25 ต.ค. 2021 เวลา 07:10 • ปรัชญา
"ปัญหาทั้งหมดอยู่ที่ ความรู้สึก"
เวลา เงินทอง โอกาส
เป็นสิ่งลอยลมอยู่ในอากาศ
ทุกคนทราบกันดีอยู่แล้ว
จุดที่สำคัญคือ สิ่งเหล่านี้ไม่มีตัวตน จับต้องไม่ได้
เกิดขึ้นแล้วดับไป มีแล้วหายไป
ค้างอยู่เพียงในความรู้สึก กลายเป็นเพียงสิ่งที่เคยมี
เจ็บกว่าการไม่มี คือ การเคยมี
เพราะมันได้ถูกยึดถือเอาไว้
โอบกอดเอาไว้ด้วยความหวงแหน
ทั้ง ๆ ที่ก่อนที่จะมี คือ การไม่มี
มันเพียงกลับคืนสู่สภาพเดิม
ความเจ็บปวดทรมานเกิดขึ้นได้ เพราะความไม่รู้
2
และเจ้า 'ความรู้สึก' นี้แหละ ตัวแสบที่สุด
คือศูนย์รวมของทุกปัญหาในโลก
เป็นเดือนเป็นร้อน สุขทุกข์ ขุ่นเคืองใจ
เก็บทุกเม็ด
คือเหตุของทุกข์ทั้งปวง
2
ลองระลึกดูว่าเราได้เสียค่าโง่ ค่าความไม่รู้มาเท่าไรแล้ว
ไม่มีก็ทุกข์ มีก็ทุกข์ เคยมีก็ทุกข์
ไม่มีก็อยากมี มีก็อยากให้คงอยู่นาน ๆ เคยมีก็เสียดาย
1
ไม่มี จำเป็นต้องใช้ก็หามาใช้
มีก็ใช้ ไม่มีก็ไม่ใช้ ไม่มีไม่ได้ ก็หามาใช้เท่าที่จำเป็น
เคยมี ก็ยอมรับความจริง
จบแล้วต้องจบให้เป็น จบแล้วก็จบกัน
1
ก็ของมันไม่มีมาแต่แรกแล้ว
กระเสือกกระสนแส่หาทุกข์เพิ่ม
ถ้าเห็นความจริงแต่ช็อตแรก ทุกข์ก็ไม่อาจทับถมใจ
1
ไม่มี ก็ยอมรับความจริง เห็นความจริง
มี ก็ยอมรับความจริง ว่ากำลังมีกำลังใช้
ของยืมโลกมาใช้ทั้งนั้น
เคยมี ก็ยอมรับว่าสรรพสิ่งก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย
2
เมื่อเท่าทันกระบวนการต่าง ๆ แล้วทุกข์จะเกิดตอนไหน
...
ปัญหาความยุ่งยากรำคาญใจทั้งหมด มาจากความรู้สึก
เพราะไม่เข้าใจ ไม่รู้จักความรู้สึกที่เกิดขึ้น
รู้อะไร ก็รู้ครึ่ง ๆ กลาง ๆ ทำเป็นรู้ดีไปหมด
สังเกตมั้ยว่าคนที่ไม่รู้ เค้าก็จะไม่ค่อยมีปัญหา
คนรู้ลึก รู้จริง ก็ไม่มีปัญหาใด ๆ กับโลกอยู่แล้ว
คนที่รู้ครึ่งไม่รู้ครึ่งนี่แหละ ปัญหาเยอะสุด
วิจารณ์อย่างไร้ทิศทาง มองอะไรก็มองผิวเผิน
แล้วอวดรู้อวดดี ปฏิบัติก็ยังไม่ถึงไหน
ไปเอาความมั่นใจมาจากไหนเยอะแยะ
ถึงแม้ว่าผู้ที่รู้ครึ่งไม่รู้ครึ่ง
จะมีโอกาสรู้ลึก รู้ทั่วถึงธรรม เกิดความรู้แจ้ง
ได้มากกว่าผู้ที่ไม่รู้อะไรเลย
แต่กว่าจะผ่านส่วนที่เดาสุ่ม คลำทาง
ปฏิบัติจนถึงที่สุดแห่งทุกข์
ก็ต้องประกอบด้วยความเฉลียวฉลาดให้มาก
ไม่งั้นก็อาจจะพลาดท่า ตกม้าตายกลางคัน
อาจจะลงเหวลึกมากกว่าก็เป็นได้
1
สำรวจตัวเอง รู้หน้าที่ของตัวเอง
ปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม
จะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อตัวเองและผู้อื่น
...
คนเรามองไม่ออกระหว่างชั่วขณะ กับชั่วชีวิต
บางคนจึงยอมทำผิดชั่ววูบ เสวยทุกข์ชั่วชีวิต
1
ทำไมเราไม่ลองมองโลกตามท่านผู้รู้
มองอย่างผู้ช่ำชองในการใช้ชีวิต
ท่านผู้รู้ทั้งหลายสอนว่า
ไม่ให้ประมาทแม้กุศลเพียงเล็กน้อย
ทุก ๆ การกระทำล้วนส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง
ไม่ว่าจะด้านกุศล หรือ อกุศล
ของฟรี ของฟลุ๊ค ความบังเอิญไม่มีในโลก
เวลา เงินทอง โอกาส เป็นสมบัติของธรรมชาติ
เมื่อเราดิ้นรนไขว่คว้าเข้ามาใส่ตัว
เราก็ต้องแลกมากับบางสิ่งบางอย่าง
ต้องแลกกับการต้องเสวยวิบาก หมุนวนเป็นวัฏฏะ
กิเลส กรรม วิบาก กิเลส กรรม วิบาก ...
ยิ่งสูงก็ยิ่งหนาว อย่ากระทำการใด หากใจยังไม่พร้อม
คือ ไม่ประกอบด้วยสติด้วยปัญญา
เพราะมันจะส่งผลกระทบกระจายออกไป
และเราไม่มีทางรู้เลยว่าจะต้องเสวยวิบากอย่างไรบ้าง
จริง ๆ ทุกสิ่ง ทุกการกระทำต่างส่งผลกระทบ
แต่ผู้ที่ออกสื่อ หรือ มีสื่ออยู่ในมือ
จะเกิดผลเห็นชัด รวดเร็วทันใจ
ยิ่งในยุคอินเตอร์เน็ตไร้สาย
ใคร ๆ ก็ขยับมาเป็น Influencer ได้ง่ายดาย
ทุกสิ่งมีราคาที่ต้องจ่าย
ถ้าใจไม่นิ่งพอ ดูไม่ออกมองไม่เห็น
ผลกระทบที่จะตามมาให้รอบด้านพอ
เล่นกับความรู้สึกมาก ๆ เละทุกราย
เอาให้แน่ว่าเรากำลังส่งมอบสิ่งที่เป็นคุณหรือเป็นโทษ
เมื่อมีผู้กระทำ ประกอบด้วยเจตนา
ย่อมมีผู้รับผลแห่งการกระทำ
นี่คือเหตุว่าทำไมต้องสำรวมระวังในทุกย่างก้าวของชีวิต
ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลย
ว่าทำไมท่านที่เห็นโทษภัยในสังสารวัฏ
ถึงได้ตัดสินใจ ปลีกวิเวก ละทางโลก
ปฏิบัติกันอย่างเอาเป็นเอาตาย สู้ไม่ถอย
เพื่อให้พ้นจากกุศลและอกุศล เข้าสู่ทางสายกลาง
เพราะมีเพียงการกระทำของพระอรหันต์เท่านั้น
ที่ไม่มีวิบากเกิดขึ้น
...
ทุก ๆ การตัดสินใจในชีวิต
จะประกอบไปด้วยสองทางเลือกเสมอ
ทางหนึ่งคือตัดสินใจบนทางที่จะก่อให้เกิดทุกข์ตามมา
คือ กิเลสตัณหา
อีกทางหนึ่งคือตัดสินใจบนทางที่จะนำไปสู่ความดับสนิทแห่งทุกข์
คือ อริยมรรคมีองค์ 8
เจริญกิเลสตัณหา ผลคือ ความทุกข์
เจริญอริยมรรคมีองค์ 8 ผลคือ ความดับทุกข์
การตัดสินใจในแต่ละขณะ
มาจากประสบการณ์เดิม
ซึ่งก็คือ ความรู้สึกที่ว่าใช่ หรือ ไม่ใช่ ที่ผุดขึ้นมา
ก็ลองนึกกันดูว่าวัน ๆ เราสะสมอะไรบ้าง
กิเลสนำ หรือ สติปัญญานำ สัดส่วนอย่างไหนมากกว่า
เพราะผลเกิดจากเหตุ
เหตุอันหลากหลายส่งผลอันหลากหลาย
ถ้าไม่ยอมเปลี่ยนทาง
เปลี่ยนความเคยชินเดิม ๆ
ให้มาเดินอยู่บนหนทางแห่งความพ้นทุกข์
เราก็จะต้องวนเวียน เวียนวน อยู่ในลูป
ของการก่อกรรมทำเข็ญ พอกพูนกิเลสให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป
ยิ่งกว่าดินพอกหางหมูออกไปเรื่อย ๆ
ท่านจึงสอนว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น "อย่าทิ้งธรรม"
หนี้ที่ทุกคนมีต่อธรรมชาติ
ไม่ช้าก็เร็ว ต้องสะสางคืนให้กับธรรมชาติทั้งหมด
ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นสมบัติของธรรมชาติ
ตั้งแต่ร่างกาย ความรู้สึกนึกคิด จิตใจ
ลามออกไปถึงของนอกกาย ทรัพย์สิน เงินทอง ฯลฯ
ไม่เคยเป็นเรา เป็นของเราเลย แม้แต่วินาทีเดียว
ทุกคนมีกรรมสิทธิ์เพียงชั่วคราวเท่านั้น
มีในไม่มี ไม่มีในมี
เกิดพร้อมตาย ตายพร้อมเกิด เกิด ๆ ดับ ๆ ทุกขณะจิต
เป็นกระแสสืบเนื่องกันไปตามเหตุปัจจัย องค์ประกอบต่าง ๆ
เมื่อหมดเหตุเกิดทั้งปวง จึงดับสนิท สงบเย็น
เข้าถึงที่สุดแห่งทุกข์ พ้นไปจากทุกข์ทั้งปวง
เข้าถึงความบริสุทธิ์ของธรรมชาติที่แท้จริง
ชั่วขณะของชีวิต คือ ชั่วชีวิตของทุกคน
อดีต ปัจจุบัน อนาคต อยู่ที่จุดเดียวกัน
คือ ปัจจุบันขณะ ที่ไหลเรื่อย
.
บทความได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือ เซนส่องทาง
ตอน ชั่วขณะกับชั่วชีวิต
" ... มูลธาตุทั้ง ๕ ซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นวิญญาณนั้น
เป็นของว่างเปล่า
และมูลธาตุทั้ง ๔ ของรูปกายนั้น
ไม่ใช่เป็นสิ่งซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นตัวของเรา
จิต จริงแท้นั้น ไม่มีรูปร่าง
และไม่มีอาการมาหรืออาการไป
ธรรมชาติเดิมแท้ของเรานั้นเป็นสิ่งๆ หนึ่ง
ซึ่งไม่มีการตั้งต้นที่การเกิด
และไม่มีการสิ้นสุดลงที่การตาย
แต่เป็นของสิ่งเดียวกันรวด
และปราศจากการเคลื่อนไหวใดๆ
ในส่วนลึกจริงๆ ของมันทั้งหมด
จิตของเรากับสิ่งต่างๆ ซึ่งแวดล้อมเราอยู่นั้น
เป็นสิ่งๆ เดียวกัน
ถ้าเราทำความเข้าใจได้ตามนี้จริงๆ
เราจะได้ลุถึงความรู้แจ้งเห็นแจ้งได้โดยแวบเดียวในขณะนั้น
และเราเป็นผู้ที่ไม่ต้องเกี่ยวข้องในโลกทั้งสามอีกต่อไป
เราจะเป็นผู้อยู่เหนือโลก
เราไม่มีการโน้มเอียงไปสู่การเกิดใหม่อีก
แม้แต่นิดเดียว
เราจะเป็นแต่ตัวเราเองเท่านั้น
ปราศจากความคิดปรุงแต่งโดยสิ้นเชิง
และเป็นสิ่งเดียวกับสิ่งสูงสุดสิ่งนั้น
เราจะได้ลุถึงภาวะแห่งความที่ไม่มีอะไรปรุงแต่งได้
อีกต่อไป
ฉะนั้น นี่แหละคือหลักธรรมที่เป็นหลักมูลฐานอยู่ในที่นี้
สัมมาสัมโพธิ เป็นชื่อของการเห็นแจ้งชัดว่า
ไม่มีธรรมใดเลยที่ไม่เป็นโมฆะ
ถ้าเราเข้าใจความจริงข้อนี้แล้ว
ของหลอกลวงทั้งหลายจะมีประโยชน์อะไรแก่เรา
ปรัชญา คือความรู้แจ้ง
ความรู้แจ้ง คือจิตต้นกำเนิดดั้งเดิม ซึ่งปราศจากรูป
ถ้าเราสามารถทำความเข้าใจได้ว่า
ผู้กระทำและสิ่งที่ถูกกระทำ
คือจิตและวัตถุเป็นสิ่งๆ เดียวกัน
นั่นแหละ จะนำเราไปสู่ความเข้าใจอันลึกซึ้ง
และลึกลับเหนือคำพูด
และโดยความเข้าใจอันนี้เอง
พวกเราจะได้ลืมตาต่อสัจธรรมที่แท้จริงด้วยตัวเราเอง
สัจธรรมที่แท้จริงของเรานั้น ไม่ได้หายไปจากเรา
แม้ในขณะที่เรากำลังหลงผิดอยู่ด้วยอวิชชา
และไม่ได้รับกลับมา ในขณะที่เรามีการตรัสรู้
มันเป็นธรรมชาติแห่งภูตัตถตา
ในธรรมชาตินี้ไม่มีทั้งอวิชชา ไม่มีทั้งสัมมาทิฐิ
มันเต็มอยู่ในความว่าง
เป็นเนื้อหาอันแท้จริงของจิตหนึ่งนั้น
เมื่อเป็นดังนี้แล้ว อารมณ์ต่างๆ ที่จิตของเราได้สร้างขึ้น
ทั้งฝ่ายนามธรรมและฝ่ายรูปธรรม
จะเป็นสิ่งซึ่งอยู่ภายนอกความว่างนั้นได้อย่างไร
โดยหลักมูลฐานแล้ว
ความว่างนั้นเป็นสิ่งซึ่งปราศจากมิติต่างๆ
แห่งการกินเนื้อที่
คือปราศจากกิเลส ปราศจากกรรม
ปราศจากอวิชชา และปราศจากสัมมาทิฏฐิ
พวกเราต้องทำความเข้าใจอย่างกระจ่างแจ้งว่า
โดยแท้จริงแล้ว ไม่มีอะไรเลย ไม่มีมนุษย์สามัญ
ไม่มีพุทธทั้งหลาย
เพราะว่าในความว่างนั้น
ไม่มีอะไรบรรจุอยู่แม้เท่าเส้นขนที่เล็กที่สุด
อันเป็นสิ่งซึ่งสามารถจะมองเห็นได้โดยทางมิติ
หรือกฎแห่งการกินเนื้อที่เลย
มันไม่ต้องอาศัยอะไร และไม่ติดเนื่องอยู่กับสิ่งใด
มันเป็นความงามที่ไร้ตำหนิ
เป็นสิ่งซึ่งอยู่ได้ด้วยตัวมันเอง
และเป็นสิ่งสูงสุดที่ไม่มีอะไรสร้างขึ้น
มันเป็นเพชรพลอยที่อยู่เหนือการตีค่าทั้งปวงเสียจริงๆ
เราต้อง แยกรูปถอด ด้วยวิชชา มรรคจิต
เหตุต้องละ ผลต้องละ ใช้หนี้ก็หมด พ้นเหตุเกิด
สิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตในจักรวาล
มีนับไม่ถ้วนรวมแล้วมี รูปกับนาม สองอย่างเท่านั้น
นามเดิม ก็คือ ความว่างของจักรวาล
เข้าคู่กันเป็น เหตุเกิด ตัวอวิชชา เกิดเหตุก่อ
ที่ใดมีรูป ที่นั้นต้องมีนาม ที่ใดมีนาม ที่นั้นต้องมีรูป
รูปนามรวมกัน เป็นเหตุเกิดปฏิกิริยา
ให้เปลี่ยนแปลงตลอดกาล
และ เกิดกาลเวลาขึ้น
คือรูปย่อมมีความดึงดูดซึ่งกันและกัน
จึงเป็นเหตุให้รูปเคลื่อนไหว
และหมุนรอบตัวเองตามปัจจัย
รูปเคลื่อนไหวได้ ต้องมีนาม
ความว่างคั่นระหว่างรูป รูปจึงเคลื่อนไหวได้
เมื่อสภาวธรรมเป็นอย่างนี้ สรรพสิ่งของวัตถุ
สสารมีชีวิต และไม่มีชีวิตจึงต้องเปลี่ยนแปลง
เป็นไตรลักษณ์ เกิด ดับ สืบต่อทุกขณะจิต
ไม่มีวันหยุดนิ่งให้คงทนเป็นปัจจุบันได้
จิต วิญญาณ ก็เกิดมาจาก รูปนามของจักรวาล
มันเป็นมายาหลอกลวงแล้วเปลี่ยนแปลงให้คนหลง
จากรูปนามไม่มีชีวิต เปลี่ยนมาเป็นรูปนามที่มีชีวิต
จากรูปนามที่มีชีวิต มาเป็นรูปนามมีชีวิตที่มีจิตวิญญาณ
แล้วจิตวิญญาณก็เปลี่ยนแปลงแยกออกจากกัน
คงเหลือแต่ นามว่างที่ปราศจากรูป
นี้เป็นจุดสุดยอดของการหลอกลวงของรูปนาม
ต้นเหตุเกิดรูปนามของจักรวาลนั้น
เป็นเหตุเกิด รูปนามพิภพ ต่างๆ
ตลอดจนดวงดาวนับไม่ถ้วน เพราะไม่มีที่สิ้นสุด
รูปนามพิภพต่างๆ เป็นเหตุให้เกิด รูปนามพืช
รูปนามพืชเป็นเหตุให้เกิด รูปนามสัตว์
เคลื่อนไหวได้ จึงเรียกกันว่า เป็นสิ่งมีชีวิต
ความจริง รูปนามจะมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต
มันก็เคลื่อนไหวได้ เพราะมันมีรูปกับนาม
เป็นเหตุเป็นผลให้เกิดปฏิกิริยาอยู่ในตัว
ให้เคลื่อนไหวตลอดกาล
และ(เกิด) การเปลี่ยนแปลง
บางอย่างเรามองด้วยตาเนื้อไม่เห็น
จึงเรียกกันว่าเป็นสิ่งไม่มีชีวิต
เมื่อรูปนามของพืชเปลี่ยนมาเป็นรูปนามของสัตว์
เป็นจุดตั้งต้นชีวิตของสัตว์
และเป็น เหตุให้เกิด จิต วิญญาณ
การแสดง การเคลื่อนไหว เป็นเหตุให้เกิดกรรม
สัตว์ชาติแรกมีแต่สร้างกรรมชั่ว
สัตว์กินสัตว์ และ(มี)ความโกรธ โลภ หลง
ตามเหตุ ปัจจัย ภายนอกภายในที่มากระทบ
กรรมที่สัตว์แสดง มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ๕ อย่าง
ไปกระทบกับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ๕ อย่าง
แล้วมาประทับ บรรจุ บันทึก ถ่ายภาพ
ติดอยู่กับ รูปปรมาณู ซึ่งเป็น สุขุมรูป
แฝงอยู่ในความว่าง
เราไม่สามารถมองเห็นด้วยตาได้ ที่แฝงอยู่ในความว่าง
ระวางคั่น ตา หู จมูก ลิ้น กาย นั้นไว้ได้หมดสิ้น
เมื่อสัตว์ชาติแรกเกิดนี้ ได้ตายลงมี กรรมชั่ว อย่างเดียว
เป็นเหตุให้สัตว์ต้องเกิดอีก
เพื่อให้สัตว์ต้องใช้หนี้กรรมชั่วที่ได้ทำไว้
แต่สัตว์เกิดขึ้นมาแล้วหายอมใช้หนี้เกิดกันไม่
มันกลับเพิ่มหนี้ให้เป็นเหตุเกิดทวีคูณ
ด้วยเพศผู้เพศเมียเกิดเป็น สุขุมรูป
ติดอยู่ใน ๕ กองนี้ เป็นทวีคูณจนปัจจุบันชาติ
ดังนั้น ด้วยอำนาจกรรมชั่วในสุขุมรูป ๕ กอง
ก็เกิดหมุนรวมกันเข้าเป็น รูปปรมาณูกลม
คงรูปอยู่ได้ด้วยการหมุนรอบตัวเอง มิหยุดนิ่ง
เป็นคูหาให้จิตใจได้อาศัยอยู่ข้างใน
เรียกว่า รูปวิญญาณ หรือจะเรียกว่า รูปถอด ก็ได้
เพราะถอดมาจากนามระวางคั่น ตา หู จมูก ลิ้น กาย นั่นเอง
ซึ่งเป็นสุขุมรูปแฝงอยู่ในความว่าง
รูปวิญญาณ จึงมีชีวิตอยู่คงทนอยู่ ยืนนานกว่า รูปหยาบ
มีกรรมชั่วคอยรักษาให้หมุนคงรูปอยู่
ไม่มีเทพเจ้าองค์ใดฆ่าให้ตายได้
นอกจาก นิพพาน เท่านั้น รูปวิญญาณจึงจะสลาย
ส่วนการแสดงกรรมของสัตว์ที่ประทับอยู่ในสุขุมรูป
มีรูป ตา หู จมูก ลิ้น กาย ๕ กองนั้นรวมกันเข้า
เรียกว่า จิต จึงมี สำนักงานจิต
ติดอยู่ในวิญญาณ ๕ กอง
รวมกันเป็นที่ทำงานของ จิตกลาง
แล้วไปติดต่อกับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ภายนอก
ซึ่งเป็นสื่อติดต่อของจิต
ดังนั้น จิต กับ วิญญาณ จึงไม่เหมือนกัน
จิตเป็นผู้รู้สึกนึกคิด
ส่วนวิญญาณเป็นคูหาให้จิตได้อาศัยอยู่
และเป็นยานพาหนะพาจิตไปเกิด
หรือจะไปไหนๆ ก็ได้ เป็นผู้รักษา
สุขุมรูป รูปที่ถอดจากรูปหยาบ มีรูปเพศผู้ เพศเมีย
รูป ตา หู จมูก ลิ้น กาย อยู่ในวิญญาณไว้
ได้เป็นเหตุเกิดสืบภพต่อชาติ
เมื่อสัตว์ตาย
ชีวิตร่างกายหยาบของภพภูมิชาตินั้นๆ ก็หมดไป
ตามอายุขัย (ของ) ชีวิตร่างกายหยาบของภูมิชาตินั้นๆ
ส่วนชีวิตแท้ รูป ปรมาณู วิญญาณ
จะไม่ตายสลายตาม
จะต้องไปเกิดตามภพภูมิต่างๆ ตามเหตุปัจจัยของ
วัฏฏะหมุนเวียนเปลี่ยนไปด้วย
ชีวิตแท้-รูปถอดหรือวิญญาณหมุนรอบตัวเองนี้เอง
เป็นเหตุให้จิตเกิดดับ สืบต่อ
คอยรับเหตุการณ์ภายนอกภายในที่มากระทบ
จะดีหรือชั่วก็สะสมเข้าไว้
เป็นทุน เหตุเกิด เหตุดับ หรือปรุงแต่งต่อไป
จนกว่า กรรมชั่ว-เหตุเกิด จะหมดไป
ชีวิตแท้-รูปถอดหรือวิญญาณ ก็จะหยุดการหมุน
รูปสุขุม-รูปวิญญาณ ซึ่งเกิดมาจากกรรมชั่ว
สืบต่อมาแต่ชาติแรกเกิด
ก็จะสลายแยกออกจากกันไป คงรูปอยู่ไม่ได้
มันก็กระจายไป
ส่วนกิจกรรมดี ธรรมะที่ติดอยู่กับวิญญาณ
มันก็จะกระจายไปกับรูปปรมาณู
คงเหลือแต่ความว่างที่คั่นช่องว่างของรูปปรมาณูทุกๆ ช่อง
ฉะนั้น โดยปราศจากรูปปรมาณู
ความว่างนั้น จึงบริสุทธิ์และสว่าง
รวมเข้ากับความว่าง บริสุทธิ์ สว่าง ของจักรวาลเดิม
เข้าเป็นหนึ่งเรียกว่า นิพพาน ... "
.
บางตอนจาก จิตคือพุทธะ
โดย หลวงปู่ดุลย์ อตุโล
อ้างอิง :
ซีรีส์ชีวิตพิศวง ตอนที่ 4/4 ชีวิตของผู้หลุดพ้น

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา