1 ต.ค. 2021 เวลา 07:10 • ปรัชญา
"ธรรมบทเดียวก็บรรลุอรหันตผล ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้"
" ... ธรรมดาพระผู้มีพระภาคเจ้า
เมื่อจะทรงกล่าวธรรม แสดงธรรม
พระองค์ก็จะแสดงตั้งแต่เบื้องต้น ท่ามกลาง แล้วก็ที่สุด
พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ
ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ โดยสิ้นเชิง
เรียกว่า ถึงแม้จะเป็นพระสูตร บทสั้น ๆ
ก็มีความสมบูรณ์แบบในตัว
ก็คือตั้งแต่ระดับต้น ระดับท่ามกลาง แล้วก็ระดับที่สุด
เพราะยิ่งสมัยพุทธกาล
โอกาสที่จะได้ยินได้ฟังธรรม ไม่ใช่ง่าย ๆ
บางคนได้ฟังเพียงแค่ครั้งเดียวในชีวิต
ไม่ได้แพร่หลายเหมือนในยุคสมัยนี้ที่มีสื่อ
เราอยู่ที่ไหนเราก็ฟังได้ ได้ยิน
ผู้ที่มีศรัทธาก็จะน้อมนำไปประพฤติปฏิบัติ
แม้เพียงรับบทธรรมสั้น ๆ บทเดียวไปปฏิบัติ
ก็สามารถทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
บางท่านก็เจริญอิทธิบาท ๔
บางท่านก็เจริญสัมมัปาทาน ๔
บางท่านก็เจริญสติปัฏฐาน ๔
ในสติปัฏฐาน ๔ ก็แยกออกมาได้เยอะมาก
ในเรื่องของกายคตาสติ ก็แยกออกไป
เรื่องของกายนี้ก็แยกออกไป
บางท่านก็เจริญอานาปานสติ
บางท่านก็เจริญเรื่องของอิริยาบถ
บางท่านก็เจริญในเรื่องของสัมปชัญญะ
บางท่านก็เจริญ พิจารณาร่างกาย
เป็นอาการ ๓๒ เป็นสิ่งปฏิกูล
บางท่านก็พิจารณาเป็นเรื่องของธาตุ
ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ
บางท่านก็พิจารณาเป็นอสุภะ ซากศพ
ก็มีนัยยะต่าง ๆ ก็แล้วแต่ว่า
น้อมรับเรื่องใดไปฝึกปฏิบัติ
บางท่านก็เจริญเวทนานุปัสนาสติปัฏฐาน
ใช้ความรู้สึกของกายของใจเป็นอุปกรณ์
บางท่านก็พิจารณา
ในหมวดของจิตตานุปัสนาสติปัฏฐาน
บางท่านก็พิจารณา
ในหมวดของธัมมานุปัสนาสติปัฏฐาน
ธัมมาก็แตกย่อยออกไปเป็นหัวข้อต่าง ๆ
เรื่องนิวรณ์ ๕ บ้าง
เรื่องโพชฌงค์ ๗ บ้าง ต่าง ๆ
ก็แล้วแต่ว่าจะน้อมรับข้ออรรถข้อธรรมใด
ไปประพฤติปฏิบัตินั่นเอง
ซึ่งทุกข้อสามารถปฏิบัติ
จนทำที่สุดแห่งทุกข์ได้เลย
สมบูรณ์แบบในตัว ในทุก ๆ ข้ออยู่แล้ว
ไม่ใช่ว่าเราปฏิบัติข้อนี้ ต้องไปต่อข้อนี้
แต่สมบูรณ์แบบในตัวอยู่แล้ว
เหมือนน้ำที่มันอยู่คนละสาย
สุดท้ายมันจะเชื่อมเข้าสู่สายหลัก
แล้วลงสู่ทะเลเหมือนกัน ฉันนั้น
อยู่ที่ว่าเราเพียรทำให้มาก เจริญให้มาก
ในสติปัฏฐานทุกข้อก็จะไปต่อที่
มีความเพียร มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม
มีสติละความพอใจ ไม่พอใจในโลก
พิจารณากายที่เป็นภายในบ้าง
พิจารณากายที่เป็นภายนอกบ้าง
พิจารณากายทั้งภายในและภายนอกบ้าง
สติตั้งมั่น สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่ารู้สึก
เพียงแค่รู้ แค่รู้สึก
ไม่ติดข้องอยู่
ไม่ยึดถืออะไร ๆ ทั้งปวงในโลกด้วย
นี่สอนจนถึงที่สุด
เบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด
บางท่านก็รับเรื่องของอินทรีย์ ๕
เจริญอินทรีย์ ๕
ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา
บางท่านก็เจริญพละ ๕
บางท่านก็เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘
บางท่านก็เจริญโพชฌงค์ ๗ องค์แห่งการตรัสรู้
บางท่านก็เจริญอนิจจสัญญา
พิจารณาความไม่เที่ยง
บางท่านก็เจริญเรื่องของพรหมวิหาร
เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
พรหมวิหาร เป็นวิหารของพรหม
แต่ถ้ารู้หลักแล้ว ก็ต่อยอด
จนที่สุดแห่งทุกข์ได้เช่นกัน
สามารถยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนา
แล้วสลัดคืนได้เช่นกัน
เพราะว่าแต่ละคนมีอัธยาศัยที่สะสมมา
ไม่เหมือนกัน นั่นเอง
ถ้าได้เลือกกรรมฐาน
ที่ถูกอัธยาศัย ถูกสัปปายะ
ความปฏิบัติ ความก้าวหน้าในธรรมก็จะเกิดขึ้นได้ดี
สิ่งนี้เราจะรู้ได้ด้วยใจเราเองนี่แหละ
เลือกปฏิบัติแล้วมันถูกจริต ถูกอัธยาศัย
มันมีความสัปปายะ
คือมันมีความสบายในการฝึกปฏิบัตินั่นเอง
สมัยพุทธกาล พระองค์เป็นพระสัพพัญญู
พระองค์รู้ พระองค์มอบกรรมฐานที่ถูกอัธยาศัยให้
แต่สมัยนี้เราก็ต้องพึ่งตัวเอง
ก็เลือกนำมาฝึกปฏิบัติ ด้วยตัวของเรา
กรรมฐานไหนที่ถูกจริต ถูกอัธยาศัย
คือทำแล้วสบาย มีความสัปปายะ
มีสติ มีความตั้งมั่น นั่นคือความสัปปายะ
มันก็จะต่อยอดจนถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้เช่นกัน
เพราะฉะนั้น การฝึกปฏิบัติในพระพุทธศาสนา
จึงเป็นเรื่องของการลงมือฝึกปฏิบัติ
จะต่างจากวิชาการทางโลก
ที่เราต้องศึกษามาก ฟังมาก
เรียบจบปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก
ทรงจำได้มาก ก็แตกฉานมาก มีความรู้มาก
เป็นอาจารย์ เป็นศาสตราจารย์ ต่าง ๆ
แต่ในด้านพระพุทธศาสนา
กลับไม่ใช่ว่าการที่เราต้องรู้มากแบบนั้น
รู้มาก รู้พระธรรมมากก็เป็นความดี
แต่ว่าแก่นจริง ๆ ก็คือ
การที่เราเริ่มลงมือฝึกปฏิบัตินั่นเอง
จนเข้าถึงสิ่งที่เป็นสัจธรรม
ความจริงของธรรมชาติ
ซึ่งทุกข้ออรรถข้อธรรม
ถ้าน้อมนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง
ก็ย่อมเกิดผลเป็นธรรมดา
อย่างในสมัยพุทธกาล ก็มีภิกษุรูปหนึ่ง
ท่านมีนามว่า ท่านพระเอกุทานะ
หลังจากไปเรียนกรรมฐานแล้ว
ในสำนักของพระศาสดา
ก็ไปอยู่ป่าเราไพรแห่งหนึ่ง เจริญสมณธรรม
ไปอยู่องค์เดียวเลย
วิถีของสมณะก็จะเป็นอย่างนี้
การวิเวก การปลีกตัว
จนบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์
ท่านก็ไม่ได้เรียนอะไรมาก
ท่านก็เรียนเพียงบทธรรมสั้น ๆ
เพราะฉะนั้น พอท่านบรรลุธรรมแล้ว
ท่านก็รู้แค่บทธรรมสั้น ๆ
ไม่ได้รู้อะไรมากเลย จนจบกิจ
ทุกวันพระจันทร์วันเพ็ญ อุโบสถ
ธรรมดาวันพระ อุโบสถ
ก็จะมีการกล่าวธรรม แสดงธรรม
ถึงแม้ท่านจะอยู่ในเราป่าคนเดียว
วันอุโบสถท่านก็รักษาธรรมเนียม
ของพระพุทธศาสนา
ท่านก็จะกล่าวธรรมในวันอุโบสถนั้น
กล่าวคนเดียว กล่าวกับใคร
ก็มีจิตวิญญานมาก ที่ไม่ใช่มนุษย์
ที่ได้ยินได้ฟังนั่นเอง
ท่านก็กล่าวบทธรรมสั้น ๆ
ที่ท่านเรียนมา แล้วก็ปฏิบัติมา
ท่านกล่าวว่า
"ความโศกทั้งหลาย ย่อมไม่มีแก่ผู้ที่มีจิตมั่นคง
เป็นมุณี ศึกษาในข้อปฏิบัติของโมเนยยะ
เป็นผู้ไม่ประมาท มีความสงบระงับแล้ว
มีสติทุกเมื่อ"
ทุกอุโบสถท่านก็กล่าวแค่นี้
บทเดียวเลย
พอท่านกล่าวจบปุ๊บ
เทวดาให้การสาธุกาล บรรลือลือลั่นทั่วทั้งเราป่า
เป็นเสียงอันเเดียวกัน
เทวดานับประมาณไม่ได้ ให้สาธุกาลกันบรรลือ
เป็นอย่างนี้ทุกอุโบสถ
ท่านก็ขึ้น ก็กล่าวแค่นี้
แล้วเทวดาก็บรรลือลั่น
กี่ครั้ง ๆ ก็กล่าวแค่นี้แหละ
ก็รู้อยู่แค่นี้ ปฏิบัติแค่นี้ แจ้งแค่นี้
ก็กล่าวแค่นี้
แต่เทวดากลับให้สาธุกาล
บรรลือลั่นเลย ... "
" ...​ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
"เราไม่กล่าวว่าผู้ที่รู้ธรรมมาก พูดมาก
ว่าเป็นผู้ที่ทรงธรรม
แต่เรากล่าวว่า ผู้ที่รู้ธรรมแม้เพียงบทหนึ่ง
แต่แทงตลอดสัจธรรม
นั่นแหละคือผู้ทรงธรรม"
ไม่ได้วัดกันที่เราทรงจำอะไรได้มาก
แต่วัดกันที่การขัดเกลาตนเอง
จนเข้าถึงความบริสุทธิ์นั่นเอง
จึงจะเรียกว่าเป็นผู้ทรงธรรม
ซึ่งธรรมดา
เมื่อผลจากการฝึกฝนแล้ว
เราจะศึกษา ทรงจำพระสูตรมาก
ก็เป็นคุณประโยชน์เกื้อกูลต่อมหาชน
แต่ให้เข้าใจสิ่งที่เป็นแก่น เป็นสาระ
ก็คือการฝึกฝน ขัดเกลาตนเอง
จนเข้าถึงความบริสุทธิ์ ผุดผ่อง นั่นเอง
ซึ่งสิ่งนี้มันไม่สามารถเกิดได้จากการทรงจำ
การตรึกนึก ใช้มันสมองของมนุษย์
เพราะว่ามันเป็นเรื่องของ จิต
มันต้องพ้นจากการตรึกนึก
พ้นจากการทรงจำต่างหาก
เป็นเรื่องของการปฏิบัติ
จนพ้นจากชั้นความคิดปรุงแต่ง
แล้วเข้าถึงความสงบระงับภายใน
จนแทงตลอดอริยสัจธรรม
สามารถเพิกเมฆหมอกแห่งอวิชชาออกไปจากใจ
ชำระล้างบาปและอกุศลธรรมจนหมดสิ้นไปได้
จึงจะเรียกว่าเป็นผู้ที่บริสุทธิ์ ขาวรอบ ผุดผ่อง
เหมือนพระจันทร์วันเพ็ญที่งามกระจ่างกลางท้องฟ้า
ไม่เกี่ยวข้องยึดโยงกับสิ่งใด ๆ ทั้งสิ้น
เรียกว่า สิ้นอาลัยในโลก
ไม่เกาะเกี่ยว
ในสมัยพุทธกาล กุลบุตรทั้งหลาย
จึงเห็นว่าชีวิตคฤหัสถ์ฆราวาส
จะปฏิบัติให้ผ่องแผ้วแบบนั้น มันทำได้ยาก
มีกิจธุระการงานมาก
อย่ากระนั้นเลย ผู้ที่มีศรัทธามั่นคง
ก็จะสละออกมาบวช
เพื่อฝึกฝน ขัดเกลาตนเอง นั่นเอง
การงานทางโลกมันไม่มีที่สิ้นสุดหรอก
ก็ทำไปจนตาย
แต่กิจทางธรรมมันมีที่สุด
ปฏิบติแล้ว พากเพียรแล้ว ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
จบแล้ว มันจบ
มัน "จบ" ทุกอย่างได้
ไม่ต้องกลับมาวังวน
การงานทางโลกไม่มีที่สิ้นสุดหรอก
ก็ทำกันไป ตายแล้วเกิด ตายแล้วเกิด
มันไม่มีที่สิ้นสุด
แต่การงานทางธรรม
มันมี จบ นั่นเอง
เพราะฉะนั้น ไม่มีกิจอันใดสำคัญกว่านี้อีกแล้ว ...​ "
.
ธรรมบรรยาย โดย
พระมหาวรพรต กิตฺติวโร
นาทีแรกถึงนาทีที่ 9.49
และนาทีที่ 16.10 - 18.35
ขอบคุณรูปภาพจาก : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา