30 ส.ค. 2021 เวลา 10:06 • ประวัติศาสตร์
• เมื่อคนในยุควิกตอเรียคลั่งมัมมี่
ในยุควิกตอเรียเต็มไปด้วยเรื่องน่าทึ่งที่ชวนอึ้งสำหรับคนในยุคปัจจุบันมาก เรื่องที่จะมาเล่าให้อ่านในวันนี้คือพฤติกรรมของคนในยุคนั้นที่คลั่งไคล้มัมมี่กันอย่างเรียกได้ว่าขึ้นสมอง และยังกินมัมมี่อีกด้วย ที่มาที่ไปของพฤติกรรมเช่นนี้มีความเป็นมาอย่างไรเรามาเรียนรู้กัน
1
การแกะและชำแหละร่างของมัมมี่โดยนักอียิปต์วิทยาที่ชื่อ Margaret Murray ซึ่งอยู่ตรงกลางภาพ โดยทำต่อหน้าผู้ชมจำนวน 500 คนที่เมืองแมนเชสเตอร์ในปี 1908 (BBC)
• จุดเริ่มต้นของความคลั่งไคล้มัมมี่
ความสนใจใคร่รู้ของชาวยุโรปที่มีต่อมัมมี่นั่นมีมาตั้งแต่สมัยนโปเลียนยาตราทัพไปยังอียิปต์แล้ว โดยมีการเริ่มค้ากำไรจากมัมมี่และลักลอบส่งมัมมี่ไปขายที่ยุโรปมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 แล้ว แต่ผู้ที่ทำให้เกิดกระแสความคลั่งไคล้มัมมี่จนขึ้นสมองนั้นคือ บราม สโตเกอร์ (Bram Stoker) ซึ่งเป็นคนแต่งเรื่องดราคูล่านั่นเอง
บราม สโตเกอร์ได้แต่งนวนิยายเรื่อง "Jewel of Seven Stars" ขึ้นเมื่อปี 1903 ซึ่งเล่าถึงมัมมี่อียิปต์โบราณที่กลับฟื้นคืนชีพแล้วสังหารทุกคนไม่ว่าใครก็ตามที่ผ่านเข้ามาให้เห็นในระยะสายตา งานเขียนชิ้นนี้จึงจุดประกายความคลั่งมัมมี่ของคนในยุควิกตอเรียขึ้น
คลั่งไม่คลั่งขนาดไหนก็นำมาซึ่งพฤติกรรมที่พิสดารสำหรับคนในยุคเรา เช่น มีการจัดงานในวาระโอกาสแกะผ้าห่อมัมมี่โดยเชิญแขกมาร่วมงานนี้ และคนในยุคนั้นยังบริโภคมัมมี่เป็นยาอีกด้วย เป็นต้น
ดังนั้น ตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 19 จนถึงต้นศตวรรษที่ 20 จึงทำให้ชาวยุโรปแห่แหนกันเดินทางไปที่อียิปต์เพื่อดื่มด่ำอารยธรรมแห่งลุ่มแม่น้ำไนล์ ความต้องการชมมัมมี่มีสูงเสียจนกระทั่งต้องมีการขนย้ายมัมมี่จากสถานที่ที่คนไม่ค่อยไปมาไว้ที่สถานที่ที่มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมอย่างล้นหลาม
เท่านั้นไม่พอ เมื่อชาวยุโรปเดินทางกลับมาก็มีของติดไม้ติดมือกลับมาด้วย ของที่ระลึกที่ว่านั้นก็คือมัมมี่นั่นเอง จนมีการเปรียบเปรยว่าคนที่เดินทางกลับมาจากอียิปต์แทบที่จะไม่มีใครที่ไม่มีมือข้างหนึ่งถือมัมมี่เอาไว้และอีกข้างหนึ่งถือจระเข้กลับมาด้วย คนที่สามารถเดินทางไปอียิปต์ได้ก็จะสามารถซื้อหามัมมี่กลับมาด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งต่อมาของติดไม้ติดมือนี้ก็ไปปรากฏในพิพิธภัณฑ์ทั่วโลก
ภาพปกหนังสือ "Jewel of Seven Stars" หนึ่งในภาพปกหลายเวอร์ชั่นตีพิมพ์ของบราม สโตเกอร์ (Macmillan Publishers)
ความคลั่งมัมมี่ทำให้เกิดการค้าของที่ระลึกเป็นมัมมี่ ในรูปนี้ถ่ายเมื่อราวปี 1877 พ่อค้ามัมมี่นั่งพักข้าง ๆ สินค้าที่ระลึกของเขา (JEAN-GILLES BERIZZI/RMN-GRAND PALAIS / National Geographic)
• นิทรรศการการแกะและชำแหละมัมมี่
การแกะเพื่อดูร่างมัมมี่มีมาก่อนยุควิกตอเรียแล้วเช่นกัน แต่การที่ยุคนั้นอังกฤษขยายแสนยานุภาพไปทั่วโลก เป็นเจ้าอาณานิคมแทบทุกหนทุกแห่ง เมื่อได้ประสบพบโลกที่ต่างออกไปจากตน จึงเกิดความสนใจใคร่รู้ต้องการศึกษาสิ่งใหม่ ๆ การแกะมัมมี่ดูก็เป็นกิจกรรมที่คนอังกฤษยุควิกตอเรียคลั่งไคล้กันมาก
ในห้วงเวลาแรก การแกะหรือคลี่แผ่นผ้าเพื่อเผยโฉมข้างในของมัมมี่นั้นทำกันเป็นการส่วนตัวเฉพาะในบ้านของชนชั้นสูงเท่านั้น (หรือนิวาสสถานของชนชั้นระดับราชวงศ์) โดยจะมีการเชิญแขกในแวดวงเดียวกันมาร่วมชมด้วย และชนชั้นสูงนี่เองที่ส่งต่อกิจกรรมนี้สู่สังคมต่อไป
บุคคลผู้บุกเบิกการแกะและชำแหละมัมมี่ต่อหน้าสาธารณชนจนกลายเป็นดั่งงานนิทรรศการคือศัลยแพทย์ที่ชื่อว่าโทมัส เพ็ตติกรู (Thomas Pettigrew) จนต่อมาเขาได้รับฉายาว่า “Mummy Pettigrew” และสร้างรายได้ให้กับตัวเองอย่างเป็นกอบเป็นกำจากความคลั่งไคล้ของคนวิกตอเรียที่มีต่อมัมมี่ การชำแหละมัมมี่ยังเป็นไปเพื่อการพยายามพิสูจน์ว่ามัมมี่นั้นเป็นพวกคอเคเชียนไม่ใช่แอฟริกันผิวดำด้วย
ผู้คนนิยมมาดูการแกะและชำแหละมัมมี่ของเพ็ตติกรูกันอย่างบ้าคลั่งในช่วงทศวรรษที่ 1830 กิจกรรมนี้ถือว่าเป็นสิ่งบันเทิงแห่งยุคนั้น มีการขายตั๋วเพื่อให้คนทั่วไปเข้ามาชมสิ่งนี้กันได้ที่ Royal College of Surgeons ด้วย ซึ่งสร้างทั้งความบันเทิงและสยดสยองน่ากลัวแก่ผู้เข้ามาชม เพ็ตติกรูจะชำแหละอวัยวะต่าง ๆ เช่น ศีรษะของมัมมี่ ต่อหน้าผู้ชมแล้วชูให้เห็นว่าสมองของมัมมี่นั้นถูกนำออกไปจากร่างเพื่อดองแยกต่างหากแล้ว เป็นต้น การแกะและชำแหละร่างมัมมี่นี้เพ็ตติกรูยังทำแบบส่วนตัวโดยเชิญแขกมาร่วมชมด้วย
ดยุกแห่งแฮมิลตัน (Duke of Hamilton) ชื่นชอบงานของเพ็ตติกรูมาก จึงได้สั่งให้นำร่างของเขาไปทำมัมมี่ เมื่อท่านดยุกผู้นี้เสียชีวิตเพ็ตติกรูก็ทำตามความประสงค์นี้ด้วยการนำร่างท่านดยุกมาทำเป็นมัมมี่ และเก็บร่างนั้นไว้ในโลงหินโบราณ (โลงนี้เคยเป็นของเจ้าหญิงอียิปต์ผู้หนึ่งซึ่งได้ซื้อต่อมาจากฝรั่งเศสก่อนหน้านี้แล้ว)
ไม่เพียงแต่ชาวอังกฤษ ชาวฝรั่งเศสก็ชื่นชอบการแกะและชำแหละมัมมี่เช่นเดียวกัน จนเวลาต่อมาภายหลังเมื่อความนิยมเช่นนี้เริ่มซาลงเพราะผู้คนเริ่มเบื่อแล้ว การแกะและชำแหละมัมมี่กลายเป็นสิ่งที่ทำเพื่อการศึกษาในเชิงวิชาการแทน
ผู้ที่ได้รับฉายาว่า มัมมี่เพ็ตติกรู (Wikipedia)
ภาพการแกะมัมมี่ต่อหน้าสมาชิกสมาคมอียิปต์วิทยาแห่งฝรั่งเศสและบรรดาแขกที่ถูกเชิญมาเป็นสักขีพยาน ภาพนี้วาดขึ้นเมื่อปี 1891 โดย Paul Dominique Philippoteaux (National Geographic)
• ที่มาของการกินมัมมี่ก่อนยุควิกตอเรีย
เหตุที่ร่างของมัมมี่กลายเป็นสินค้ายอดนิยมอีกสาเหตุหนึ่งเพราะความเชื่อที่ว่ามัมมี่เป็นสิ่งลึกลับเหนือธรรมชาติและยังมีความเชื่อว่าร่างมัมมี่มีสรรพคุณทางยา
ในอดีต ชาวยุโรปเชื่อมโยงว่ามัมมี่เป็นยารักษาโรคได้มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 แล้ว โดยชาวยุโรปเชื่อว่าร่างของมัมมี่ที่ผ่านกระบวนการรักษาร่างไว้นั้นได้รับหรือมีพลังเหนือโลกในการเยียวยารักษาได้ แถมยังเข้าใจผิดคิดว่าในร่างมัมมี่นั้นมีสารที่เรียกว่า บิทูเมน (bitumen) ซึ่งเป็นสารที่เกี่ยวข้องกับการรักษาในโลกยุคโบราณ ซึ่งจริง ๆ แล้วบิทูเมนเป็นปิโตรเลียมประเภทหนึ่ง คนยุคปัจจุบันรู้จักบิทูเมนในชื่อว่า ยางมะตอย คนยุคโบราณเชื่อว่าบิทูเมนนี้ใช้รักษาแผลและรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้หลายประเภท เช่น นักปราชญ์ยุคโรมันเชื่อว่าบิทูเมนช่วยรักษาอาการปวดหัว โรคลมบ้าหมู หรือโรคลิ่มเลือดได้ ส่วนชาวเปอร์เซียเรียกบิทูเมนที่อยู่ในรูปของเหลวนี้ว่า “mumiya”
พอบิทูเมนที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเป็นสิ่งหายาก ความต้องการมัมมี่(เพื่อทดแทนบิทูเมนตามธรรมชาติ)เลยยิ่งสูงขึ้น เมื่อนำมัมมี่มาบดเป็นผงแล้วจะได้ทั้งสีและความเหนียวหนืดแทบไม่ต่างจาก mumiya ของชาวเปอร์เซีย แถมกลิ่นยังดีกว่าอีกด้วย เพราะร่างมัมมี่นั้นผ่านกรรมวิธีที่มีทั้งยางสน น้ำมัน และส่วนผสมที่มีกลิ่นหอม
สิ่งที่ตามมาจึงเกิดการค้าร่างมัมมี่กันขนานใหญ่ แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะได้ร่างมัมมี่อายุนับพันปีมา จึงเกิดการแหกตาด้วยการทำมัมมี่ปลอมขึ้นแทนที่เมืองอเล็กซานเดรีย โดยการนำเอาศพคนในเวลานั้น เช่น อาชญากร มาทำเป็นมัมมี่ปลอมเพื่อนำมาขายแทนมัมมี่จริง โดยส่งลงเรือมาขายที่ยุโรป
นอกจากนี้มัมมี่ไม่ได้ถูกนำมาใช้เป็นยาอย่างเดียว แต่ยังเอามาบดเพื่อทำเป็นสีในงานศิลปะอีกด้วย โดยเรียกว่า “mummy brown” โดยน่าจะมีการนำเอามัมมี่มาใช้เป็นสีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16
ดังนั้น การกินมัมมี่เป็นยาจึงมีในยุโรปมานานก่อนยุควิกตอเรียแล้ว และเริ่มเสื่อมความนิยมไปในศตวรรษที่ 19
ภาพการคลี่ผ้าพันมัมมี่และชำแหละมัมมี่ (egyptianaemporium)
สภาพมัมมี่ของฟาโรห์ Ahmose จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมคนในอดีตจึงคิดว่ามัมมี่มีบิทูเมน (Wikimedia Commons/Tim Adams)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา