19 ต.ค. 2021 เวลา 01:00 • สิ่งแวดล้อม
กระฉับกระเฉงตอนเช้า แต่บ่ายอ่อนแรง หรือเรานอนแบบสิงโต
หลังจากที่เรานอนแบบโลมากันไปแล้ว วันนี้มาดูคนที่นอนแบบสิงโตกันบ้าง
กลุ่มคนที่มีบุคลิกในการนอนเร็ว ตื่นเช้า รู้สึกกระฉับกระเฉงในช่วงเช้า พอถึงช่วงบ่ายก็จะเริ่มอ่อนแรงลง แถมยังเป็นพวกหลับง่าย คุณเข้าข่ายการนอนแบบสิงโต
คำแนะนำสำหรับคนที่มีพฤติกรรมการนอนในกลุ่มนี้ คือ ถ้าอยากมีพลังใช้ทำงานได้ตลอดทั้งวัน ควรเข้านอนให้เร็วตั้งแต่ 4 ทุ่มครึ่ง และตื่นนอนตั้งแต่ช่วงเช้ามืดประมาณตี 5 ครึ่ง (ความจริงถ้าอายุเพิ่มขึ้นเมื่อไร ก็จะตื่นเวลานี้ได้แบบอัตโนมัติ...ฮ่า ๆ ๆ)
แล้วจริง ๆ พฤติกรรมการนอนนแบบนี้เหมือนกับการนอนของสิงโตไหมนะ
สิงโตจัดเป็นสัตว์ตระกูลแมว (Felid) ที่ขี้เกียจที่สุดในโลก ซึ่งมีรายงานการศึกษาพฤติกรรมสิงโตใน London Zoo พบว่าในหนึ่งวันสิงโตสามารถนอนพักผ่อนมากถึง 21 ชั่วโมง (นี่น้องเค้านอนหรือตายกันแน่นะ) นักวิจัยบอกว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้สิงโตนอนเยอะขนาดนี้เพราะกลุ่มสัตว์กินเนื้อ (Carnivores) ส่วนใหญ่เป็นสัตว์นักล่า (Predator) มีความสามารถในการหลับลึกมากกว่ากลุ่มสัตว์ที่กินทั้งพืชและสัตว์ (Omnivores) และกลุ่มสัตว์กินพืชอย่างเดียว (Herbivores) ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกล่าเป็นเหยื่อ (Prey)
เนื่องจากพวกนักล่าไม่ต้องห่วงเรื่องการระวังภัย ส่วนพวกสัตว์ที่เล็มหญ้ากินเป็นอาหารจะใช้เวลากินนานมากจึงหมดเวลาทั้งวันไปกันการกินอาหารมากกว่าการนอนพักผ่อน และด้วยความได้เปรียบทางสรีรวิทยาของสิงโตที่มีต่อมเหงื่อน้อยทำให้สิงโตนอนได้มากเพื่อประหยัดพลังงานไว้สำหรับออกล่าเหยื่อได้อย่างสบาย ๆ
เหลืออีก 2 กลุ่มจะมาเล่าให้ฟังต่อไป สำหรับคนที่สงสัยว่าตัวเองจัดอยู่ในกลุ่มไหนลองไปทดสอบตามลิงค์ข้างล่างได้เลย https://thepowerofwhenquiz.com/
สืบค้นข้อมูลและเรียบเรียง; สุดารัตน์ บ่ายเจริญ และศุภรัตน์ สวัสดิ์คุ้ม
กราฟิกและภาพประกอบ; ณัฐวุธ เดือนแจ่ม
ZOO 101 พื้นที่แลกเปลี่ยนเรื่องสวนสัตว์ สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อม
อ้างอิง
1. Chiara C. and G. Tononi.,2008. Is Sleep Essential?. PLoS Biol. 6(8): e216.
2. Giovanni Q. P., A. Viau, G. Curone, P. Pearce-Kelly, M. Fautin, D. Vigo, S. M. Mazzola, R. Preziosi. 2017. Role of Personality in Behavioral Responses to New Environments in Captive Asiatic Lions (Panthera leo persica). Vet Med Int. 2017:6585380.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา