31 ส.ค. 2021 เวลา 19:43 • หุ้น & เศรษฐกิจ
expert view – STOCKS: หุ้นไทย
สรุปจาก: "Expert Delivery - “หุ้นไทยมีหวังถึง 1700 ไหม?”" (https://youtu.be/6PZXLj7u0Y0)
ที่มาภาพประกอบ: "freepik" (Background photo created by rawpixel.com - www.freepik.com)
บทเรียนสำหรับนักลงทุนและผู้แนะนำการลงทุนที่ได้จากหุ้นไทยที่กลับมาขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากลงไปจนทำท่าจะหลุดแนวรับในช่วงต้นเดือนส.ค.ก็คือ เราไม่ควรจะนำข้อมูลที่มีในปัจจุบันมาฟันธงอนาคต นอกจากจะทำให้ตัวเองหลงทางแล้วก็ยังอาจจะทำให้คนอื่นหลงทางด้วยซึ่งทำให้เกิดความเสียหายในการลงทุนตามมา แต่เราควรใช้ข้อมูลปัจจุบันเป็นเพียงฐาน เชื่อมโยงปัจจัยต่าง ๆ แล้วอ่านเกมไปข้างหน้าให้มากขึ้น อย่างเช่นตอนนี้เมื่อหุ้นไทยกลับขึ้นมาเร็ว เงินทุนต่างชาติไหลเข้า ก็จะเริ่มมีคนฟันธงว่าจะไป 1,700 จะไป 1,800 ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง
มองว่าสถานการณ์ที่เห็นในปัจจุบันไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญแต่เป็นเกมหรือหมากที่วางไว้ตั้งแต่แรก และไม่ได้เกิดขึ้นแต่กับตลาดหุ้นไทยแต่เกิดกับทั้งภูมิภาค เนื่องจากตลาดหุ้นของประเทศอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลลิปปินส์ ต่างก็ให้ผลตอบแทนในเดือนสิงหาคม (เมื่อแปลงเป็นค่าเงินดอลลาร์) ใกล้เคียงกันที่ประมาณ 5-7% ดังนั้นในการมองไปข้างหน้าเราไม่สามารถมองแยกแค่ตลาดหุ้นไทยได้แต่ควรมองสถานการณ์ของทั้งภูมิภาค
ตอนที่หุ้นไทยปรับตัวลงช่วงปลายเดือนก.ค.ถึงต้นเดือนส.ค.ที่ผ่านมา จริง ๆ แล้วไม่ใช่แต่หุ้นไทยที่ผลตอบแทนไม่ดี แต่เป็นเหมือนกันทั่วทั้งภูมิภาคเนื่องจากข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้ากับปัญหาในการรับมือที่เกิดในหลายประเทศ (ยกเว้นสิงคโปร์) หากเกิดเฉพาะในประเทศไทยตลาดหุ้นไทยน่าจะโดนขายและปรับตัวลงหนักกว่าประเทศอื่นไปแล้ว
สิ่งที่น่าสนใจของการที่สกุลเงินในภูมิภาคของเราอ่อนค่าพร้อม ๆ กันซึ่งเกิดจากเงินทุนไหลออกในช่วงที่ผ่านมาก็คือ เมื่อมองไปข้างหน้าจะพบว่าหากแต่ละประเทศเข้าสู่เดือนก.ย.-ต.ค.ด้วยสถานการณ์ที่ดีขึ้นพร้อม ๆ กัน ประกอบกับการประชุมที่ Jackson Hole ปลายเดือนส.ค. และประชุม FOMC กลางเดือนก.ย. ซึ่งจะส่งผลต่อนโยบายทางการเงินของ FED และมีสิทธิ์ทำให้หุ้นทางฝั่งประเทศพัฒนาแล้วโดยเฉพาะสหรัฐที่ปรับตัวขึ้นมาสูงมากมีสิทธิ์ที่จะต้องปรับตัวลง (ยังไม่นับนโยบายที่จะเก็บภาษีเพิ่มของสหรัฐ) เงินทุนก็จะไหลกลับเข้าทั้งภูมิภาคซึ่งไทยก็จะได้รับอานิสงส์ไปด้วย
การสื่อสารของ Jerome Powell ประธาน FED ที่ Jackson Hole คือ เศรษฐกิจสหรัฐในปัจจุบันไม่ได้ต้องการแรงสนับสนุนจาก FED มากเท่าเดิมแล้ว และตัวเขาเองเห็นด้วยกับกรรมการ FOMC อีกหลายคนที่ต้องการการลดขนาด QE ภายในปีนี้ แต่จะเป็นการพิจารณาคนละส่วนกับการขึ้นดอกเบี้ย เมื่อเราพิจารณาก็พบว่านับจากนี้ก็จะไม่มีนโยบายการเงินที่จะผ่อนคลายไปมากกว่านี้แล้ว มีแต่นโยบายที่จะตึงตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ
แต่กระนั้นการมองว่าค่าเงินบาทจะได้ประโยชน์จากนโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้นของ FED ก็ไม่ถูกต้องนัก เนื่องจากการที่เงินบาทแข็งค่ากลับขึ้นมาในรอบนี้มีส่วนมาจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการที่เงินบาทอ่อนค่าไปมากกว่าสกุลเงินอื่นในช่วงก่อนหน้านี้ ดังนั้นเมื่อมีสัญญาณการแทรกแซงจากธนาคารแห่งประเทศไทยประกอบกับปัจจัยลบต่าง ๆ ภายในประเทศที่กำลังมาถึงจุดกลับตัวจนทำให้เห็นภาพได้ว่าในเดือนก.ย.สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลาย จึงเป็นที่มาของการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศในตลาดหุ้น รวมถึงในตลาดตราสารหนี้ระยะสั้นเพื่อพักเงินรอซื้อสินทรัพย์อื่นและเพื่อเก็งกำไรค่าเงินบาทด้วย นอกจากนี้เงินทุนต่างชาติยังไหลเข้าประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกันอย่างเช่น อินโดนีเซีย ฟิลลิปปินส์ และมาเลเซียด้วยเช่นเดียวกัน
ดังนั้นตลาดหุ้นไทยจึงมีโอกาสที่จะไปต่อค่อนข้างสูง แต่กลุ่มหุ้นที่ได้ประโยชน์ในรอบนี้ต่างจากการปรับตัวขึ้นไปถึง 1,650 จุดในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากในรอบนั้นไม่ได้ขึ้นจากเงินการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติ ดัชนีหุ้นใหญ่อย่าง SET50 ก็ไม่ได้ปรับตัวขึ้น แต่เป็นการขึ้นด้วยหุ้นขนาดกลางกับขนาดเล็กที่ปรับตัวขึ้นมาอย่างมาก รอบนี้เป็นการขึ้นที่หุ้นใหญ่เป็นตัวนำตลาด ความเสถียรในการขึ้นจึงแตกต่างกัน ดังนั้นจึงไม่คิดว่าการขึ้นรอบนี้จะชนแนวต้านแล้ว sideway down แบบรอบก่อน
ไม่อยากให้ฟันธงว่า SET จะขึ้นไปที่ 1,700 หรือไม่ แต่ให้นำเหตุผลที่ได้อธิบายไปเหล่านี้มาเชื่อมโยง ซึ่งแม้ว่าจะมีปัจจัยบวกดังที่ได้กล่าวไปแล้ว แต่ปัจจัยลบเองก็มีอยู่ไม่น้อยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการรับมือกับโรคโควิดสายพันธุ์เดลต้านับจากนี้ไปของแต่ละประเทศ ซึ่งในบางประเทศอาจก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่า downside ของหุ้นไทยค่อนข้างจะจำกัด เพียงแต่ช่วงที่ผ่านมาต้อง sideway เพื่อรอปัจจัยเกื้อหนุนในการขึ้นอย่างเช่นในเวลานี้
โดยในปลายไตรมาส 4 อาจจะมีปัจจัยบวกที่ทำให้หุ้นไทยปรับตัวขึ้นได้ก็คือข่าวที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐ Janet Yellen มีแผนจะเดินทางไปเยือนประเทศจีน และข่าวที่ว่า 30 องค์กรการค้าในสหรัฐกำลังบีบให้ประธานธิบดีสหรัฐ Joe Biden ทำข้อตกลงการค้ากับจีนให้เพื่อลดต้นทุนของผู้ผลิตสินค้าซึ่งตอนนี้กำลังแบกรับต้นทุนแทนผู้บริโภค นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบวกภายในประเทศช่วงปลายปีที่จะถึงเช่นกันอย่าง การแก้รัฐธรรมนูญ การกู้เงินเพิ่มของรัฐบาลเพื่อมาฟื้นฟูเศรษฐกิจ เป็นต้น
สำหรับหุ้นไทย ณ เวลานี้ควรมองที่หุ้นขนาดใหญ่ไว้ก่อน เนื่องจากหุ้นขนาดกลางหรือเล็กตอนนี้ถือว่าแพงและเวลาที่ปรับตัวลงก็จะลงอย่างหนักจึงไม่ค่อยปลอดภัยนัก แต่หุ้นใหญ่เวลานี้อยู่ในโซนที่ราคายังถูกและหลายกลุ่มมีปัจจัยบวกเฉพาะตัว เช่น กลุ่มธนาคาร กลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มปิโตรเคมี กลุ่มค้าปลีก กลุ่มสื่อสาร กลุ่มการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร และหุ้นใน SET50 บางตัวที่ยัง laggard ส่วนกลุ่มพลังงานมองว่าไม่ค่อยน่าสนใจนัก
แนะนำว่าให้ใช้การมองภาพระยะยาวและวางแผนเพื่อลงทุนระยะยาว และรู้จักการถือสินทรัพย์ที่เลือกจากการวางแผนมาดีแล้วผ่านช่วงที่ไม่ดีเวลาที่ เพราะว่าในการลงทุนย่อมมีช่วงที่ปัจจัยลบเข้ามากระทบอยู่เป็นระยะซึ่งเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ หากเราสามารถทำได้ก็จะสามารถหลุดออกจากกับดักของนักลงทุนรายย่อยที่มักจะตัดสินใจไปตามปัจจัยต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบอยู่ตลอดเวลา
สนใจสร้างพอร์ต #กองทุนรวม ผ่าน #FINNOMENA เลือกกองทุนได้จาก 22 บลจ.(กองภาษี 5 บลจ.) ไม่มีค่าบริการเพิ่ม โดยมีผม ทศพล สุวรรณสุต ใบอนุญาตจากกลต.เลขที่ 115000 เป็นที่ปรึกษาส่วนตัว เพียงยืนยันตัวตนด้วย NDID และทำแบบประเมิน KYC ออนไลน์ อนุมัติใน 1 สัปดาห์ (กรุณากรอก Referral code: 115000) >>> https://link.finnomena.com/ifa?refcode=115000
ติดตามผ่านโซเชียลมีเดีย: https://linktr.ee/2fi_finance_fitness
"2Fi-รายวัน" ประจำวันที่ 2021.09.01 ขอขอบคุณทุกท่านที่อ่านจนจบ ขอให้ทุกท่านมีการเงินดี มีสุขภาพดี และมีชีวิตที่ดี แล้วพบกันใหม่ครับ 😊
#การเงินส่วนบุคคล #ลงทุน #เศรษฐกิจ #กองทุนรวม #FINNOMENA #ฟินโนมีนา

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา