28 ก.ย. 2021 เวลา 12:29 • การศึกษา
อยากลาออกจากงาน ควรเตรียมตัวอย่างไร ไม่ให้กระทบการเงิน
เชื่อว่าหลายๆ คน เมื่อทำงานมาถึงช่วงระยะเวลาหนึ่ง จะเริ่มรู้สึกเบื่อหน่าย หรือค้นพบตัวตนของตัวเองมากขึ้น และอยากลาออกจากงาน เพื่อไปทำงานที่ตัวเองรักและพอใจ และต้องการความยืดหยุ่นในการทำงาน
ดังนั้น ตัวเลือกนอกจากงานประจำ ก็อย่างเช่น การออกมาเป็นฟรีแลนซ์รับงานอิสระ หรือลงทุนเปิดร้านเป็นของตัวเอง เป็นต้น
แต่แม้ว่าหลายๆ คนจะชอบงานของตัวเอง หรืออยากเป็นเจ้านายตัวเอง แต่บางครั้งมันก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่ใจเราปรารถนา เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่งรีบด่วนตัดสินใจลาออกจากงาน หากยังไม่มีแผนการที่ชัดเจน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวางแผนการเงินที่ดี เพราะหากปราศจากการวางแผนที่ดี อาจทำให้การเงินสะดุด เงินขาดมือหรืออาจถึงขั้นเป็นหนี้เป็นสินจนไม่สามารถชำระหนี้ได้ และเกิดความเครียดจนชีวิตพังได้ค่ะ
ดังนั้น สำหรับบทความนี้ จึงอยากแนะนำให้เตรียมตัวให้ดี ก่อนที่จะลาออกจากงานประจำนะคะ แล้วเราควรเตรียมตัวอย่างไรบ้าง มีดังนี้ค่ะ
1.วางแผนเรื่องอาชีพเสริม
การทำอาชีพเสริมสามารถปูทางไปสู่ธุรกิจส่วนตัวได้ ลองหาอะไรสักอย่างทำดู ช่วงเวลาหลังเลิกงาน หรือวันหยุดสุดสัปดาห์ อาจเป็นเวลาที่ดีในการลองทำอาชีพเสริมที่อาจกลายเป็นอาชีพหลักในอนาคตได้
เช่น ขายของออนไลน์ ทำคลิปท่องเที่ยว รีวิวต่างๆ เป็น blogger หรือเขียนบทความ เป็นต้นค่ะ
ถ้าลองทำแล้วไม่ใช่ ก็หาลองใหม่จนเจออาชีพที่เหมาะกับตัวเอง และสามารถสร้างตัวได้ และต้องลองทำจนกว่าจะมั่นใจว่าอาชีพเสริมนั้นมีรายได้ที่เพียงพอ อย่างน้อยเท่ากับรายจ่ายต่อเดือนที่เรามีค่ะ
2. วางแผนสร้างพอร์ตการลงทุน
1
เราควรแบ่งเงินส่วนหนึ่งออมไว้สำหรับการนำไปลงทุนต่อยอดสร้างรายได้ในอนาคต ในระหว่างที่ยังมีรายได้จากงานประจำอยู่
1
หากมีเรามีเงินออมแล้ว ก็สามารถนำไปสร้างพอร์ตการลงทุนได้ เป็นการช่วยเพิ่มช่องทางสร้างรายได้ในรูปของเงินปันผลจากพอร์ตการลงทุน
ในช่วงที่เรายังเริ่มทำงานใหม่ๆ อาจจะยังไม่รู้แน่ชัดว่าเราชอบและอยากทำอาชีพอะไรกันแน่ แต่สิ่งหนึ่งที่สามารถเริ่มต้นทำได้เลย ก็คือ การวางแผนการเงิน และการลงทุน
หากเรามีรายได้ทั้งจากงานประจำ อาชีพเสริม และพอร์ตการลงทุน ก็จะช่วยให้อุ่นใจได้เมื่อต้องลาออกจากงานประจำค่ะ
3. มีเงินสำรอง
โดยทั่วไปเงินสำรองควรมีไว้ให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 12 เดือน และควรมีเงินสำรองเป็นทุนในการเริ่มต้นทำธุรกิจด้วย
1
ซึ่งมากน้อยแตกต่างกันตามประเภทธุรกิจ แต่ถ้าเลือกได้ ควรเลือกธุรกิจที่ใช้ทุนน้อยก่อนเพื่อลดความเสี่ยงเรื่องเงินทุนไม่พอค่ะ
4. จัดการหนี้สิน
หากรู้ตัวว่ามีหนี้สินอยู่ ก่อนลาออกจากงานประจำ ต้องพยายามเคลียร์หนี้สินออกให้มากที่สุด โดยเฉพาะหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูง และไม่ก่อให้เกิดรายได้
1
หรือถ้าไม่สามารถเคลียร์ได้หมด แนะนำให้ขอรีไฟแนนซ์เพื่อให้มีดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุด และหนี้สินทั้งหมดไม่ควรเกินทรัพย์สินทั้งหมดที่เรามีอยู่ด้วยค่ะ
5. วางแผนเรื่องประกันสังคม และสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ
หลังลาออกจากงาน ต้องไปขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ว่างงาน ที่สำนักงานจัดหางานของรัฐ หรือสามารถลงทะเบียนออนไลน์ได้ โดยไม่ต้องรอหนังสือรับรองการออกจากงาน
1
ทั้งนี้ เพื่อรับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
เช่น ผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 15,000 บาท จะได้รับเงินเดือนละ 4,500 บาท และยังมีสิทธิคุ้มครองต่ออีก 6 เดือน ใน 4 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร เสียชีวิต
นอกจากนี้เงินประกันสังคมที่เราจ่ายไปทุกเดือน ส่วนหนึ่งจะถูกนำไปสะสมเป็นเงินออมชราภาพ เราสามารถเข้าไปเช็กยอดเงินได้ที่เว็บหรือแอปของประกันสังคม โดยสามารถขอคืนได้ตอนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์เท่านั้นค่ะ
ส่วนจะได้รับเป็นบำเหน็จหรือบำนาญก็ขึ้นอยู่กับระยะเวลาส่งเงินเข้าประกันสังคม
หลังจากลาออกภายใน 6 เดือน ก็อาจพิจารณายื่นสมัครเป็นสมาชิกประกันสังคมต่อแบบผู้ประกันตนโดยสมัครใจตามมาตรา 39
เพื่อให้มีสิทธิประโยชน์คุ้มครองรักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุ และรักษาสิทธิเงินออมชราภาพ
แต่ทั้งนี้ การสมัครเข้ามาตรา 39 จะมีผลต่อการคำนวณเงินบำนาญชราภาพ กล่าวคือ อัตราฐานเงินเดือนที่ใช้คำนวณของ มาตรา 39 อยู่ในอัตราที่ค่อนข้างต่ำที่ 4,800 บาท
ซึ่งหากก่อนหน้านี้เรามีฐานคำนวณอยู่ที่ 15,000 บาท จะมีผลทำให้การคำนวณฉุดให้เงินชราภาพของเราลดน้อยลงได้ เพราะการคำนวณจะใช้ฐานเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนย้อนหลังค่ะ ซึ่งในจุดนี้ก็ต้องพิจารณาเลือกกันดีๆ ด้วยนะคะ
6. วางแผนจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
เมื่อลาออกจากงาน เท่ากับเป็นการลาออกจากสมาชิกภาพของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วย ซึ่งหากนำเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพออกมา โดยที่ยังมีอายุไม่ถึง 55 ปีบริบูรณ์ เท่ากับทำผิดเงื่อนไขทางภาษีของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ทำให้เงินที่ได้มานั้น จะต้องเอามายื่นเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย ดังนั้น หากไม่อยากเสียภาษีในเงินส่วนนี้ ก็สามารถโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไปอยู่ในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) แทนได้
1
แถมยังทำให้สามารถเลือกรูปแบบการลงทุนได้หลากหลาย และสะสมเงินไว้จนถึงเกษียณได้ รวมถึงได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้เช่นเดิมอีกด้วย
ทั้งนี้ การเลือกที่จะโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไป RMF จะต้องแจ้งความประสงค์ต่อนายจ้างเมื่อลาออก เพื่อให้บริษัทจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โอนเงินไปยัง RMF ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับเอกสารการลาออกครบถ้วน
7. วางแผนสมัครบัตรเครดิต
1
ผู้ที่สามารถสมัครบัตรเครดิตได้ ต้องมีรายได้มั่นคงขั้นต่ำที่ 15,000 บาทต่อเดือน และมีประวัติการชำระเงินที่ดี หากยังไม่มีบัตรและอยากมีไว้สักใบเพื่อการใช้จ่ายที่สะดวกสบายขึ้น ก็ควรทำไว้ตั้งแต่ยังไม่ลาออกจากงาน
1
เพราะเมื่อลาออกจากงานแล้ว สิ่งที่จะหายไปด้วย ก็คือ statement เงินเดือน ซึ่งเป็นหลักฐานการมีรายได้ที่สม่ำเสมอ ที่ทางธนาคารต้องการเป็นอย่างยิ่ง เพราะมันบ่งบอกถึงการมีเครดิตที่ดี ที่ธนาคารจะอนุมัติให้เราเปิดบัตรเครดิตได้
หลังจากที่ได้รับการอนุมัติให้กลายเป็นผู้ถือบัตรแล้ว ก็มักจะไม่มีการตรวจสอบรายได้อีก ดังนั้นก่อนลาออกควรสมัครบัตรเครดิตไว้ก่อน เอาที่มีสิทธิประโยชน์คุ้มค่า ตอบโจทย์การใช้งานและไลฟ์สไตล์ของเรา และสามารถขอยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีได้ด้วยค่ะ
การมีงานประจำหรือไม่นั้นไม่สำคัญ แต่ขึ้นอยู่กับตัวเราเองว่าอยากเป็นใคร อยากทำอะไร มีเป้าหมายชีวิตในอนาคตอย่างไร และเริ่มลงมือทำตั้งแต่วันนี้ต่างหาก
เพราะหากลาออกจากงานโดยปราศจากเป้าหมายและแผนการที่ดีแล้ว ชีวิตก็เหมือนไร้ทิศทาง อาจต้องเจอตอและอุปสรรคต่าง ๆ มากมาย และอาจต้องกลับมาเป็นมนุษย์เงินเดือนตามเดิมอีกก็เป็นได้ค่ะ
💦.....อ่านมาถึงตรงนี้ มีใครอยากลาออกจากงานหรือยังคะ 🤭 ยังไงก็อย่าลืมเตรียมตัวให้พร้อมก่อนออกเดินทางกันนะคะ 😉
1
Cr. ธนาคารไทยพาณิชย์
เรียบเรียงโดย : ลงทุนในบัญชีและภาษี
ขอบคุณทุกๆ กำลังใจที่มีให้กันเสมอค่ะ
🌷🌷❤❤🙏🙏🙏🙏❤❤🌷🌷

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา