7 ก.ย. 2021 เวลา 12:47 • ประวัติศาสตร์
Saparmurat Niyazov : เผด็จการสติหลุด กับนโยบายสุดเพี้ยน
5
ถ้าพูดถึงประเทศที่ยังปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ หลายคนคงนึกประเทศเกาหลีเหนือใช่มั้ยครับ ประเทศที่ปกครองโดยคนตระกูลคิมมาเป็นเวลากว่า 60 ปี ผ่านผู้นำ 3 คน และในปัจจุบันเกาหลีเหนือก็ยังคงเป็นหนึ่งในประเทศที่ลี้ลับ และยากจนที่สุดในโลก
4
แต่รู้หรือไม่ว่าจริง ๆ แล้ว มีอีกประเทศหนึ่งในโลกที่ปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จคล้ายกับเกาหลีเหนือ แต่ประเทศนี้มีขนาดใหญ่กว่าเกาหลีเหนือถึง 4 เท่า มีปริมาณก๊าซธรรมชาติมากเป็นอันดับ 6 ของโลก พร้อมกับแหล่งน้ำมันใต้ดินมากมาย เมืองหลวงของประเทศนี้เต็มไปด้วยตึกที่สร้างจากหินอ่อนนำเข้าจากอิตาลีกว่า 500 ตึก ซ้ำยังเคยเป็นเจ้าภาพจัดงานแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ประเภทศิลปะการต่อสู้มาแล้วด้วย
2
เมืองหลวงของประเทศแห่งนี้ ที่เต็มไปด้วยหินอ่อน (Source: Pinterest)
ประเทศนี้คือประเทศเติร์กเมนิสถาน ประเทศที่ตั้งอยู่ในเอเชียกลาง อดีตสมาชิกของสหภาพโซเวียตซึ่งพึ่งจะได้รับอิสรภาพในปี 1991 หรือประมาณ 40 ปีที่ผ่านมา โดยประเทศนี้มีขนาดพอพอกับประเทศไทย และมีพื้นที่ส่วนมากเป็นทะเลทรายแห้งแล้ง
2
แผนที่ของประเทศเติร์กเมนิสถาน (Source: Wikipedia)
และหลังจากได้รับอิสรภาพ ประธานาธิบดี Saparmurat Niyazov กลายมาเป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศ และได้เริ่มปกครองประเทศโดยใช้ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ และแม้ Niyazov จะเสียชีวิตไปแล้ว ตามรายงานขององค์กรสิทธิมนุษยชนโลก (Human Right Watch) ประเทศเติร์กเมนิสถาน ก็ยังคงเป็นหนึ่งในประเทศที่โดดเดี่ยวและประชากรถูกควบคุมมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก
1
แต่สิ่งที่ทำให้ Niyazov มีชื่อเสียงไปทั่วโลก คือนโยบายแปลก ๆ มากมายที่นำมาใช้ในการบริหารประเทศ ซึ่งล้วนแล้วแต่ทำให้คนที่อยู่ภายนอก ต้องตกตะลึงพร้อมกับตั้งคำถามในใจว่า “อะไรวะ”
1
วันนี้ Kang’s Journal ขอพาไปรู้จักชีวิตของเผด็จการคนนี้กันครับ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นคนที่มีชื่อเสียงมากนัก แต่หลังจากอ่านจบแล้ว รับรองว่าทุกคนจะต้องเจอเรื่องให้ได้อึ้งกันหลายเรื่องเลยทีเดียว กับเรื่องราวของ Saparmurat Niyazov : เผด็จการสติหลุด กับนโยบายสุดเพี้ยน
4
Saparmurat Niyazov : เผด็จการสติหลุด กับนโยบายสุดเพี้ยน (Source: Twitter)
ชีวิตวัยเด็ก
Niyazov เกิดเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 1940 ที่เมือง Gypjak ใกล้ ๆ กับเมือง Ashgabat เมืองหลวงของเติร์กเมนิสถาน ซึ่งตอนนั้นยังคงเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตอยู่
ตราแผ่นดินของเติร์กเมนิสถาน ตอนอยู่ภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียต (Source: Wikipedia)
ตามหนังสืออัตชีวประวัติที่เขาแต่งขึ้นเอง พ่อของเขา Atamyrat Niyazov เสียชีวิตระหว่างการสู้รบกับกองทัพนาซีเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่นักประวัติศาสตร์หลายคนเชื่อว่าจริง ๆ แล้วพ่อของเขาหนีทหาร และถูกตัดสินจำคุกโดยศาลทหาร และเสียชีวิตในคุกในเวลาต่อมามากกว่า
5
ส่วนแม่และพี่น้องที่เหลือของเขา ล้วนเสียชีวิตจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่กรุง Ashgabat ในปี 1948 เหลือเพียง Niyazov คนเดียวเท่านั้นที่รอดชีวิตมาได้ เขาถูกพาตัวไปอยู่ในสถานที่เลี้ยงเด็กกำพร้า และส่งตัวไปอยู่กับญาติห่าง ๆ ในเวลาต่อมา
2
เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เมือง Ashgabat ในปี 1948 ที่พรากชีวิตแม่และพี่น้องของ Niyazov ไป (Source: https://akipress.com)
หลังจบการศึกษาในปี 1959 Niyazov เข้าทำงานเป็นผู้บรรยายที่สมาพันธ์การค้าแห่งหนึ่ง และหลังจากนั้นก็เข้าศึกษาต่อที่สถาบัน Leningrad Polytechnic ว่ากันว่า Niyazov เป็นนักเรียนที่เหลวแหลก ผลการเรียนย่ำแย่ และไม่ใส่ใจการเรียนเลย แต่สุดท้ายเขาก็เรียนจบในปี 1967 ในสาขาวิศวกรรมอิเล็คทรอนิกส์ จากนั้นเขาตัดสินใจเดินทางไปเรียนต่อ แต่เรียนไปได้ไม่กี่ปี ก็โดนไล่ออก เนื่องจากผลการเรียนที่ย่ำแย่
4
สถาบัน Leningrad Polytechnic สถานที่ศึกษาของ Niyazov (Source: https://www.rusvuz.com)
เข้าสู่แวดวงการเมือง
Niyazov เริ่มก้าวเข้าสู่แวดวงการเมืองในปี 1962 โดยเริ่มจากการเป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์ก่อน จากนั้นอาจจะด้วยความทะเยอทะยาน เขาได้เลื่อนตำแหน่งอย่างรวดเร็วจนได้รับตำแหน่งเลขานุการเอกของสภาเมือง Ashgabat (First Secretary of Ashgabat City Committee)
1
Saparmurat Niyazov  ตอนดำรงตำแหน่งเลขานุการเอกของสภาเมือง Ashgabat (Source: https://www.goodreads.com)
ในปี 1985 โชคก็เข้าข้าง เพราะเลขานุการเอกของพรรคคอมมิวนิสต์เติร์กเมนิสถานแห่งโซเวียต (First Secretary of the Communist Party of the Turkmen SSR) ที่มีชื่อว่า Muhammetnazar Gapurov โดนปลดจากตำแหน่งเนื่องจากคดีอื้อฉาวเกี่ยวกับการโกงฝ้าย ทำให้ Niyazov ได้รับการคัดเลือกโดย Mikhail Gorbachov ประธานาธิบดีของสหภาพโซเวียตในขณะนั้นให้ดำรงตำแหน่งแทน
3
Mikhail Gorbachov ประธานาธิบดีของสหภาพโซเวียตในขณะนั้น (Source: https://www.rbth.com)
จนสุดท้ายในวันที่ 13 มกราคม 1990 Niyazov ได้รับตำแหน่งประธานพรรคคอมมิวนิสต์เติร์กเมนิสถานแห่งโซเวียต (Chairman of the Supreme Soviet of the Turkmen SSR) ซึ่งก็คือตำแหน่งที่ใหญ่ที่สุดในการบริหารประเทศ
4
ในปี 1991 เกิดเหตุรัฐประหารชื่อว่ารัฐประหารเดือนสิงหา (August Coup) ขึ้น เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเนื่องจากว่าในตอนนั้นประธานาธิบดีของสหภาพโซเวียต Mikhail Gorbachov เริ่มผ่อนปรนนโยบายต่าง ๆ ในการปกครองดินแดนในเครือสหภาพ หลาย ๆ ดินแดนเริ่มมีอิสระในการกำหนดนโยบายของตนเอง ระบบเศรษฐกิจเริ่มมีการนำระบบทุนนิยมเข้ามาแทรกแซง ทำให้เหล่าบรรดาทหารและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหภาพโซเวียตที่เป็นพวกหัวรุนแรงบางกลุ่มรู้สึกไม่พอใจ และตัดสินใจก่อรัฐประหารขึ้น ซึ่งหนึ่งในผู้สนับสนุนการก่อรัฐประหารครั้งนี้ก็คือตัวของ Niyazov นั่นเอง
7
ปฏิวัติเดือนสิงหา ที่นำไปสู่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต (Source: ฺBBC)
อย่างไรก็ตาม จากการวางแผนที่ไม่เป็นระบบ ทำให้การทำรัฐประหารครั้งนี้ประสบความล้มเหลว โดยเหล่าบรรดาแกนนำถูกจับภายใน 2 วัน และเหตุการณ์ครั้งนี้ก็นำไปสู่การล่มสลายของของสหภาพโซเวียตในอีก 4 เดือนต่อมา
2
เติร์กเมนิสถาน คือหนึ่งใน 15 ประเทศใหม่ ที่เกิดมาจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต และ Saparmurat Niyazov ก็ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศในเดือนตุลาคม 1991
1
Saparmurat Niyazov ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศในเดือนตุลาคม 1991 (Source: Pinterest)
แต่เพื่อเป็นการล้างภาพความเป็นคอมมิวนิสต์ออกไป Niyazov จึงตัดสินใจจัดการเลือกตั้งขึ้นในเดือนมิถุนายน 1992 เพียง 8 เดือนหลังจากประเทศได้รับเอกราช หลายคนอาจจะคิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้น่าจะเต็มไปด้วยการโกง และการทุจริต แต่ความจริงแล้วไม่เป็นเช่นนั้น
8
Niyazov ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนล้นหลามถึง 99.5% มีผู้มาใช้สิทธ์มากถึง 99.8% และคะแนนทั้งหมดเป็นคะแนนที่ได้มาด้วยความสุจริต เพราะตอนนั้นเขาคือผู้ลงสมัครเลือกตั้งเพียงคนเดียวเท่านั้นเอง
ตอนนี้ในเมื่อเขาคือคนที่ประชาชน “เลือก” มาแล้ว Niyazov จึงมีข้ออ้างและสิทธิ์เต็มที่ในการเป็นผู้นำประเทศ และในปี 1993 เขาก็มอบตำแหน่งชื่อว่า “Türkmenbaşy” ที่แปลว่า “ผู้นำของชาวเติร์กมัน (Turkman) ทั้งปวง” ให้กับตนเอง
6
Saparmurat Niyazov ผู้ได้รับคะแนนโหวตมากถึง 99.5% ในการเลือกตั้งครั้งแรกของประเทศ (Source: findagrave.com)
ทีนี้ลองมาดูกันว่า ผู้นำของชาวเติร์กมันทั้งปวง จะบริหารประเทศให้ไปในรูปแบบไหนกัน
1
ปฏิวัติการปกครอง : ลัทธิบูชาบุคคล
หลังจากที่เป็นอิสระจากสหภาพโซเวียต และ Niyazov ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีด้วยคะแนนเสียงล้นหลาม (เหรอ?) แล้ว เขาเริ่มใช้ระบบ “Cult of Personality” หรือ ลัทธิบูชาบุคคลในการบริหารประเทศ ซึ่งเป็นการใช้หลักจิตวิทยาเพื่อให้ตัว Niyazov กลายเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ เป็นเหมือนกับตัวแทนที่พระเจ้าส่งมาเพื่อปกครองชาวเติร์กเมนิสถาน สิ่งที่ท่านผู้นำพูดคือสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่ท่านผู้นำแนะนำคือสิ่งที่ควรทำตาม และสิ่งที่ท่านผู้นำสั่ง คือกฎอันศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม
5
ภาพของ Niyazov บนธนบัตร 10000 Manat หนึ่งในวิธีการโปรโมทตนเอง (Source: https://en.numista.com)
เริ่มจากการมอบตำแหน่ง Turkmenbashi ให้กับตนเอง พร้อมกลับเปลี่ยนชื่อเมืองสำคัญทางตะวันตกจาก Krasnovodsk เป็นเมือง Turkmenbashi เดือนมกราคมก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Turkmenbashi ขนาดพันธุ์ของแตงไทยยังมีพันธุ์ Turkmenbashi เลย
3
และเพื่อเป็นการส่งเสริมลัทธิบูชาตัวบุคคล ชื่อสนามบิน สนามกีฬา และถนนหนทางมากมายถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Niyazov หรือคนในตระกูลเขา แต่ที่โดดเด่นที่สุดคือการก่อสร้างอนุสาวรีย์ตนเอง ที่ตั้งอยู่บนหอคอยสูงที่เรียกว่า “Arch of Neutrality” หรือประตูแห่งความเป็นกลาง ด้วยงบประมาณที่สูงถึง 12 ล้านดอลล่าร์หรือประมาณ 360 ล้านบาท โดยอนุสาวรีย์สูง 15 เมตรนี้เป็นรูปปั้นของ Niyazov สีทอง กำลังยื่นมือสองข้างออกจากกันเหมือนกำลังโอบอุ้มประชาชนชาวเติร์กเมนิสถานไว้ พร้อมธงที่โบกสะบัดอยู่ทางด้านหลัง และที่ไม่เหมือนใครคือกลไกภายในที่ทำให้รูปปั้นของท่านผู้นำจะหมุนเข้าหาดวงอาทิตย์ตลอดเวลา
5
อนุสาวรีย์ Saparmurat Niyazov ราคา 12 ล้านดอลล่าร์ ที่จะหมุนเข้าหาดวงอาทิตย์ตลอดเวลา (Source: http://www.ipernity.com)
นอกจากนี้รูปของ Niyazov ยังถูกประดับไว้ในสถานที่ราชการทั่วประเทศ ทั้งในห้องทำงานข้าราชการ ถนนหนทาง ไปจนถึงโรงเรียน เรียกได้ว่าตั้งแต่เกิดมา เด็กชาวเติร์กเมนิสถาน จะต้องรู้จักท่านผู้นำ Niyazov หลังจากได้รู้จักญาติพี่น้องของตนเองแทบจะในทันที
3
แม้ Niyazov จะบอกว่าจะนำเติร์กเมนิสถานสู่ความเป็นประชาธิปไตย และให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แต่สุดท้ายแล้วทุกอย่างยังคงถูกควบคุมโดยรัฐบาลอยู่ดี ธุรกิจหลัก ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นของรัฐบาล ส่วนการลงทุนจากต่างชาติก็มีน้อยมาก
2
อนุสาวรีย์ และภาพของท่านผู้นำ สามารถพบเห็นได้ทั่วไป (Source: Pinterest)
ในปี 1999 หลังจากปกครองประเทศเป็นเวลา 7 ปี ทางรัฐสภาของเติร์กเมนิสถานประกาศให้ประธานาธิบดี Saparmurat Niyazov เป็นประธานาธิบดีตลอดชีพ (President for Life) เนื่องจากประชาชนชาวเติร์กเมนิสถาน “ต่างยกย่องและยอมรับ” ในความเก่งกาจในการบริหารประเทศ และเพื่อให้แผนพัฒนาประเทศระยะยาวของท่านผู้นำได้รับการบริหารอย่างเต็มประสิทธิภาพ
1
สิ่งที่มาพร้อมกับคำว่าประธานาธิบดีตลอดชีพก็คือ การสูญสิ้นซึ่งการแข่งขันทางการเมือง ประเทศเติร์กเมนิสถานจึงกลายมาเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา คู่แข่งทางการเมืองหลายคนถูกจับขังคุก เนรเทศ หรือ "กำจัด" โดยวิธีการอื่น ๆ มีนักกิจกรรมคนหนึ่งโดนจับเข้าโรงพยาบาลบ้า เพียงเพราะบังอาจเขียนจดหมายขอประท้วงโดยสงบต่อต้านรัฐบาล
1
Saparmurat Niyazov ถูกประกาศให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตลอดชีพในปี 1999 (Source: http://www.asianews.it)
ปฏิรูปการเกษตร : วันแตงไทยแห่งชาติ
ตอนที่เติร์กเมนิสถานอยู่ภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียต เจ้าหน้าที่ทางการเกษตรของแต่ละเขตจะได้รับการกำหนดโควต้าที่จะต้องทำให้ได้ ซึ่งแม้จะพ้นจากการเป็นสหภาพโซเวียตแล้ว Niyazov ก็ยังคงใช้ระบบโควต้านี้อยู่ ถ้าหากว่าเจ้าหน้าที่รัฐคนไหนไม่สามารถทำได้ก็จะโดนไล่ออกทันที อย่างในเดือนตุลาคมปี 2004 ผลผลิตฝ้ายทั่วประเทศสามารถเก็บได้เพียง 16.8% ของปริมาณที่กำหนดเท่านั้น ส่งผลให้เจ้าหน้าที่เกษตรหลายคนโดนไล่ออก
1
อุตสาหกรรมฝ้ายของเติร์กเมนิสถาน (Source: http://theapparelnews.com)
ส่วนชาวไร่ชาวนาก็รู้สึกว่ารายได้ที่พวกเขาควรจะได้ กลับตกอยู่ในมือของรัฐบาล และในเมื่อทุกคนได้รายได้เท่าเทียมกัน ทำให้เกิดการเกี่ยงงานและขี้เกียจ ซึ่งก็นำไปสู่ภาคการเกษตรที่ล้มเหลวในที่สุด
2
พืชเศรษฐกิจสำคัญของเติร์กเมนิสถานคือฝ้าย ในสมัยก่อนเติร์กเมนิสถานจะส่งออกแต่เพียงฝ้ายดิบเท่านั้น ซึ่งเป็นผลผลิตที่ราคาต่ำ Niyazov จึงมีการนำเอาเครื่องจักรทุ่นแรง และเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อมาเพิ่มมูลค่าผลผลิต นี่เองที่ทำให้เกิดอุตสาหกรรมสิ่งทอขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศแห่งนี้ ซึ่งในปัจจุบันเติร์กเมนิสถานส่งออกฝ้ายเป็นอันดับที่ 28 ของโลก
2
อุตสาหกรรมฝ้ายในประเทศได้รับการพัฒนาขึ้นมาก ในยุคของ Niyazov (https://en.trend.az)
แต่ที่เด็ดที่สุดคือการกำหนด “วันแตงไทย” ขึ้น ซึ่งจะตรงกับวันอาทิตย์ที่ 2 ของเดือนสิงหาคมของทุกปี เริ่มตั้งแต่ปี 1994 วันนี้ถือเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ ทุกคนจะหยุดทำงานเพื่อมาเฉลิมฉลองผลไม้อันทรงคุณค่านี้ตามคำแนะนำของท่านผู้นำ
3
พันธุ์แตงไทยที่ดีที่สุดของประเทศก็หนีไม่พ้น พันธุ์ Turkmenbashi ที่ตั้งชื่อตามท่านผู้นำ ซึ่งมีชื่อเสียงในเรื่องของกลิ่นและรสชาติอันหอมหวาน และขนาดที่ใหญ่ ท่านผู้นำ Niyazov เคยกล่าวในปี 2004 ว่า “พระเจ้าได้มอบผืนดินอันอุดมสมบูรณ์ให้กับเติร์กเมนิสถาน และแตงไทยของเราเป็นเสมือนผลไม้จากสรวงสวรรค์ ผลไม้ที่มีรสชาติไม่เหมือนใคร และมีกลิ่นที่ทำให้ทุกคนต้องหลงใหล” การเฉลิมฉลองหลักจะจัดที่เมืองหลวง Ashgabat โดยมีการจัดแสดงผลผลิตทางการเกษตรจากทั่วประเทศ และการแสดงพื้นเมือง
3
วันแตงไทยแห่งชาติ วันหยุดนักขัตฤกษ์ที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองผลไม้จากสรวงสวรรค์ (Source: http://www.turkmenistan.ru)
ปฏิรูปวัฒนธรรม : เปลี่ยนชื่อวัน เปลี่ยนชื่อเดือน
สิ่งแรก ๆ ที่ Niyazov ทำหลังจากขึ้นปกครองคือการจัดตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูวัฒนธรรมขึ้น เพื่อทำให้เติร์กเมนิสถานมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว และลบล้างภาพความเป็นโซเวียตให้ออกไปมากที่สุด
การประชุมสภาของเติร์กเมนิสถาน (Source: https://rus.azattyq.org)
เริ่มจากการที่พ่อของ Niyazov ที่เคยเสียชีวิตจากการสู้รบกับกองทัพนาซีเยอรมันมาก่อนในสงครามโลกครั้งที่ 2 (ตามที่ Niyazov อ้าง) ทำให้เติร์กเมนิสถาน เป็นประเทศโซเวียตเก่าไม่กี่ประเทศที่มีการเฉลิมฉลองวันที่มีความเกี่ยวข้องกับสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเอิกเกริก โดยวันนั้นตรงกับวันที่ 9 พฤษภาคม ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นวันแห่งชัยชนะ หรือ Victory Day
1
กิจกรรมหลักคือการรำลึกถึงเหล่าบรรดาผู้เสียชีวิตจากสงคราม และหนึ่งในคนเหล่านั้นก็หนีไม่พ้นพ่อของเขานั่นเอง ซึ่งได้รับตำแหน่ง ฮีโร่แห่งเติร์กเมนิสถานในปี 1994 และในปี 2004 หน่วยทหารราบหน่วยหนึ่งของกองทัพบกก็ได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็นหน่วย Atamyat Niyazov ตามชื่อพ่อของเขา
2
งานเฉลิมฉลอง Victory Day ของเติร์กเมนิสถาน (Source: https://akipress.com)
เรื่องต่อมาคือการเปลี่ยนตัวอักษร เติร์กเมนิสถานใช้ภาษาเติร์กมันในการสื่อสาร ซึ่งในศตวรรษที่ 13-14 การเขียนจะใช้ตัวอักษรอารบิกเป็นหลัก จนกระทั่งเมื่อโซเวียตเข้ามาปกครอง ทำให้มีการนำอักษร Cyrillic ของรัสเซียมาใช้ในการเขียนแทน ดังนั้นเมื่อได้รับเอกราชท่านผู้นำจึงตัดสินใจนำอักษรลาตินมาใช้แทน โดยมีการประกาศใช้ครั้งแรกในปี 1993
ภาษาเติร์กมัน ที่ตอนหลังหันมาใช้ตัวอักษรลาตินเป็นตัวเขียนแทน (Source: Omniglot.net)
แต่เรื่องที่เป็นที่ฮือฮามากที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในปี 2002 นั่นก็คือการเปลี่ยนชื่อวันประจำสัปดาห์ และชื่อเดือนที่ใช้กันมานานหลายร้อยปี โดยเปลี่ยนเป็นชื่อของกวีเอกบ้าง บุคคลสำคัญบ้าง เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์บ้าง หรือชื่อของคนในครอบครัวบ้าง
ตัวอย่างเดือนที่เด่น ๆ ก็อย่างเช่น
เดือนตุลาคม เปลี่ยนชื่อเป็น Bitaraplyk ซึ่งหมายถึงความเป็นกลาง เพราะเติร์กเมนิสถานประกาศตนเองว่าจะดำรงตนเป็นกลางในทุกสถานการณ์
เดือนกันยายน เปลี่ยนชื่อเป็น Ruhmana ตามหนังสือที่ท่านผู้นำแต่งเอง เป็นหนังสือที่เกี่ยวกับจิตวิญญาณของการเป็นชาวเติร์กเมนิสถานซึ่งเดี๋ยวจะขอกล่าวถึงในหัวข้อถัดไป
3
เดือนเมษายน เปลี่ยนชื่อเป็น Gurbansoltan ซึ่งเป็นชื่อของแม่ของ Niyazov ในขณะที่เดือนมิถุนายน เปลี่ยนชื่อเป็น Oguz ซึ่งตั้งตามชื่อของ Oguz Khan บรรพบุรุษของชาวเติร์กมันทั้งปวง
1
Oguz Khan บรรพบุรุษของชาวเติร์กมันทั้งปวง และเป็นชื่อของมิถุนายน (Source: https://www.quora.com)
ส่วนวันประจำสัปดาห์ทั้ง 7 วันก็ถูกเปลี่ยนชื่อทั้งหมดเช่น วันอังคาร เปลี่ยนเป็น Ýaşgün หรือ Young Day วันหนุ่มสาว วันเสาร์ เปลี่ยนเป็น Ruhgün หรือ Spiritual Day วันแห่งจิตวิญญาณ วันที่ดูน่าจะปกติที่สุดน่าจะเป็นวันอาทิตย์ ซึ่งเปลี่ยนเป็น Dynçgün หรือ Rest Day วันพักผ่อน
1
หนุ่มสาวชาวเติร์กเมนิสถาน ในชุดนักเรียน (Source: Flickr)
ถ้าเราลองสังเกตดีดีจะพบว่าคณะกรรมการฟื้นฟูวัฒนธรรม จริงๆ แล้วเป็นการสร้างวัฒนธรรมขึ้นมาใหม่มากกว่า เพราะแทบจะไม่ได้มีกิจกรรมอะไรที่เป็นการนำวัฒนธรรมเก่า ๆ มาประยุกต์เลย
ปฏิวัติธุรกิจพลังงาน : น้ำไฟใช้ฟรี
แม้จะมีผู้นำที่เป็นเผด็จการ สิ่งหนึ่งที่ช่วงพยุงเศรษฐกิจ และประชากร 5 ล้านคนของเติร์กเมนิสถานเอาไว้คืออุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติที่ประเทศนี้มีมากเป็นอันดับ 6 ของโลก นำรายได้มหาศาลให้กับประเทศ
2
ถ้ายังมองภาพไม่ออก ในปี 2019 มูลค่าการส่งออกของน้ำมันและก๊าซธรรมชาติคิดเป็น 94.5% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ตามมาด้วยอันดับสองคือฝ้ายและสิ่งทอที่ 2.3% เท่านั้น
โรงกลั่นน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่สร้างในสมัยของ Niyazov (Source: https://www.hydrocarbonengineering.com)
แน่นอนว่าธุรกิจทั้งสองอยู่ในการควบคุมของรัฐบาล 100% แต่หลังจากได้รับอิสรภาพ Niyazov ได้ทำการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล่านี้ โดยเฉพาะการสร้างโรงกลั่นน้ำมัน และโรงงานเคมีภัณฑ์ ทำให้จากประเทศที่ส่งออกเพียงน้ำมันดิบ เติร์กเมนิสถานสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่มีมูลค่าสูงได้ และในปัจจุบันมีการสร้างท่อลำเลียงก๊าซธรรมชาติจากเติร์กเมนิสถาน มายังประเทศอินเดีย ปากีสถาน และจีนเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
1
และในเมื่อมีก๊าซธรรมชาติมากมายขนาดนี้ ทางท่านผู้นำเลยประกาศในปี 1991 ว่า ตั้งแต่ปี 1991-2001 น้ำประปา ไฟฟ้า และก๊าซหุงต้มจะเป็นของฟรีสำหรับประชาชนทุกคน ซึ่งนโยบายนี้ได้รับการยืดมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงปี 2018 ที่มีการยกเลิกนโยบายนี้อย่างถาวร นับว่าเป็นเวลายาวนานถึง 37 ปี ที่เติร์กเมนิสถานเป็นประเทศเดียวในโลกที่ประชาชนไม่ต้องจ่ายค่าสาธารณูปโภคเลย
4
เป็นเวลายาวนานถึง 37 ปี ที่เติร์กเมนิสถานเป็นประเทศเดียวในโลกที่ประชาชนไม่ต้องจ่ายค่าสาธารณูปโภคเลย (Source: https://business.com.tm)
ปฏิวัติชีวิตประชาชน : ปิดโรงพยาบาลทั่วประเทศ
ประเทศที่เป็นเผด็จการ ไม่ใช่ว่าจะไม่มีสิ่งบันเทิงเริงใจ แน่นอนว่าเติร์กเมนิสถานมีสถานีโทรทัศน์เป็นของตนเอง แต่ก็เหมือนกับเกาหลีเหนือ สถานีโทรทัศน์ทุกช่องถูกควบคุมโดยรัฐบาล ที่มักจะออกข่าวเกี่ยวกับภารกิจของท่านผู้นำ ความดีความชอบต่าง ๆ ที่ท่านผู้นำทำ พูดง่าย ๆ คือโทรทัศน์ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการโปรโมทลัทธิบูชาบุคคลนั่นเอง ส่วนรายการอื่น ๆ ก็มักจะพูดถึงข่าวสารบ้านเมืองที่ทุกเรื่องล้วนถูกควบคุมโดยหน่วยงานของรัฐบาลเท่านั้น
2
สถานีโทรทัศน์ของเติร์กเมนิสถาน ซึ่งมี 7 ช่อง ซึ่งถูกควบคุมโดยรัฐบาลทั้งหมด (Source: https://tm.hronikatm.com)
อีกอย่างที่มักจะมีการถ่ายทอดสดคือเวลาที่ท่านผู้นำประชุมสภา หรือให้โอวาทในโอกาสต่าง ๆ ซึ่งภาพที่เห็นคือสมาชิกในที่ประชุมจะอยู่ในชุดเต็มยศ พร้อมกับสมุดจดในมือ และบันทึกสิ่งที่ท่านผู้นำกล่าวอย่างขมักเขม้น เหมือนกับเป็นคำสอนที่สำคัญที่สุดที่พวกเขาจะได้ยินในชีวิตนี้
3
ส่วนอินเตอร์เนท ตอนแรกไม่ได้มีการควบคุมการใช้งานมากนัก แต่ในปี 2001 ร้านอินเตอร์เนททั่วประเทศถูกสั่งปิด ผู้ให้บริการทางอินเตอร์เนทเหลือเพียงเจ้าเดียวเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าต้องเป็นเจ้าของรัฐบาล ทำให้ในปี 2005 ก่อนที่ Niyazov จะเสียชีวิต ประชาชนชาวเติร์กเมนิสถานเพียง 1% เท่านั้น ที่มีโอกาสเข้าถึงการใช้งานอินเตอร์เนท
1
อินเตอร์เนทถูกมองว่าเป็นสิ่ง "แปลกปลอม" ในสมัยของ Niyazov
แต่สองเรื่องแรกอาจจะฟังดูไม่แปลก สำหรับประเทศที่ปกครองแบบเผด็จการ มาฟังเรื่องสุดขั้วอื่นกันบ้างดีกว่า
เริ่มจากในเดือนมีนาคม 2004 ท่านผู้นำเกิดมีความคิดประหลาด โดยมีคำสั่งให้ไล่พนักงานสาธารณสุข 15000 คนทั่วประเทศออก ทั้งแพทย์ พยาบาล และคนดูแลผู้สูงอายุ และถัดมาในปี 2005 โรงพยาบาลทั่วประเทศถูกสั่งให้ปิดตัวลง โดยท่านผู้นำกล่าวว่า "ถ้าใครอยากมาพบแพทย์ ให้เดินทางเข้ามาที่เมืองหลวง Ashgabat" นั่นทำให้ระบบสาธารณสุขที่ย่ำแย่อยู่แล้วยิ่งแย่ลงไปอีก และก่อให้เกิดความวุ่นวายไปทั่วประเทศ ส่วนแพทย์และพยาบาลที่ปกติแล้วจะต้องทำการสาบานตนเพื่อจรรยาบรรณทางการแพทย์ก่อนเข้าทำงาน กลับถูกสั่งให้สาบานตนต่อท่านผู้นำแทน
1
อีก 1 ปีถัดมาในปี 2006 1 ใน 3 ของคนชราในเติร์กเมนิสถาน ถูกยกเลิกเงินบำนาญโดยไม่มีการบอกกล่าวมาก่อน ในขณะที่คนชราอีกกว่า 200,000 คนถูกลดเงินบำนาญ ซ้ำร้ายยังมีการสั่งให้จ่ายเงินบำนาญที่ได้รับในเวลาสองปีก่อนหน้าคืนรัฐบาลทั้งหมด คนชรามากมายต้องกลายมาเป็นคนเร่ร่อนข้างทาง ใครที่ไม่สามารถจ่ายเงินคืนได้ก็ถูกยึดทรัพย์สินไปอย่างทารุณ
3
คนชราหลายคนในเติร์กเมนิสถาน กลายมาเป็นคนไร้บ้าน เนื่องจากเงินบำนาญโดนยกเลิกในสมัยของ Niyazov (Source: https://www.rferl.org)
นอกจากนี้ยังมีการออกกฎหมายและข้อบังคับประหลาด ๆ ออกมาอีกมากมาย เช่น
ให้ทำการกำจัดสุนัขออกไปจากเมืองหลวง Ashgabat ทั้งหมด เพราะว่าสุนัข “มีกลิ่นที่ไม่ค่อยน่าพึงประสงค์นัก” ซึ่งเรื่องตลกคือประธานาธิบดีคนปัจจุบันของประเทศ เป็นคนที่รักสุนัขมาก และนอกจากจะอนุญาตให้สามารถเลี้ยงสุนัขในเมืองหลวงได้แล้ว ท่านผู้นำยังได้สร้างอนุสาวรีย์สุนัขทองคำไว้กลางเมืองอีกด้วย โดยสุนัขพันธุ์นี้เป็นพันธุ์พื้นเมืองชื่อ Alabai และถูกกำหนดให้เป็นมรดกของชาติอย่างหนึ่ง
2
อนุสาวรีย์สุนัขทองคำกลางเมือง Ashgabat ที่สร้างโดยประธานาธิบดีคนปัจจุบัน (Source: CNN)
ห้ามมีการแสดงโอเปร่า บัลเล่ต์ หรือละครสัตว์ในประเทศเด็ดขาด เนื่องจากว่าเป็นสิ่งที่ดู “ไม่มีความเป็นเติร์กเมนิสถาน”
2
ห้ามมีการทำการลิปซิงค์ (Lip Sync) ในการแสดงคอนเสิร์ตทุกประเภท รวมถึงในงานแสดงดนตรีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงกลางแจ้ง ในโทรทัศน์ หรือแม้กระทั่งในงานแต่งงานส่วนตัว ดนตรีที่แสดงจะต้องเป็นดนตรีสดเท่านั้น ห้ามมีการเปิดเทปบันทึกเสียงเด็ดขาด (ดังนั้นอาชีพที่ไม่น่าตกงานในประเทศนี้น่าจะเป็นนักดนตรีนี่เอง) โดยท่านผู้นำให้เหตุผลว่าการใช้เทปบันทึกเสียง จะทำให้ศิลปะทางดนตรีอันทรงคุณค่าต้องสูญสลายไป
2
การแสดงดนตรีในเติร์กเมนิสถานจะต้องเป็นการแสดงสดเท่านั้น (Source: https://thecentralasia.com)
ห้ามนักข่าว และพิธีกรในโทรทัศน์ แต่งหน้าออกโทรทัศน์ เนื่องจากว่าสตรีชาวเติร์กเมนิสถาน มีความงามตามธรรมชาติอยู่แล้ว (ข่าวร้ายสำหรับบริษัทผลิตเครื่องสำอางค์)
4
ไม่อนุญาตให้ผู้ชายชาวเติร์กเมนิสถานไว้หนวดเครา หรือไว้ผมยาว (ข่าวดีของร้านตัดผม) แต่ในปัจจุบันกฎนี้ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว
2
ในยุคของ Niyazov ชายชาวเติร์กเมนิสถานถูกห้ามไม่ให้ไว้หนวดเครา หรือผมยาว (Source: Pinterest)
ไม่อนุญาตให้ชาวเติร์กเมนิสถานใส่ฟันปลอม โดยท่านผู้นำบอกว่า ในสมัยที่ท่านเป็นเด็ก ท่านเห็นสุนัขเคี้ยวกระดูกทุกวัน ซึ่งนั่นทำให้ฟันของสุนัขแข็งแรง ดังนั้นถ้าอยากมีฟันที่แข็งแรง ก็ขอให้ไปแทะกระดูกซะ ทำให้ชาวเติร์กเมนิสถานที่มีฟันปลอม ต้องไปเปลี่ยนฟันปลอมให้เป็นสีขาวแทน (ข่าวดีสำหรับทันตแพทย์)
5
นอกจากจะมีการเปลี่ยนชื่อเดือน วัน ถนนหนทาง ตามชื่อสมาชิกในครอบครัวแล้ว คำว่า “ขนมปัง” ในภาษาเติร์กมัน ก็เปลี่ยนเป็นคำว่า Gurbansoltan ซึ่งเป็นชื่อของแม่ Niyazov นั่นเอง
อนุสาวรีย์ Gurbansoltan แม่ของ Niyazov ซึ่งชื่อของเธอกลายมาเป็นชื่อเดือนเมษายน และเป็นชื่อเรียกแทนคำว่า "ขนมปัง" (Source: Wikipedia)
ในปี 1997 หลังจากที่ต้องเลิกบุหรี่ เนื่องจากอาการโรคหัวใจกำเริบ ท่านผู้นำสั่งให้เจ้าหน้าที่ในรัฐบาลทุกคนเลิกบุหรี่ และออกกฎห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะในเวลาต่อมา โดยมีค่าปรับสูงถึง 50 ดอลล่าร์ ซึ่งเท่ากับเงินเดือนเดือนหนึ่งของประชากรส่วนใหญ่เลยทีเดียว (ข่าวดีสำหรับสุขภาพของชาวเติร์กเมนิสถาน ข่าวร้ายสำหรับบริษัทบุหรี่)
6
ห้ามขับรถพวงมาลัยขวาในประเทศ แม้ว่ารถคันนั้นจะได้รับการดัดแปลงมาเป็นรถพวงมาลัยซ้ายแล้วก็ตาม เพราะอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย (ข่าวร้ายสำหรับบริษัทนำเข้ารถหรู)
1
Saparmurat Niyazov (Source: Pinterest)
ปฏิวัติธรรมชาติ : ทะเสสาบเทียมอันแห้งเหือด
เนื่องจากว่าพื้นที่ส่วนมากของเติร์กเมนิสถานเป็นทะเลทราย ทำให้น้ำเป็นสิ่งขาดแคลน ท่านผู้นำเลยมีไอเดียในการสร้างป่าและทะเลสาบขึ้น เพื่อให้ประเทศดูร่มรื่นและ “สุนทรีย์” มากยิ่งขึ้น
The Gate of Hell หรือประตูสู่นรก ซึ่งตั้งอยู่ในทะเลทราย Karakum หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของเติร์กเมนิสถาน (Source: Pinterest)
หนึ่งในโครงการใหญ่คือการสร้างทะเลสาบเทียม Altyn Asyr ขึ้นในทะเลทราย Karakum ทางตอนเหนือของประเทศ โดยมีวิธีการคือการขุดคลองจากแม่น้ำสายหลักสองสายของประเทศ ผ่านทะเลทราย เพื่อให้ไหลลงมาที่ทะเลสาบแห่งนี้ การก่อสร้างเริ่มต้นขึ้นในปี 1999 โดยมีงบประมาณในการก่อสร้างมากถึง 4.5 พันล้านดอลล่าร์ ซึ่งสุดท้ายบานปลายกลายเป็น 6 พันล้านดอลล่าร์
การขุดคลองเชื่อมแม่น้ำ มายังทะเลสาบในปี 2005 (Source: https://en.trend.az)
ปัญหาคือ ตำแหน่งของทะเลสาบนั้นตั้งอยู่ใจกลางทะเลทราย ทำให้น้ำจากแม่น้ำทั้งสองต้องเดินทางผ่านดินแดงแห้งแล้งที่ในเวลากลางวันอาจจะมีอุณหภูมิสูงถึง 50 องศาเซลเซียส ซึ่งนักวิชาการต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า น้ำในคลองเหล่านั้นจะระเหยไปก่อนที่จะเดินทางมาถึงทะเลสาบอย่างแน่นอน
ทะเลสาบแห่งนี้สร้างเสร็จในระยะแรกในปี 2009 และก็เป็นอย่างที่นักวิชาการพูด ทะเลสาบแห่งนี้ตื้นเขิน น้ำจากแม่น้ำทั้งสองเดินทางมาแทบจะไม่ถึง และปัจจุบันทะเลสาบแห่งนี้ก็ถูกปล่อยให้แห้งเหือดไปตามกาลเวลา
ทะเลสาบ Altyn Asyr ในปัจจุบัน ซึ่งมีปริมาณน้ำน้อยมาก (Source: https://www.thethirdpole.net)
นอกจากจะไม่ได้ประโยชน์อะไรแล้ว ชาวนาชาวไร่ที่อาศัยอยู่หลังจุดที่แม่น้ำโดนดึงน้ำไป ก็ต้องประสบปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำอีกต่างหาก
อีกหนึ่งโครงการใหญ่คือการปลูกป่า โดยท่านผู้นำได้กล่าวไว้ว่าการปลูกป่า จะช่วยให้ภูมิอากาศอันร้อนระอุของเติร์กเมนิสถานนั้นเย็นลงได้ Niyazov สั่งให้มีการปลูกต้นไม้เป็นพื้นที่ 1000 ตารางกิโลเมตร นอกเมืองหลวง Ashgabat โดยต้นไม้ที่เลือกปลูกคือต้นสน Archa ที่มีชื่อเสียงเรื่องอายุยืนยาว โดยท่านผู้นำบอกไว้ว่า ป่าแห่งนี้จะเป็นป่าที่จะอยู่ไปอีกเป็นพันพันปี
2
โครงการปลูกป่ารอบเมือง Ashgabat เพื่อลดอุณหภูมิของประเทศลง (Source: https://www.haberler.com)
ปัจจุบันต้นสนเหล่านี้ยังคงตั้งตระหง่าน แต่หลายต้นก็เริ่มตายไปเนื่องจากทนสภาพอากาศไม่ไหว คงต้องรอดูอนาคตกันต่อไปว่าป่าพันปีของท่านผู้นำนั้น จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ เพราะในตอนนี้ประธานาธิบดีคนใหม่ของประเทศก็ยังสนับสนุนโครงการนี้อยู่ แต่อย่าลืมว่าการทำให้ต้นสนเหล่านี้มีชีวิตรอด จะต้องใช้น้ำปริมาณมากขนาดไหน ในประเทศที่ประชากรเกือบ 30% ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดได้
1
ปัจจุบันต้นสนหลายต้นยังคงตั้งตระหง่านอยู่ ในดินแดนอันแห้งแล้งนี้ (Source: https://business.com.tm)
ปฏิวัติสุขภาพ : ทางเดินแห่งสุขภาพ
และเพื่อเป็นการรักษาสุขภาพของประชาชน (เพราะท่านได้สั่งปิดโรงพยาบาลนอกกรุง Ashgabat ไปหมดแล้ว) ท่านผู้นำยังมีแนวคิดบรรเจิดอีกอย่าง โดยการสร้างสิ่งที่เรียกว่า “ทางเดินแห่งสุขภาพ (Walk of Health)” ขึ้น
ช่วงหนึ่งของทางเดิน Walk of Health (Source: https://eisernerhans.com)
ทางเดินแห่งนี้เป็นทางเดินสร้างจากคอนกรีต มีความยาวทั้งสิ้น 37 กิโลเมตร ขึ้นลงไปตามภูเขา Kopet Dag ใกล้ ๆ กับเมือง Ashgabat โดยมีวัตถุประสงค์คือเพื่อใช้เป็นสถานที่ออกกำลังกายสำหรับประชาชน โดยเจ้าหน้าที่รัฐบาลทุกคนจะต้องเดินในเส้นทางนี้อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อเป็นตัวอย่างอันดี และท่านผู้นำยังแนะนำให้ประชาชนทั่วไปมาเดินที่เส้นทางนี้อย่างน้อยปีละครั้งด้วยเช่นกัน
5
ทุกปี ท่านผู้นำจะมาปล่อยตัวเหล่าบรรดาคณะรัฐบาล เพื่อทำการเดินในเส้นทางนี้ จากนั้นตัวเองจะขึ้นเฮลิคอปเตอร์ เพื่อไปรอรับพวกเขาอีกครั้งที่จุดสิ้นสุดของทางเดิน พร้อมทั้งคอยตำหนิผู้ที่เดินไม่ไหว เดินช้า หรือเดินไม่ถึง โดยท่านผู้นำอ้างว่าท่านเป็นโรคหัวใจ เลยไม่สามารถเข้าร่วมในการเดินได้
10
เส้นทางเดิน Walk of Health ที่จะไต่ขึ้นไปบนเขา Kopet Dag ระยะทาง 37 กิโลเมตร (Source: https://www.advantour.com)
สุดท้ายมีแพทย์หลายคนออกมาบอกว่าการเดินในเส้นทางที่ไม่มีร่มเงา ในเวลากลางวันแสก ๆ แบบนี้ จะมีแต่ได้ผลร้ายมากกว่าผลเสีย ทำให้ในที่สุดทางการเติร์กเมนิสถานจึงต้องปลูกต้นไม้เพื่อให้ร่มเงาแก่ผู้ที่มา “ออกกำลังกาย” ซึ่งก็คงไม่มีผลอะไรต่อท่านผู้นำมากนัก เพราะยังไงท่านก็ยังนั่งเฮลิคอปเตอร์อยู่ดี
1
ปฏิวัติการศึกษา : หนังสือแห่งจิตวิญญาณ
แม้ว่าอัตราการรู้หนังสือของประชากรชาวเติร์กเมนิสถานจะสูงถึง 97% แต่ถ้าดูในรายละเอียดจะพบว่าระบบการศึกษาของประเทศนี้ไม่เหมือนที่อื่น เพราะท่านผู้นำสั่งให้ลดการศึกษาระดับมัธยมจาก 6 ปี เหลือเพียง 5 ปี ซึ่งองค์กรทั่วโลกต่างวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการจงใจทำให้ประชาชนไม่มีความรู้ เพื่อป้องกันการต่อต้านรัฐบาลนั่นเอง
3
และนอกจากจะปิดโรงพยาบาลทั่วประเทศแล้ว ท่านผู้นำยังสั่งให้ปิดห้องสมุดทั่วประเทศด้วยเช่นกัน เหลือไว้เพียงแต่ห้องสมุดใน Ashgabat โดยกล่าวไว้ว่าหนังสือที่สำคัญที่สุดในโลกมีเพียง 2 เล่มคือคัมภีร์อัลกุรอ่าน และหนังสือ Ruhnama ที่ท่านผู้นำเป็นผู้แต่งเอง และยังไงคนในชนบทก็อ่านหนังสือไม่ออกอยู่ดี
1
หนังสือ Ruhnama หรือหนังสือแห่งจิตวิญญาณที่ท่านผู้นำเป็นผู้แต่งเอง (Source: Wikipedia)
หนังสือ Ruhnama แปลตรง ๆ ว่าหนังสือแห่งจิตวิญญาณ ซึ่งมีประวัติความเป็นมาคือ อยู่มาวันหนึ่ง ท่านผู้นำ Niyazov ได้รับสารจากบรรพบุรุษชาวเติร์กมันว่า เขาจะต้องเป็นผู้นำชาวเติร์กเมนิสถาน ไปสู่ “หนทางทองแห่งชีวิต” ดังนั้นท่านผู้นำจึงเขียนหนังสือขึ้นมา 2 เล่ม เล่มแรกเป็นการกล่าวถึงคุณงามความดีที่ชาวเตริ์กเมนิสถานพึงกระทำ รวมไปถึงประวัติศาสตร์ของชาวเติร์กมัน (ซึ่งนักประวัติศาสตร์บอกว่าส่วนใหญ่ล้วนถูกบิดเบือน) และที่จะขาดไม่ได้คือชีวิตของท่านผู้นำว่าเป็นเด็กกำพร้า และความพยายามที่จะปลดปล่อยประเทศให้เป็นอิสระจากสหภาพโซเวียต
1
ส่วนเล่มที่ 2 จะเป็นการกล่าวว่าหนังสือ Ruhnama มีฐานะเทียบเท่ากับคัมภีร์อัลกุรอ่าน ควรค่าแก่การเคารพ และควรค่าแก่ท่องจำ
2
คำพูดที่โด่งดังมากจากหนังสือเล่มนี้คือ "ถ้าชายใด ทำให้ภรรยาหรือลูกสาวของตนเองโกรธ ชายผู้นั้นไม่ใช่ชาวเติร์กมันแน่นอน เพราะชายชาวเติร์กมันเป็นคนใจดีโดยเนื้อแท้ไปจนถึงจิตวิญญาณ"
2
หนึ่งในเนื้อหาของหนังสือ Ruhnama คือการท่องบทปฏิญาณตน ที่ชาวเติร์กเมนิสถานจะต้องท่องให้ขึ้นใจ (Source: https://www.dvfilm.ch)
สรุปแล้วคือหนังสือ Ruhnama เป็นหนังสือที่ทำขึ้นเพื่อโปรโมทลัทธิบูชาตัวบุคคลของ Niyazov นั่นเอง และหนังสือเล่มนี้ก็ถูกบรรจุเข้าไปในหลักสูตรการศึกษาของเติร์กเมนิสถานตั้งแต่ชั้นประถมจนถึงมหาวิทยาลัย นักเรียนทุกคนจะต้องศึกษาหนังสือเล่มนี้อย่างละเอียด จนถึงขั้นท่องจำได้ มีการจัดสอนวิชา Ruhnama ในโรงเรียนโดยเฉพาะ โดยเด็กนักเรียนชั้นประถมและมัธยมจะต้องเรียนวิชานี้ 2-4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และเพิ่มเป็น 4-8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในระดับมหาวิทยาลัย วิชาประวัติศาสตร์ที่ถูกสอนในสถานศึกษาล้วนอ้างอิงมาจากหนังสือ Ruhnama ทั้งสิ้น
1
มีการกำหนดชั่วโมงเรียนวิชา Ruhnama อย่างจริงจังในทุกระดับชั้นการศึกษา (Source: BBC)
ยิ่งไปกว่านั้น การสอบเข้ารับราชการ หรือแม้กระทั่งสอบใบขับขี่ จะต้องมีการสอบวิชา Ruhnama ด้วยเช่นกัน มีการตั้งคณะ “Ruhnama ศึกษา” ในมหาวิทยาลัย มีการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการมากมายเพื่อสนับสนุนหนังสือเล่มนี้ เรียกได้ว่าหนังสือที่เขียนโดยคนคนหนึ่ง ได้รับการเชิดชูประดุจกับเป็นสิ่งสำคัญของชนชาติเติร์กมันเลยทีเดียว
1
หนังสือ Ruhnama ที่ได้รับการเชิดชูว่าเป็นหนึ่งในสิ่งที่น่าภาคภูมิใจของชาติ (Source: BBC)
และเพื่อเป็นการเชิดชูหนังสือเล่มนี้ให้ยิ่งใหญ่ขึ้นไปอีก มีการสร้างอนุสาวรีย์หนังสือ Ruhnama สูง 20 ฟุต กลางเมือง Ashgabat ซึ่งจะเปิดออก พร้อมการแสดงแสง สี เสียงทุกวันเวลา 2 ทุ่ม และที่หลุดโลกไปมากที่สุดคือในเดือนเมษายน 2005 มีการส่งหนังสือ Ruhnama ขึ้นไปกับยานอวกาศของรัสเซีย เพื่อไปโคจรรอบโลก โดย Niyazov บอกว่าเป็นการกระทำ เพื่อให้ชาวโลกทุกคน ได้มีโอกาสได้รับพรจากหนังสือเล่มนี้
2
อนุสาวรีย์หนังสือ Ruhnama สูง 20 ฟุต กลางเมือง Ashgabat (Source: Pinterest)
ถ้าใครอยากอ่าน ไม่ต้องกังวลว่าจะอ่านไม่รู้เรื่อง เพราะหนังสือ Ruhnama ได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ กว่า 50 ภาษาทั่วโลก ซึ่งส่วนมากเป็นการแปลเพื่อเอาใจ Niyazov เพื่อที่จะสามารถทำธุรกิจในประเทศเติร์กเมนิสถานได้ และถ้านั่นยังไม่จูงใจพอ ท่านผู้นำสัญญาว่า ใครอ่านหนังสือเล่มนี้ครบ 3 รอบ จะได้ขึ้นสวรรค์ไปอยู่กับพระเจ้าอย่างแน่นอน เพราะเขาได้ไปทำสัญญากับพระเจ้าในเรื่องนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
3
สุดท้ายสำหรับใครที่จบการศึกษาจากต่างประเทศ ปริญญาและใบจบการศึกษาต่าง ๆ ไม่สามารถนำมาใช้สมัครงานที่ประเทศนี้ได้ เนื่องจากรัฐบาลเติร์กเมนิสถานปฏิเสธที่จะยอมรับการศึกษาจากต่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาสมองไหล ดังนั้นใครที่ตัดสินใจที่จะไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ ก็ต้องทำใจไว้ว่าอาจจะไม่สามารถกลับมาทำงานที่เติร์กเมนิสถานได้อีก
2
อนุสาวรีย์หนังสือ Ruhnama ที่จะเปิดออกทุกวันเวลา 20.00 เพื่อเป็นการแสดง แสง สี เสียง (Source: https://www.dvfilm.ch/
ปฏิวัติเมืองหลวง : หินอ่อน และกล้องวงจรปิด
สิ่งสำคัญ อีกสิ่งหนึ่งที่ท่านผู้นำทิ้งไว้ให้กับคนรุ่นหลัง คือเมืองหลวง Ashgabat ซึ่งได้รับการพัฒนาและสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ผู้มาเยือนต่างก็ตกตะลึงกับความอลังการณ์ และสถาปัตยกรรมอันใหญ่โตมากมาย ตึกกว่า 563 แห่งสร้างจากหินอ่อนนำเข้าจากอิตาลี ทำให้ Ashgabat เป็นเมืองที่มีตึกที่สร้างจากหินอ่อนมากที่สุดในโลก โดยอาคารเหล่านั้นเชื่อมถึงกันด้วยถนนสี่เลนส์แสนกว้างขวาง พร้อมสะพานข้ามแยก มีสวนสาธารณะขนาดใหญ่โต และน้ำพุสวยงามมากมายทั่วเมือง เปรียบเสมือนดั่งเมืองในอุดมคติ
1
เมือง Ashgabat เมืองหลวงของเติร์กเมนิสถาน ที่มีตึกกว่า 500 แห่งที่สร้างจากหินอ่อน (Source: Pinterest)
แต่ถ้ามองลงไปในรายละเอียดดีดีจะเห็นว่า ถนนสี่เลนส์นั้นมีรถวิ่งน้อยมาก สวนสาธารณะก็ไม่ค่อยมีคน สนามหญ้ากว้างใหญ่ไม่มีใครมาปูเสื่อนั่งปิกนิค ไม่มีใครวิ่งออกกำลังกาย คนส่วนมากเพียงแค่เดินผ่านสวนสวยเหล่านี้ไปเท่านั้น ส่วนบรรดาตึกต่าง ๆ ที่แม้จะดูอลังการณ์ แต่กลับดูเงียบเชียบ อึมครึม
1
นั่นเป็นเพราะสิ่งก่อสร้างเหล่านี้ ถูกสร้างตามเมืองในอุดมคติของท่านผู้นำเท่านั้น คนจำนวนมากใน Ashgabat ถูกไล่ที่ให้ออกไปอยู่นอกเมือง และมีสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่ค่อยสู้ดีนัก ในขณะที่ในเมืองใหม่จะเป็นที่อยู่ของผู้ที่ทำงานให้กับรัฐบาลและชาวต่างชาติเท่านั้น
ถนนสี่เลนส์ใน Ashgabat ที่มีรถวิ่งน้อยมาก (Source: Pinterest)
ตึกมากมายถูกสร้างขึ้นเพื่อสนองความต้องการส่วนตัวจากรายได้มากมายที่ได้มาจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ตึกใน Ashgabat หลายแห่งถูกสร้างแต่กลับไม่ถูกใช้งาน นอกจากหอคอยแห่งความเป็นกลางที่มีรูปปั้นของท่านผู้นำที่จะหมุนตามทิศทางของพระอาทิตย์ ยังมีเสาธงสูง 113 เมตร ที่สูงเป็นอันดับ 5 ของโลก อนุสาวรีย์อิสรภาพ และมีการสร้าง Presidential Palace ขนาดใหญ่โต เพื่อใช้เป็นที่ทำงานของท่านประธานาธิบดี เพื่อความสมเกียรติอีกด้วย
Presidential Palace ที่ทำงานของท่านประธานาธิบดีเติร์กเมนิสถาน (Source: Pinterest)
มีการสร้างมัสยิดขนาดใหญ่ที่ตั้งชื่อตามท่านผู้นำว่า Türkmenbaşy Ruhy Mosque ซึ่งสร้างขึ้นในปี 2002-2004 ด้วยงบประมาณกว่า 100 ล้านดอลล่าร์ ใกล้ ๆ กับ Ashgabat พร้อมเสาตระหง่านสี่เสา สูง 91 เมตร ตามปี 1991 ที่ประเทศเติร์กเมนิสถานได้รับอิสรภาพจากสหภาพโซเวียต
มัสยิดขนาดใหญ่ที่ตั้งชื่อตามท่านผู้นำว่า Türkmenbaşy Ruhy Mosque งบประมาณ 100 ล้านดอลล่าร์ (Source: Pinterest)
และที่จะขาดไม่ได้คือในปี 2004 ท่านผู้นำมีแนวคิดที่จะให้ประชาชนชาวเติร์กเมนิสถานได้มีประสบการณ์ความเย็นกันบ้าง เลยมีการสั่งให้สร้าง Ice Palace หรือพระราชวังน้ำแข็งขึ้นที่สามารถจุคนได้ 1000 คน ใจกลางประเทศที่ร้อนระอุ และมีพื้นที่เป็นทะเลทราย โดยโครงการนี้มีสนนราคาถึง 21.5 ล้านดอลล่าร์
2
ท่านผู้นำกล่าวว่า "เด็ก ๆ ของเราจะได้ฝึกเล่นสกีกัน" และท่านยังแนะนำอีกว่าสมาชิกของคณะรัฐบาลควรจะต้องเล่นสเกตอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้งตอน 7 โมงเช้า อีกหนึ่งความพยายามในการพัฒนาสุขภาพของประชาชนชาวเติร์กเมนิสถาน (แบบแปลก ๆ) ปัจจุบันจาก Ice Palace กลายมาเป็นสนามกีฬาหน้าหนาวที่ด้านในมีสนาม Hockey ระดับมาตรฐานโลก ในประเทศที่แทบจะไม่มีใครเคยเห็นหิมะเลยด้วยซ้ำ
2
แม้จะดูโหรงเหรง ไม่มีคน แต่สิ่งที่ Ashgabat ไม่ขาดคือกล้องวงจรปิด ที่มีอยู่ทั่วทุกแห่งหน เป็นการเตือนว่ารัฐบาลกำลังจ้องมองทุกคนอยู่ตลอดเวลา และยังมีการเสริมกำลัง ด้วยกองทัพตำรวจที่มีอยู่ทั่วทุกที่เช่นกัน แสดงให้เห็นเลยว่าภายใต้ภาพเมืองอุดมคติอันสวยงาม จริง ๆ แล้วประชาชนกลับถูกจับตามองดูอยู่ตลอดเวลา นักท่องเที่ยวที่มาเยือน Ashgabat ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า Ashgabat เป็นเมืองที่แปลก และการถ่ายภาพจะทำแบบสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้ เพราะอาจจะมีปัญหากับทางการได้
1
สนามกีฬาหน้าหนาวที่กรุง Ashgabat (Source: https://www.skyscrapercity.com)
ปฏิวัติการต่างประเทศ : วางตัวเป็นกลาง
ประเทศเติร์กเมนิสถานประกาศตัวอย่างชัดเจนว่าจะวางตัวเป็นกลาง และไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด โดยเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ (UN) เท่านั้น ส่วนการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราชสหภาพโซเวียต (CIS) ก็เป็นเพียงการเข้าร่วมเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจเท่านั้น ไม่มีการร่วมมือด้านทหารแต่อย่างใด
Arch of Neutrality หรืออนุสาวรีย์แห่งความเป็นกลางในกลางกรุง Ashgabat (Source: thousandwonders.net)
ในปัจจุบันประเทศน้องใหม่แห่งนี้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป รวมไปถึงประเทศจีนและอินเดีย ที่ยังคงต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากเติร์กเมนิสถานอยู่
1
Sapamurat Niyazov และ Vladimir Putin (Source: Pinterest)
โดนลอบฆ่า
การปกครองแบบนี้ แน่นอนว่าจะต้องมีคนไม่พอใจอย่างแน่นอน แม้จะมีการพยายามกำจัดคู่แข่งทางการเมืองหรือผู้ที่ “คิดต่าง” อยู่เสมอ ก็ย่อมที่จะต้องมีคนหลุดรอดมาได้
1
เดือนพฤศจิกายน 2002 ในขณะที่ Niyazov เดินทางจากบ้านไปทำงานที่ Presidential Palace รถของท่านผู้นำโดนซุ่มยิง ซึ่งโชคดี (หรือร้าย) ที่เขารอดชีวิตมาได้ และได้สั่งให้มีการสืบสวนเรื่องนี้ทันที มีบุคคลสำคัญในคณะรัฐบาลมากมายโดนจับเช่น Boris Şyhmyradow อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ซึ่งมีการถ่ายทอดสดการไต่สวนคดีนี้ให้กับประชาชนทั่วประเทศได้รับชม ซึ่งผลคือเขาโดนจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งสื่อต่างชาติหลายคนเชื่อว่าการกระทำในครั้งนี้เป็นการจัดฉากโดยรัฐบาลเองเพื่อกำจัดศัตรูทางการเมืองบางคน
1
Boris Şyhmyradow หนึ่งในผู้ที่โดนกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังแผนการลอบฆ่าท่านผู้นำในปี 2002 (Source: Wikipedia)
ในปี 2004 มีใบปลิว ปลิวว่อนไปทั่วเมือง Ashgabat เรียกร้องให้มีการทำรัฐประหารและล้มระบอบการปกครองของ Niyazov มีการพยายามหาตัวการที่บังอาจกล้ามาทำอะไรเช่นนี้ แต่ปรากฏว่าไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ไม่สามารถหาตัวการได้ จนสุดท้ายท่านผู้นำจึงจัดให้มีการถ่ายทอดสดขึ้น พร้อมทั้งประกาศไล่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ Ashir Atayev ออกกลางการถ่ายทอดสดเลยทีเดียว
2
โดยคำกล่าวของท่านผู้นำนั้นยังคงเป็นที่จดจำในเติร์กเมนิสถานมาจนถึงทุกวันนี้ โดยคำกล่าวนั้นมีใจความประมาณว่า "จริง ๆ แล้วคุณไม่ได้ทำประโยชน์ใดใด หรือทำอะไรที่จะพยายามป้องกันการก่ออาชญากรรมเลยแม้แต่นิดเดียว เป็นไปได้ยังไงที่ตลอด 2 เดือนคุณปล่อยให้ผู้ก่อการร้ายป่วนเมืองอยู่ได้ คนอย่างคุณยังไม่มีค่าแม้แต่โคเปค (หน่วยเงินท้องถิ่น) เดียวเลย"
2
เหตุการณ์สองเหตุการณ์นี้ เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้มีการติดกล้องวงจรปิดเพิ่มขึ้นในเมือง Ashgabat เหมือนในปัจจุบันนั่นเอง
1
Saparmurat Niyazov ถูกลอบสังหาร 2 ครั้ง ในปี 2002 และ 2004 (Source: Pinterest)
ความตาย
แต่ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่แค่ไหน ก็ไม่มีใครหนีความตายไปได้ ในเดือนธันวาคม 2006 ประธานาธิบดี Saparmurat Niyazov เสียชีวิตด้วยอาหารหัวใจวายเฉียบพลัน ด้วยวัย 66 ปี
Saparmurat Niyazov เสียชีวิตด้วยอาหารหัวใจวายเฉียบพลัน ในปี 2006 (Source: Reuters)
หลังการเสียชีวิต เติร์กเมนิสถาน อยู่ในภาวะสุญญากาศทันที เนื่องจาก Niyazov ไม่ได้วางตัวบุคคลที่จะมาเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป ซึ่งตามรัฐธรรมนูญของเติร์กเมนิสถานกำหนดไว้ว่า คนต่อไปที่จะดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศคือ Öwezgeldi Ataýew ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา (Chairman of the National Assembly) ในขณะนั้น
แต่ Ataýew กลับถูกออกหมายจับในข้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดสะใภ้ของเขาเอง และผู้ที่ได้รับเลือกให้มาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีชั่วคราวคนต่อไปแทนคือ Gurbanguly Berdimuhamedow รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผู้เคยทำอาชีพเป็นทันตแพทย์มาก่อน ส่วน Ataýew ก็จบชีวิตตนเองด้วยการฆ่าตัวตายขณะถูกคุมขัง
Gurbanguly Berdimuhamedow ผู้ที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีชั่วคราว (Source: Alchetron)
ทางรัฐบาลจัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2007 โดยการเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีมากถึง 6 คน แต่ทั้ง 6 คนนั้นมาจากพรรคการเมืองเดียวกันทั้งหมด ส่วนพรรคคู่แข่งที่สมาชิกพรรคส่วนมากโดนเนรเทศอยู่ต่างประเทศก็พยายามส่งคนมาลงสมัครชิงตำแหน่งเช่นเดียวกัน แต่กลับถูกตัดสิทธิ์ไปด้วยเหตุผลที่ไม่อาจอธิบายได้
1
ผลสรุปการเลือกตั้งในครั้งนี้ Gurbanguly Berdimuhamedow ชนะไปด้วยคะแนนท่วมท้นถึง 89% และดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศเติร์กเมนิสถานเป็นคนที่ 2 มาจนถึงปัจจุบัน
ประธานาธิบดี Gurbanguly Berdimuhamedow ผู้ชื่นชอบสุนัขและม้าเป็นชีวิตจิตใจ และดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 2 ของเติร์กเมนิสถาน (Source: https://cyclingtips.com)
สิ่งที่เหลืออยู่
เหมือนกับประเทศเผด็จการทั่วไป ร่างของ Niyazov ถูกดองและนำไปไว้ในโลงศพเปิด เพื่อให้คนมาเคารพ ประชาชนหลายคนร้องไห้อย่างบ้าคลั่งที่ท่านผู้นำที่พวกเขาเคารพรักได้เสียชีวิตไปแล้ว หลายคนพยายามโผกอดโลงศพ และหลายคนถึงกับเป็นลม และเมื่อพิธีการทุกอย่างเสร็จสิ้น ร่างของเขาก็ถูกฝังไว้ที่มัสยิด Turkmenbashi นั่นเอง
ร่างของ Niyazov ถูกดองและนำไปไว้ในโลงศพเปิด เพื่อให้คนมาเคารพ (Source: Reuters)
หลังจากการเสียชีวิต องค์กรทางสิทธิมนุษยชนแห่งหนึ่งชื่อว่า Global Witness ได้ประเมินไว้ว่า Niyazov มีเงินสดและทรัพย์สินมากกว่า 3 พันล้านดอลล่าร์ โดยเงินประมาณ 1.8-2.6 พันล้านดอลล่าร์ถูกฝากไว้ที่ธนาคาร Deutsche Bank ในประเทศเยอรมัน ซึ่งในปัจจุบันไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่าเงินเหล่านี้ถูกกระจายไปที่ไหนบ้าง
2
ส่วนเรื่องที่คนพูดถึงน้อยมากเกี่ยวกับท่านผู้นำคือเรื่องครอบครัว Niyazov มีภรรยาชื่อ Muza ลูกชายชื่อ Murat และลูกสาวชื่อ Irina ซึ่งในปัจจุบัน ทั้งสามคนต่างก็อาศัยอยู่ต่างประเทศ และไม่ได้มีส่วนร่วมในการเมืองของประเทศแต่อย่างใด
ประชาชนชาวเติร์กเมนิสถานต่างออกมาไว้อาลัยให้กับการตายของท่านผู้นำ (Source: Reuters)
เติร์กเมนิสถาน ณ ปัจจุบัน
Gurbanguly Berdimuhamedow หลังจากขึ้นรับตำแหน่งได้พยายามที่จะปฏิรูประบบต่าง ๆ ของประเทศ มีการผ่อนปรนให้เปิดห้องสมุด และโรงพยาบาลทั่วประเทศได้ อนุสาวรีย์ของ Niyazov ที่หมุนเข้าหาดวงอาทิตย์ตลอดเวลา ถูกย้ายไปไว้นอกเมืองในบริเวณห่างไกล เนื้อหาจากหนังสือ Rukhnama ถูกถอดออกจากการสอบใบขับขี่และการสอบรับราชการ
ประธานาธิบดี Gurbanguly Berdimuhamedow นำคณะรัฐมนตรีขี่จักรยานเพื่อสุขภาพของประชาชน (Source: https://cyclingtips.com)
แต่โดยรวมประเทศก็ยังคงถูกปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จอยู่ดี คู่แข่งทางการเมืองยังคงไม่สามารถเดินทางกลับมายังประเทศได้ และสื่อต่าง ๆ ในประเทศก็ยังคงถูกควบคุมอย่างหนัก
2
สิ่งหนึ่งที่ยังคงอยู่คือการลัทธิบูชาตัวบุคคล Berdimuhamedow ยังคงใช้สื่อในการโปรโมทตัวเอง รูปของประธานาธิบดี Saparmurat Niyazov ตามสถานที่ต่างๆ ถูกแทนที่ด้วยรูปของประธานาธิบดี Gurbanguly Berdimuhamedow แทนแถมยังเป็นการโปรโมทแบบแปลก ๆ ที่ในฐานะคนนอก จะต้องมองเห็นเป็นเรื่องตลกอย่างแน่นอน เช่น การที่เขาเป็นคนแข็งแรงสามารถยกน้ำหนัก (ที่ดูยังไงก็เป็นของปลอม) ได้ การที่เขามีความสามารถในการขับรถดริฟท์ มีความสามารถในการขี่จักรยานไปยิงปืนไปได้ ความสามารถในการขี่ม้า (ซึ่งมีครั้งหนึ่ง ท่านผู้นำเกิดล้มไม่เป็นท่าคาการถ่ายทอดสด) หรือความสามารถในการร้องเพลงแร้ปร่วมกับหลานชาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้อยากให้ทุกคนลองไปดูในวีดีโอคลิบเอาเองนะครับ
1
ประธานาธิบดี Gurbanguly Berdimuhamedow ยกน้ำหนัก (Source: Youtube)
วีดีโอคลิบตอนที่ประธานาธิบดี Gurbanguly Berdimuhamedow ยกน้ำหนัก https://www.youtube.com/watch?v=d0Pduhdgkjk
วีดีโอคลิบตอนที่ประธานาธิบดี Gurbanguly Berdimuhamedow ทำกิจกรรมและโชว์ความสามารถต่าง ๆ อย่างขี่ม้าและร้องเพลง
วีดีโอคลิบตอนที่ประธานาธิบดี Gurbanguly Berdimuhamedow โชว์ความสามารถในการขี่จักรยานไปยิงปืนไป
วีดีโอคลิบตอนที่ประธานาธิบดี Gurbanguly Berdimuhamedow ดริฟท์รถรอบ Gate of Hell https://www.youtube.com/watch?v=KYiYi8-wCx0
ประธานาธิบดี Gurbanguly Berdimuhamedow โชว์ความสามารถด้านการร้องเพลงกลางรายการโทรทัศน์ (Source: TIMES)
ล่าสุดในปี 2018 รถทุกคันในเมืองหลวงจะต้องเป็นสีขาวเท่านั้น เพราะท่านผู้นำบอกว่าสีขาวเป็นสีนำโชค ใครที่ขับรถสีอื่นจะถูกบังคับให้ไปทาสีใหม่ มิเช่นนั้นรถก็จะถูกยึดแทน ดังนั้นนโยบายสุดเพี้ยน ก็ยังคงมีอยู่วันยังค่ำนั่นเอง
2
ประธานาธิบดี Gurbanguly Berdimuhamedow โชว์ความสามารถด้านการดริฟท์รถ (Source: https://eurasianet.org)
นอกจากนี้เมืองหลวง Ashgabat ก็ถูกต่อเติมด้วยอาคารสถานที่มากขึ้น ทั้งโรงละคนโอเปร่า (ที่ตอนนี้ไม่ถูกห้ามแล้ว) สถานที่จัดงานแต่งงานขนาดใหญ่ หรือชิงช้าสวรรค์ในร่มที่ใหญ่ที่สุดในโลก รวมถึงสนามบินนานาชาติที่แทบจะไม่มีสายการบินไหนบินมาลง
ชิงช้าสวรรค์ในร่มที่ใหญ่ที่สุดในโลก ใจกลางกรุง Ashgabat (Source: Pinterest)
ส่วนชีวิตความเป็นอยู่ของคนก็ยังคงเหมือนเดิม ชีวิตประชาชนถูกควบคุมอย่างหนัก และในปี 2018 รัฐบาลเริ่มที่จะเก็บค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าแก้สจากประชาชนแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนหลายคนไม่มีเงินพอที่จะมาจ่ายได้ สร้างความวุ่นวายไปทั่วประเทศ และตอนนี้ Berdimuhamedow ก็กำลังเตรียมลูกชายวัย 39 ปี ชื่อมีชื่อว่า Serpar ในการรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนต่อไปเรียบร้อยแล้ว
2
Serpar Berdimuhamedow ลูกชายของ Gurbanguly Berdimuhamedow ที่กำลังถูกฝึกให้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป (Source: https://novastan.org)
บทสรุป
จากนโยบายประหลาด และการปกครองแบบเบ็ดเสร็จของ Niyazov ทำให้ประเทศเติร์กเมนิสถาน ยังคงไม่พัฒนาไปอย่างที่ควรจะเป็น เงินมากมายจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ถูกแจกจ่ายไปถึงคนในคณะรัฐบาลเพียงไม่กี่คน ในขณะที่ประชาชนทั่วไปกลับได้ประโยชน์น้อยมาก
Saparmurat Niyazov ผู้ปกครองประเทศแบบเบ็ดเสร็จตั้งแต่ปี 1991-2006 (Source: BBC)
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีหลายอย่างที่ประธานาธิบดี Saparmurat Niyazov ทำ แล้วทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโรงงานสิ่งทอ ทำให้เกิดอุตสาหกรรมสิ่งทอขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศ รวมถึงโรงกลั่นน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ และการพัฒนาถนนหนทางต่าง ๆ และที่สำคัญคือการให้ประชาชนใช้น้ำ ไฟฟ้า และก๊าซหุงต้มได้ฟรี
ลัทธิบูชาตัวบุคคลถูกนำมาใช้ เพื่อให้ประชาชนมีความรู้สึกว่า สิ่งที่ท่านผู้นำพูดคือสิ่งที่ถูก และควรปฏิบัติตาม แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าคนเหล่านี้สามารถเข้าถึงสื่อภายนอกได้อย่างสะดวก พวกเขาก็จะเห็นว่าสิ่งที่ท่านผู้นำของพวกเขาทำนั้นไร้ประโยชน์ และปิดกั้นพวกเขามากขนาดไหน
1
อนุสาวรีย์ Niyazov ยังคงมีอยู่ทั่วประเทศ มาจนถึงปัจจุบันนี้ (Source: Pinterest)
และจากการไปอ่านบทความของคนที่ไปท่องเที่ยวในประเทศนี้หลายคน ประชาชนทั่วไปก็ไม่ได้พอใจในตัวรัฐบาลมากนัก อย่างเรื่องของวัน เดือน ที่เปลี่ยนไปตามชื่อที่ท่านผู้นำต้องการนั้น สุดท้ายก็ไม่ได้มีการนำมาใช้อย่างจริงจังในชีวิตประจำวัน หลายคนก็จำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าเดือนอะไร ชื่ออะไรกันแน่ และในปี 2008 ชื่อวันและเดือนก็ถูกเปลี่ยนกลับมาเหมือนเดิมแล้ว
1
แต่สิ่งที่ Niyazov ฉลาดคือการซื้อใจเหล่าบรรดาตำรวจและทหารด้วยตำแหน่งและเงินมากมาย ทำให้แม้ว่าประชาชนจะอยากล้มล้างท่านผู้นำมากแค่ไหน กองกำลังต่าง ๆ พร้อมอาวุธครบมือก็พร้อมที่จะปกป้องท่านผู้นำอยู่เสมอ อย่างน้อยก็ตอนที่พวกเขายังได้รับผลประโยชน์อยู่ ซึ่งการกระทำแบบนี้เป็นสิ่งที่เราเห็นได้ในหลาย ๆ ประเทศในปัจจุบัน ก็ต้องมาดูกันว่า ประเทศที่มีเงินรายได้มหาศาลกับประชากร 5-6 ล้าน จะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต
2
Saparmurat Niyazov : เผด็จการสติหลุด กับนโยบายสุดเพี้ยน (Source: Pinterest)
สุดท้ายสิ่งที่เราน่าจะเรียนรู้ได้จากเรื่องราวของ Niyazov ก็คือ ผู้นำที่ทำอะไรที่ไม่เข้าท่าอาจจะไม่ทำให้ประชาชนในประเทศถึงกับตาย แต่ก็ไม่เจริญเท่าที่ควรจะเป็นอย่างแน่นอน ลองนึกดูว่าถ้าเติร์กเมนิสถานที่มีรายได้มหาศาลจากทรัพยากรธรรมชาติ มีผู้นำที่ดี และมีคุณธรรม พวกเขาจะเจริญมากแค่ไหน ดังนั้นเราก็ควรจะมีผู้นำที่เก่งและทำอะไรเข้าท่า เพื่อให้ประเทศพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อให้ประชาชนผู้จ่ายภาษีมีความสุขมากที่สุดนั่นเอง
4
หนุ่มสาวชาวเติร์กเมนิสถาน (Source: Pinterest)
จบไปแล้วนะครับกับเรื่องราวของ Saparmurat Niyazov หวังว่าทุกคนคงจะชอบกันนะครับ จริง ๆ เรื่องราวของคน ๆ นี้มีอีกมากมาย แต่ผมเลือกเฉพาะเรื่องที่ผมคิดว่าน่าสนใจมาเล่าให้ฟังกัน ครั้งหน้า Kang's Journal จะพาไปท่องโลกประวัติศาสตร์ผ่านชีวิตของใคร หรือเหตุการณ์อะไรอีก อย่าลืมติดตามกันด้วยนะครับ
1
Podcast:
- Do Go On Ep 29 "Former Turkmenistan President Saparmurat Niyazov and His crazy Antics"
- Mistakes Were Made EP22 "Saparmurat Niyazov: The Turkmenistan Dictator"

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา