31 ต.ค. 2021 เวลา 23:52 • ปรัชญา
รู้ทันการทำงานของขันธ์ 5
2
ผู้เข้าใจผิด หลงยึดว่าขันธ์ 5 นั้นเป็นของตน เพราะรู้ไม่เท่าทันการทำงานของขันธ์ 5 จึงทำให้เกิดความทุกข์ไม่สิ้นสุด
2
แท้จริงแล้ว ขันธ์ 5 มิใช่ตัวตน เพราะไม่ใช่ของใคร ไม่เที่ยง เพราะมีการเกิดดับอยู่ตลอดเวลา และเป็นตัวทุกข์ คือเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์เมื่อไปยึดถือ
ขันธ์ 5 เป็นเพียงส่วนประกอบจากธาตุตามธรรมชาติที่ทำให้เกิดเป็นคนและสัตว์ขึ้นมา หรือเรียกได้ว่าเป็นส่วนประกอบให้เกิดชีวิต โดยแบ่งหมวดใหญ่ๆ ออกเป็นฝั่งรูปขันธ์และนามขันธ์ หรืออธิบายให้เข้าใจง่ายคือฝั่งกายกับใจ
ฝั่งรูปขันธ์มี 1 ส่วนได้แก่ รูป คือส่วนที่เป็นร่างกาย และที่เป็นรูปธรรมทั้งหมด สามารถมองเห็นได้
ฝั่งนามขันธ์ มี 4 ส่วน คือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
เวทนา คือ ความรู้สึกสุข ทุกข์ เฉยๆ
1
สัญญา คือ ความจำได้หมายรู้
สังขาร คือ ความคิดปรุงแต่ง ทั้งทางดีและทางชั่ว
วิญญาณ คือ ตัวรับรู้อารมณ์ผ่านอายตนะ 6 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
การทำงานของขันธ์ทั้ง 5 นี้ เมื่อเราเกิดความคิดขึ้น วิญญาณหรือที่เรียกว่าจิตจะไปตั้งอยู่หรือรับรู้ที่ตรงนั้น ทั้งขณะที่เรารู้สึกชอบ ไม่ชอบ จำได้หมายรู้ หรือปรุงแต่งความคิด จิตก็ไปเกาะตรงนั้นทันที
จิตเราวิ่งไปมา เกิดดับอยู่ตลอดระหว่างกระบวนการนี้ พอคิดอย่างหนึ่งจิตก็ไปอยู่ที่ตรงนั้น พอคิดอีกอย่างจิตเดิมก็ดับ และเกิดขึ้นใหม่ตั้งอยู่ในความคิดอื่นแทน เมื่อเราไปยึดถือจิตนั้นด้วยความพอใจในสิ่งที่เรียกว่าจิตยังมีอยู่ ก็จะคว้าจิตดวงใหม่ซึ่งไปตั้งในธาตุขันธ์อื่นต่อไป
กระบวนการเกิดดับของจิตนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก หากให้อุปมาก็ยังทำได้ยากยิ่ง เราจึงรับรู้ได้แค่ว่าความคิดเราเปลี่ยน แต่ไม่รู้ทันขณะที่จิตนั้นเปลี่ยน และเมื่อเรายังไม่รู้จักวิธีในการปล่อยวางใจ เราจึงยึดจิตนั้นต่อไปไม่สิ้นสุด
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ขณะที่เราไปนึกคิดเรื่องใดก็ตาม ภพได้เกิดแล้ว คือที่เกิดของเราไปอยู่ตรงนั้นแล้ว จิตของเราได้เคลื่อนไปตรงนั้นแล้ว จิตสุดท้ายของสัตว์จึงมีความสำคัญมาก เพราะเป็นตัวกำหนดแดนเกิด
1
พระองค์จึงสอนให้เอาจิตมาอยู่ที่กายเป็นประจำสม่ำเสมอ จิตจึงจะไม่ล่องไปตามความรู้สึกนึกคิดโดยไม่รู้จุดหมายปลายทาง
2
ขณะที่จิตไม่อยู่กับกาย กายนั้นจะแตกสลายได้ง่าย จึงให้เอาจิตมาอยู่ที่กาย เพื่อให้กายปลอดภัย ไม่ชำรุดเสียหาย
หากเรานำจิตออกจากกายไปเรื่อยๆ อันดับแรกจะเป็นคนฟุ้งซ่าน อย่างแรงขึ้นก็ถึงขั้นวิปลาส นั้นคือจิตไม่เกาะอยู่กับกาย เพราะปรุงแต่งจินตนาการมากจนเกินไป
เราจึงได้ฝึกสมาธิเพื่อให้อยู่เหนืออำนาจแห่งจิต อยากให้หยุดคิดก็ได้ ให้คิดก็ได้
แต่ถ้ายังทำได้ไม่ถึงขั้นนี้ ก็ให้คอยละนันทิคือความเพลินในความคิดไปก่อน เมื่อมีวิญญาณ (จิต) มาเกาะ ก็ปัดทิ้ง ไม่ต้องสนใจ แล้วเอามาตั้งที่กายของเรา เอาจิตมาอยู่กับกายแทน ทำไปเรื่อยๆ ก็จะควบคุมการเคลื่อนของจิตได้ดีขึ้น
นี่คือหัวใจของพระพุทธศาสนาและเป็นแนวทางแห่งการบรรลุอริยมรรคอันเป็นหนทางแห่งการหลุดพ้น
เมื่อเราหมั่นพิจารณาขันธ์ 5 เราจะรู้เห็นไตรลักษณ์คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ทุกสิ่งนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตน
แม้จะเกิดสุข ทุกข์ โลภ โกรธ หลง ก็จะเห็นเป็นแค่สภาวธรรมที่ผ่านมาแล้วผ่านไป จิตเราจะมีปัญญาและเป็นกลาง จะเกิดญาณที่เป็นอุเบกขาต่อการปรุงแต่งทั้งหลาย
จะเห็นว่าขันธ์ทั้ง 5 เป็นเพียงแค่ธาตุตามธรรมชาติที่มารวมกันให้เกิดชีวิตหนึ่งๆ เมื่อสิ้นอายุขัย ขันธ์ทั้ง 5 ก็แยกกันออก แล้วตรงไหนเล่าที่เป็นเรา
เปรียบเทียบกับรถคันหนึ่ง เมื่อแยกส่วนประกอบออกทั้งหมด ก็จะไม่หลงเหลือความเป็นรถอยู่แล้ว
มันแค่มาประกอบกันในช่วงเวลาหนึ่ง และแยกออกไปเมื่อถึงเวลา มันมีเพียงเท่านี้ มีเพียงธาตุขันธ์ที่เรายึดถือว่าเป็นของเรา ว่าตัวของฉัน ความคิดของฉัน ทฤษฎีของฉัน บ้านของฉัน คนรักของฉัน...
เมื่อมีอะไรมากระทบเรา จึงรู้สึกว่ามีใครมาทำอะไรแก่ตน ก็ตีโพยตีพาย ว่ามาทำตัวเรา มาพรากของรักไปจากเรา มาขโมยความคิดเรา เกิดความทุกข์ขึ้นมา นี้เรียกว่าอุปาทานขันธ์ คือไปยึดไปถือว่าขันธ์นั้นเป็นตัวตน เป็นของเรา
ท่านพุทธทาสเคยกล่าวว่า หากมีดบาดมือ เราไปตีความว่ามีดมาบาดมือเรา เราก็ทั้งเจ็บทั้งทุกข์ แต่หากมองว่าเป็นธาตุหนึ่งแทงทะลุเข้ามาในอีกธาตุหนึ่งที่มีประสาทสัมผัสรับรู้จึงเกิดความเจ็บขึ้น ก็จะมองว่าความเจ็บนี้เกิดขึ้นเป็นธรรมดา จะไม่ตีโพยตีพายใหญ่โต และคิดได้ว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง
ขันธ์ที่ประกอบด้วยอุปาทานคือตัวทุกข์ หากไม่มีอุปาทานก็จะไม่ทุกข์ เพราะไม่มีอะไรเลยที่เป็นของเราแม้แต่ตัวเราเอง
เราควบคุมสิ่งที่เรายึดถือว่าเป็นเราอย่างแท้จริงไม่ได้เลย คุมกายไม่ให้เจ็บป่วย ไม่ให้ปวดเมื่อย ไม่ให้หิวกระหาย คุมความรู้สึกทั้งความสุข ความทุกข์ คุมความจำได้ให้อยู่ถาวร คุมโลภ โกรธ หลงให้ไม่เกิดอย่างเด็ดขาด ทั้งหมดนี้เราคุมไม่ได้อย่างแท้จริงสักอย่าง เพราะมันไม่ใช่ของเรา
ดังนั้นจงละอุปาทานออกจากสิ่งที่ไม่ใช่ของเราเสีย สิ่งต่างๆ จึงจะอยู่ในลักษณะที่อำนวยความผาสุกสะดวกสบายให้แก่ผู้นั้น ไม่มีเรื่องต้องร้อนใจเพราะสิ่งใดๆ เป็นผู้มีจิตใจอยู่เหนือสิ่งทั้งปวงไปจนตลอดชีวิต อันเป็นผลของการรู้แจ้งแทงตลอดในเรื่องของขันธ์ 5 นี้เอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา