19 ต.ค. 2021 เวลา 12:45 • ธุรกิจ
สัญญาณบอก ขายดีแต่ก็ยังเจ๊ง!!
คงจะรู้สึกแปลกไม่น้อย ถ้าหากธุรกิจของตัวเองขายดีมาก แต่กลับเจ๊งไปได้
เราอาจจะเห็นว่ามีนักธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นมามากมายพร้อมไอเดียที่โดดเด่นและพรั่งพรู หลายคนประสบความสำเร็จมากจนทำให้สินค้าและบริการขายดีจนไม่ได้หยุดได้หย่อน แต่อยู่ ๆ ธุรกิจที่สร้างขึ้นมาก็มาเจ๊งไม่เป็นท่า ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น
และถ้าไม่อยากเห็นธุรกิจเจ๊งไปต่อหน้าต่อตา ลองมาตรวจสอบสัญญาณที่เป็นเหตุกันค่ะ
1. ขายดีแต่ไม่เคยมีกำไร
แม้ว่าเราจะขายสินค้าสูงกว่าราคาที่ซื้อมา แต่ก็ไม่มีกำไรเลย กรณีนี้เพราะว่า เรามักจะคิดแค่ต้นทุนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับตัวสินค้า แต่ลืมต้นทุนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารกิจการไป
เช่น ค่าวัสดุสิ้นเปลือง ค่าแรงตัวเอง ค่าใช้จ่ายระหว่างเดินทาง เป็นต้น เหล่านี้ก็เป็นต้นทุนที่จ่ายไปเช่นกัน ต้องไม่ลืมนำไปคำนวณด้วย
ดังนั้น ต้องใส่ใจรายละเอียดของต้นทุนทุกอย่างที่เกิดขึ้นอย่างครบถ้วนและนำมาพิจารณาว่าเราควรจะขายสินค้าอย่างไรให้ได้กำไร
2. รายได้ดีแต่ไม่มีเงินหมุนเวียน
การที่ธุรกิจขายดี มีลูกค้าสั่งหรือใช้บริการทุกวัน แต่พอตรวจเช็คเงินสดแล้ว กลับพบว่าแทบไม่มีเงินสดเหลือในกระเป๋า
กรณีนี้ อาจเป็นเพราะกิจการให้เครดิตเทอมลูกค้าที่นานเกินไป และหากฝั่งจ่ายได้เครดิตเทอมที่สั้น ก็จะยิ่งทำให้วงจรเงินสดมีความขัดแย้งกัน เพราะจ่ายเร็ว แต่รับช้า ยิ่งจะมีผลทำให้กิจการขาดสภาพคล่องไปอีก
หากขายของแล้วเก็บเงินได้ช้า แถมยังมีค่าใช้จ่ายรอคิวจ่ายอยู่ ก็เท่ากับว่าเราไม่สามารถหมุนเงินให้มีประสิทธิภาพได้ และเมื่อขาดเงินสดหมุนเวียน อาจต้องพึ่งพาเงินกู้จากแหล่งต่าง ๆ ซึ่งก็เป็นการเพิ่มภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย ก็จะยิ่งทำให้ธุรกิจเรายิ่งจนลงไปอีก
การบริหารเงินสดจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลยเป็นอย่างยิ่ง ตามหลักแล้วควรรับให้เร็ว และจ่ายให้ช้า และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด รวมถึงควรนำไปชำระเจ้าหนี้ให้ตรงเวลา เพื่อป้องกันดอกเบี้ยจากการผิดนัดชำระด้วย
3. ไม่แยกเงินส่วนตัวออกจากเงินของกิจการ
การทำธุรกิจควรจะแยกกระเป๋าเงินของตัวเองและของกิจการออกจากกันให้ชัดเจน ธุรกิจมีรายรับรายจ่ายอะไรก็ควรบันทึกเอาไว้ว่ามีเงินเหลือเท่าไหร่ และควรนำเงินไปใช้อย่างไรเพื่อให้บรรลุความสำเร็จของธุรกิจ
นักธุรกิจมือใหม่ อาจจะมีความเข้าใจผิด เมื่อขายของได้ก็นำเงินไปจับจ่ายใช้สอย เพราะคิดว่ายังไงตัวเองก็เป็นเจ้าของ แต่กลายเป็นว่านำเงินบริษัทไปซื้อของ ท่องเที่ยว จ่ายค่าเทอมลูก และค่าใช้จ่ายส่วนตัวต่าง ๆ พอถึงจุด ๆ หนึ่ง ก็พบว่ากิจการขาดสภาพคล่อง เงินทุนหมุนไม่ทัน ก็ทำให้ธุรกิจสะดุดแบบไม่ควรจะเกิดขึ้น
1
ในส่วนของเงินส่วนตัวนั้น เราอาจได้มาในรูปแบบของเงินเดือนในฐานะลูกจ้างของกิจการ ควรแยกทำบัญชีรายรับรายจ่ายเพื่อบริหารการเงินของตัวเอง หากมีเงินเหลือจากการเก็บออมก็นำไปลงทุนต่อเพื่อให้สามารถเกษียณทางทางการเงินได้
💦.....เพราะฉะนั้น การที่กิจการขายดีมากแค่ไหน แต่ถ้าไม่แยกเงินส่วนตัวออกจากเงินของกิจการให้ชัดเจน ก็ทำให้กิจการเจ๊งได้เช่นกัน ทางที่ดีควรสร้างระบบตรวจสอบการเงินทั้ง 2 กระเป๋า คือกระเป๋าของตัวเองและกระเป๋าของกิจการนะคะ
เรียบเรียงโดย : ลงทุนในบัญชีและภาษี
ขอบคุณทุกๆ กำลังใจที่มีให้กันเสมอค่ะ
🌷🌷❤❤🙏🙏🙏🙏❤❤🌷🌷

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา