21 ก.ย. 2021 เวลา 13:00 • หนังสือ
‘The Honest Truth About Dishonesty’
การโกงเป็นปัญหาที่อยู่รอบตัวเรามาโดยตลอด เเล้วเราจะเเน่ใจได้ยังไงว่าเราจะสามารถทำตัวซื่อสัตย์ได้ในสังคมที่รายล้อมไปด้วยคนที่ไม่ซื่อสัตย์
ลองนึกภาพตามง่ายๆนะคะ ถ้าสมมติคุณถูกเชิญให้ไปร่วมทำเเบบทดสอบหนึ่งที่คุณจะได้รับค่าตอบเเทนตามจำนวนข้อที่ตอบถูก เเละคุณสามารถทำลายกระดาษคำตอบทิ้งได้ก่อนที่คุณจะไปบอกจำนวนข้อที่ทำได้เเก่เจ้าหน้าที่ คุณคิดว่าตัวเองยังจะบอกจำนวนข้อที่ทำได้ตามความจริงอยู่หรือเปล่า?
นักเศรษฐศาสตร์ได้ใช้เเบบจำลองการกระทำความผิดตามหลักเหตุผล(SMORC) มาอธิบายไว้ว่า ‘การที่คนเราจะเลือกทำความผิดนั้นจะพิจารณาเพียงเเค่ต้นทุนที่ต้องเสียไปกับผลตอนเเทนที่ได้รับจากการทำสิ่งนั้น’ เเต่ตัวผู้เขียนหนังสือเล่มนี้มองว่าจริงๆเเล้วการตัดสินใจของเรายังเกิดจากปัจจัยอื่นๆอีกมาก นอกจากเเค่ต้นทุนกับผลตอบเเทนจึงเกิดเป็นหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาค่ะ วันนี้รีวิวทุกอย่างที่อ่านออกเลยจะพาทุกคนไปรู้จักกับ ‘The Honest Truth About Dishonesty’ หรือ ‘อ่านทะลุความคิดด้วยจิตวิทยาแห่งการโกง’ กันค่ะ:)
โดยปกติเเล้วความไม่ซื่อสัตย์ของคนเราจะตั้งอยู่บนสองสิ่งที่ขัดเเย้งกันอยู่ คือ ‘เราอยากได้ประโยชน์จากการโกง’ เเต่ในเวลาเดียวกัน ‘เราก็ยังอยากมองตัวเองเป็นคนที่ดีได้อยู่’ เลยทำให้ในหลายครั้งคนเราเลือกที่จะโกงเล็กๆน้อยๆให้อยู่ในระดับที่ตัวเองยังรับได้อยู่ เเล้วค่อยหาเหตุผลมารองรับการโกงของตัวเอง เช่น การกรอกมูลค่าเรียกร้องสินไหมที่มากเกินเหตุ เเละการไม่บอกพนักงานว่าลืมคิดเงินสินค้าไปหนึ่งชิ้น
ต่อมาเราจะมาลองสรุปเรื่องการโกงให้ทุกคนฟังกันค่ะ ภาพรวมเนื้อหาเรื่องการโกงเรามองว่ามันสามารถเเบ่งออกได้เป็นสามเรื่อง คือ รูปแบบการโกง เเรงผลักดันหรือปัจจัยที่ทำให้เกิดการโกง เเละเงื่อนไขใดบ้างที่จะช่วยให้คนเราซื่อสัตย์ได้มากขึ้น
ด้วยความที่ผู้เขียนเป็นทั้งอาจารย์เเละนักวิชาการเลยทำให้ทุกสมมติฐานเรื่องการโกงในหนังสือเล่มนี้จะถูกพิสูจน์ด้วยการทดลองโดยผู้ทดลองส่วนใหญ่ก็จะเป็นลูกศิษย์ของผู้เขียนเอง ซึ่งเรามองว่าจุดนี้เป็นข้อดีค่ะ เพราะความสนุกของการอ่านหนังสือเล่มนี้คือการถูกกระตุ้นให้คิดอยู่ตลอดว่าหากเปลี่ยนเงื่อนไขของสมมติฐานไปเรื่อยๆหรือลองเพิ่มตัวแปรบางอย่างเข้าไปในการทดลอง ผลการทดลองที่ได้ยังจะเป็นเหมือนเดิมอยู่ไหม เเละในบางการทดลองก็มีการเเนบคำถามที่ใช้ในการทดลองมาให้เราได้ทำ มันเลยทำให้เรารู้สึกมีส่วนร่วมไปกับสิ่งนั้นมากขึ้น
