

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา