9 ส.ค. 2021 เวลา 05:30 • สุขภาพ
ไบโพลาร์: โรคอารมณ์สองขั้ว ไม่น่ากลัวแค่ต้องเข้าใจ
โรคไบโพลาร์ หรือ Bipolar Disorder เป็นโรคที่ผู้ป่วยมีความผิดปกติของอารมณ์เด่นชัด โดยมีอารมณ์เศร้ามากผิดปกติ ร้องไห้ อ่อนเพลีย อยากตาย หรืออาจมีอารมณ์ดีมากผิดปกติ ครึกครื้น พูดมาก ผู้ป่วยอาจมีอาการเพียงด้านเดียว กรณีอารมณ์ครื้นเครง หรือมีอาการสองด้านก็ได้
สาเหตุ โรคไบโพลาร์
ปัจจัยทางชีวภาพ
อาการของโรคไบโพลาร์จะเกิดขึ้นเมื่อมีสารสื่อประสาทนอร์อะดรีนาลีน เซโรโทนิน และโดปามีน ในระดับที่ไม่สมดุลกัน ซึ่งจะทำให้มีอารมณ์ดี อยู่ในภาวะร่าเริงผิดปกติ และจะมีภาวะซึมเศร้า เบื่อหน่าย สลับกันไป โดยสารสื่อประสาทในสมองที่ส่งผลต่อการเกิดโรคนี้ มีลักษณะดังนี้
สารนอร์อะดรีนาลีน (Noradrenaline) ซึ่งเป็นสารที่กระตุ้นการทำงานของระบบประสาท ซึ่งเกี่ยวข้องกับอารมณ์และการตอบสนองต่อความเครียด ความกลัว หรือความตื่นเต้นที่เกิดขึ้น รวมทั้งระบบความจำ การรับรู้ และการรู้สึกตัว
สารเซโรโทนิน (Serotonin) ที่ควบคุมการรับรู้ความรู้สึกและการทำงานของสมองสั่งการ เช่น ความรู้สึกอยากอาหาร ความจำระยะสั้น การนอนหลับ เป็นต้น
สารโดปามีน (Dopamine) เป็นสารที่ควบคุมอารมณ์ความรู้สึก เมื่อมีการหลั่งสาร จะกระตุ้นการตอบสนองต่อสิ่งเร้า ทำให้ตื่นตัว กระฉับกระเฉง และว่องไว
ปัจจัยทางกรรมพันธุ์
ผู้ป่วยไบโพลาร์มักมีญาติที่ป่วยเป็นโรคนี้หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางอารมณ์ โดยเฉพาะญาติที่มีความใกล้ชิดเชื่อมโยงกันทางสายเลือดอย่างพ่อแม่ พี่หรือน้อง แม้จะยังไม่มีงานวิจัยสนับสนุนที่แน่ชัด แต่ก็ยังคงมีการศึกษายีนส์ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคนี้อยู่อย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยอื่น ๆ
ผู้ป่วยอาจได้รับแรงกระตุ้นจากปัจจัยภายนอกที่กระทบกระเทือนต่อสภาพจิตใจ เช่น ความผิดหวัง ความเสียใจอย่างรุนแรงหรือฉับพลัน การเจ็บป่วยทางร่างกาย ปัญหาความสัมพันธ์กับบุคคลใกล้ชิด ความเครียดจากการเรียนและการทำงาน เป็นต้น
อาการ โรคไบโพลาร์
อย่างที่บอกไปแล้วว่าผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้จะมีอารมณ์แปรปรวนแบบสองขั้วสลับกันไปมาในระยะหนึ่ง ซึ่งสามารถแบ่งอาการออกเป็น 2 ช่วงอารมณ์ ดังนี้
ช่วงอารมณ์ดีผิดปกติ ผู้ป่วยจะมีอาการกระตือรือร้น หรือรู้สึกตื่นตัวตลอดเวลา มั่นใจในตัวเองสูงมาก มีพลังมากจนนอนน้อยลง คิดเร็ว พูดเร็วและพูดมากกว่าปกติ อารมณ์รุนแรง หงุดหงิดง่าย และไม่สามารถควบคุมอารมณ์ทางเพศได้
ช่วงซึมเศร้า ผู้ป่วยจะรู้สึกหมดพลังในการใช้ชีวิต มองโลกในแง่ร้าย เบื่ออาหาร เหนื่อยหน่าย ท้อแท้ ไม่มีสมาธิ มีปัญหาด้านความทรงจำ มีปัญหาด้านการกิน และการนอนหลับ
อ่านเพิ่มแบบละเอียด
การรักษา โรคไบโพลาร์
เนื่องจากโรคนี้เกิดจากการเสียสมดุลของสารสื่อนำประสาท ดังนั้น ยา จึงเป็นปัจจัยหลักของการรักษาที่ช่วยปรับระดับสารสื่อนำประสาทให้เข้าสู่สมดุล ปัจจุบันมียาอยู่หลายชนิดที่มีประสิทธิภาพในการรักษา ยากลุ่มนี้ไม่ใช่ยากล่อมประสาทหรือยานอนหลับ ไม่ทำให้ติดยาเมื่อใช้ในระยะยาว แต่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 – 4 สัปดาห์ จึงเห็นผล
ยาที่ใช้รักษาโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว ได้แก่ ยาในกลุ่มยาควบคุมอารมณ์ ยาต้านโรคจิต และยาต้านซึมเศร้า ซึ่งการใช้ยาเหล่านี้ขึ้นกับการพิจารณาของแพทย์ที่รักษาผู้ป่วย
ยาควบคุมอารมณ์
ยากลุ่มนี้เป็นยาหลักที่ใช้ทั้งรักษาในขณะที่ผู้ป่วยมีอาการซึมเศร้าและเมื่อมีอาการอารมณ์ดีผิดปกติ และยังใช้ป้องกันการกลับเป็นซ้ำได้ด้วย ยากลุ่มควบคุมอารมณ์นี้ออกฤทธิ์ช้า เมื่อปรับยาครั้งหนึ่งต้องรออย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ ยาจึงเริ่มออกฤทธิ์ ผู้ป่วยที่ใช้ยาในกลุ่มนี้มักต้องถูกเจาะเลือดดูระดับยาในร่างกายเพื่อช่วยในการปรับยาด้วย และยาในกลุ่มนี้มักเป็นยาต้องห้ามในผู้ที่กำลังตั้งครรภ์โดยเฉพาะใน 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เพราะอาจทำให้เด็กในท้องพิการได้
ยาต้านโรคจิต
ใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการวุ่นวายและมีพฤติกรรมที่สร้างปัญหามาก และปัจจุบันยังมีงานวิจัยรับรองว่าใช้คุมอารมณ์และป้องกันการกลับเป็นซ้ำได้ด้วย แพทย์จึงมักให้การรักษาด้วยยาต้านโรคจิต ยาในกลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ไวและช่วยให้ผู้ป่วยสงบสติอารมณ์ควบคุมตนเองได้ดีขึ้น
ยาต้านซึมเศร้า
มักจะใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการอยู่ในระยะซึมเศร้า แพทย์สามารถให้การรักษาด้วยยาควบคุมอารมณ์โดยไม่ต้องให้ยาแก้โรคซึมเศร้าก็ได้ แต่บางครั้งแพทย์อาจเลือกที่จะให้ยาต้านซึมเศร้าด้วยเพื่อให้ได้ผลแน่นอนขึ้น แล้วค่อยๆ ลดยาจนหยุดยาได้ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วย “อารมณ์ดีผิดปกติ” โดยทั่วไป เมื่อเริ่มรักษา แพทย์มักสามารถควบคุมอาการของผู้ป่วยได้ในเวลาประมาณ 1 เดือน และผู้ป่วยมักมีอาการเป็นปกติในเวลาประมาณ 2 เดือน หลังจากนั้นยังต้องรับประทานยาเพื่อควบคุมอาการต่อไปอีกประมาณ 9 – 12 เดือน แล้วค่อยพิจารณาหยุดยาโรคไบโพลาร์เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายสนิทได้ คือ หายกลับไปทำงานเป็นคนเดิมได้ แต่อาจไม่หายขาด วันดีคืนดีอาจกลับมามีอาการอีก ในรายที่มีอาการป่วยมาหลายครั้ง หรือค่อนข้างถี่ แต่ละครั้งอาการรุนแรง แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้อาการกลับมาอีก

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา