20 ก.ย. 2021 เวลา 13:00 • การตลาด
Tinder สร้างประสบการณ์ใหม่ที่เรียกว่า A first-of-its-kind interactive content series - ให้กับวงการ ‘Dating App’ เพื่อเอาใจคน Gen Z โดยเฉพาะ
วันนี้เพจรีวิวทุกอย่างที่อ่านออกจะมาเล่าแคมเปญโฆษณาที่สร้างสรรค์ของ ‘Tinder’ แอปพลิเคชันหาคู่เดทที่มีคนใช้งานเยอะที่สุดเป็นอันดับ 3 รองจาก YouTube และ Facebook ผู้ใช้งานเป้าหมายของแอปพลิเคชันนี้คือกลุ่มลูกค้าที่อายุต่ำกว่า 25 ปี ในทุก ๆ ปีจะมีผู้ใช้งานหน้าใหม่อายุ 18 ปีและกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ใช้งานทั้งหมดเป็นคนที่มีอายุอยู่ระหว่าง 18-25 ปีซึ่งในปัจจุบันก็เป็นคน Gen Z ที่ชอบความท้าทายแบบใหม่ ในขณะที่ลูกค้าบางคนเป็นสมาชิกยาวนานกว่า 5 ปีทำให้ประสบการณ์ปัดซ้าย-ปัดขวาแบบเดิม ๆ น่าเบื่อ ดังนั้นถึงเวลาที่ Tinder จะต้องเปลี่ยนรูปแบบจาก ‘Swipe Right’ เป็น ‘Swipe Night’
ถ้าใครเคยเล่น Tinder ฟังก์ชันที่คุ้นเคยดีก็คือการหาคู่แมตช์โดยตัดสินใจจากรูปโปรไฟล์และข้อมูลส่วนตัว เมื่อผู้ใช้งานรู้สึกชอบให้ปัดขวา (Swipe Right) ปล่อยผ่านให้ปัดซ้าย (Swipe Left) ตั้งแต่ Tinder เปิดตัวมาก็ยืนพื้นด้วยฟังก์ชันนี้มาตลอดทำให้ผู้ใช้งานเดิมรู้สึกว่าน่าเบื่อไป และผู้ใช้งานใหม่ที่เป็นกลุ่ม Gen Z ที่ชอบความท้าทายมากกว่านี้จึงเกิดเป็นแคมเปญ ‘Swipe Night’ ซึ่งคือกิจกรรมที่ให้ผู้ใช้งานมีปฏิสัมพันธ์กับผ่านการเล่นเกม (Interactive Activity) ในรูปแบบซีรีส์ความยาว 7 นาทีที่ให้ผู้เล่นสามารถตัดสินใจทำอะไรบางอย่างกับตัวละครได้และเรื่องราวจะถูกเปลี่ยนไปตามการตัดสินใจนั้น ๆ
ที่มาของแคมเปญ Swipe Night เนี่ยก็มีขึ้นเพื่อเล่นคำให้คล้องจองกับ Swipe Right เนื่องจากซีรีส์นี้จะให้ผู้ใช้งานเล่นผ่านแอปพลิเคชันในเวลาเที่ยงคืน (ตามเวลาท้องถิ่นของแต่ละประเทศ) ของทุกวันเสาร์หรืออาทิตย์ ความพิเศษคือหลังจบเกมสิ่งที่เราตัดสินใจทำบางอย่างกับตัวละครจะแสดงในหน้าโปรไฟล์ ต่อไปนี้เวลาปัดมาเจอกันก็จะทำให้เราเปิดบทสนทนาทำความรู้จักกันได้ดีขึ้น
เราจะขอเล่าเนื้อหาของ Swipe Night ss. 1 ที่แฟนตาซีมาก ๆ มีเรื่องราวอยู่ว่า “หากคุณมีเวลาเพียง 3 ชั่วโมงก่อนที่ดาวเคราะห์น้อยจะพุ่งชนโลก คุณจะทำอะไรบ้าง?” มาที่เหตุการณ์แรกเจอคนบาดเจ็บบนถนนคุณจะทำอย่างไรดีระหว่าง ‘เพิกเฉย’ หรือ ‘ช่วยเหลือ’ เหตุการณ์ที่สองเจอผู้หญิงขับรถควรทำอะไรกับเธอดีระหว่าง ‘ขโมยรถ’ หรือ ‘ขอติดรถไปด้วย’ เหตุการณ์ที่สามให้เลือกว่าช่วยใครระหว่าง ‘ลูกหมา’ หรือ ‘ผู้หญิง’ เรื่องราวทั้งหมดจะผูกโยงกันซึ่งตอนนี้มีให้เล่นถึง 8 ตอน หลังจากจบการเล่นทำให้เพิ่มความคุ้นเคยของคู่แมตช์กันมากขึ้น สมมติว่าในเหตุการณ์ที่สามเราเลือกช่วยเหลือลูกหมาเหมือนกันก็น่าจะมีโอกาสแมตช์กันมากขึ้น หรือถ้าเจอคู่แมตช์ที่ต่างกันแต่มีอะไรน่าสนใจก็จะทำให้บทสนทนาไหลลื่นมากขึ้น ซึ่งความตั้งใจของแคมเปญนี้มีอยู่ 3 ข้อ คือ
(1) ทำให้ Tinder มีชีวิตสีสัน มีชีวิตชีวาเพราะทุกคนต่างเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดซีรีส์ในแต่ละตอนและมีผู้ใช้งานจำนวนมากร่วมเล่นในเวลาเดียวกัน
(2) ทุกคนสามารถควบคุมเหตุการณ์ให้เป็นตามที่ต้องการได้เป็นการทำให้ผู้ใช้งานแสดงตัวตนออกมาได้อย่างเต็มที่
(3) ต้องการให้เชื่อมโยงผู้ใช้งานเข้าด้วยกันผ่านความสนุกจากการเล่น
ความชอบที่มีต่อโฆษณานี้คือการหาคู่เดทที่เข้ากันได้มาจากความเป็นธรรมชาติและการเป็นตัวของตัวเอง สถานการณ์ใน Swipe Night ที่มีความยาว 7 นาทีไม่ใช่แค่การเล่นเพื่อสนุกอย่างเดียวแต่ยังแฝงทัศนคติของผู้เล่นได้ด้วยอย่างเหตุการณ์ที่เห็นคนเจ็บจะช่วยหรือจะเมินก็เป็นการบอกถึงจิตใจของผู้เล่น หรือการตั้งคำถามในระดับศีลธรรมอย่างการช่วยคนหรือช่วยสุนัข ในซีรีส์นี้มีเวลาให้คิดตัดสินใจเพียง 7 วินาทีเท่านั้นและสามารถย้อนกลับไปแก้คำตอบได้ ดังนั้นเราคิดว่าการเล่นแบบนี้เป็นการแสดงออกถึงความเป็นตัวตนที่ชัดเจนมากกว่าข้อมูลบนโปรไฟล์เสียอีก
ความน่าสนใจของ ‘Swipe Night’ ทำให้ถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 6 ของแคมเปญที่มีความสร้างสรรค์ที่สุดในโลก (World Creative Rankings) ปี 2021 และได้รับรางวัลจากเวที Cannes Lions สาขา Entertainment เมื่อมาดูการวัดผลแคมเปญบนโซเชียลมีพบว่า Swipe Night สามารถเพิ่มยอด Impression ถึง 3.1 billion มีการพูดถึงเกี่ยวกับ Tinder บน Twitter มากกว่าเดิมถึง 1,640% และก็เป็นไปตามคาดที่แคมเปญนี้สามารถเพิ่มแมตช์ของคู่เดทได้เพิ่มขึ้น 26% อีกด้วย
โฆษณา