31 ก.ค. 2021 เวลา 03:00 • ไลฟ์สไตล์
น้อยใจในชีวิต ทำยังไงดี?
ได้ยินคนพูดบ่อยๆนะว่า มองต่ำเราเหลือ มองเหนือเราขาด เข้าใจแหละว่ามีคนอีกมากมายที่แย่กว่าเรา แต่น้อยใจอ่ะ ทำไงดี?
Photo: Inorbital
ก่อนจะไปหาคำตอบกัน ขอเกริ่นสักนิดหนึ่ง
ผู้เขียนพูดได้เต็มปากว่าตนไม่ใช่คนธรรมะธรรมโม วัดก็ไม่ค่อยจะได้เข้ากับเค้า มนต์เมินก็แทบไม่เคยสวด แต่ผู้เขียนเชื่อในหลักธรรมหนึ่งของพระพุทธเจ้าซึ่งผู้เขียนยึดเป็นแนวทางในการหาทางออกเวลาเจอปัญหาอะไรก็ตามในชีวิต นั่นก็คือ อริยสัจสี่ หรือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
สำหรับชาวพุทธที่ลืมไปแล้วว่ามันคืออะไรหว่า หรือท่านผู้อ่านที่นับถือศาสนาอื่น จะขออธิบายให้เข้าใจโดยง่ายว่า นี่เป็นกระบวนการหรือ process อย่างหนึ่งนั่นเอง
กล่าวคือ
1. ยอมรับว่ามีปัญหาเกิดขึ้น (awareness)
2. หาสาเหตุแห่งปัญหานั้น (causes)
3. กำหนดเป้าหมายเพื่อกำจัดปัญหา (goal)
4. หาวิธีการแก้ไขปัญหา (solutions)
ซึ่งเมื่อตัดความเป็นศาสนาออกไปแล้ว นับว่าเป็นกระบวนการการแก้ไขปัญหาที่เป็นเหตุเป็นผลอย่างยิ่ง
จากปัญหาข้างต้น ที่เราน้อยใจในชีวิต จะเห็นว่าเป็นปัญหาที่เป็นนามธรรมอย่างมาก เอาล่ะ เราลองมาทดลองแก้ไขความน้อยอกน้อยใจนั้นโดยใช้หลักอริยสัจสี่กัน
1. ยอมรับว่ามีปัญหาเกิดขึ้น หรือการมี awareness
ทำไมการยอมรับว่ามีปัญหาเกิดขึ้นถึงสำคัญ บางทีเรายังไม่รู้ด้วยซ้ำ ว่านี่คือปัญหาแล้ว "น้อยใจในชีวิต" เราต้องพิจารณาว่าการที่เราน้อยใจในชีวิตเนี่ยมันมีผลกระทบกับชีวิตเรามั้ย เช่น มันทำให้เราไม่มีกำลังใจในการทำงาน หดหู่ ไม่อยากขวนขวายหาความรู้ หรือพัฒนาทักษะเพิ่มเติม เราจึงยังย่ำอยู่กับที่ รายได้ไม่เพิ่ม เคยอ้วนยังไงก็ยังอ้วนยังงั้น สุขภาพจึงย่ำแย่ เป็นต้น ดังนั้นจากแค่ความ"น้อยใจในชีวิต" ที่เป็นนามธรรม เมื่อเราเริ่มมองเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นว่ามันมีผลกระทบอะไรบ้าง เราจะได้พิจารณายอมรับว่าปัญหาได้เกิดขึ้นแล้ว
2. หาสาเหตุแห่งปัญหานั้น หรือการทำ root cause analysis นั่นเอง
ให้เรารวบรวมว่าสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกน้อยใจในชีวิตนั้น มีอะไรบ้าง เช่น เรื่องงานที่ไม่เหมาะสมกับค่าตอบแทน หนี้สิน เห็นคนอื่นมีชีวิตดีกว่าแล้วนอยด์ อ้วน หน้าตาไม่ดี ฯลฯ เขียนออกมาให้หมดแล้วจัดหมวดหมู่เป็น (1)สาเหตุที่เราควบคุมได้ เช่น เรื่องงาน หนี้สิน อ้วน หน้าตาไม่ดี (ที่เอาเรื่องหน้าตามาไว้ในหมวดหมู่สาเหตุที่เราควบคุมได้เพราะ คนที่เขาเปลี่ยนแปลงตัวเองจนดูดีขึ้นได้มีตัวอย่างให้เห็นเพียบเลย) กับ (2)สาเหตุที่เราควบคุมไม่ได้ เช่น เห็นคนอื่นมีชีวิตที่ดีกว่าแล้วเรานอยด์ไปเอง ทบทวนที่เขียนไว้อีกครั้งก่อนจะเข้าสู่กระบวนการต่อไป
3. กำหนดเป้าหมายที่ต้องการ คือการหา goal ของสิ่งที่เรากำลังจะทำ ว่าเราต้องการอะไรจากการแก้ปัญหานั้น
เราควรกำหนดเป้าหมายที่วัดผลได้ และกำหนดเวลาที่ชัดเจนว่าต้องการบรรลุผลภายในเวลาเท่าไหร่ โดยเลือกเอาเฉพาะ"สาเหตุที่เราควบคุมได้"ที่เราเขียนไว้ข้างต้น มาจัดลำดับว่าสิ่งไหนที่ถ้าเราหยิบมาแก้ไขแล้วจะมีผลกระทบในทางบวกกับชีวิตเราที่สุดเป็นอันดับแรก สมมติว่าเราเลือกเรื่องหนี้สินก่อน เพราะเราคิดแล้วว่าถ้าหนี้สินหมดไปเราจะมีรายได้และเวลาเหลือไปแก้ไขปัญหาอย่างอื่นได้อีก
สมมติว่าหนี้ก้อนนี้เป็นหนี้บัตรเครดิตจำนวน 50,000 บาท ให้เรากำหนดระยะเวลาว่าเราจะปิดหนี้ให้ได้ภายในกี่เดือน ซึ่งระยะเวลานั้นต้องมีความเป็นไปได้ เช่น เราจะปิดหนี้บัตรเครดิตยอดรวม 50,000 บาท ภายในเวลา 6 เดือน แต่ถ้ารู้สึกว่าเป้าหมายสูงเกินไป ดูเหนื่อยเกิน เราอาจจะแบ่งซอยย่อยเป็นเป้าหมายเล็กๆก็ได้ เช่น ปิดยอดแรก 10,000 บาทภายในเดือนแรก ปิดยอดที่สอง 15,000 บาทภายในเดือนถัดไป อย่างนี้เป็นต้น
Tips:
หลักการกำหนดเป้าหมาย
(1) เลือกเป้าหมายเพียงอย่างเดียว ทำให้สำเร็จเป็นอย่างๆไป โดยเรียงตามลำดับความสำคัญ
(2) เป้าหมายต้องมีความชัดเจน วัดผลได้ เช่น ไม่ควรกำหนดแค่ว่า ฉันอยากรวย (ไม่ชัดเจน วัดผลไม่ได้) เปลี่ยนเป็น ฉันจะเก็บเงินเพิ่ม 100,000 บาท (ชัดเจน วัดผลได้)
(3) กำหนดระยะเวลาในการบรรลุเป้าหมายให้ชัดเจน และมีความเป็นไปได้ เช่น ลดน้ำหนัก 8 กก.ภายใน 1 ปี (เป็นไปได้) ไม่ใช่ว่าจะลดน้ำหนัก 15 กก.ใน 2 สัปดาห์ (เป็นไปได้ยากมากและทำลายสุขภาพ)
(4) สามารถซอยเป็นเป้าหมายย่อยๆได้
เมื่อกำหนดเป้าหมายแล้ว เราจะเข้าสู่กระบวนการขั้นต่อไป คือ
4. หาวิธีการแก้ปัญหา หรือ การหา solutions
โดยมองหาว่าจากเป้าหมายที่เรากำหนดไว้ ภายใน 6 เดือน เราจะหาเงินจำนวน 50,000 บาท มาปิดยอดบัตรเครดิตได้ยังไง เช่น ลองตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง หรือเราอาจจะมีของมือสองที่เราไม่ค่อยได้ใช้แล้วสามารถนำมาขายต่อได้ หรือเรามีความสามารถด้านอื่น เช่นล้างแอร์เป็น แต่งหน้าเก่ง ก็ลองรับงานพิเศษเพิ่ม หรือเราทำขนมอร่อย ก็ลองทำขายออนไลน์ ซึ่งเดี๋ยวนี้ไม่ต้องมีหน้าร้านก็ได้ เป็นต้น คือลองคิดหาวิธีที่น่าจะเป็นไปได้เพื่อมาแก้ไขปัญหานั่นเอง
เมื่อได้แนวทางในการแก้ไขปัญหามาแล้ว ถ้ามีมากกว่าหนึ่งทาง ให้จัดลำดับแล้วลงมือทำทีละอย่าง เช่นเริ่มจากการลดค่าใช้จ่ายก่อน จากนั้นสำรวจข้าวของที่มีอยู่ในบ้านที่จะนำมาขายมือสอง เอาออกมาเช็ดทำความสะอาด ถ่ายรูป จะลองโพสต์ขายในเฟซบุ๊คตัวเองก่อนหรือจะสมัครแอปเพื่อขายก็ดำเนินการไป เสร็จแล้วมาเริ่มโพสต์หางานรับจ้างล้างแอร์ โดยอาจจะเริ่มจากโพสต์ในกลุ่มไลน์ก่อน เป็นต้น
หัวใจสำคัญคือเมื่อวางแผนแล้ว "ต้องลงมือทำ" และเมื่อทำแล้วควรติดตามผลเป็นระยะว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันได้ผลมั้ย ถ้าดูแล้วน่าจะมาผิดทางให้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ทันที อย่าทิ้งไว้นาน เช่น โพสต์หางานรับจ้างล้างแอร์แล้วเงียบ ก็ลองหาที่โพสต์อื่นดูบ้าง หรือจะติดต่อลูกค้าโดยตรงไปเลย เช่นคนที่อยู่ในคอนโดเดียวกัน
อย่าเพิ่งท้อ จนกว่าจะบรรลุผล
ถ้าเราแก้ไขปัญหาจบไปอย่างนึงแล้ว ลองดึงปัญหาอันดับต่อๆมา มาแก้ไขเพิ่มโดยใช้กระบวนการเดียวกัน ดังนี้เราก็จะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆในชีวิต อันเป็นสาเหตุของอาการน้อยอกน้อยในชีวิตของเราไปได้ทีละเปลาะๆ จนทำให้เราพัฒนาขึ้นเรื่อยๆและมีความมั่นใจในตนเองมากขึ้นในที่สุด
วิธีการนี้สามารถปรับใช้กับการทำงานหรือการใช้ชีวิตทั่วไปได้เช่นกัน ต้องขอขอบคุณบุคคลผู้คิดค้นวิธีการนี้ขึ้นมาให้ผู้เขียนได้เรียนรู้ คือพระพุทธเจ้า ซึ่งอาจจะไปตรงกับแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์หรือนักวิชาการท่านใดอันนี้ผู้เขียนก็ไม่มีความรู้เฉพาะทางด้านนั้นโดยตรงเหมือนกัน
แต่เดี๋ยวก่อน เราลืมอะไรไปรึเปล่า ตอนเราแยกหาสาเหตุที่ควบคุมได้กับสาเหตุที่ควบคุมไม่ได้ไว้ แล้วสาเหตุที่ควบคุมไม่ได้ เราจะทำยังไงกับมันล่ะ?
คำตอบก็มาจากคำสอนของพระพุทธเจ้าเช่นกัน นั่นก็คือ
จง.ปล่อย.วาง
จริงๆเรื่องเวลาเราเห็นคนอื่นมีชีวิตที่ดีกว่า แล้วเกิดความน้อยใจตัวเองขึ้นมานี่ อาจมองได้ว่าเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์อย่างหนึ่งที่ต้องมีการแข่งขันเพื่อความอยู่รอดในกรณีนี้เมื่อเกิดการเปรียบเทียบแล้วเข้าใจไปว่าสู้เขาไม่ได้เลยรู้สึกท้อแท้ขึ้นมา แต่ถ้าจะอธิบายเพิ่มเติมเกรงว่าบทความนี้จะยาวไป เลยขอเอาไว้เขียนถึงในโอกาสหน้าดีกว่า
แต่ผู้เขียนเคยเขียนบทความที่อธิบายแนวคิดของการหลีกเลี่ยงการเป็นที่โหล่เอาไว้ ขอให้ท่านลองเข้าไปอ่านดูอาจจะพอเห็นภาพคร่าวๆ หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์ได้บ้าง
บทความ: โอ๊ยยยย หมั่นไส้อ้ะ
โฆษณา