13 ส.ค. 2021 เวลา 05:00 • ประวัติศาสตร์
ประตูน้ำ เพชรรามา เมโทร ตลาดนีออน 4 ป้ายรถโดยสารประจำทางในย่านเดียว
แผนที่ย่านประตูน้ำ สีเขียว-เพชรรามา, สีชมพู-ตลาดนีออน สีน้ำเงิน-เมโทร
เมื่อเราโดยสารรถประจำทาง เมื่อบอกไปว่า "ประตูน้ำ" พนักงานเก็บค่าโดยสารจะบอกอยู่เสมอว่า "เมโทร" หรือ "เพชรรามา" ซึ่งคนวัยรุ่นที่เกิดในช่วง 1990-2000 อาจงงงวย แต่ถ้าพูดถึง "ตลาดนีออน" คนรุ่นเก่าก็คงไม่เข้าใจว่าอยู่ส่วนไหน ซึ่งทั้ง "เมโทร" "เพชรรามา" หรือ "ตลาดนีออน" ต่างอยู่ในพื้นที่ที่เรียกว่า "ประตูน้ำ"
"ประตูน้ำ" มีที่มาจาก "ประตูน้ำสระปทุม" เป็นประตูน้ำกั้นคลองแสนแสบที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าโปรดเกล้าฯให้กระทรวงเกษตราธิการสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2448 (1905) เพื่อทดน้ำสำหรับการเกษตร และปรับระดับน้ำให้เรือสามารถสัญจรผ่านได้ เมื่อเรือต่างๆแวะรอประตูน้ำเปิดปิด ต่างแลกเปลี่ยนสินค้ากันจนพัฒนากลายเป็นตลาดเฉลิมโลก ตลาดนายเลิศ โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมโลก และเป็นศูนย์รวมคมนาคม เช่น รถราง รถเมล์ และเรือด่วน สำหรับผู้คนที่เดินทางไปฝั่งตะวันออกของกรุงเทพในเวลานั้น
ถึงแม้ว่าประตูน้ำจะถูกรื้อไป แต่ชื่อของประตูน้ำยังคงเป็นที่รู้จักในฐานะศูนย์กลางการค้าขายเสื้อผ้าขายส่ง เป็นจุดเปลี่ยนเรือด่วนคลองแสนแสบ และเป็นศูนย์รวมอาหารสตรีทฟู้ดที่มีชื่อเสียง เช่น ข้าวมันไก่ ก๋วยเตี๋ยวเรือ เป็นต้น
ภาพย่านประตูน้ำทางอากาศ โดยปีเตอร์ วิลเลียม ฮันท์
"เพชรรามา" เป็นโรงภาพยนตร์ที่บริหารโดยครอบครัวพูลวรลักษณ์ อยู่ไม่ไกลจากแยกชิดลม เป็นโรงภาพยนตร์แบบสแตนด์อะโลน (เป็นโรงภาพยนตร์อย่างเดียว) ฉายทั้งภาพยนตร์ไทยและฝรั่ง อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของบริษัท ไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด ต่อมาเมื่อความนิยมของโรงภาพยนตร์สแตนด์อะโลนลดลง โรงภาพยนตร์เพชรรามาได้ถูกรื้อถอนในปี พ.ศ.2543 (2000) ปัจจุบันเป็นแมนฮัตตัน คอนโดมิเนียม แต่คนทั่วไปยังคงเรียกย่านประตูน้ำขาเข้าตั้งแต่ตั้งแยกชิดลมจนถึงแยกประตูน้ำว่า "เพชรรามา"
โรงภาพยนตร์เพชรรามา
"เมโทร" เป็นห้างที่ดำเนินการโดย ครอบครัวกาญจพาสน์ เปิดทำการในปี พ.ศ.2528 (1985) เป็นห้างที่มีซูเปอร์มาร์เก็ต มีโรงภาพยนตร์ มีโรงแรม และมีธนาคารนครหลวงไทยสำนักงานใหญ่ ซึ่งนายมงคลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่หน้าทางเข้าห้าง
นอกจากห้างเมโทรแล้ว ครอบครัวกาญจนพาสน์ได้ดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในชื่อของ บางกอกแลนด์ (เจ้าของโครงการเมืองทองธานี) และธนายง (เจ้าของโครงการธนาซิตี้ ซึ่งต่อมาชนะการประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อนและสีเขียวเข้ม หรือ บีทีเอส) และเมื่อเกิดวิกฤติการณ์เศรษฐกิจในปี 2540 (1997) ทำให้ห้างเมโทรปิดตัวลง แต่คนทั่วไปจึงเรียกย่านประตูน้ำบริเวณตั้งแต่แยกชิดลมจนถึงทางด่วนว่า "เมโทร"
ห้างเมโทร
"ตลาดนีออน" เดิมเป็นอาคารพาณิชย์สูง 3 ชั้น เรียงรายตั้งแต่ซอยเพชรบุรี 23-31 ต่อมาได้รื้อถอนอาคารพาณิชย์กลายเป็นลานขนาดประมาณ 5,000 ตารางเมตร บริหารโดยเดอะ แพลตินัม กรุ๊ป เจ้าของเดียวกับห้างแพลตินัม ประตูน้ำ เพื่อจัดทำเป็นตลาดกลางคืนสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติและพนักงานออฟฟิศ รวมถึงเป็นจุดจอดรถโดยสารประจำทางป้ายสุดท้ายก่อนจะขึ้นทางด่วน เปิดทำการเมื่อปี พ.ศ.2559 (2016)
ตลาดนีออน
แต่เมื่อเกิดวิกฤติการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 (2020) ทำให้ตลาดนีออนต้องปิดตัวลง และกลายสภาพเป็นลานโล่ง แต่บรรดาขนส่งสาธารณะ ยังคงเรียกป้ายหน้าตลาดนีออน ว่า "ตลาดนีออน" จนถึงปัจจุบัน
ตลาดนีออน 2564
โฆษณา