21 ก.ย. 2021 เวลา 06:00 • บ้าน & สวน
สร้างบ้านใหม่ต้องเตรียมตัวอย่างไร
🏠 Tambaan.co วันนี้เพื่อมือใหม่หัดทำบ้านเลย หากคุณไม่รู้ว่าจะเริ่มตรงไหน อะไรก่อน-หลัง เรามีคำตอบ! เพียงทำตามขั้นตอนต่อไปนี้ การสร้างบ้านที่ดูเหมือนเรื่องยากงานช้างก็จะง่ายขึ้นทันที
หวังว่าโพสท์นี้จะช่วยเตรียมตัว เตรียมใจ และที่สำคัญเตรียมงบสำหรับการสร้างบ้านหลังแรก ถ้าพร้อมแล้วไปกันเลย!
สร้างบ้านใหม่ต้องเตรียมตัวอย่างไร
👉 1.หาสไตล์บ้านที่ชอบ
👉 2. ลิสต์ฟังก์ชั่นที่ใช่
👉 3. รีเสิร์ชเรื่องบ้าน
👉 4. เตรียมงบทำบ้าน
👉 5. หาสถาปนิกและทีมผู้รับเหมามืออาชีพ
👉 1.หาสไตล์บ้านที่ชอบ
ขั้นตอนนี้สำคัญมาก และเจ้าของบ้านสามารถเริ่มได้เลย โดยหาข้อมูลเก็บไว้ว่าสไตล์บ้านที่เราชอบเป็นแบบไหน อยากใช้วัสดุอะไรในการสร้าง เช่น เหล็ก ไม้ อิฐ เป็นต้น เพื่อตอนทำแบบบ้านหรือตอนสื่อสารกับสถาปนิกหรือผู้รับเหมาจะได้สามารถแจ้งความประสงค์ได้ชัดเจน เช่น บ้านแบบโมเดิร์น บ้านลอฟท์ หรือบ้าน
มินิมอล
ขอแนะนำตัวช่วย ให้โหลดแอป Pinterest มาใช้ เพราะมีไอเดียทำบ้านสวยๆเยอะมาก หลายสไตล์ มีทั้งบ้านจากไทยและเมืองนอก สร้างบัญชีผู้ใช้ แล้วพิมพ์หาแนวทางบ้านที่ชอบ ข้อดีคือสามารถเซฟภาพแล้วตั้งเป็นอัลบั้มได้ โดยสามารถตั้งเป็นห้องก็ได้ เพื่อง่ายต่อการจัดเก็บ
รายละเอียดเยอะจริงๆ เพราะเจ้าของบ้านควรจะต้องหาแบบที่ชอบตั้งแต่หลังคา ยันประตู หน้าต่าง บันได กระเบื้อง เฉดสี ฯลฯ
นอกจากนี้ ยังมีเวปหรือเพจสร้างบ้านสวยๆเยอะมาก แนะนำให้ไปดูและติดตามเพจ Space Story ที่มีบ้านหลายสไตล์มาให้ดูเป็นไอเดีย ชอบบ้านหลังไหนก็ save เก็บไว้ได้เลย
👉 2. ลิสต์ฟังก์ชั่นที่ใช่
หลังจากได้สไตล์ที่ชอบแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือทำลิสต์ว่าห้องหรือฟังก์ชั่นในบ้านที่เราต้องการมีอะไรบ้าง เช่น กี่ห้องนอน กี่ห้องน้ำ ห้องอะไรบ้างที่อยากให้มี เป็นต้น หลังจากนั้นลองคำนวณดูว่าเนื้อที่ทั้งบ้านตกกี่ตรม. โดยเราอาจจะประเมินคร่าวๆ ว่าความกว้างxยาวของแต่ละห้องอยู่ที่ 3x3 หรือ 4x4 แล้วคำนวณออกมาเป็นพื้นที่ใช้สอยของบ้านทั้งหลัง
เราแนะนำให้ทำลิสต์ให้ตรงกับความต้องการจริงๆมากที่สุด คิดว่าใครก็เป็น ก่อนสร้างบ้านอยากได้ห้องเยอะแยะมากมาย อยากมีมุมตรงนู้นตรงนี้เอาไว้รับแขก อยากมีสระว่ายน้ำ มีเรือนเพาะชำ มีสนามหญ้ากว้างๆ มีบ่อปลา ฯลฯ ถ้ามีงบไม่จำกัด เราเชียร์ให้ทำเต็มที่เลย 😊
แต่ถ้างบจำกัด ขอย้ำว่าเราต้องตัดทอนเหลือเท่าที่จำเป็นเท่านั้น (ถ้าตัดใจไม่ได้ แนะนำให้แบ่งทำเป็นเฟสๆ เช่น อีกสองสามปีให้หลัง หรือถ้าสร้างเสร็จแล้วเงินเหลือ ค่อยทำเพิ่มก็ได้ )
นอกจากนี้ อย่าลืมคิดเรื่องการดูแลรักษาหลังบ้านเสร็จด้วย เช่น ใครจะรดน้ำต้นไม้ ใครจะตัดหญ้า ใครจะทำความสะอาด บอกเลยว่าการดูแลบ้านเหนื่อยใช้ได้เลย
วิธีคำนวนราคาค่าก่อสร้างคร่าวๆคือ พื้นที่ใช้สอย (ตรม.) x ค่าก่อสร้าง (ส่วนมากอยู่ที่ 16,000-25,000 บ. ขึ้นอยู่กับเกรดของวัสดุ) ก็จะได้ราคาบ้านหนึ่งหลัง
เช่น หากบ้านมีพื้นที่ใช้สอย 200 ตรม. ก็จะตกประมาณ 3.2- 5 ล้าน
👉 3. รีเสิร์ชเรื่องบ้าน
หากเจ้าของบ้านไม่ได้จบวิศวะ หรือเข้าใจเรื่องขั้นตอนการสร้างบ้าน แนะนำให้หาความรู้ไว้ เพราะเราต้องอ่านสัญญาสร้างบ้าน อ่าน BOQ ตรวจงานผู้รับเหมา และเซ็นรับบ้านหลังการก่อสร้างเสร็จ ถ้าเรามีความเข้าใจก็จะทำให้เราสามารถเช็คความเรียบร้อยของบ้าน และแก้งานได้ ก่อนที่จะสายไป
เราบอกเลยว่า รายละเอียดเยอะมาก อาจจะค่อยๆทยอยอ่าน หรืออาจจะแบ่งให้คนในบ้านช่วยๆกันหาข้อมูลก็ได้ เช่น ใครรับผิดชอบส่วนนี้ เป็นต้น กระจายงานกันไป จะได้ช่วยๆกันดู
👉 4. เตรียมงบทำบ้าน
หลังจากได้สไตล์บ้าน พื้นที่ใช้สอยแล้ว ต่อไปก็คือการเตรียมงบ
หลายๆท่านยังเข้าใจผิดคิดว่าเตรียมเงินตามใบ BOQ แค่นั้นพอ ตรงนี้ขอเตือนเลยว่าตัวเลขใน BOQ ที่ผู้รับเหมาตีราคามานั้นแค่ปลายของภูเขาน้ำแข็ง❗
อยากให้เจ้าของบ้านเก็บเงินรอเลย เพราะค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียมสำหรับการสร้างบ้าน มีดังนี้
1. ค่าที่ (ค่าที่ดิน + ค่าถมที่)
2. ค่าออกแบบ
3. ค่าใช้จ่ายในการติดต่อราชการ (เช่น การขออนุญาตก่อสร้างอาคาร การขอน้ำประปา การติดมิเตอร์ไฟ เป็นต้น)
4. ค่าก่อสร้าง
5. ค่าทำสวน และ งาน landscape ภายนอก
6. ค่าเฟอร์นิเจอร์
7. ค่ามุ้งจีบ
8. ค่าม่าน
9. เงินสำรอง
อ่านเพิ่มเติมเรื่องการเตรียมงบได้ที่
👉 5. หาสถาปนิกและทีมผู้รับเหมามืออาชีพ
เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว ก็ได้เวลาหาสถาปนิกและทีมผู้รับเหมามารับงาน
ขอแนะนำ ดังนี้
-ให้หาทีมที่อยู่ในจังหวัดเดียวกับไซต์งาน เพราะสถาปนิกหรือผรม.จะได้มาตรวจงานได้บ่อยๆ
-พยายามอย่าใช้บริษัทสถาปนิกและบริษัทผรม.ที่มาจากเจ้าเดียวกัน เพื่อความ check and balance ในการตรวจงาน นอกจากนี้ เพื่อได้ทีมงานที่มีความรู้เฉพาะทางไปเลย
-ใช้ทีมงานที่เป็นมืออาชีพ อย่าใช้ช่างที่เราไม่รู้จักหัวนอนปลายเท้า เพราะเสี่ยงต่อการทิ้งงาน ทำงานลวกๆ และที่สำคัญโดนโกง
สำหรับการเลือกผรม. เราขอแนะนำดังนี้
1. ดูผลงานที่ผ่านมาในอดีต
2. สอบถามลูกค้าเก่า
3. ขอไปดูไซต์งานปัจจุบัน และที่ตั้งบริษัท
4. ดูฝีมือช่าง
5. ดูสถานะทางการเงิน
6. ดูเงื่อนไขสัญญา
7. ดูงบประมาณหรือราคา
8. เช็คประวัติจากอินเตอร์เน็ต
9. เปรียบเทียบผู้รับเหมาอย่างน้อย 2 - 3 เจ้า
อ่าน 9 วิธีเลือกผู้รับเหมา ได้ที่นี่
Tambaan.co เป็นกำลังใจให้ทุกคนที่ฝันอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง
👉 เลือกใช้มืออาชีพ
👉 เลือกช่างที่มีประวัติการทำงานดี
👉 สนับสนุนผู้รับเหมาที่ขึ้นทะเบียน
เพื่อผู้รับเหมาโกงจะได้หางานได้ยากขึ้น
โฆษณา