31 ต.ค. 2021 เวลา 08:51 • ปรัชญา
ความย้อนแย้งในตัวเองมีกันทุกคน
สามวันดีสี่วันไข้
อารมณ์แปรปรวนไปมาได้เสมอ
การจะทำความรู้จักกับตัวเองได้อย่างถ่องแท้
จึงเป็นงานที่หินเอาการเลยทีเดียว
ทำให้บางครั้งผู้คนก็มักจะปล่อยปละละเลย
แทนที่ด้วยการมองออกไปที่ผู้อื่น สิ่งอื่น
เพลิดเพลินไปกับสิ่งเร้าภายนอก
การไม่รู้หลักการนับว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญ
เมื่อไม่มีองค์ความรู้ในการทำความรู้จักตัวเอง
ได้แต่คลำทางไปเอง
ไม่แปลกเลยที่จะหลงโลกหลงทาง
หากกล่าวโดยย่อแล้ว
ธรรมมะมีอยู่ 2 ระดับ คือ
ธรรมะในฝ่ายโลกียะ หรือ ทางโลก
ธรรมะในฝ่ายโลกุตระ หรือ ทางธรรม
ธรรมะทั้งสองระดับนี้ต้องแยกออกจากกัน
การอธิบายความ แนวทาง และหลักการแตกต่างกัน
ความย้อนแย้งที่เกิดขึ้น เพราะไม่สามาถแยกแยะได้
ฝ่ายโลกียะ คือ การเวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่าง ๆ
เนื่องเพราะยังมีอาสวะหนาแน่น
ยังไม่อิ่มไม่พอ ยังต้องการอยู่กับโลก
ยังต้องยึดถือบางสิ่งบางอย่างอยู่
อาศัยบุญบาป กุศลอกุศล
อยู่ด้วยอวิชชา และสมมุติ
ฝ่ายโลกุตระ คือ ธรรมะในชั้นพ้นจากโลก
ต้องการหยุดวังวนแห่งการเวียนว่ายตายเกิด
เนื่องเพราะอาสวะเบาบางและหมดลงในที่สุด
ถึงจุดอิ่มตัวแล้ว ไม่ต้องการอยู่กับโลก
ปรารถนาในการปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง
เหนือบุญ เหนือบาป วางทั้งกุศลและอกุศล
เข้าถึงวิชชา และวิมุตติ
หลักการปฏิบัติจึงแตกต่างกัน
ผู้ศึกษาพึงพิจารณาเลือกเฟ้นธรรมที่เหมาะสม
สูงสุดของฝ่ายโลกียะ คือ อรูปพรหม
สูงสุดของฝ่ายโลกุตตระ คือ พระนิพพาน
ฝ่ายโลกียะ ไม่เที่ยง ไม่มีที่สิ้นสุด เจือไปด้วยทุกข์
ฝ่ายโลกุตตระ เที่ยงแท้ มีจุดสิ้นสุด ไม่เจือด้วยทุกข์
ฝ่ายโลกียะ ทำตามความอยาก
ฝ่ายโลกุตตระ ละเอียดลึกซึ้ง ทำตามความถูกต้อง
ผู้ที่เลือกเดินทางฝ่ายโลกุตตระ
เป็นผู้ที่อิ่มแล้ว พอแล้วในฝ่ายโลกีย์
หมายความว่าด้วยวาสนาบารมีธรรมใกล้เต็ม
เบื่อหน่ายโลกเป็นทุนเดิม
ผ่านมาหมดแล้ว หลายภพชาตินับไม่ถ้วน
ทางโลก และ ทางธรรม ไม่ได้แยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด
จะว่าเป็นลำดับขั้นกันขึ้นไป ก็ไม่เชิง
เพราะเราก็รับรู้มาโดยตลอดว่า
คือการกลับคืนสู่ความบริสุทธิ์ของธรรรมชาติเดิมแท้
ผู้ที่จะเห็นธรรม คือ ผู้ที่เห็นทุกข์ โทษภัยของโลก
ต้องมีประสบการณ์ทางโลกมากพอ
ไม่ได้หมายถึงชาตินี้เพียงชาติเดียว
บางท่านอายุเพียง 7 ขวบ
ก็บรรลุธรรมแล้ว
เพราะสะสมบารมีมาหลายภพชาติ
ปรารถนาเพียงทางหลุดพ้น
ไม่ได้ปรารถนาที่จะอาศัยอยู่กับโลก
ความย้อนแย้งในตัวของทุกคน
ก็เกิดจากธรรมทั้งสองอยู่คู่กัน
ธรรมชาติทั้งสองเป็นธรรมดาของโลก
มีอยู่คู่กับธรรมชาติ อยู่ร่วมกันอยู่
ความเป็นกลางของธรรมชาติ
เนื้อธรรมอันบริสุทธิ์
มีอยู่ในทุกคนเสมอ
แต่ถูกฉาบทาไปด้วยกิเลสตัณหาราคะ
มารยาร้อยเล่มเกวียน ตัณหาร้อยแปด
ผลักดันให้ออกไปกระทำสิ่งต่าง ๆ
ทำให้เกิดการย้อนแย้งกันเองภายในเสมอ
เพราะไม่สามารถแยกอออกจากกันได้
อยากไป แต่ก็ไม่อยากไป
ชอบอยู่กับเพื่อน แต่ก็ชอบอยู่คนเดียว
บางทีก็ใช่ บางทีก็ไม่ใช่
... ฯลฯ ...
มีทั้งความแน่นอน และไม่แน่นอน อยู่ภายใน
จนกว่าจะสามารถแยกชั้นออกจากกัน
ด้วยวิปัสสนาญานไปตามลำดับ
สูงสุดที่วิมุตติญานทัศนะ
ความย้อนแย้งทั้งหมดจึงจะหายไป
เพราะเกิดความรู้แจ้งเห็นจริง
แยกสังขตธรรมและอสังขตธรรมออกจากกัน
คล้ายหยดน้ำบนใบบัว หรือ น้ำกับน้ำมัน
อยู่ร่วมกันแต่ไม่ปะปนกัน
จึงมีคำกล่าวว่า
ไม่มีใครดีบริสุทธิ์หรือเลวบริสุทธิ์โดยกำเนิด
มันเป็นส่วนประกอบกันและกันอยู่ภายใน
หนทางกลับสู่ความบริสุทธิ์หลุดพ้นมีอยู่
กลับไปสู่เนื้อธรรมอันบริสุทธิ์ ไร้มลทิน
มีจุดจบอันบริบูรณ์ไพบูลย์
หรือจะเพิ่มพูนสะสมออกไปอย่างไร้ทิศทาง
ไม่มีจุดจบ ก็มีอยู่
ก็ต้องเลือกให้ได้ เป้าหมายต้องชัดเจน
ตัดสินใจให้เด็ดขาด
แล้วเดินตรงไปตามทางนั้นกันเอง ...
ไม่ใช่เลือกทางโลก แต่จะปล่อยวางทุกอย่าง
มันวางไม่ได้จริง ได้แต่อ้างถึงสุญญตา
ไม่เคยเห็น แค่เคยได้ยินมา
แล้วเอามาอ้างผิดที่ ยังจมอยู่กับอกุศล เอาที่ไหนมาว่าง
เลือกทางธรรม แต่ยึดติดทุกอย่าง
ก็จะเดินไปไม่ถึงปลายทาง
การปล่อยวางเป็นเรื่องของเหตุปัจจัย
ไม่ใช่นึกจะวาง ก็วางได้เลย
อันนั้นวางได้แต่ปาก วางไม่ได้จริง
จะวางบุญวางกุศล ต้องมีบุญกุศลให้วางก่อน
กุศลต้องเต็มบริบูรณ์ก่อน
ในสัมมาวายามะ ท่อนสุดท้ายจึงกล่าวว่า
"ย่อมทำความพอใจให้เกิดขึ้น ย่อมพยายาม
ปรารภความเพียร ประคองตั้งจิตไว้
เพื่อความตั้งอยู่ ความไม่เลอะเลือน
ความงอกงามยิ่งขึ้น ความไพบูลย์ ความเจริญ
ความเต็มรอบ แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว"
กว่าจะปล่อย จะวางบางสิ่งลงได้
ต้องผ่านประสบการณ์ เรียนรู้จนมากพอ
ประกอบเหตุที่ถูกต้อง มากพอ
ถึงวาระที่เหตุประชุมถึงพร้อม
เจริญอริยมรรคให้ถึงที่สุด
มันอิ่ม มันพอ มันวางได้เองอัตโนมัติ
ถามว่าไม่มีบุญไม่มีกุศล เอาไหนมาวางบุญวางกุศล
มีแต่บาปชั่วอกุศลเหนียวแน่น แล้วจะวางอะไรได้ยังไง
วางกุศลไม่ได้หมายถึงไม่มีกุศล
กลับกันคือมีจนเปี่ยมล้น
แต่ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น
ทำกุศลอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีใครยึดถือ
ยิ่งอยาก ยิ่งฝืนบังคับ ยิ่งผลักไสไล่ลง
ก็ยิ่งวางไม่ได้ ยิ่งเพิ่มความยึดมั่นถือมั่น
บางครั้งก็ดูไม่ออก มองไม่เห็น
คนเราเคยชินกับการวิ่งไล่ล่า
ไม่ถนัดในการปล่อยวาง
มันจึงเป็นเรื่องที่ยากกว่ากัน
ทั้งชาวโลกส่วนมากก็ไม่ได้ให้ความสำคัญ
ยกย่องเชิดชูแต่คนที่ไขว่คว้าได้สำเร็จ
การปล่อยวาง สลัดคืนเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
เป็นสุขอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีอุปนิสัยเฉพาะ
คือ มักน้อย สันโดษ ไม่คลุกคลี ปรารภความเพียร
มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา และยินดีในธรรมที่ไม่เนิ่นช้า
ทำอะไรต้องทำให้สุดความสามารถ
ไม่ว่าเป้าหมายคืออะไร
ต้องเดินไปให้สุดปลายทาง
ผู้ที่เดินจนสุดในทางโลกแล้ว จะพบเองว่ามันยังไม่สุด
จึงแสวงหาทางธรรมไปตามลำดับเอง
จนกว่าจะถึงที่สุดของโลก คือ พระนิพพาน
ธรรมชาติของมนุษย์ ต้องการเป็นหนึ่ง
ไม่ต้องการเป็นสองรองใคร ไม่งั้นคงไม่ฟาดฟันกัน
ความเป็นหนึ่งไม่มีอยู่จริงในทางโลก
มีอยู่จริงในทางธรรม
เพราะสุดท้ายแล้ว ความเป็นหนึ่งก็คือที่สุดของโลก
หนึ่งเดียวกันทั้งโลกทั้งจักรวาล
ไม่ใช่การแบ่งแยกออกไปเป็นหนึ่ง
แต่มันคือการหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน
กับความบริสุทธิ์ของธรรมชาติ
เข้าถึงอมตธรรม แก่นแท้ของทุกสรรพชีวิต
จิตหนึ่ง ธรรมหนึ่ง ใจเดียว หนึ่งเดียวกัน
วันที่เรารู้จักใจตัวเองได้อย่างถ่องแท้
เราจะหมดคำถามในตัวเองและผู้อื่น
เพราะทุกสรรพสิ่งมีธรรมชาติเดียวกัน
ความแตกต่าง ก็เป็นธรรมชาติที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย
... เช่นนั้นเอง ...
วันที่ใครก็ตามรู้จักใจตัวเองอย่างถ่องแท้
สิ่งที่ถูกต้องกับสิ่งที่ถูกใจจะคือ สิ่งเดียวกัน
ที่ผ่านมาเพราะความเข้าใจผิดโดยส่วนเดียว
จึงหลงคิดว่ามันคือคนละสิ่ง ...
.
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา