4 ต.ค. 2021 เวลา 01:08 • การศึกษา
วันที่ 4 ตุลาคม ของทุกปีเป็นวันสัตว์โลก (World Animal Day) เลยถือโอกาสนี้เปิดเพจ "รู้เรื่องสัตว์ๆ" ขึ้น เพื่อเป็นช่องทางแลกเปลี่ยนเรื่องราวความรู้เกี่ยวกับสัตว์ต่าง ๆ ทั่วโลกที่น่าสนใจกันค่ะ
สำหรับบทความแรกจะขอเริ่มจากสัตว์ใกล้ ๆ ตัว ที่ซ่อนอยู่ใน "อักษรไทย" ทั้ง 44 ตัว ซึ่งมีสัตว์ซ่อนอยู่ถึง "12 ตัว" หรือกว่าหนึ่งในสี่ของอักษรไทยทั้งหมดเลยทีเดียว! และเรื่องสัตว์ๆ จากตัวอักษรไทยตัวแรกที่จะพูดถึงในตอนนี้ก็จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก..
รู้เรื่องสัตว์ ๆ ตอนที่ 1: "ก ไก่"🐓
เมื่อพูดถึงไก่สิ่งแรกที่เรานึกถึงคงไม่ใช่บรรพบุรุษของไก่คือไดโนเสาร์ที่ชื่อ Archaeopteryx แต่เราน่าจะนึกถึงเมนูอาหารจากไก่ที่คงเป็นเมนูโปรดของใครหลายๆ คน🍗
แต่ก่อนจะนึกเมนูอาหารอยากให้ลองนึกถึงไก่ตัวเป็น ๆ ก่อนที่จะมาอยู่ในจานของเราว่าไก่ที่เรากินอยู่ทุกวัน ส่วนมากเป็นไก่เลี้ยง ซึ่งก็มีการพัฒนาสายพันธุ์มายาวนานเป็นร้อยปี จากการที่มนุษย์นำไก่ป่ามาเลี้ยงกลายเป็นไก่บ้าน จนพัฒนาเป็นการเพาะเลี้ยงพันธุ์ไก่ต่าง ๆ ทั้ง ไก่เนื้อและไก่ไข่🐔🐣 ที่ได้กลายเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญของมนุษย์
และเพื่อไม่ให้หิวไปกว่านี้ขอคุ้ยเขี่ยเข้าเรื่องของไก่ที่จะพูดถึงในตอนนี้ หลายคนน่าจะทราบกันดีว่าไก่เป็นสัตว์ปีกประเภทนกชนิดหนึ่ง และไก่ที่จะพูดถึงในวันนี้ก็ไม่ได้ไก่ก่าเพราะมีดีกรีเป็นถึง “นกประจำชาติไทย” ไก่ตัวนั้นก็คือ....
ไก่ฟ้าพญาลอ ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Siamese Fireback
ไก่ฟ้าพญาลอตัวผู้ Credit: Francesco Veronesi/Flickr Via: https://theculturetrip.com/asia/thailand/articles/siamese-fireback-11-facts-about-thailands-national-bird/
เค้ามากับหน้ากากสีแดง🎭
ตัวผู้มีหน้ากากสีแดงสดและบนหัวยังมีขนเป็นพุ่มตรงยาวโค้งไปด้านหลังสุดเท่ Credit: cuatrok77/Flickr Via:https://theculturetrip.com/asia/thailand/articles/siamese-fireback-11-facts-about-thailands-national-bird/
ตัวผู้และตัวเมียมีสีขนแตกต่างกันชัดเจนแต่ทั้งสองเพศมีหน้ากากสีแดงที่โดดเด่นโดยตัวผู้จะมีหน้ากากสีแดงสดกว่า นอกจากนี้บนหัวของตัวผู้ยังมีเส้นขนแตกพุ่มตรงปลายสีดำเหลือบน้ำเงินยาวโค้งไปด้านหลัง
♂️ตัวผู้ลำตัวด้านบน อก คอ และปีกมีสีเทา ลักษณะเด่นคือ ขนตอนท้ายของลำตัวใกล้โคนหางจะมีสีเหลืองแกมสีทองเห็นได้ ชัดเจนขณะกระพือปีกขนคลุมโคนหางมีสีดำเหลือบน้ำเงินขอบสีแดงอิฐซ้อนกันหลายชั้น หางมีสีดำเหลือบเขียวยาวและโค้งลง ขนคลุมปีกมีลายสีดำขอบขาว ท้องสีดำ แข้งสีแดงมีเดือย
♀️ตัวเมีย บริเวณหน้าอก คอ หลังมีสีน้ำตาลแกมแดง ท้องมีลายเกล็ดน้ำตาลแดงขอบสีขาว ปีกมีสีดำสลับด้วยลายสีขาวตามแนวขวาง หางคู่บนสีดำสลับขาวส่วนคู่ล่างถัดลงมา สีน้ำตาลแกมแดง แข้งสีแดงไม่มีเดือย
ตัวเมียโดยทั่วไปมีขนเป็นสีน้ำตาล Credit: onelyshrimp/Flickr Via: https://theculturetrip.com/asia/thailand/articles/siamese-fireback-11-facts-about-thailands-national-bird/
นกเฉพาะถิ่นของคาบสมุทรอินโดจีน🗺📍
ถึงแม้ว่าไก่ฟ้าพญาลอจะเป็นนกประจำชาติไทย และได้ชื่อว่า Siamese Fireback แต่ไก่ฟ้าชนิดนี้มิใช่นกเฉพาะถิ่น (endemic) ของประเทศไทย แต่เป็นนกเฉพาะถิ่นของคาบสมุทรอินโดจีน ซึ่งมีการแพร่กระจายอยู่ใน 4 ประเทศบนคาบสมุทรอินโดจีนเท่านั้น คือ ไทย ลาว เขมร และเวียดนาม ยกเว้นแคว้นตังเกี๋ยตะวันออก (East Tonkin) และแคว้นตังเกี๋ยตะวันตก (West Tonkin)
ไก่ฟ้าพญาลอ ชอบอยู่เป็นคู่ หรือครอบครัวเล็ก ๆ อาศัยอยู่ตามป่าที่รกทึบ หรือ ป่าไผ่ไม่ชอบที่โล่งแจ้ง ในประเทศไทยพบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเมี่ยง - ภูทอง อุทยานแห่งชาติทุ่งแสวงหลวง อุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นต้น
สถานภาพ
จากพฤติกรรมที่ไม่ค่อยตื่นคน ทำให้มองเห็นได้ง่าย หากินในเวลากลางวัน ส่วนกลางคืนมักจะจับคอนนอนตามกิ่งไม้ สามารถบินได้ดีพอสมควร แต่ไปไม่ไกลและไม่สูงนัก ทำให้เดิมไก่ฟ้าพญาลอเคยถูกจัดอยู่ในสถานภาพใกล้ถูกคุกคาม (Near Threatened) แต่ปัจจุบันสถานภาพดีขึ้นโดยมีสถานภาพเป็นกังวลน้อยที่สุด (Least Concern) อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ขณะนี้สถานภาพของนกประจำชาติไทยจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นแต่ก็ยังมีไก่ฟ้าบางชนิดของไทยที่มีสถานภาพถูกคุกคามที่จะสูญพันธุ์ เช่น ไก่ฟ้าหน้าเขียว (Lophura rufa) และไก่ฟ้าหางลายขวาง (Syrmaticus humiae)
อ้างอิงข้อมูลสถานภาพจาก https://www.facebook.com/bcst.or.th/photos/a.3301746333273620/3301766976604889/
โฆษณา