19 ต.ค. 2021 เวลา 09:01 • ความคิดเห็น
🚂🚋🚋🚋 หนึ่งในการเดินทางที่คลาสสิก และเป็นที่ชื่นชอบของใครหลายๆ คน คือการเดินทางด้วยรถไฟ ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศที่สถานี ผู้คนไปมา ของกินที่สถานี หรือที่แม่ค้าใส่ตะกร้าพาขึ้นไปขายกันบนรถไฟก็มี สิ่งเหล่านี้ชวนให้หลงไหลถึงการเดินทางด้วยวิธีนี้
การเดินทางด้วยรถไฟ หรือขนส่งสาธารณะทั่วไปนั้น สิ่งที่ต้องมีคือ “ตั๋ว” 🎟🎟 รายละเอียดบนตั๋ว ปกติแล้วจะเหมือนๆ กันคือ จะมีชื่อผู้ให้บริการ ชื่อบริษัท ราคา ต้นทาง-ปลายทาง เวลาการเดินทาง เป็นต้น
📌ในมุมของผู้ให้บริการ คือหลักฐานการชำระค่าโดยสาร
📌แต่ในมุมของผู้โดยสารนั้น เป็นการบ่งบอกได้ว่าคุณเป็นนักเดินทางมากแค่ไหน
📌และในมุมมองนักสะสม ตั๋วรถไฟคือของสะสมชั้นดีเช่นกันครับ แต่ไม่ใช่ตั๋วรถไฟยุคปัจจุบันนี้นะครับ แต่เป็นตั๋วรถไฟของยุคก่อนที่เป็นการ์ดเล็กๆ แข็งๆ มีสีสันลวดลายต่างๆ เชื่อว่าคนที่ครองชีวิตเกิน 30 ปีต้องคุ้นเคยกับมันอย่างแน่นอน
🚂🚋🚋
เราเรียกตั๋วรถไฟรุ่นคลาสสิกนี้ว่า “ตั๋วหนา” แต่หลายคนนิยมเรียกว่า “ตั๋วแข็ง”
รูปตั๋วแข็ง
ตั๋วรุ่นนี้ใช้ในอดีต ผลิตตามมาตราฐาน Edmonson มันมีความหนาระหว่าง 0.6-0.8 มม. กว้าง 30.5 มม. ยาว 57 มม. กระดาษต้องซับน้ำหมึกได้ดี พิมพ์แล้วไม่เลือนรางหรือน้ำหมึกไม่กระจาย และมีความแข็งแรงเพียงพอ ไม่หักงอ
ตั๋วแข็งสมัยก่อนผลิตจากต่างประเทศ แบบของตั๋วหนาต้นแบบได้มาจากประเทศในแถบยุโรป เช่น อังกฤษ เยอรมัน โดยตั๋วทุกใบจะมีการพิมพ์คำว่า The State Railway of Thailand ติดต่อกันเต็มด้านหน้าของตั๋ว เพื่อป้องกันการปลอม
พิมพ์ The State Railway of Thailand ป้องกันการปลอม
สีของตั๋วนอกจากให้ความสวยงานแล้ว ยังหมายถึงเรทราคาด้วย ปกติตั๋วมีสีเดียวพื้นๆ พิมพ์ด้วยตัวหนังสือสีดำ อย่างตั๋วสีเหลือง หมายถึง ตั๋วโดยสารชั้นหนึ่ง ตั๋วสีเขียว หมายถึง ตั๋วโดยสารชั้นสอง ตั๋วสีส้ม หมายถึง ตั๋วโดยสารชั้นสาม ซึ่งสีนี้เป็นที่รู้จักมักคุ้นสุดๆ เพราะมีปริมาณการถูกใช้งานมากเป็นอันดับต้นๆ
การซื้อตั๋วพิเศษ อธิบายง่ายๆ เหมือนกับการขึ้นเครื่องบิน low cost สมัยนี้ คือยืนพื้นด้วยค่าโดยสาร แต่หากต้องการความพิเศษเพิ่ม เช่น ไปรถเร็ว รถด่วน หรือไปตู้นอน หรือไปรถแอร์ ก็จะมีตั๋วต่างหากที่แสดง “สิทธิ์ในการโดยสาร” เติมเข้าไป เช่น ตั๋วสีขาวมีแถบสีส้ม คือตั๋วค่าธรรมเนียมโดยสารรถเร็ว ตั๋วสีขาวมีแถบสีชมพู คือตั๋วค่าธรรมเนียมโดยสารรถแอร์ หรือถ้าเป็นตั๋วสีขาวคาดสีเทา คือตั๋วค่าธรรมเนียมโดยสารรถนอน เป็นต้น
ตั๋วค่าธรรมเนียมรถเร็ว (คาดแดง) ตั๋วค่าธรรมเนียมรถด่วน (คาดส้ม) ผู้โดยสารรถเร็วและรถด่วนต้องถือตั๋วนี้ควบกับตั๋วค่าโดยสารปกติ ยิ่งซื้อบริการเสริมมากเท่าไหร่ก็ต้องถือตั๋วมากขึ้นเท่านั้น
ตั๋วชนิดไป-กลับ คาดสีเหลือง ระบุต้นทาง-ปลายทางทั้งสองเที่ยว และเมื่อตรวจตั๋วจะต้องตัดทั้งสองด้าน
ปัจจุบัน การรถไฟได้นำระบบการจำหน่ายตั๋วด้วยคอมพิวเตอร์มาใช้งาน จึงได้ยกเลิกการใช้ตั๋วแข็งไป ทำให้เหล่านักสะสมเสาะแสวงหาตั๋วหนา ตั๋วแข็งมาครอบครอง เพราะมีเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะเสน่ห์ของตั๋วที่มีชื่อสถานีต่างๆ ครับ
รูปตั๋วแข็ง
นอกจากชื่อสถานีและสีของตั๋วที่หลากหลายแล้ว ก็คือ รอยตัดของตั๋วที่มีความแตกต่างกัน ตามเครื่องตัดตั๋วประจำขบวนนั้นๆ ด้วย เจ้าหน้าที่จะมีที่ตัดตั๋วรถไฟประจำตัวซึ่งมีรอยตัดสัญลักษณ์ต่างๆ กันไป ซึ่งบางสัญลักษณ์จะหายากครับ
รอยตัดตั๋ว แบบหายากมากๆ
รอยตัดตั๋ว แบบหายาก
ตั๋วรถไฟสายมรณะ ปัจจุบันหายากมาก ราคาไปเกินกว่าหน้าตั๋ว กว่า 50 เท่า...
“อะไรที่ถูกใจแล้ว ไม่มีคำว่าแพง” คำพูดนี้ท่าจะจริง เรื่องของเรื่องคือ มีการซื้อขายตั๋วรถไฟกัน ราคาสูงที่สุดที่เคยได้ยินมา ตั๋วลักษณะที่เห็นนี้ได้มีการซื้อขาย เมื่อประมาณ 5-6 ปีที่ผ่านมา ในราคา 70,000 บาท ณ.สะพานข้ามแม่น้ำแคว กาญจนบุรี เหตุผลที่ซื้อก็คงเป็นเพราะท่านนั้นเป็นนักสะสมของเก่าและความชอบส่วนตัว แต่ทำไมถึงแพง ก็เพราะว่า ตั๋วใบนี้เก่าและนานมาก ถามว่า...ดูตรงไหน ตอบ..ก็ดูที่ราคามีการแก้ไขครับ
ปกติการรถไฟ นานๆ จะปรับราคาที และแต่ละครั้งที่ปรับขึ้นก็จะไม่มาก แต่ตั๋วใบนี้ ค้างตู้มานานมาก กว่าจะมีคนมาซื้อไปเขาย้อย จนราคาได้ปรับจาก 8 บาท 50 สตางค์ มาเป็น 28 บาท (ถือว่านานมากๆ) แก้ราคาโดยพนักงานออกตั๋ว ใช้ตรายางประทับแก้…
1
🚞🚃🚃🚃
ตั๋วแข็งไม่ได้พิมพ์ทันทีเมื่อมีการซื้อขาย แต่เป็นการพิมพ์เก็บไว้เป็นสต๊อกแล้วค่อยเบิกออกไปใช้ ในแต่ละล็อตนั้นมี 100 ใบ มีตัวเลขกำกับเอาไว้บริเวณขอบของตั๋วทั้งสองด้าน ตัวเลขมี 5 หลัก 3 ตัวแรกคือรหัสของล็อต และ 2 ตัวหลังคือลำดับของตั๋วในล็อตนั้นเริ่มจาก 00 – 99 เช่นในมัดนี้มีตั๋วหมายเลข 12300 – 12399
🎟🎟 ความพิเศษอยู่ที่ใบแรกสุดและใบหลังสุดของล็อตครับ เมื่อตั๋ว 100 ใบพิมพ์เรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่พิมพ์ตั๋วจะมัดเอาไว้ แล้วเอาด้ายผูกให้เป็นมัดเดียวกัน พร้อมวางกระดาษชิ้นเล็กๆ ไว้บนหน้าตั๋วใบแรกและหลังตั๋วใบสุดท้าย
ก่อนมัดให้แน่นไม่ให้หลุดออกจากกัน ขั้นตอนสุดท้ายคือการใช้ตรายางปั๊มลายดอกจันลงบนใบหน้าสุดและใบหลังสุด ให้รูปดอกจันนั้นติดอยู่บนตั๋วครึ่งหนึ่งและกระดาษรองอีกครึ่งหนึ่ง
เมื่อตั๋วมัดนั้นถูกนำไปใช้งานและแก้มัดออก ตั๋วใบแรกสุดจะปรากฏรูปดอกจันสีน้ำเงินครึ่งหนึ่งบนหน้าตั๋ว และใบสุดท้ายก็เช่นกันที่มีรูปดอกจันครึ่งหนึ่งปรากฏอยู่ด้านหลังตั๋ว นี่จึงเป็นตั๋วแบบพิเศษที่ถือว่าเป็น ‘Rare Item’ พอๆ กับตั๋วเลขเรียงเลยทีเดียว
1
รูปดอกจันที่ประทับตั้วใบแรก และในสุดท้ายของมัด
🚞🚃🚃 ถึงแม้ยังไม่เคยได้สัมผัสการนั่งรถไฟ แต่ถ้ามีโอกาสไปตามต่างจังหวัดก็จะไปนั่งตามสถานีรถไฟ นั่งดูบรรยากาศ ดูการเคลื่อนที่ของคนที่เข้ามา และผ่านไปครับ
สถานีรถไฟ หัวหิน
สุดท้าย 🤟มีคนเฒ่าคนแก่เคยเล่าให้ฟังว่า หากถูกตะขาบกัดให้เอาตั๋วรถไฟไปแช่น้ำแล้วพอกแผลไว้จะช่วยดูดพิษตะขาบ อันนี้เราไม่ขอลองด้วยคนนะ
1
ขอบคุณภาพ และข้อมูล
📌Facebook : Phasitt Padmadilok ชมรมนักสะสมตั๋วรถเมล์@ห้องตั๋วรถเมล์ไทย
📌https://readthecloud.co/train-ticket

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา