6 ส.ค. 2021 เวลา 07:26 • ประวัติศาสตร์
🧶ฤทธีราชินีผู้หึงโหด:
เอเลเนอร์แห่งอะควิเทนกับโรซามุนด์ผู้งดงาม
ในตอนนี้ จะมาเล่าตำนานเกี่ยวกับผีที่ออกซ์ฟอร์ดควบกับเรื่องชิงรักหักสวาทที่เกิดขึ้นในราชวงศ์อังกฤษ คือระหว่างราชินีเอเลเนอร์แห่งอะควิเทนผู้หึงโหดกับโรซามุนด์ผู้งดงาม ซึ่งฝ่ายแรกกลายเป็นตำนานสตรีที่ทรงอำนาจมากที่สุดผู้หนึ่งในยุคกลาง ส่วนฝ่ายหลังก็กลายเป็นตำนานเหมือนกัน แต่กลายเป็นตำนานผีเฝ้าออกซ์ฟอร์ดและมาหลอกหลอนผู้คนจนถึงทุกวันนี้
ภาพวาดชื่อว่า “Queen Eleanor & Fair Rosamund” วาดโดยจิตรกรชาวอังกฤษชื่อว่า Evelyn de Morgan เมื่อประมาณปี 1880-1919 ซึ่งสะท้อนตำนานที่ราชินีเอเลเนอร์ได้ตามรอยจนไปพบโรซามุนด์แล้ววางยาพิษนางจนถึงแก่ความตาย (Image: Wikipedia)
🧶ข้อมูลในประวัติศาสตร์
เอเลเนอร์แห่งอะควิเทน (Eleanor of Aquitaine) คือมเหสีของพระเจ้าเฮนรีที่ 2 แห่งอังกฤษ (Henry II of England) กษัตริย์พระองค์แรกแห่งราชวงศ์แพลนทาเจเน็ต (House of Plantagenet) ซึ่งในบรรดาผลผลิตของทั้งคู่คือกษัตริย์ที่มีชื่อเสียงและชื่อเสียที่ถูกจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ คือ พระเจ้าริชาร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษผู้ได้รับสมญานามว่า “พระเจ้าริชาร์ดใจสิงห์” กับพระเจ้าจอห์นที่ 2 แห่งอังกฤษผู้ถูกเหล่าขุนนางก่อการกบฏจนได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับแรกของอังกฤษที่เรียกว่า “แมกนา คาร์ตา” (Magna Carta)
เอเลเนอร์แห่งอะควิเทนคือดัชเชสผู้ครอบครองแคว้นอะควิเทนที่มั่งคั่งและกว้างใหญ่ไพศาล พระนางเคยสมรสกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 7 แห่งฝรั่งเศส ซึ่งเป็นการแต่งงานทางการเมืองเพื่อผนึกดินแดนฝรั่งเศสให้เป็นปึกแผ่น แม้จะเป็นญาติกันแต่พระสันตะปาปาก็ทรงยกเว้นให้แต่งงานกันได้ แต่หลังจากที่ใช้ชีวิตร่วมกันมานาน 15 ปีและผลิตทายาทเป็นเจ้าหญิงเพียงแค่ 2 องค์ ทั้งคู่ต่างหาทางให้การสมรสนี้เป็นโมฆะด้วยเหตุผลว่ามีความสัมพันธ์ทางสายเลือด ซึ่งย้อนแย้งสิ้นดีแต่ก็เป็นเรื่องปกติของการเมืองระดับราชวงศ์ของยุโรปในเวลานั้น
หลังจากประสบความสำเร็จในการทำให้ชีวิตสมรสครั้งแรกเป็นโมฆะได้ไม่ทันเต็ม 2 เดือนดี เอเลเนอร์แห่งอะควิเทนก็มาแต่งงานใหม่ทันทีกับเฮนรี ดยุกแห่งนอร์มังดี (Henry, Duke of Normandy) ซึ่งก็เป็นญาติกัน (อีกแล้ว) เมื่อปี 1152 ทั้งคู่มีอายุห่างกันเป็นสิบปี ในตอนนั้นเอเลเนอร์อายุได้ 30 ปีแล้ว ส่วนเฮนรีเพิ่งมีอายุได้ 19 ปี อายุไม่ใช่ปัญหา เพราะเอเลเนอร์นั้น “ฮ็อต” จนเป็นที่ต้องการในตลาดหาคู่มาก มีใครบ้างที่จะไม่ต้องการสมรสกับสตรีผู้มาพร้อมกับทรัพย์สินและดินแดนอันไพศาลมาเป็นสินสมรสให้
1
แล้วพอ 2 ปีต่อมาเฮนรี ดยุกแห่งนอร์มังดี ก็ได้สวมมงกุฎเป็นกษัตริย์อังกฤษกลายเป็นพระเจ้าเฮนรีที่ 2 ในฐานะผู้สืบสิทธิ์จากพระมารดาของพระองค์คือมาทิลดา ซึ่งเป็นพระธิดาของกษัตริย์เฮนรีที่ 1 ของอังกฤษ (เฮนรีที่ 1 เป็นพระโอรสองค์ที่ 4 ของกษัตริย์วิลเลียมผู้พิชิต กษัตริย์พระองค์แรกแห่งราชวงศ์นอร์มัน)
พระเจ้าเฮนรีที่ 2 กับราชินีเอเลเนอร์มีพระโอรส 5 องค์ พระธิดา 3 องค์ แต่ชีวิตสมรสนี้ไม่ได้มีความราบรื่น ทั้งคู่ทะเลาะเบาะแว้งกันเสมอ เพราะพระเจ้าเฮนรีที่ 2 มีนางเล็กนางน้อยให้เป็นหนามหัวใจแก่ราชินีเอเลเนอร์เป็นจำนวนมาก แถมยังมีลูกนอกสมรสอีกด้วย และพระนางจะไม่ทน ซึ่งสาเหตุที่พระเจ้าเฮนรีที่ 2 ทรงนอกกายนอกใจก็เป็นสาเหตุที่ทำให้พระนางวางแผนโค่นบัลลังก์พระเจ้าเฮนรีที่ 2 แล้วชูพระโอรสขึ้นเป็นกษัตริย์แทน จนกษัตริย์เฮนรีที่ 2 ทรงจับพระนางไปกักตัวไว้ในปราสาทนานนับสิบกว่าปี
การอภิเษกระหว่างหลุยส์ที่ 7 แห่งฝรั่งเศสกับเอเลเนอร์แห่งอะควิเทน (Image: Britannica)
ภาพวาดของกษัตริย์เฮนรีที่ 2 ที่อยู่ด้านซ้ายมือ ตรงกลางล่างคือพระโอรสองค์โตชื่อว่าเฮนรีที่สิ้นพระชนม์ไปก่อน ส่วนขวามือเป็นพระโอรสอีกองค์ คือพระเจ้าริชาร์ดที่ 1 หรือพระเจ้าริชาร์ดใจสิงห์ (Image: World History Encyclopedia)
🧶สนมของกษัตริย์เฮนรีที่ 2
1
กุหลาบดอกงามของกษัตริย์เฮนรีที่ 2 ที่มีหนามคอยทิ่มแทงหัวใจของราชินีเอเลเนอร์มากที่สุด คือ โรซามุนด์ คลิฟฟอร์ด (Rosamund Clifford) ผู้มีความงามเป็นที่ลือเลื่องจนได้รับคำเรียกว่า “โรซามุนด์ผู้งดงาม” หรือ “กุหลาบงามแห่งอังกฤษ” เนื่องจากชื่อของนางแปลว่าดอกกุหลาบ
โรซามุนด์เกิดในตระกูลขุนนาง เมื่อเติบใหญ่ขึ้นได้มาพำนักอยู่ที่สำนักแม่ชีชื่อว่า Godstow Nunnery ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับออกซ์ฟอร์ด เพื่อมาเล่าเรียนเขียนอ่านโดยมีเหล่าแม่ชีเป็นผู้ให้การศึกษา และ ณ ที่แห่งนี้เองที่กษัตริย์เฮนรีที่ 2 ได้สร้างความสัมพันธ์กับนาง ซึ่งในเวลานั้นราชินีเอเลเนอร์กำลังตั้งท้องพระโอรสคือว่าที่กษัตริย์จอห์นอยู่นั่นเอง และกษัตริย์เฮนรีที่ 2 ให้โรซามุนด์เป็นสนมอย่างออกหน้าออกตา แต่พระองค์ไม่มีลูกนอกสมรสกับนาง
1
ในมณฑลออกซ์ฟอร์ดไชร์ มีพระราชวัง Woodstock ที่ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยกษัตริย์เฮนรีที่ 1 พระราชวังแห่งนี้จึงกลายเป็นสถานที่ที่กษัตริย์เฮนรีที่ 2 ผู้เป็นหลานใช้เป็นรังรักกับโรซามุนด์สนมของพระองค์ และในสถานที่แห่งนี้มีห้องที่ถูกเรียกว่า Rosamund’s Chamber ใช้เป็นห้องที่นางพำนักอยู่ และทั้งคู่ชอบนัดแนะเจอกันในสวนอีกด้วย แต่ปัจจุบันพระราชวังแห่งนี้ไม่เหลือซากใด ๆ เนื่องจากถูกทำลายลงในช่วงสงครามกลางเมืองของอังกฤษ ส่วนอิฐที่เหลือก็ถูกนำไปสร้างปราสาทอื่นที่อยู่ใกล้เคียง
1
โรซามุนด์สิ้นชีพด้วยวัยไม่ถึง 30 ปี ราวปี 1176 ซึ่งอยู่ในช่วงที่นางยังมีความสัมพันธ์กับกษัตริย์เฮนรีที่ 2 (บ้างก็ว่านางป่วยเลยถอนตัวออกมา บ้างก็ว่ากษัตริย์เฮนรีที่ 2 ผู้เป็นเสือผู้หญิงเบื่อนางแล้วจึงไม่มีสัมพันธ์ด้วยอีก จากนั้นนางก็ตาย) แต่ข้อมูลไม่ปรากฏคำอธิบายว่านางตายด้วยสาเหตุอะไร ส่วนศพของนางถูกนำไปฝังที่โบสถ์ Godstow Abbey ซึ่งกษัตริย์เฮนรีที่ 2 โปรดอารามแห่งนี้มากเพราะสนมโปรดของพระองค์ถูกฝังไว้ที่นี่ โดยพระองค์ทรงอุปถัมภ์อารามแห่งนี้
2
แต่อีก 15 ปีต่อมาบิช็อปฮิวจ์แห่งลินคอล์น (Bishop Hugh of Lincoln) สั่งให้เหล่าแม่ชีย้ายหลุมศพของนางออกไปจากโบสถ์เพื่อเอาไปฝังไว้ข้างนอก เหตุผลคือเป็นการไม่เหมาะสมที่จะให้ “หญิงโสเภณี” ผู้เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีคนนี้ได้รับเกียรติให้ฝังไว้ที่นี่
ภาพวาดโบราณของพระราชวัง Woodstock (Image: Wikipedia)
รูปจำลองพระนางเอเลเนอร์กับพระเจ้าเฮนรีที่ 2 ที่ Fontevraud Abbey ในเมืองอองชู ประเทศฝรั่งเศส (Image: English Heritage)
🧶ตำนานเล่าไว้ว่า…
ตำนานเล่าขานว่า กษัตริย์เฮนรีที่ 2 ทรงรับโรซามุนด์ผู้งามงดเป็นสนมหรือเรียกกันง่าย ๆ ว่าเป็นเมียน้อยและทรงมีรักที่แท้จริงกับนาง เพื่อปกปิดเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ ให้เป็นความลับจากมเหสีผู้หึงหวงอย่างราชินีเอเลเนอร์ พระองค์ได้สั่งการให้สร้างห้องไว้ในสวนลับให้แก่โรซามุนด์ขึ้นโดยเฉพาะในพระราชวัง Woodstock ที่ตั้งอยู่ในมณฑลออกซ์ฟอร์ดไชร์ ซึ่งสวนนี้มีทางเข้าทางเดียวที่ต้องผ่านเขาวงกตเพื่อป้องกันภยันตรายที่จะเข้ามาถึงตัวนางได้
ตำนานเล่าว่าเวลากษัตริย์เฮนรีที่ 2 จะเข้าออกตรงทางวงกตนี้จะมีเส้นไหมคอยช่วยนำทางให้ และจะกระตุกเส้นไหมเพื่อเตือนให้โรซามุนด์รู้ตัว โดยมีอัศวินผู้หาญกล้าคอยเฝ้าเส้นไหมนำทางนี้ไว้ แต่ราชินีเอเลเนอร์ก็ค้นพบความลับเข้าสวนแห่งนี้จนได้ อัศวินเฝ้าเส้นไหมถูกฆ่า และพระนางเอเลเนอร์พาตัวเองไปตามเส้นไหมนำทางจนได้โอกาสสังหารโรซามุนด์จนถึงแก่ความตาย
ตำนานการสิ้นชีพของโรซามุนด์เล่าขานต่างกันออกไป เวอร์ชั่นแรกสุดเกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 14 เล่าว่านางถูกพระนางเอเลเนอร์แทงจนตาย บางเวอร์ชั่นในช่วงทศวรรษ 1500 ก็โหดยิ่งกว่านี้โดยระบุว่าพระนางเอเลเนอร์ตามไปแทงโรซามุนด์ จากนั้นก็เผานาง แล้วก็ปล่อยให้ตายในอ่างอาบน้ำร้อนจัด แต่พอล่วงมาเป็นตำนานในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการเล่าขานว่าพระนางเอเลเนอร์บังคับให้โรซามุนด์เลือกว่าจะถูกแทงตายหรือจะกินยาพิษตาย ซึ่งโรซามุนด์เลือกอย่างหลัง
1
แม้กระทั่งในยุควิกตอเรียที่เคร่งครัดในศีลธรรม (ในทางหลักการ แต่ในทางปฏิบัติเป็นอีกเรื่อง) ยังสร้างตำนานให้โรซามุนด์ผู้ลักลอบได้เสียกับกษัตริย์เฮนรีที่ 2 ผู้มีมเหสีอยู่แล้วให้เป็นเหยื่อผู้น่าสงสาร ส่วนพระนางเอเลเนอร์มเหสีผู้ถูกต้องกลายเป็นคนผิดไปที่เป็นนางมารร้ายไปตามฆ่าสนมผู้นี้
ตำนานเรื่องนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กวีและจิตรกรในยุคหลังโดยเฉพาะช่วงศตวรรษที่ 19 สร้างสรรค์ผลงานถ่ายทอดเรื่องเล่าตามตำนานนี้ออกมาเป็นจำนวนมาก ทั้งบทกวีและภาพวาด ส่วนเหตุผลที่ตำนานที่ประดิษฐ์ขึ้นในยุคนี้ระบุว่า ยาพิษ คือเครื่องมือที่ใช้สังหารโรซามุนด์นั่นก็เป็นเพราะว่าในยุคนั้นนักฆ่าที่เป็นสตรีนิยมใช้ยาพิษฆ่าคนกันอย่างแพร่หลายนั่นเอง โดยหนึ่งในสามของคดีอาชญากรรมในยุควิกตอเรียของอังกฤษนั้นพัวพันกับการใช้สารหนูเป็นยาพิษ
1
ด้วยเหตุนี้ ในตำนานเมียหลวงจึงกลายเป็นนางมารร้าย ส่วนเมียน้อยกลายเป็นสาวผู้บริสุทธิ์ใสซื่อ ซึ่งตามข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ราชินีเอเลเนอร์ไม่สามารถมาฆ่าโรซามุนด์ได้เพราะพระนางถูกกักขังไว้ตามคำสั่งของพระเจ้าเฮนรีที่ 2 ฐานที่สนับสนุนพระโอรสให้เป็นกบฏเพื่อแย่งชิงบัลบังก์จากพระองค์
1
ภาพวาดชื่อว่า Fair Rosamund วาดเมื่อปี 1854 โดยจิตรกรที่ชื่อว่า Arthur Hughes ซึ่งถ่ายทอดตำนานเมื่อพระนางเอเลเนอร์ที่ยืนอยู่ตรงประตูไกล ๆ นั้นได้ตามมาสังหารโรซามุนด์ถึงในสวนลับ (Image: NGV Victorian Government)
🧶ผีโรซามุนด์แห่งออกซ์ฟอร์ด
เรื่องของโรซามุนด์ผู้งดงามยังไม่จบเท่านี้ ต่อมาชื่อของโรซามุนด์กลายเป็นตำนานในเรื่องเป็นวิญญาณที่ยังหลอกหลอนผู้คนอยู่ที่ออกซ์ฟอร์ด
The Trout เป็นผับเก่าแก่แห่งหนึ่งในออกซ์ฟอร์ด หากข้ามแม่น้ำไปตรงข้ามกับผับแห่งนี้คือซากสำนักแม่ชี Godstow Nunnery ที่โรซามุนด์เคยมาพำนักอยู่ และจากตำนานการสังหารโหดโรซามุนด์ จึงนำมาซึ่งเรื่องคนเห็นผีที่เชื่อกันว่าผีที่เห็นเป็นวิญญาณของโรซามุนด์ที่แค้นเคือง แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่าผีโรซามุนด์น่าจะเป็นเรื่องที่สร้างขึ้นเพื่อผูกกับตำนานจะได้ดึงดูดนักท่องเที่ยวมากกว่า
เรื่องผีที่ผับแห่งนี้มีอยู่ว่าจะมีคนเห็นวิญญาณโรซามุนด์เป็นเงารูปร่างเหมือนคนท่องไปในยามวิกาล แถมยังทิ้งรอยเท้าไว้ และทำแก้วหล่นแตกทั้ง ๆ ที่ข้างในปิดสนิทและไม่มีลม ในบริเวณที่เป็นซากอาคารของ Godstow Nunnery เองก็มีเรื่องเล่าว่าผีโรซามุนด์ยังคงมาปรากฏกายให้เห็นอยู่เป็นประจำโดยเป็นวิญญาณล่องลอยไปมาตามซากอิฐซากอาคาร เพราะในบางเวอร์ชั่นเล่าว่าพอความสัมพันธ์ระหว่างเฮนรีที่ 2 กับโรซามุนด์เปิดเผยนางจึงหนีมาบวชชีที่นี่
1
ตรงที่เป็นที่ตั้งของผับ The Trout เล่ากันว่าน่าจะเป็นจุดหนึ่งที่เฮนรีที่ 2 กับโรซามุนด์นัดแนะเพื่อลอบมาเจอกัน ดังนั้นผีโรซามุนด์จึงมาปรากฏตัว บางเวอร์ชั่นบอกว่าโรซามุนด์บวชเข้าสำนักนางชีแล้วแต่กลับผิดคำสัตย์สาบานต่อพระผู้เป็นเจ้าลอบมีความสัมพันธ์กับกษัตริย์เฮนรีที่ 2 จึงถูกลงโทษให้กลายเป็นวิญญาณหลอนไม่ได้ไปสวรรค์ ผีของโรซามุนด์ที่คนเห็นในผับจะเห็นเป็นรูปร่างแค่เพียงถึงเข่า แล้วส่วนล่างหายไป เป็นเพราะว่าพื้นดินยกระดับสูงขึ้นกว่าเดิมจากในช่วงที่โรซามุนด์ยังมีชีวิตอยู่
ผีโรซามุนด์นั้นยังมาหลอกหลอนคนด้วยการคว่ำเฟอร์นิเจอร์ บางทีก็มากระซิบข้างหูพนักงานในร้านหรือแม้กระทั่งคนที่มาทานข้าว นอกจากภาพและเสียงแล้ว โรซามุนด์ยังมาในรูปของกลิ่นด้วย โดยในตอนที่ผีโรซามุนด์มาปรากฏกายนั้นจะมีคนได้กลิ่นหอมของดอกไม้ประจำ สันนิษฐานว่าเหตุเพราะตอนที่นางสิ้นชีวิตมีการนำกิ่งดอกไม้เป็นจำนวนมากฝังไว้กับร่างของนางด้วย
ที่ตั้งผับซึ่งเชื่อว่าเคยเป็นจุดที่เฮนรีที่ 2 กับโรซามุนด์ลอบมาพบกัน เมื่อตายไปวิญญาณของนางจึงมาปรากฏตัวที่นี่ (Image: Dark Oxfordshire)
ซากโบสถ์ Godstow Nunnery ที่โรซามุนด์เคยพำนักอยู่ (Image: Dark Oxfordshire)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา