22 พ.ย. 2021 เวลา 00:00 • นิยาย เรื่องสั้น
ยุทธจักรวาลกิมย้ง
ตอน 11 : ไร้อาวุธ ไร้กระบวนท่า ไร้คู่ต่อกร
8
Blockdit Originals ซีรีส์บทความพิเศษ
อีกสองตัวละครใน มังกรหยก ภาค 2 ที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์คือ จักรพรรดิต้วนตี่เฮง (ต้วนชี่ซิ่ง) กับเฮ้งเตงเอี้ยง
ใน มังกรหยก กิมย้งแปลงบุคคลจริงในประวัติศาสตร์ จักรพรรดิต้วนตี่เฮง (อิดเต็งไต้ซือ) และเฮ้งเตงเอี้ยงเป็นสองในห้ายอดฝีมือยุทธจักร
ในประวัติศาสตร์จริง เฮ้งเตงเอี้ยงหรือหวังฉงหยาง (王重陽 1113 – 1170) เป็นนักปราชญ์และกวี เป็นพวกลัทธิเต๋า เป็นผู้ก่อตั้งสำนักช้วนจิน (ฉวนเจิน)
เฮ้งเตงเอี้ยงเกิดยุคซ่งเหนือ ในตระกูลร่ำรวย รู้ทั้งบู๊และบุ๋น ช่วงนั้นพวกจินตีอาณาจักรซ่งแตก จนต้องไปตั้งซ่งใต้
เฮ้งเตงเอี้ยงคิดก่อการต่อต้านพวกจินที่ครองภาคเหนือของจีน แต่ต่อมาเปลี่ยนใจบวชเป็นนักบวชนิกายเต๋าแทน
เฮ้งเตงเอี้ยงสร้างสุสานของตัวเองใกล้ภูเขา และอาศัยในสุสานนั้นนานสามปี
1
‘สุสานคนเป็น’ นี้น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้กิมย้งเขียนเรื่องสำนักสุสานโบราณใน มังกรหยก ภาค 2 ซึ่งภายหลังสุสานโบราณตกเป็นของลิ้มเฉียวเอ็ง และต่อมาเป็นที่อยู่ของเซี่ยวเล้งนึ้ง
เฮ้งเตงเอี้ยงมีศิษย์เจ็ดคน เรียกว่า เจ็ดนักพรตช้วนจิน ได้แก่ เบ๊เง็ก ท้ำซู่ตวน เล้าชูเฮี่ยง คูชู่กี เฮ้งชูอิด ฮักไต้ทง ซุนปุกยี่ (คนสุดท้ายเป็นศิษย์สตรี)
ในปี 1187 จักรพรรดิจินซื่อจงแห่งราชวงศ์จิน เรียกศิษย์คนหนึ่งของเฮ้งเตงเอี้ยงเข้าไปสอนในวัง เชื่อว่ามีคูชู่กีด้วย เป็นแรงบันดาลใจให้กิมย้งสร้างเรื่องคิวชูกีเข้าไปในวังจินเพื่อสอนเอี้ยคัง ในเรื่อง มังกรหยก
ใน มังกรหยก ภาค 2 กิมย้งขยายความว่าเฮ้งเตงเอี้ยงแลเห็นความเป็นไปในบ้านเมือง พวกต้าจินรุกรานซ่ง จึงรวมคนต่อต้านพวกต้าจิน
1
วิทยายุทธ์ของเฮ้งเตงเอี้ยงคือพลังธาตุธรรมชาติ เพลงกระบี่ช้วนจิน และค่ายกลเจ็ดดาว
เมื่อทำการไม่สำเร็จ ก็กักตัวเองในสุสานที่ภูเขาจงหนาน ต่อมาสตรีนางหนึ่งล่อให้เขาออกมาจากสุสาน
สตรีผู้นั้นมีนาม ลิ้มเฉียวเอ็ง หลงรักเฮ้งเตงเอี้ยง แต่ทั้งสองไม่ได้อยู่ด้วยกัน ไม่ว่าเหตุผลของเฮ้งเตงเอี้ยงคือเห็นความสำคัญของการกำจัดต้าจินมากกว่าความรัก หรือเพราะเหตุอื่น
3
จนถึงจุดจุดหนึ่ง ทั้งสองก็ต้องประลองยุทธ์กัน
ทั้งสองต่อสู้กันนาน ก็ไม่ปรากฏผลแพ้ชนะ
1
ต่อมาก็ประลองปัญญากัน
ลิ้มเฉียวเอ็งท้าแข่งใช้นิ้วสลักอักษรบนหิน เฮ้งเตงเอี้ยงจนปัญญา ด้วยไม่เคยรู้ว่ามีวิชาใดในใต้หล้าที่ดัชนีแกร่งขนาดสามารถสลักหินได้ ลิ้มเฉียวเอ็งแสดงฝีมือในเขาเห็นโดยใช้นิ้วสลักอักษรบนหิน เฮ้งเตงเอี้ยงยอมแพ้ เมื่อแพ้การประลองก็ยกสุสานโบราณให้ลิ้มเฉียวเอ็ง ตนเองกลายเป็นนักพรต ก่อตั้งสำนักช้วนจินที่อยู่ติดกับสุสานโบราณ
1
(ใน มังกรหยก อึ้งเอี๊ยะซือแสดงให้วิธีการใช้ดัชนีสลักก้อนหินโดยทาน้ำยาพิเศษให้หินอ่อนตัว)
ความรักของทั้งสองเป็นโศกนาฏกรรม อยู่ใกล้กัน แต่ไม่อาจอยู่ด้วยกัน
หลายปีผ่านไป เฮ้งเตงเอี้ยงได้ข่าวว่าลิ้มเฉียวเอ็งตายแล้ว ก็ลอบเข้าไปในสุสานโบราณ และพบเคล็ดวิชาใหม่ที่ลิ้มเฉียวเอ็งทิ้งไว้ คือคัมภีร์สาวหยก (玉女素心劍法) วิชานี้มีอานุภาพสยบทำลายวิชาของสำนักช้วนจินได้ทุกกระบวนท่า เฮ้งเตงเอี้ยงตกใจ และกลับไปขบคิดหาทางแก้ไขกระบวนท่าของลิ้มเฉียวเอ็ง ปรากฏว่าผ่านไปสามปีก็จนปัญญา ระดับสติปัญญาและฝีมือของลิ้มเฉียวเอ็งสูงส่งเกินเขา
3
ในกาลต่อมา มีการชิงคัมภีร์เก้าอิมจินเก็งที่หัวซาน การประลองครั้งนั้นมีห้ายอดฝีมือมาพบกัน คือ เทพมัชฌิม - เฮ้งเตงเอี้ยง ภูตบูรพา - อึ้งเอี๊ยะซือ พิษประจิม- อาวเอี้ยงฮง ยาจกอุดร - อั้งชิกกง ราชันทักษิณ - ต้วนตี่เฮง
5
เฮ้งเตงเอี้ยงชนะการประลองถกกระบี่ ได้ครองคัมภีร์เก้าอิมจินเก็ง
แม้มิต้องการฝึกวิชาจากคัมภีร์ แต่เฮ้งเตงเอี้ยงอดไม่ได้ที่จะพลิกดู พลันพบหนทางที่จะทำลายวิชาของลิ้มเฉียวเอ็งได้
เฮ้งเตงเอี้ยงลอบเข้าไปในสุสานโบราณ สลักเคล็ดวิชาที่ใช้ทำลายวิชาคัมภีร์สาวหยก
(อย่างไรก็ตาม ในกาลต่อมาศิษย์สองคนของสำนักสุสานโบราณฝึกวิชานี้สำเร็จ คือเซี่ยวเล้งนึ้งกับเอี้ยก้วย)
1
เมื่อรู้ว่าตนกำลังจะตาย เฮ้งเตงเอี้ยงก็เดินทางไปหาราชันทักษิณ ต้วนตี่เฮง ที่ต้าหลี่พร้อมศิษย์ผู้น้อง จิวแป๊ะทง เฮ้งเตงเอี้ยงมีเจตนาจะถ่ายทอดวิชาพลังธาตุธรรมชาติซึ่งสามารถต่อกรกับวิชาของอาวเอี้ยงฮง แต่เพื่อไม่ให้ราชันทักษิณรู้สึกไม่ดี จึงทำในรูปของการแลกเปลี่ยนถกศึกษา เฮ้งเตงเอี้ยงชี้แนะวิชาพลังธาตุธรรมชาติของตน ขณะที่ราชันทักษิณชี้แนะวิชาดรรชนีเอกสุริยันให้เฮ้งเตงเอี้ยง
ฝ่ายจิวแป๊ะทงลักลอบมีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับนางสนมของราชันทักษิณ กลายเป็นความบาดหมางต่อมาในภายหลัง
ภายหลังราชันทักษิณออกผนวช ละทิ้งเรื่องทางโลก ฉายานาม อิดเต็งไต้ซือ กระนั้นก็ละทิ้งเรื่องทางโลกไม่ได้ตลอด ใน มังกรหยกภาค 2 อิดเต็งไต้ซือปรากฏตัวช่วยเอี้ยก้วยกับเซี่ยวเล้งนึ้งในหุบเขาไร้รักเพื่อต่อกรกับกงซุนจื้อ
1
จะสังเกตว่าตัวละครห้ายอดฝีมือในยุทธจักร เมื่อก้าวสู่จุดสูงสุด จะละทิ้งกฎเกณฑ์กติกาชีวิต
ราชันทักษิณออกผนวช ละทิ้งเรื่องทางโลก ฉายานาม อิดเต็งไต้ซือ
เฮ้งเตงเอี้ยงใช้ชีวิตเป็นนักพรต
1
สำหรับอึ้งเอี๊ยะซือ โดยนิสัยใจคอข้ามพ้นกฎเกณฑ์สังคม จนในตอนหนึ่งสาบานเป็นพี่น้องกับเอี้ยก้วย ผู้ไม่ยึดขนบจารีตใดๆ
ส่วนอั้งชิกกงกับอาวเอี้ยงก็จบฉากชีวิตด้วยการละวางเช่นกัน ทั้งสองต่อสู้จนตกตายไปด้วยกัน โดยที่ก่อนตายทั้งสองสามารถยิ้มให้กันได้
1
ในห้วงสุดท้ายของชีวิต ทั้งสองสามารถปลงได้ทุกอย่าง ไม่มีมิตร ไม่มีศัตรู มีแต่ความว่าง
กิมย้งบอกเราทางอ้อมว่า การเป็นหมายเลขหนึ่งในยุทธจักรเป็นเรื่องไร้แก่นสาร
2
สาระของ มังกรหยก ภาค 2 คือกรอบของเปลือก
2
เปลือกแห่งสถานะในสังคม เปลือกแห่งค่านิยมประเพณี เปลือกแห่งชื่อเสียง
1
ถ้ายังยึดมั่นถือมั่น ก็เป็นทาสของกรอบ จนไร้อิสรภาพ
1
และปราศจากอิสรภาพทางใจ ก็ย่อมยากที่จะพัฒนาวิทยายุทธถึงขั้นสูงสุด
มังกรหยก ภาค 2 เสนอความคิดที่ใหม่มากในตระกูลนิยายกำลังภายใน นั่นคือสภาวะ ‘ขบถ’ นวนิยายเรื่องนี้ลึกและกล้าหลายจุด กล้าเล่นประเด็นขนบเก่ากับความคิดใหม่
1
ในสังคมจีนที่มีรากมาจากขงจื๊ออย่างยาวนาน ความสัมพันธ์ของเอี้ยก้วยกับเซี่ยวเล้งนึ้งย่อมสวนทางกับจารีต ขนบธรรมเนียมเดิมของจีน
เอี้ยก้วยเป็นตัวแทนของมนุษย์ที่ไม่สนใจกฎเกณฑ์สังคม แหกคอกจากขนบธรรมเนียมเดิม คล้ายแนวคิดของ อัลแบร์ กามูส์ เรื่อง Absurdism กามูส์มองว่าชีวิตนั้นไร้ความหมาย หรือมนุษย์ไม่มีความสามารถที่จะรู้ความหมาย ชีวิตก็คือเรื่อง ‘absurd’ ไร้สาระ น่าขำ
ฉากที่เอี้ยก้วยสาบานเป็นพี่น้องกับอึ้งเอี๊ยะซือจึงเป็นฉากสำคัญของเรื่อง
นี่เป็นเรื่องใหม่ในโลกนิยาย กิมย้งยกระดับนิยายกำลังภายในจากนิยายอ่านเล่นเป็นวรรณกรรม ตั้งค่ามาตรฐานสูงขึ้นไปจากเดิม และยากที่นักเขียนนิยายกำลังภายในอื่นจะทำได้
มังกรหยก ภาค 2 เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่กิมย้งใช้องค์ประกอบของ ‘ตกเขาพบคัมภีร์’ อีกเรื่องหนึ่งของเขาคือ เพ็กฮวยเกี่ยม
แม้ ‘ตกเขาพบคัมภีร์’ เป็นองค์ประกอบธรรมดาไปแล้ว แต่ทั้งสองเรื่องเขียนในยุคต้นของนิยายกำลังภายใน ถือว่าสดใหม่ในเวลานั้น
1
สิ่งที่แตกต่างคือ กิมย้งเพิ่มปรัชญาเข้าไปในวิทยายุทธ์
1
ในเรื่องนี้ นอกจากสุสานโบราณของลิ้มเฉียวเอ็งแล้ว ยังมีสุสานกระบี่ของต๊กโกวคิ้วป้าย
ต๊กโกวคิ้วป้ายเป็นจอมยุทธ์ในอดีตที่หาคู่ต่อสู้ระดับเดียวกับตนไม่ได้ จึงเก็บตัวในสุสานกระบี่
ทั้งลิ้มเฉียวเอ็งและต๊กโกวคิ้วป้ายมีชะตาชีวิตที่คล้ายกัน คือโดดเดี่ยว (ต๊กโกว) เหมือนกัน เพียงแค่ต่างสุสานกัน
จากจารึกของต๊กโกวคิ้วป้าย จอมยุทธ์ผู้นี้ใช้กระบี่มาสามเล่ม ใต้กระบี่เล่มแรกสลักข้อความว่า เป็นกระบี่ทรงพลังเกรี้ยวกราดรุนแรง ใช้เมื่อวัยยังหนุ่มฉกรรจ์ ชิงชัยกับเหล่าผู้กล้า
กระบี่เล่มที่สองเล่าว่าเป็นกระบี่สีม่วงอ่อน ใช้ก่อนอายุสามสิบ ทว่าพลั้งมือทำร้ายผู้กล้าฝ่ายธัมมะ จึงโยนทิ้งลงสู่ก้นเหว
เล่มที่สามเป็นกระบี่สีดำ น้ำหนักมาก ไร้คม ใช้เมื่อก่อนอายุสี่สิบ ท่องไปทั่วยุทธจักร หักหาญจอมยุทธ์
เล่มสุดท้ายเป็นกระบี่ไม้ผุ
และท้ายที่สุดก็เข้าสู่ช่วงไร้กระบี่ ไร้ผู้ต่อต้าน
แสดงถึงพัฒนาการของฝีมือของยอดคนผู้นี้ว่า เริ่มต้นมีกระบี่ ลงท้ายไร้กระบี่ ก้าวข้ามพรมแดนของอาวุธแล้ว
ดูเหมือนเป็นแนวคิดแบบเซน “มีก็คือไม่มีมี ไม่มีก็คือมี”
แนวคิดนี้ โก้วเล้งก็นำไปใช้ในหลายเรื่อง คำฮิตที่สุดของเขาคือ “กระบี่อยู่ในใจ”
2
หรือเมื่อจอมยุทธ์สองคนประลองกันโดยยืนมองตากันเฉยๆ แล้วฝ่ายหนึ่งก็ร้องว่า “ข้าฯพ่ายแล้ว”
ในนวนิยาย เซี่ยวฮื้อยี้ ของโก้วเล้ง มีการตั้งคำถามว่า “เงาบนพื้นของนกที่บินบนท้องฟ้าเคลื่อนที่หรือไม่?”
นี่เป็นคำถามแบบเซน คล้ายกับคำถามหนึ่งของเซนว่า “ควายตัวหนึ่งเดินผ่านหน้าต่าง หัวของมัน เขา และสี่ขาผ่านไป แต่ทำไมหางของมันจึงไม่ผ่านไป?”
1
นวนิยายของโก้วเล้งที่คล้ายกับ มังกรหยก ภาค 2 ที่สุดในเชิงการฝึกวิชาจนถึงขั้นไร้อาวุธและไร้กระบวนท่าคือ ฤทธิ์มีดสั้น
เห็นชัดที่สุดในฉากประลองระหว่างลี้คิมฮวงกับเซี่ยงกัวกิมฮ้ง เข้าข่าย “มีก็คือไม่มีมี ไม่มีก็คือมี”
อาวุธของลี้คิมฮวงคือมีดสั้น อาวุธของเซี่ยงกัวกิมฮ้งคือห่วง
ลี้คิมฮวงดึงมีดสั้นออกมา และถามเซี่ยงกัวกิมฮ้งว่า “ห่วงของท่านเล่า?”
เซี่ยงกัวกิมฮ้งตอบว่า “ห่วงอยู่”
“อยู่ที่ใด?”
“อยู่ในหัวใจ”
“อยู่ในหัวใจ?”
“ในมือเราแม้ไม่มีห่วง แต่ในใจกลับมีห่วง ตั้งแต่เมื่อเจ็ดปีก่อน ในมือเราก็ไม่มีห่วงแล้ว”
ลี้คิมฮวงชื่นชมที่คู่ต่อสู้ของตนพัฒนาไปไกลถึงขั้นไร้อาวุธ
นี่สอดคล้องกับหลักการเซนของศิษย์เซนนาม เสินซิ่ว
“กายนั้นคือต้นโพธิ์ จิตคือกระจกเงา”
ขณะที่ศิษย์อีกคนหนึ่งคือ ฮุ่ยเหนิงไปถึงขั้น “โพธิ์นั้นไม่มีต้น กระจกเงาก็ไม่มี”
1
ไร้โพธิ์ ไร้กระจกเงา ไร้อาวุธ ไร้กระบวนท่า
นวนิยายบางเรื่องของกิมย้งใช้แนวคิดนี้ เมื่ออาจารย์สอนให้ศิษย์จดจำกระบวนท่า หลังจากนั้นก็ให้ลืมให้หมด เพราะรู้กระบวนท่าเพียงเพื่อให้รู้ขอบเขตของกระบวนท่า หลังจากนั้นต้องข้ามขอบเขตนั้นไปสู่ความว่าง
2
เซนแสดงให้เห็นว่า เมื่อตักน้ำใส่ถังไม้ไผ่จนเต็มถัง จะเห็นเงาจันทร์สดสวยปรากฏบนผิวน้ำ แต่เมื่อฐานล่างของถังไม้หลุดออก น้ำในถังหายไป จันทร์ในน้ำก็หายไป และบรรลุธรรม
2
อาจารย์เซนจึงบอกศิษย์ว่า “ในเมื่อไม่มีทั้งความสกปรกและความบริสุทธิ์ เจ้าจะนั่งสมาธิเพื่อสังเกตความบริสุทธิ์ไปไย?”
กระบวนท่าจึงอาจเป็นข้อจำกัด
สำหรับต๊กโกวคิ้วป้ายพัฒนาฝีมือไปถึงขั้น “โพธิ์นั้นไม่มีต้น กระจกเงาก็ไม่มี”
ไม่มีกระบี่ ไม่มีกระบวนท่า เพราะทั้งหมดหลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียว แล้วสลายไปในความไร้รูป
และเมื่อไร้รูป คู่ต่อสู้จะต่อกรอย่างไร?
การจะพัฒนาฝีมือแบบนี้ได้ ก็ต้องพัฒนาจิตและโลกทัศน์ต่อโลกและชีวิตด้วย
1
นี่พัฒนางานนิยายกำลังภายในขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง คือเพิ่มปรัชญาเข้าไป
1
นี่เองที่ทำให้ มังกรหยก ภาค 2 ยังใหม่สดเสมอ แม้จะผ่านเวลามาเนิ่นนานหลายสิบปี

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา