23 ต.ค. 2021 เวลา 07:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
สรุปกองทุนลดหย่อนภาษี ปี 2564
กองทุน SSF กับ RMF เหมือนหรือต่างกันอย่างไรบ้าง
สำหรับคนที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีในปีนี้ อย่าลืมเตรียมตัววางแผนลดหย่อนภาษีกันตั้งแต่เนิ่นๆ คนส่วนใหญ่จะชอบไปซื้อกันช่วงเดือนสุดท้าย และบางคนก็จะลืมทำให้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีไม่ทัน แม้จะยังไม่ถึงสิ้นปีแต่เราก็ทยอยซื้อกองทุนลดหย่อนภาษีได้นะ
ซึ่งในปีนี้มีกองทุนสำหรับใช้สิทธิลดหย่อนภาษี 2 กองทุนเหมือนเดิม คือ “กองทุน SSF” กับ “กองทุน RMF” วันนี้เราจะมาสรุปให้ฟังว่าทั้ง 2 กองทุนนี้ เหมือนหรือต่างกันอย่างไรบ้าง แบบไหนเหมาะกับเรา
กองทุนลดหย่อนภาษี SSF RMF
#สิ่งที่เหมือนกัน
- ทั้งกองทุน SSF และ RMF สามารถลงทุนในสินทรัพย์ได้ทุกประเภท ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น หุ้น ตราสารหนี้ ทองคำ อสังหาฯ เป็นต้น แต่ปัจจุบันจำนวนกองทุน RMF มีให้เลือกเยอะกว่า SSF มาก เพราะกองทุน SSF เพิ่งเปิดขายครั้งแรกในปี 2563
- ไม่กำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำต่อปี แต่ต้องซื้อขั้นต่ำตามกองทุนที่เราสนใจซื้อ และซื้อปีไหนก็ลดหย่อนปีนั้น
#สิ่งที่แตกต่าง
1. วงเงินใช้สิทธิลดหย่อนภาษี
- SSF : ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และไม่เกิน 200,000 บาท
- RMF : ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และไม่เกิน 500,000 บาท
ซึ่งทั้ง 2 กองทุนนี้ เมื่อรวมกับการออมเพื่อเกษียณอื่นๆ (กบข. / กองทุนสงเคราะห์ครูฯ / กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ / กองทุนการออมแห่งชาติ / ประกันชีวิตแบบบำนาญ) รวมกันทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
2. ระยะเวลาถือครองและความต่อเนื่องในการลงทุน
- SSF : ต้องลงทุนอย่างน้อย 10 ปีเต็ม นับจากวันที่ซื้อวันแรก และไม่จำเป็นต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี
- RMF : ต้องลงทุนอย่างน้อย 5 ปีเต็ม นับจากวันที่ซื้อวันแรก โดยจะนับเฉพาะปีที่มีการซื้อหน่วยลงทุน ถือครองจนถึงอายุ 55 ปีบริบูรณ์ และต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี (หรือสามารถเว้นการซื้อได้ 1 ปี)
3. นโยบายเงินปันผล
- SSF : มีกองทุนแบบปันผล และไม่ปันผล
- RMF : มีกองทุนแบบไม่ปันผล
4. เป้าหมายในการลงทุน
- SSF : ลงทุนระยะยาว
- RMF : มีเงินใช้หลังเกษียณ
#สรุปกองทุนไหนเหมาะกับใคร
- SSF : เหมาะกับคนที่จัดพอร์ตลงทุนระยะยาว สามารถลงทุนได้อย่างน้อย 10 ปีขึ้นไป
- RMF : เหมาะกับคนที่วางแผนเกษียณ อยากออมเงินไว้ใช้หลังเกษียณ รวมถึงคนที่ยังไม่มีสวัสดิการเพื่อการเกษียณ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือเงินบำเหน็จ/บำนาญ
#อยากถือสั้นที่สุด เลือกกองทุนไหนดี ?
- คนที่อายุไม่เกิน 45 ปี -> แนะนำให้ซื้อกองทุน SSF ก่อน เพราะเมื่อเราถือครบ 10ปีเต็มก็จะสามารถขายคืนแล้วนำเงินไปลงทุนอย่างอื่นต่อได้
- คนที่อายุ 46 ปีขึ้นไป -> แนะนำให้ซื้อกองทุน RMF จะขายกองทุนได้เร็วกว่า เพราะถ้าเราซื้อกองทุน SSF ตอนอายุ 46 ปี ต้องถือ 10ปีเต็ม ดังนั้นจะสามารถขายได้ตอนอายุ 56 ปี แต่กองทุน RMF ขายได้ตอนเราอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์นั่นเอง
- คนที่อายุเกิน 55 ปี แต่ยังทำงานมีรายได้ต้องเสียภาษี -> แนะนำให้ซื้อกองทุน RMF เพราะถือแค่ 5 ปีเท่านั้น
- แต่สำหรับคนที่ไม่ได้ซีเรียสกับระยะเวลาถือครอง หรือคนที่วางแผนการลงทุนไว้อยู่แล้ว ก็สามารถเลือกกองทุนให้เหมาะสมกับเป้าหมายการลงทุนที่ตั้งไว้ได้เลย
นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์การเงินประเภทอื่นหรือรายการอื่นๆ ที่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เหมือนกัน เช่น ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันบำนาญ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ดอกเบี้ยบ้าน เงินบริจาค เป็นต้น อย่าลืมวางแผนภาษีและศึกษารายละเอียดของแต่ละรายการลดหย่อนภาษีก่อนตัดสินใจเลือกซื้อนะคะ และควรซื้อให้พอเหมาะ อย่าซื้อเยอะจนกลายเป็นภาระทางการเงินในอนาคตนะ
สรุปรายการลดหย่อนภาษี ปี2564 (ข้อมูล ณ วันที่ 1 ก.ย. 64)
จัดอันดับกองทุนรวม SSF
จัดอันดับกองทุนรวม RMF
ฝากติดตามเพจ Cashury - เพจความรู้พื้นฐานด้านการเงินการลงทุน
ติดตาม Cashury ผ่านช่องทางอื่นๆ ได้ที่
🔸YouTube Channel: https://www.youtube.com/cashury
โฆษณา