เรามาเริ่มที่ประเด็นเเรกกันดีกว่าค่ะ รูปแบบการโกงที่หลายคนจะนึกถึงเป็นอันดับเเรกคือการโกงบุคคลอื่น เเต่จริงๆเเล้วการโกงตัวเองก็เป็นการโกงรูปเเบบหนึ่งเหมือนกัน โดยมันจะมาในรูปเเบบของการหลอกตัวเอง อย่างเช่น นักเรียนที่ชอบเเอบดูเฉลยก่อนทำเเบบฝึกหัดมักเชื่อว่าที่ตอบถูกเพราะความฉลาดของตน หรือในนักกีฬาที่ใช้สารสเตอรอยด์ก่อนการเเข่งขันก็จะบอกว่าที่ตนชนะการเเข่งขันได้เพราะความสามารถของตัวเอง ยิ่งไปกว่านั้นจากการทดลองยังพบอีกว่ายิ่งเราหลอกตัวเองนานเท่าไหร่ก็มีเเนวโน้มที่เราจะเชื่อสิ่งๆนั้นมากขึ้นด้วย
ประเด็นต่อมาที่จะพูดถึงเป็นเรื่องเเรงผลักดันหรือปัจจัยที่ทำให้เกิดการโกง ประเด็นนี้มีการเล่าอยู่ในหลายส่วนของหนังสือเล่มนี้เลยค่ะ หนังสือเล่มนี้ทำให้เรารู้ว่ามีปัจจัยหลายอย่างมากที่ทำให้เกิดการโกงได้ ซึ่งมีทั้งปัจจัยที่เราพอจะเคยรู้มาบ้างเเล้วอย่าง ผลประโยชน์ทับซ้อน หรือ การเห็นคนรอบข้างโกง เเต่ก็มีปัจจัยบางอย่างที่เราคาดไม่ถึงว่ามันจะกระตุ้นให้เกิดการโกงได้ อย่างเช่น การใช้สินค้าปลอม ความคิดสร้างสรรค์ เเละการหมดกำลังใจ เป็นต้น
หลายคนน่าจะสงสัยว่าปัจจัยบางอย่างที่เรากล่าวมามันเกี่ยวข้องยังไงกับการโกง เราเลยจะมาลองยกตัวอย่างให้ดูสักหัวข้อค่ะ ที่เรายกมาจะเป็นปัจจัยเรื่องความคิดสร้างสรรค์ค่ะ จากที่เคยได้บอกไปตอนต้นว่าคนเรามักจะหาเหตุผลมารองรับการโกงของตัวเอง บวกกับการพบว่าคนที่โกหกส่วนใหญ่มักจะมีสมองส่วนที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงเนื้อหามากกว่า จึงมีเเนวโน้มที่พวกเขาจะสามารถปะติดปะต่อความทรงจำเเละความคิดต่างๆเข้ากันได้ดี เเละด้วยสาเหตุนี้ก็น่าจะเพียงพอเเล้วที่จะทำให้พวกเขาสามารถโกหกไปพร้อมกับการหาเหตุผลมารองรับได้ดี
นอกจากนี้ยังมีการเสนอเเนวทางการลดการโกงไว้อยู่หลายอย่างที่น่าสนใจ ตัวอย่างเช่น ผู้เขียนเสนอให้บริษัทประกันเพิ่มการเซ็นต์รับรองชื่อที่หัวกระดาษก่อนการกรอกมูลค่าเรียกร้องสินไหม เพราะจากการทดลองพบว่ามันจะทำให้เกิดการโกงน้อยกว่า หรือในบ้านที่เเม่บ้านมักเเอบขโมยสิ่งของเล็กๆน้อยๆ ซ้ำกันหลายๆครั้ง ผู้เขียนก็เเนะนำให้ล็อคตู้ที่เก็บสิ่งของที่เเม่บ้านคนนั้นชอบขโมยเเละมอบหมายกุญเเจให้เเก่เเม่บ้านไว้ การทำเเบบนี้จะทำให้การขโมยครั้งต่อไปกลายเป็นเรื่องที่จงใจเเละหาเหตุผลมารองรับการทำผิดของตัวเองได้ยากขึ้น
โดยรวมเราว่าหนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องการโกงได้สนุกมากเลยค่ะ มีคำถามที่ชวนให้เราคิดตอนเวลา เช่น หมอที่รักษาเราเป็นประจำมีเเนวโน้มที่จะโกงเราหรือไม่ หรือ เด็กที่ผ่านการเข้าหลักสูตรปลูกฝังคุณธรรมจะโกงลดลงหรือเปล่า อีกทั้งผู้เขียนยังสามารถเชื่อมโยงให้เราเห็นว่าการโกงนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ในหลายสายอาชีพมากๆ เช่นในวงการกีฬา การเงิน การบัญชี เเละการเเพทย์ ทำให้อ่านเเล้วไม่รู้สึกว่าเนื้อหาเเต่ละส่วนซ้ำกันเลย เราในฐานะผู้บริโภคคนนึง การรับรู้การโกงในรูปแบบต่างๆไว้ก็จะช่วยให้เราตัดสินใจได้รอบคอบมากขึ้น
พออ่านจบเราพบว่าการเเก้ปัญหาการโกงด้วยการเพิ่มบทลงโทษหรือการเพิ่มผู้ควบคุมกฎหมายอาจไม่ใช้ทางออกที่ประสบความสำเร็จอีกต่อไป การออกเเบบสิ่งเเวดล้อมหรือกฎบังคับที่ไม่เปิดโอกาสให้โกงได้เเต่เเรกน่าจะเป็นการเเก้ไขที่ตรงประเด็นมากกว่า เเละที่สำคัญที่สุดคือเราทุกคนควรเลิกหาเหตุผลมารองรับการกระทำผิดของตัวเองให้ได้เสียก่อน 🙂
……………………………………………………..
ชื่อหนังสือ: อ่านทะลุความคิดด้วยจิตวิทยาแห่งการโกง : The (Honest) Truth About Dishonesty
นักเขียน: Dan Ariely
ผู้แปล: พรเลิศ อิฐฐ์, วิโรจน์ ภัทรทีปกร
จำนวนหน้า: 275
ราคา: 250 บาท
สำนักพิมพ์: วีเลิร์น (WeLearn)
Overall: 8/10
……………………………………………………..
Score Explanation
Writing Style: 9/10 เพราะอ่านสนุกเเละมีคำถามชวนให้เราคิดตามตลอด ทำให้อ่านเเล้วไม่รู้สึกเบื่อ
Time worthiness: 8/10 เพราะโดยภาพรวมนำเสนอได้พอดีเหมาะกับเรื่องที่ต้องการจะสื่อ
Content Usefulness: 7/10 ถ้าเราอยู่ในฐานะผู้บริโภคคนนึงการรับรู้ไว้ก็จะช่วยให้เราระวังตัวได้ดีมากขึ้น เเละถ้าเราเป็นผู้บริหารการรับรู้กลโกงเหล่านี้เอาไว้ก็จะช่วยป้องกันการโกงในองค์กรที่อาจเกิดขึ้นได้
โฆษณา