11 ก.ย. 2021 เวลา 04:00 • ไลฟ์สไตล์
ยุคนี้สมัยนี้ จะทำวิธีไหน หรือทำยังไงได้บ้าง ให้ทุกเดือนยังมีเงินเก็บได้บ้างคะ
หลายคนคงแปลกใจคำถามพวกนี้ กินก็ยังจะไม่พอแล้วจะมาเก็บเงินอะไรอี๊กกก...
นี่แหล่ะยิ่งต้องเก็บค่ะ มาค่ะ จะเล่าให้ฟัง
เมื่อก่อนเราเชื่อกันว่า เงินออมฉุกเฉินควรมีอย่างน้อย 3 – 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน ถูกต้องมั๊ยคะ แต่ทีนี้พอโรคอุบัติใหม่อย่างโควิด-19 มาเยือน มันเปลี่ยนมุมมองเรื่องนี้อย่างสิ้นเชิง
อย่างแรกไม่มีคำว่า "พอ" สำหรับเงินฉุกเฉินอีกต่อไป เพราะเราไม่รู้จะมีวิกฤตอะไรเกิดขึ้นได้อีก โควิดมาเยือนเราเป็นปีๆแล้ว เชื่อว่าคนไทย 80 ถึง 90% ใช้เงินฉุกเฉินหมดไปตั้งแต่โควิดมาเยือนระลอกแรกไปแล้วเสียด้วยซ้ำ แถมบางคนยังไม่เคยมีแม้แต่เงินฉุกเฉินให้ใช้ยามฉุกเฉินก็ยังมี
พอมองแบบนี้ การเก็บเงินเล็กๆ น้อยๆ รายเดือนเผื่อไว้ น่าจะพอชะลอเวลาเงินขาดมือของเราในยามฉุกเฉินได้บ้างค่ะ
ดังนั้น การแบ่งเงินเป็นสัดส่วนและแบ่งเก็บ แบ่งลงทุน ควรเป็นเรื่องที่เราควรทำอย่างมีสติค่ะ และไม่กดดันตัวเองจนเกินไปค่ะ มาเริ่มดูกันดีกว่า ว่าเรามีตัวเลือกอะไรได้บ้าง
วิธีการออมเงินใน 1 เดือน
1. เก็บเฉพาะแบงก์ที่ชอบ
วิธีนี้มีคนนิยมใช้กันมาก อย่างบางคนเลือกเอาแบงค์ที่ไม่ค่อยได้รับมาบ่อย เมื่อได้รับมา ก็เก็บเลย เช่น แบงก์ 50 บาท เมื่อได้รับแบงก์ 50 บาทมา จะต้องเก็บเท่านั้น
วิธีนี้ถือว่าเป็นการเก็บเงินแบบง่ายๆ ไม่ต้องจำอะไร ไม่ต้องระบุว่าแต่ละวันต้องเก็บเท่าไหร่ จะมีความวุ่นวายบ้างหากบางวัน ได้แต่แบงค์ 50 ก็จะทำให้ลำบากอยู่บ้างในบางครั้ง
2. เก็บสะสมเหรียญทั้งหมด หรือ
จะเลือกแค่ เหรียญ 5 หรือ เหรียญ 10 บ.
วิธีนี้คนสมัยก่อนนิยมใช้กันมาก ทุกบ้านจะมีกระปุกออมสิน เจ้าของบ้านกลับเข้าบ้านมา ก็มาหยอดเงินทันที ไม่ทันรู้ตัวเหรียญก็เต็มกระปุกแล้ว
วิธีนี้สะดวกสบายสุดๆค่ะ ไม่ต้องกังวลอะไรมาก เหลือมาบ้านเท่าไหร่ ก็เก็บไปเท่านั้น จะลำบากก็มีบางที ที่ต้องจำเป็นต้องหอบ
เหรียญหนักๆกลับบ้าน และก็ต้องหอบ
เหรียญหนักๆไปฝากธนาคารนี่แหล่ะ
อีกปัญหาคือ วิธีนี้ ถ้ารวบรวมเหรียญเอาไปฝากธนาคาร จะมีค่าบริการการนับเหรียญ และต้องมัดแยกถุงให้ถูกต้องด้วย เพื่อความสะดวกของการนับแยกเหรียญ
📌ธนาคารในประเทศไทย อัตราค่าธรรมเนียมฝากเหรียญ ขอยกตัวอย่างบางธนาคารค่ะ
ธนาคารกรุงเทพ ร้อยละ 1 ของมูลค่าเหรียญที่เกิน 2,000 บาทขึ้นไป ฝากในคราวเดียวกัน หรือในหนึ่งวันรวมกันเกิน 2,000 บาทขึ้นไป
ธนาคารกรุงไทย ร้อยละ 1 ของมูลค่าเหรียญที่เกิน 2,000 บาทขึ้นไป ฝากไม่เกิน 2,000 บาท ไม่คิดค่าธรรมเนียม
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ร้อยละ 2 ของมูลค่าเหรียญที่เกิน 100 เหรียญขึ้นไป ฝากไม่เกิน 100 เหรียญ ไม่คิดค่าธรรมเนียม
1
ธนาคารกสิกรไทย ร้อยละ 1 ของมูลค่าเหรียญตั้งแต่ 501 เหรียญขึ้นไป หรือคิดค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ 20 บาท ฝากไม่เกิน 500 เหรียญ
หมายเหตุ: ควรสอบถามข้อมูลก่อนใช้บริการทุกครั้ง เนื่องจากค่าธรรมเนียมอาจมีการเปลี่ยนแปลง
3. เก็บสะสมเงินจากเรื่องที่อยากจะลด
วิธีนี้ เป็นการลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยของเราเองที่เราพยายามจะลด ยิ่งใช้มาก ก็ต้องเก็บมากตามเช่น ซื้อล็อตเตอรี่ 2 ใบ ก็เก็บเงิน 160 บาท หรือ ค่าเหล้า ค่าบุหรี่ อะไรแบบนี้ ก็เก็บตามราคาข้าวของเหล่านั้น
แบบนี้แล้วแต่คนค่ะ บางคนใจไม่แข็งพอก็ทำไม่ได้ บางคนก็พยายามจะหักดิบตัวเอง อยากทำก็ต้องยอมเก็บตามยอดที่จ่ายออกไป
1
4. เก็บสะสมจากเงินที่ได้จากงานอดิเรก
หลายคนก็ชอบใช้วิธีนี้ จะได้ไม่รบกวนเงินเดือนประจำ มันเป็นการทำเรื่องที่ตัวเองชอบแต่ยังได้เงินอีกด้วย ทำเงินมาได้เท่าไหร่ก็เอามาเก็บหมดเลย เช่น ทำขนมขายช่วงวันหยุด รับงานเย็บผ้าโหลหรือเพาะต้นไม้ขายในเฟส หรือในช้อปปี้ ลาซาด้า เป็นต้น
ถ้าจะเลือกทำวิธีแบบนี้ อย่าลืมคำนวณต้นทุนด้วยค่ะ ต้องบริหารจัดการรายรับ รายจ่ายให้ดี อย่าให้เข้าเนื้อ อย่าให้ต้องควักเงินเกินงบในการลงทุน เมื่อได้เงินทุนคืน ก็ใช้แค่ส่วนกำไรมาบริหารจัดการกันเองในเงินเก็บก้อนนี้
5. เปิดบัญชีฝากประจำมันซะเลย
การเปิดบัญชีฝากประจำเป็นการเปิดบัญชีแบบถอนไม่ได้ ผู้เปิดจะต้องฝากเงินให้ครบตามที่กำหนด
วิธีนี้ ช่วยให้เรามีเงินฝากรายเดือนแน่นอน เป็นระบบ สะดวกในการฝาก ธนาคารจะดึงเงินบางส่วนจากเงินเดือนไปเก็บไว้ให้ แต่วิธีนี้จะค่อนข้างลำบากหากบางเดือน เราอาจมีความจำเป็นต้องใช้เงินมากกว่าปกติ ก็อาจมีติดขัดอยู่บ้าง
6. เก็บสะสมจากเงินเดือน 15% ทุกเดือน
ทุกครั้งที่เงินเดือนออก ตัดใจโอนไปเก็บไว้ที่บัญชีที่ไม่มีเอทีเอ็ม ไม่มีแอปธนาคารค่ะ เอาแบบสำหรับเก็บโดยตรง แล้วทุกหกเดือนก็ค่อยไปอัพเดทสมุดบัญชีธนาคารเอาค่ะ
แบบนี้จะไม่ดีตรงที่ว่า เงินอาจจะไม่พอหมุนใช้รายเดือน เพราะเก็บค่อนข้างเยอะค่ะ แต่ได้เป็นกอบเป็นกำแน่นอนค่ะ
นี่ละค่ะ วิธีเก็บเงินแบบง่ายๆ อยากใช้กี่วิธีในแต่ละเดือนก็เลือกได้ อย่างน้อยก็ควรเลือกไว้ซักอย่าง สองอย่างนะคะ
💰จุดสำคัญ เราควรต้องมีการจดบันทึกรายรับ - รายจ่ายด้วยค่ะ ต้องทำเป็นประจำ เพราะจะช่วยให้เห็นเงินที่ใช้จ่ายในแต่ละวัน กระตุ้นให้เกิดการออมเมื่อเห็นยอดใช้จ่าย และช่วยในการลดยอดซื้อที่ไม่จำเป็นออกไปได้ หรือจะเลือกใช้แอปจดบันทึกรายรับรายจ่ายเอาก็ได้ค่ะ การบันทึกรายรับ - รายจ่าย พูดง่ายๆ มันทำให้เห็นภาพรวมง่ายขึ้นค่ะ
1
สุดท้าย ลองมาเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ซักนิดค่ะ พอเงินเดือนออกปุ๊บ ถ้าอยากช็อปปิ้ง ลุยเลยค่ะ ซื้อได้ค่ะ แต่ต้องซื้อของที่จำเป็นก่อนค่ะ อย่างผงซักฟอก แชมพู สบู่ อาหารน้องหมา/น้องแมว หรือ ข้าวสาร อาหารแห้ง แบบนี้ค่ะ
พอเราจ่ายที่จำเป็น เราจะรู้แล้วว่าเงินเหลือเท่าไหร่ ความรู้สึกอยากจะใช้จ่ายแบบฟุ่มเฟือยจะลดลง เพราะเงินเหลือน้อยลง ค่ะ
การออมเงินเป็นการวางแผนการใช้เงินที่ได้ผลดีวิธีหนึ่ง เมื่อฝึกจนมีความเคยชินจะสามารถออมเงินในระยะยาวได้ และเงินออมส่วนนี้จะเป็นเงินสำรองไว้ในยามฉุกเฉิน แต่การออมเงิน ยังไงซะ ก็ไม่ต้องถึงขนาดกดดันตัวเองมากเกินไปนะคะ เดี๋ยวจะเครียดเกินไปค่ะ เอาให้พอดีค่ะ
แล้วถ้าต่อไปคุณมีเงินจำนวนมากพอ คุณก็อาจจะมีการต่อยอดเป็นเงินลงทุน เพื่อให้มีกำไรงอกเงยได้ค่ะ วางแผนให้ดี เมื่อภาวะฉุกเฉินมาจะได้รับมือได้ดีกว่าครั้งก่อนๆค่ะ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา