13 ก.ย. 2021 เวลา 13:40 • หนังสือ
‘21 Lessons for the 21 Century’
คุณเคยสงสัยไหมว่าตั้งเเต่ตอนนี้ไปจนถึงสิ้นปี 2100 โลกของเราจะสามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ถึงจุดไหน ประเด็นอะไรบ้างที่คนทั่งโลกควรให้ความสนใจ เเละเราควรสอนอะไรเเก่ลูกเราที่กำลังจะเกิดมาเผชิญกับโลกที่มีการเปลี่ยนเเปลงอย่างรวดเร็วเเบบนี้
วันนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จักกับ ‘21 Lessons for the 21 Century’ ที่เขียนโดยคุณยูวัล โนอาห์ แฮรารี ผู้เเต่ง ‘Sapiens’ เเละ ‘Homo Deus’ ที่ได้รับกระเเสตอบรับที่ดีจากผู้อ่านทั่วโลก หนังสือทั้งสามเล่มนี้เหมือนกันตรงที่พูดถึงเรื่องของมนุษยชาติเหมือนกัน เเต่จะเเตกต่างกันไปในเเต่ละช่วงเวลา ‘Sapiens’ จะเป็นการพาผู้อ่านไปสำรวจประวัติเป็นมาของมนุษย์ในอดีต ‘Homo Deus’ จะเป็นการพาไปเห็นอนาคตของมนุษย์
เเละสุดท้าย ‘21 Lessons for the 21 Century’ จะเป็นการสำรวจปัจจุบันเเละอนาคตอันใกล้ของพวกเราในศตวรรษที่ 21 หนังสือเล่มนี้เป็นเข็มทิศที่ดีที่จะบอกทุกคนได้ว่าเราควรที่จะดำเนินชีวิตไปในทิศทางไหนกันเเน่ในศตวรรษที่ 21 วันนี้เราเลยจะพาทุกคนไปรู้จักกับหนังสือเล่มนี้กันค่ะ 🙂
ประเด็นที่ถูกหยิบมาพูดในหนังสือเล่มนี้มีความหลากหลายมากพอสมควร มีทั้งเรื่องเทคโนโลยี การเมือง การศึกษา ศาสนา สงคราม วัฒนธรรม เเละสิ่งเเวดล้อม ซึ่งประเด็นเหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ เเละด้วยความที่ผู้เขียนเป็นนักปรัชญาเลยทำให้การหยิบประเด็นต่างๆมาเล่าในรูปเเบบของหนังสือเล่มนี้เป็นการเล่าที่ถูกเสริมด้วยข้อมูลที่เเน่นมาก ทำให้เราไม่ต้องไปหาหนังสือเล่มอื่นอ่านเพิ่มอีกเเล้ว อ่านเล่มนี้เล่มเดียวก็ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนมากพอสมควรเลยค่ะ
เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพได้ชัดขึ้นเราจะลองมายกตัวอย่างประเด็นเรื่องความท้าทายทางเทคโนโลยีเเละรูปเเบบของการศึกษาในอนาคตให้ทุกคนฟังกันค่ะ โดยเเต่ละประเด็นที่เราจะยกตัวอย่างให้ทุกคนฟังหลักๆจะพูดถึงในสองเรื่องคือ ในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น เเละถ้าเกิดเเล้วเราควรรับมือกับมันอย่างไร เราว่าการเล่าประเด็นต่างๆในหนังสือเล่มนี้ค่อนข้างเป็นปลายเปิด ผู้เขียนจะไม่ได้สรุปคำตอบของเรื่องตายตัว เเต่จะเป็นการจบด้วยคำถามเพื่อชวนให้ผู้อ่านคิดต่อยอดมากกว่า (ซึ่งโดยส่วนตัวเราชอบหนังสือแบบที่ไม่ชี้นำแบบนี้มากค่ะ)
‘ความท้าทายทางเทคโนโลยี’ ในประเด็นนี้จะมีอยู่สองหัวข้อที่น่าสนใจค่ะ เรื่องเเรกจะเป็นการพูดถึงหน้าตาของตลาดเเรงงานในอนาคตที่จะมี AI มาทำงานเเทนมนุษย์ เเละเรื่องที่สองจะเกี่ยวกับ Big Data ทั้งในเเง่ว่ามันจะสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้อย่างไรบ้างเเละใครกันเเน่ที่จะได้ประโยชน์จาก Big Data มากที่สุด โดยในวันนี้เราจะมายกตัวอย่างประเด็นเรื่อง AI ให้ทุกคนฟังกันค่ะ
ในปัจจุบันเริ่มมีการพัฒนา AI มาทำงานเเทนคนเเล้วในหลายอุตสาหกรรม เช่น หุ่นยนต์เสิร์ฟอาหาร เเละรถยนต์ไร้คนขับ ซึ่งข้อได้เปรียบของการทำงานด้วย AI คือมันทำงานโดยเชื่อมต่อเป็นระบบเดียวกัน ทำให้ในรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติมีโอกาสที่รถจะชนกันได้น้อยกว่า อีกทั้งเรายังสามารถอัปเดตข้อมูลที่มีการเปลี่ยนเเปลงไปตลอดเวลาอย่างกฎจราจรไปยังรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติทุกคันได้อย่างรวดเร็ว เเละถ้ารถทุกคันบนท้องถนนเป็นรถยนต์อัตโนมัติเราก็จะไม่ต้องกังวลกับปัญหาเมาเเล้วขับอีกต่อไป
เเต่การใช้รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติก็ยังมีประเด็นเรื่องจริยธรรมที่กำลังถกเถียงกันอย่างเช่น เราควรป้อนข้อมูลให้ AI ตัดสินใจอย่างไรหากพบว่า ‘รถกำลังจะขับชนคนบนถนน เเต่ถ้าเลือกหักเลี้ยวไปเลนตรงข้ามก็จะชนกับรถบรรทุกเเล้วมีโอกาสที่คนบนรถจะเสียชีวิต’ เราว่าคำถามนี้น่าสนใจมากเลยค่ะ เพราะสุดท้ายเเล้วเราว่าคงไม่มีใครที่จะเลือกซื้อรถที่ถูกตั้งให้เลือกทางเลือกที่เสี่ยงต่อเจ้าของรถเเน่นอน
หลายคนคงนึกไม่ถึงว่างานที่ต้องเข้าใจความรู้สึกของมนุษย์มากๆอย่างงานด้านดนตรี AI ก็สามารถทำได้เหมือนกัน เนื่องจากความรู้สึกชอบในเพลงของมนุษย์เป็นกระบวนการชีวเคมีในร่างกายของเรา ถ้าเราทุกคนให้ AI จับข้อมูลไบโอเมทริกของเราขณะฟังเพลง มันก็จะสามารถคำนวนได้ว่าทำนองเเบบไหนที่จะกระตุ้นความรู้สึกของเราได้ดีที่สุด ไม่เเน่ว่าในอนาคตเราอาจจะได้เห็นนักเเต่งเพลงเป็น AI ก็ได้นะคะ
พออ่านมาถึงตรงนี้หลายคนคงนึกภาพออกเเล้วว่าในอนาคต AI น่าจะทำงานเเทนมนุษย์ได้มากขนาดไหน ผู้เขียนเลยมองว่าในอนาคตการทำงานอาชีพเดียวตลอดชีวิตจะหายไป เเรงงานที่ทำงานในอาชีพที่ AI ทำงานเเทนต้องหาทักษะใหม่เเล้วย้ายไปทำงานอื่นเเทน ทำให้มีคำถามต่อมาว่า ‘ระบบการศึกษาเเบบเดิมยังใช้ได้อยู่ไหม?’ เพราะถึงเเม้ว่าเราจะจบการศึกษาในสาขาทางเทคนิคมากๆอย่างการเเปลภาษาเเละการเขียนโปรเเกรม ก็ยังไม่สามารถรับรองได้เลยว่าในอนาคตเราจะไม่ตกงาน
ผู้เขียนจึงได้เเนะนำให้โรงเรียนลดการสอนเนื้อหาเชิงเทคนิคลง เเละไปเพิ่มการสอนเรื่องความสามารถในการเข้าใจข้อมูลเเละทักษะในการใช้ชีวิตเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนเเปลงเเทน ในส่วนของการเข้าใจข้อมูลเราควรสอนให้เด็กเเยกให้ได้ว่าข้อมูลอันไหนสำคัญ เเละจะต้องสามารถรวมข้อมูลจำนวนมากเข้าด้วยกันเพื่อมองให้เห็นภาพรวมของโลกให้ได้ ส่วนการสอนทักษะในการใช้ชีวิต เราควรเน้นไปที่การสอนให้เด็กพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆได้เร็ว เเละมีจิตใจที่ยืดหยุ่นจนสามารถรักษาสมดุลทางอารมณ์ให้อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคยให้ได้
ภาพรวมของหนังสือเล่มนี้เราว่าเป็นหนังสือที่อ่านเเล้วสนุกมากเล่มนึงเลยค่ะ มีหัวข้อที่น่าสนใจมากมาย เหมือนได้เปิดโลกของเราให้กว้างมากขึ้น ทำให้เราได้รู้ในสิ่งที่เราไม่เคยรู้มาก่อน เเล้วหลายเรื่องก็เป็นเรื่องที่เราเคยเข้าใจผิดมาก่อน ถ้าตอนนี้ใครกำลังหาหนังสือดีๆสักเล่มมาอ่านอยู่ล่ะก็ เราขอเเนะนำหนังสือเล่มนี้เลยค่ะ 🙂
1
……………………………………………………..
ชื่อหนังสือ: 21 Lessons for the 21 Century
นักเขียน: ยูวัล โนอาห์ แฮรารี
ผู้แปล: ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ และ ธิดา จงนิรามัยสถิต
จำนวนหน้า: 468
ราคา: 495 บาท
สำนักพิมพ์: ยิปซี
Overall: 8/10
……………………………………………………..
Score Explanation
Writing Style: 8/10 เป็นหนังสือที่อ่านเเล้วสนุก ประเด็นที่เลือกมานำเสนอค่อนข้างน่าสนใจ
Time worthiness: 7/10 เพราะโดยภาพรวมนำเสนอได้กำลังดีเหมาะกับเรื่องที่ต้องการจะสื่อ
Content Usefulness: 9/10 การอธิบายในหนังสือเล่มนี้เป็นการพูดถึงเเต่ละหัวข้อในภาพกว้างๆ เเต่ไม่ได้ให้คำตอบอย่างชัดเจน ส่วนใหญ่จะเป็นการทิ้งคำถามไว้ให้เราคิดต่อมากกว่า ซึ่งจะสามารถเป็นประโยชน์ได้กับทุกคนที่ต้องใช้ชีวิตต่อไปในศตวรรษที่ 21 นี้ค่ะ
โฆษณา