28 ต.ค. 2021 เวลา 05:21 • ปรัชญา
ยิ่งเก่ง ยิ่งต้องระวัง !
ระวังว่าอัตตา อีโก้ จะขวางทุกอย่างไว้
มองไม่เห็นหัว ไม่เห็นหัวจิตหัวใจใคร
เห็นแต่สิ่งที่ตัวเองอยากเห็น
ต้องการให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างใจอยาก
โดนไม่สนใจใยดี แยแสต่ออะไรเลย
การที่มีโลกทัศน์กว้างไกล นั้นเป็นยังไง
คือ การที่เห็นโลกภายนอก ภายใน เสมอกัน
เห็นตัวเอง และ ผู้อื่น เป็นสิ่งเดียวกัน
ไม่มีการแบ่งแยกเราเขา
ไม่มีความรู้สึกว่าเราดีกว่าเขา
ไม่มีความรู้สึกว่าเราเลวกว่าเขา
ไม่มีความรู้สึกว่าเราเสมอเขา
มีแต่ความเห็นอกเห็นใจ
บางทีพอออกไปเจอโลกภายนอกมาก ๆ
ประสบการณ์ชีวิตเยอะ ไปมาหลากหลายประเทศ
แทนที่จะมองโลกอย่างผู้มีใจกว้าง
กลับมีมุมมองที่คับแคบ อีโก้จัดจ้าน
ดูถูกดูแคลนผู้อื่น ไม่เคยเห็นใจใคร
เราดี เราเก่ง เรารู้ดีกว่าใคร ๆ อยู่ในโลกส่วนตัว
...
ถ้าไม่มีการแบ่งแยก
เราจะรักคนอื่นได้เท่ากับรักตัวเอง
รักผู้คนบนท้องถนนได้เท่ากับรักพ่อแม่ลูก พี่น้อง เพื่อนสนิท ญาติมิตร
เราจะมีแต่ความรัก ความปรารถนาดีให้แก่กัน
จะไม่คิดทำร้ายใครให้เจ็บช้ำน้ำใจ
จะไม่คิดพยาบาทมาดร้าย
จะไม่มีความขุ่นเคือง คับแค้น รำคาญใจ
จะไม่เบียดเบียนทั้งตัวเองและผู้อื่น
ใช่ มันคือสังคมในอุดมคติ
มันเป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนในสังคมจะเป็นแบบนี้
แต่สังคมมาจากไหน
สังคมมาจากแต่ละบุคคลรวมตัวกัน
สังคมที่เล็กที่สุดมาจากตัวเราเอง
มาจากใจแต่ละคนรวมกลุ่มกัน
เริ่มจากขัดเกลาใจตัวเอง
ถ้าเราทำได้ มวลรวมก็สดใสขึ้นมา 1
สังคมจริง ๆ ก็อยู่ที่ความรู้สึกในใจแต่ละคน
ต่อให้เผชิญเหตุการณ์เดียวกัน
การรับรู้ต่าง ความรู้สึกก็ต่างกัน
ความคิด ความเห็น การแสดงออกก็ต่างกัน
โลกทั้งใบ อยู่ที่ใจดวงเดียว
มันคือโลกคู่ขนานกันไป
โลกภายในและโลกภายนอก
โลกภายในแจ่มแจ้งขึ้นมาเมื่อใด
ชีวิตในอุดมคติก็อยู่ที่ตรงนั้น
ไม่ได้อยู่ที่ไหนไกล อยู่แค่นี้เอง ...
คำว่า เก่ง มาจากไหน
มาจากการที่ทำสิ่งนั้นได้ดี ทำได้อย่างยอดเยี่ยม
แต่ผู้ที่มีความชำนาญการจริง ๆ
มักไม่ค่อยรู้สึกว่าตัวเองเก่งอะไร
เพราะจะเห็นเลยว่ามันมาจากอะไร
ไม่ว่าจะพรสวรรค์หรือพรแสวง
จะเห็นเหตุที่ผ่านมาว่าคืออะไร เพราะอะไร
มีแต่คนที่ยังไม่ประสีประสาเท่านั้น
ที่รู้สึกว่าตัวเองเก่ง เหนือกว่าใคร ๆ
ปราชญ์โบราณท่านได้กล่าวไว้ว่า
"ยิ่งเรารู้อะไรมากขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งรู้ว่าเราไม่รู้อะไรเลย"
เพราะรู้ตัวว่ายังไม่ถึงธรรม จึงไม่หาทำอะไรที่สุ่มเสี่ยง
สำรวมระวังอย่างยิ่งในทุกย่างก้าว ทุกการกระทำ
เลิกตั้งตำถามในการกระทำของผู้อื่น
หันกลับมาตั้งคำถามกับตัวเอง
ถ้าทุกคนรู้ตัวเอง แล้วใครจะเดือดเนื้อร้อนใจ
สำหรับผู้ที่ถึงธรรมแล้ว
ท่านจะทำกิจอันใด ก็เป็นเรื่องของท่าน
เราไม่อาจหยั่งรู้ได้ เพราะอยู่เหนือคำบรรยาย
รู้ตัวเองให้มากก็พอ
ถ้าเราสนใจใฝ่ธรรม
มีความสงสัยใคร่รู้มากพอ
ควรปฏิบัติให้ถูกต้องและมากพอ
ทุกอย่างจะกระจ่างแจ้งแก่ใจ
ถึงตอนนั้นจะเป็นยังไง
ค่อยว่ากัน ก็ยังไม่สาย
อย่าพึ่งด่วนสรุป
ในการปฏิบัติภาวนา
ผู้ที่ภาวนาจริง ๆ มักเกรงต่อคำชม
เพราะจะเห็นเลยว่าถ้าได้คำชมแล้ว
มันจะเหลิง มันจะหลงระเริงทันที
แม้แต่การถามคำถาม เฟ้นหาคำตอบ
มันจะย้อนกลับมาเห็นใจที่พองโต กิเลสโตขึ้น ทันที
เพราะมันมาจากความอยากรู้อยากเห็น
สังเกตเห็นมั้ยว่ามันมีคำว่า 'อยาก'
ยังมีความอยากอยู่เมื่อใด ก็ยังมีความดิ้นรนอยู่
ก็ยังไม่พ้นไปจากความปรุงแต่งอยู่ตราบนั้น
ธัมมวิจยะ คือ ธรรมะวิจัย
ไม่ใช่คนวิจัยธรรมะ
แทนที่จะรับรู้เรื่องราวภายนอก
ให้ย้อนกลับเข้ามาเห็นการทำงานของจิต
เห็นอาการของจิตที่ตะครุบ ยึดถือ สั่นไหว พองโต ฯลฯ
ครูบาอาจารย์ท่านให้หลักในการภาวนาไว้ว่า
เรียนรู้อย่างที่มันเป็นจริง ๆ ไม่แทรกแซง
คล้าย ๆ กับคนดูละครเวที หรือ กล้องวงจรปิด
ไม่กระโจนผสมโรง อย่าเป็นผู้กำกับ
อย่าโกหกหลอกตัวเอง
อย่าเลือกข้าง เข้าข้างตัวเอง
เรียนรู้ซื่อ ๆ อย่างตรงไปตรงมา
ต่อให้ได้ยินได้ฟังมาแค่ไหนว่าไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของเรา
แต่ถ้ามันยังรู้สึกว่ามีเรามีของเราอยู่ภายใน
ก็เรียนรู้ลงไปตรง ๆ
รู้สึกตัว รู้เนื้อรู้ตัวอยู่เนือง ๆ
แล้วมันจะค่อย ๆ เห็นละเอียดขึ้น
ถึงกระบวนการก่อตัวขึ้นของความรู้สึกคุกรุ่น
ความทุกข์ยากเสียดแทงต่าง ๆ
กว่าจะเกิดความรู้สึกว่าเป็นเราเป็นของเรา
มันได้ผ่านกระบวนการปรุงแต่งมาหลายขั้นตอน
ผู้ปฏิบัติส่วนมากก็จึงเงียบ ๆ
พูดเท่าที่จำเป็น ตามความเห็น ตามความเหมาะสม
ตามเหตุสมควรของแต่ละบุคคล
สังเกตกระบวนการทำงาน เห็นความรู้สึกต่าง ๆ
เป็นโลกคู่ขนานกันไปกับโลกภายนอก
โลกภายนอกก็มีปฏิสัมพันธ์ตามปกติ
ภายในจะเห็นการทำงานต่าง ๆ ควบคู่กันไป
ส่วนใหญ่จึงชอบฟังสิ่งที่ตรงไปตรงมา ข้อเท็จจริง
ไม่ชอบฟังอะไรที่เยินยอ
ยิ่งกิเลสมันดิ้นเท่าไร กระแทกใจ แทงใจดำมากเท่าไร
ก็จะเห็นแต่คุณประโยชน์
เพราะสุดท้ายแล้วมันก็อยู่ที่ใจของเราเอง
อยู่ที่ความปรุงแต่งล้วน ๆ
ยิ่งเจอผัสสะที่รุนแรง สั่นไหวเท่าไร ก็ยิ่งยินดีอยู่ลึก ๆ
เพราะมันได้เห็นใจที่กระเพื่อม
เห็นกระบวนการทำงาน
และจะยิ่งเห็นเลยว่าดีกรีมันลดน้อยลงทุกที
คือ ถ้าเป็นเมื่อก่อน เจอเหตุการณ์คล้าย ๆ กัน
ความรู้สึกจะรุนแรงมากกว่านี้อีกหลายเท่า
จะสั่นไหวรุนแรง กระแทกใจ และทุกข์มากกว่านี้
ครูบาอาจารย์สอนว่า ลำพังจิตรับรู้อารมณ์ปัญหาไม่เกิด
เพราะหน้าที่ของจิตคือการรู้อารมณ์
แต่เพราะไม่ประกอบด้วยสติปัญญา
จิตทำเกินหน้าที่ตัวเอง คือ ไปคิดนึกปรุงแต่ง
ตามที่กิเลสเย้ายวน กิเลสเข้าแทรก
จึงก่อทุกข์ตามมา
เมื่อใดประกอบด้วยปัญญาขั้นสูงสุด
ก็เป็นเพียงสักแต่ว่าธาตุตามธรรมชาติ
ขันธ์ก็ทำงานไปตามปกติ ทำตามหน้าที่ที่แท้จริงไป
เมื่อวางอุปทานขันธ์ลง ก็ไม่มีใครทุกข์กับอะไร
.
ถ้าภาวนาแล้วเห็นผลว่าทุกข์ลดน้อยลงไปทุกที ๆ
จะมีกำลังใจเดินบนเส้นทางนี้ต่อไปอย่างไม่ลังเล
โดยที่ไม่ต้องให้ใครมาผลักดัน
ไม่ต้องรอให้ใครย้ำเตือน ว่าต้องภาวนา
อาจจะมีความสงสัยเหลืออยู่ แต่จะไม่มีความลังเล
เมื่อถึงจุดหนึ่ง เราจะรู้เลยว่า มันหยุดภาวนาไม่ได้
เพราะมันไม่ใช่เรา
บอกให้หยุดภาวนา ยังหยุดไม่ได้เลย
ไม่มีเกียร์ถอย มีแต่เกียร์ว่าง พักบ้างเป็นบางที
แล้วเดินไปให้ถึงเป้าหมายอันสูงสุดเท่านั้น ...
ข้อสังเกต : ในทางโลก
เป็นธรรมดาที่จะต้องประกอบด้วยโลกธรรม 8
คือ ได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ
สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์
ต้องแยกธรรมชั้นโลกียะ กับโลกุตตระให้ออก
ในทางโลกการที่บุคคลทำดีย่อมได้รับการสรรเสริญ
บุคคลที่ทำบาปทำชั่วย่อมไม่ได้รับการสรรเสริญ
ดังนั้น คนดีกับคนชั่วย่อมไม่เท่ากัน ไม่เสมอกัน
ความเสมอภาคในทางธรรม
หมายถึง เสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์
เสมอกันด้วยความบริสุทธิ์หลุดพ้นเดียวกัน
จิตต้องถูกฝึกยกระดับมาตามลำดับ
ในมานะ 9 กล่าวว่า
ผู้เลิศกว่าเขา ผู้เสมอเขา ผู้เลวกว่าเขา
จะไม่ถือตัวสำคัญตนว่าเลิศกว่าเขา เสมอเขา เลวกว่าเขา
หมายความว่า ผู้เลิศกว่า ผู้เสมอกัน ผู้เลวกว่า
ก็ย่อมมีอยู่ แต่ว่าท่านไม่มีความยึดมั่นถือมั่น
🎈เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
ปัญญาที่แท้จริงเกิดขึ้นต่อเมื่อเกิดอริยมรรค อริยผล
เกิดการตัดสังโยชน์เท่านั้น
ก่อนหน้าโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล
ล้วนแต่เป็นปัญญาทางโลก
ยังไม่ข้ามฝั่งเข้าสู่โลกุตตระ
พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี
ก็ยังเห็นไม่หมดจด เห็นสัจธรรมมากขึ้นเป็นลำดับ
เพราะยังประกอบด้วยสังโยชน์อยู่
ดังนั้น มีเพียงการแสดงธรรมของพระอรหันต์เท่านั้น
ที่เป็นธรรมแท้ เป็นธรรมอันบริสุทธิ์
เป็นการเห็นอันหมดจด
ปราศจากสังโยชน์ทั้งปวง
* กระบวนการทำงานของจิต การก่อตัวขึ้นแห่งกองทุกข์
ก็คือ วงจรปฏิจจสมุปบาท
.
อ้างอิง :
มานะ 9
ไม่เห็นแก่ตัว จนกระทั่งเห็นว่าไม่มีตัว
หน้าที่ที่แท้จริงของจิตคือรู้

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา