17 พ.ค. 2022 เวลา 13:21 • ประวัติศาสตร์
'4 ปี นรกในเขมร'
ผู้เขียน: ยาสึโกะ นะอิโต
ผู้แปล: ผุสดี นาวาวิจิต
สำนักพิมพ์: ผีเสื้อ
เรื่องราวจากหนังสือ “4 ปี นรกในเขมร” บันทึกเรื่องราวที่เกิดขี้นในช่วงของประวัติศาสตร์ชาติอย่างเขมรแดงหรือพรรคคอมมิวนิสต์ในเขมร หนังสือเล่มนี้ได้สะท้อนประวัติศาสตร์ชาติของกัมพูชาช่วงเวลาประมาณ พ.ศ. 2519 - พ.ศ. 2522 เป็นผลสืบเนื่องมาจากภายหลังที่กัมพูชาได้รับการประกาศเป็นเอกราชจากฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการตามสนธิสัญญาเจนีวาในปี พ.ศ. 2498 (ค.ศ. 1955)
4 ปี นรกในเขมร เป็นบันทึกของผู้หญิงชาวญี่ปุ่นที่ได้ประสบเหตุการณ์นี้โดยตรง หนังสือเรื่องนี้จึงไม่ใช่นวนิยาย บุคคลแต่ละคนในตัวตนจริง
บ้างก็ได้เสียชีวิตไปแล้ว บ้างก็ยังคงมีชีวิตอยู่ จึงทำให้หนังสือเรื่องนี้เปรียบเสมือนหลักฐานหนึ่งที่ได้บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นผ่านมุมมองของบุคคลผู้ประสบเจอกับเหตุการณ์ด้วยตนเอง มิใช่มุมมองจากการบันทึกประวัติศาสตร์ที่ผ่านการคัดกรองเนื้อหาจากหน่วยงานของรัฐในการนำเสนอเรื่องราวแล้ว
เจ้านโรดมสุรมฤตได้ก่อตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาชื่อว่า พรรคสังคมราษฎร์นิยม เพื่อลงเลือกตั้งและชนะการเลือกตั้งจนพระองค์ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปีนั้นเอง ในช่วงแรกๆ นั้นเจ้าสีหนุมีท่าทีที่เอาใจสหรัฐอเมริกาอย่างเต็มที่ แต่ต่อมาก็เริ่มเดินเกมการเมืองคบหากับประเทศกลุ่มคอมมิวนิสต์ เช่น จีน และเกาหลีเหนือ เพื่อคานอำนาจกับสหรัฐฯ
เมื่อสงครามเวียดนามได้เริ่มต้นขึ้นนั้น เป็นช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชาและสหรัฐฯ ได้ถดถอยลงไปมาก เนื่องจากกัมพูชาไม่พอใจที่สหรัฐฯ แอบใช้กัมพูชาเป็นที่เคลื่อนไหวในการทำสงครามกับฝ่ายคอมมิวนิสต์จนกระทบกระเทือนต่อกิจการภายใน จึงพัฒนาความสัมพันธ์กับจีนที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น
สหรัฐฯ และเวียดนามใต้ผลักดันเวียดกงหรือเวียดนามเหนือจนถอยร่นไป พระองค์จึงยินยอมให้กลุ่มเวียดกงเข้ามาใช้กัมพูชาเป็นฐานที่มั่นและยอมเปิดเส้นทางให้จีนส่งอาวุธให้แก่เวียดกงผ่านทางกัมพูชา
จากจุดนี้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลสีหนุมีนโยบายที่เป็นปฏิปักษ์กับสหรัฐฯ ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวกัมพูชาจำนวนมากที่นำประเทศเข้าไปอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของผู้อื่น โดยเฉพาะกลุ่มขวาจัดในพรรคของพระองค์ซึ่งมีนายพลลอนนอล เป็นแกนนำ ทำให้ในปี พ.ศ. 2509 (ค.ศ. 1966) เจ้าสีหนุสูญเสียเสียงสนับสนุนจากภายในพรรค และนายพลลอนนอลได้รับเสียงสนับสนุนให้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2513 (ค.ศ. 1970) นายพลลอนนอลซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯก็ทำการรัฐประหารเปลี่ยนแปลงประเทศเข้าสู่ระบอบสาธารณรัฐโดยมีนายพลลอนนอลขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น สาธารณรัฐเขมร
การรัฐประหารที่เกิดขึ้นทำให้กลุ่มฝ่ายซ้ายต่าง ๆ รวมไปถึงฝ่ายซ้ายที่เคยอยู่ในคณะรัฐบาลต่างหลบหนีการกวาดล้างของฝ่ายขวาตามความต้องการของสหรัฐฯ สงครามกลางกัมพูชาจึงเริ่มต้นขึ้น
ภายหลังการรัฐประหารเจ้าสีหนุซึ่งลี้ภัยอยู่ที่ประเทศจีนได้ก่อตั้งกลุ่มแนวร่วมแห่งชาติกัมพูชา เพื่อเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหารของลอนนอลโดย มีกลุ่มเขมรแดงที่นิยมจีนเข้าร่วมด้วย นอกจากนี้เจ้าสีหนุยังประกาศตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นที่ปักกิ่ง ปฏิเสธรัฐบาลลอนนลที่ไม่มีความชอบธรรมในการบริหารประเทศ
การเคลื่อนไหวนี้ได้รับการสนับสนุนจากจีนจึงทำให้องค์กรมีความเข้มแข็งมากขึ้นและเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว มีสมาชิกเข้าร่วมจำนวนมากและสามารถเข้าไปแทรกซึมตามชนบทในกัมพูชาอย่างได้ผลตามแผนป่าล้อมเมืองที่เคยกระทำสำเร็จมาแล้วในจีน
ส่วนสหรัฐฯซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับจีนนั้นได้ให้ความช่วยเหลือแก่รัฐบาลลอนนอลอย่างเปิดเผยมากขึ้นทั้งการส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดในฐานที่มั่นของเขมรแดง และการอุดหนุนเงินและอาวุธ แต่อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ. 2518 (ค.ศ. 1975) เขมรแดง ประกอบกับกลุ่มทหารที่เรียกว่า อีกา ก็สามารถเข้ายึดกรุงพนมเปญได้สำเร็จ
มีการอพยพย้ายประชาชนจากในเมืองให้ออกไปอยู่ตามชนบทเพื่อทำการเกษตรตามอุดมคติของระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ (Communism)
นโยบายกลุ่มเขมรแดงซึ่งนำโดย พอลพต มีแนวคิดต้องการสร้างรัฐใหม่ขึ้นมาทั้งหมดตามแนวคิดของเหมาเจ๋อตุง ซึ่งขัดแย้งกับแนวคิดของเจ้าสีหนุ พระองค์จึงลาออกจากตำแหน่งประมุขแห่งรัฐในปี พ.ศ. 2519 (ค.ศ. 1976) ฝ่ายเขมรแดงจึงให้ เขียว สัมพัน อดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลของพระองค์และหนึ่งในแกนนำเขมรแดงขึ้นมาเป็นประมุขของรัฐแทน โดยมีพอลพตเป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้มีอำนาจการบริหารอย่างแท้จริง
จากนั้นก็เดินหน้ากวาดล้างฝ่ายตรงข้าม กักบริเวณเจ้าสีหนุไม่ให้ติดต่อผู้ใด จัดการสังหารศัตรูทางการเมืองที่ต่อต้านเขมรแดงชนิดไม่ยอมให้หลงเหลือในกัมพูชาแม้แต่คนเดียว และเดินหน้าสร้างสังคมใหม่ตามอุดมการณ์ที่ตนเองเชื่อ และเปลี่ยนชื่อประเทศไปเป็น กัมพูชาประชาธิปไตย
รัฐบาลพอลพตปกครองประเทศมาจนถึงปี พ.ศ. 2522 (ค.ศ. 1979) จึงถูกเขมรนิยมคอมมิวนิสต์อีกฝ่าย คือ ฝ่ายเฮงสัมริน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเวียดนามเข้ายึดอำนาจแล้วเปลี่ยนชื่อประเทศใหม่เป็น สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา
โดยที่เขมรแดงยังไม่ยอมจำนนและพยายามทำการเคลื่อนไหวโดยเข้าร่วมกับกลุ่มของเจ้าสีหนุซึ่งได้ก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้นชื่อ พรรคฟุนซินเปก ซึ่งเป็นกลุ่มนิยมเจ้า และกลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยชาติประชาชนเขมร ของนายซอนซานซึ่งเป็นกลุ่มฝ่ายขวาก่อตั้งแนวร่วมเขมรสามฝ่ายเพื่อรักษาเก้าอี้ในสหประชาชาติ
โดยเขมรแดงได้ยุบพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาลงเพื่อให้รัฐบาลผสมนี้ได้รับการรับรองจากนานาชาติว่าเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องชอบธรรมของกัมพูชา
เมื่อกลุ่มเขมรสามฝ่ายได้ถูกก่อตั้งขึ้นสำเร็จ สงครามกลางเมืองรอบใหม่ก็เกิดขึ้นระหว่างรัฐบาลเขมรสามฝ่ายกับฝ่ายเขมรเฮงสัมรินเพื่อผลักดันกำลังของเวียดนามออกจากกัมพูชา
จนในที่สุดด้วยการกดดันของนานาชาติทำให้เวียดนามยอมถอนทหารออกจากกัมพูชาในปี พ.ศ. 2532 (ค.ศ. 1989) และเริ่มต้นใช้โต๊ะเจรจาแก้ไขปัญหาแทนที่จะใช้การสู้รบ จนสามารถบรรลุข้อตกลงสันติภาพในปี พ.ศ. 2534 (ค.ศ. 1991) โดยให้มีการสถาปนาตำแหน่งกษัตริย์กลับมาใหม่ กัมพูชาเปลี่ยนชื่อประเทศกลับมาเป็นราชอาณาจักรกัมพูชาโดยมีเจ้าสีหนุขึ้นเป็นกษัตริย์อีกครั้ง
ระยะเวลา 4 ปี ภายในบันทึกนั้น เป็นเหตุการณ์ที่อยู่ในระหว่างการตกอยู่ภายใต้อำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์หรือเขมรแดงที่นำโดย พอลพต ก่อนจะถูกฝ่ายของเฮงสัมรินโค่นล้มในพ.ศ. 2522 โดยที่ประชาชนโดยส่วนใหญ่นั้นไม่ทราบเรื่องราวอะไรเลย
จากบันทึกของ ยาสึโกะ นะอิโต สะท้อนให้เห็นการศึกษาของชาวเขมรในสมัยนั้นว่าขาดการศึกษาและส่วนใหญ่ไม่สามารถอ่านหนังสือได้ เช่น การที่ยาสึโกะต้องไปสอนภาษาอังกฤษให้แก่ชาวเขมรที่อยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน , ตอนที่ โนริโมโต โมริ นักข่าวผู้ที่เป็นคนออกตามหายาสึโกะ ได้เขียนป้ายแขวนไว้ที่ตัวหรือยื่นให้ชาวเขมรอ่าน ก็ไม่ได้รับคำตอบกลับมา เนื่องจากชาวเขมรเหล่านั้นอ่านหนังสือไม่ออก
บันทึกของเธอยังทำให้เห็นถึงทัศนคติของชาวเขมรต่อชาวต่างชาติ ว่าไม่ได้เป็นไปในแง่ลบ ยาสึโกะ ได้รับการช่วยเหลือจากชาวเขมรที่ประสบกับสถานการณ์เช่นเดียวกับเธอ
ตลอดช่วงเวลาที่ต้องลำบาก อพยพโยกย้ายแหล่งที่อยู่อาศัย เธอได้รับความช่วยเหลือทั้งในการเอาชีวิตรอด การสร้างที่อยู่ ไปจนถึงการแบ่งปันอาหารที่มีอยู่น้อยนิด รวมไปถึงการไม่ต้องถูกเกณฑ์ไปทำงานหนัก เนื่องจากเธอเป็นชาวต่างชาติ จึงได้รับการละเว้นและให้เกียรติจากทั้งทหารและชาวบ้านโดยส่วนใหญ่
สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากในบันทึก คือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมผ่านทัศนคติของชาวบ้านบริเวณพื้นที่อื่นที่มีต่อชาวพนมเปญ โดยพวกเขามองว่าชาวพนมเปญเป็นพวกรักสบาย มีชีวิตที่หรูหรา และเอาเปรียบพวกเขาที่อยู่อย่างลำบาก
เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ชาวเขมรโดยส่วนใหญ่จึงไม่ชอบชาวพนมเปญ และค่อนข้างกดขี่ โดยให้เหตุผลว่า ชาวพนมเปญนั้นสุขสบายมาเยอะแล้ว นอกจากนี้ยังสะท้อนเรื่องของการสื่อสาร ที่ยังไม่เจริญก้าวหน้าเท่าที่ควร
จากบันทึกจะเห็นได้ว่าประชาชนรับข้อมูลส่วนใหญ่ผ่านทางวิทยุ จดหมาย และการบอกเล่า ทั้งมีความล่าช้า ทั้งการบอกเล่ายังก่อให้เกิดข้อมูลที่ผิดพลาด นำไปสู่ความเข้าใจผิดซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เหตุการณ์มีความรุนแรงมากขึ้น
1
เอกสารอ้างอิง
เปรมิกา แสนทอง, กัมพูชา - ประวัติศาสตร์ (ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้), สืบค้นเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2561. สืบค้นได้จาก http://www.sac.or.th/databases/southeastasia/subject.php?c_id=2&sj_id=32.
โฆษณา