8 พ.ย. 2021 เวลา 01:08 • การศึกษา
รู้เรื่องสัตว์ ๆ ตอนที่ 6: "น หนู"🐭
🕛ระยะเวลาการอ่าน 8-10 นาที
สัตว์ที่ซ่อนอยู่ในอักษรไทยวันนี้เป็นสัตว์ตัวกลมๆ ที่ชอบออกมาฝักไฝ่หาอาหารตามที่ต่าง ๆ ซึ่งพฤติกรรมนี้ก็ได้สร้างทั้งประโยชน์และโทษแตกต่างกัน เรื่องสัตว์ ๆ ชวนรู้ในวันนี้เป็นเรื่องของ ‘หนู’ นั่นเอง🐭
เมื่อพูดถึงหนูเชื่อว่าแต่ละคนก็มีภาพจำเกี่ยวกับหนูที่แตกต่างกัน💭
บ้างก็อาจเห็นภาพน่ารัก ๆ ของหนูแฮมสเตอร์🐹ตัวกลมๆ เล็กๆ กับเมล็ดทานตะวันของเค้า หรือจะเป็นหนูไซส์เบิ้มอย่างแคพิบารา (capybara) ที่ดูเฟรนด์ลี่แสนดีจนได้ปรากฎตัวใน mv ของ black pink
หนูแคพิบารา
บ้างก็อาจจะนึกภาพหนูสีขาวหางยาวที่มักถูกเรียกว่า “หนูทดลอง” 🐁 หรือไม่ก็ภาพหนูท่อสีดำ🐀 (ที่ตัวใหญ่พอๆ กับแมว) ที่ชอบอยู่ตามถังขยะหรือที่สกปรก สร้างความรำคาญและยังเป็นพาหะนำโรคต่างๆ
ซึ่งการที่ภาพจำเกี่ยวกับหนูในหัวของแต่ละคนจะแตกต่างหลากหลายก็ไม่แปลก
เพราะหนูซึ่งจัดเป็นสัตว์ฟันแทะ (Rodent) นั้นเป็นกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ใหญ่ที่สุดในโลก! โดยมีอยู่มากกว่า 2,000 ชนิด สำหรับประเทศไทยพบได้กว่า 50 ชนิด
ทั้งนี้ นอกจากหนูแล้วสัตว์ฟันแทะที่เราคุ้นเคยก็จะมีกลุ่มกระรอก🐿 ในขณะที่กลุ่มกระต่ายแม้จะมีพฤติกรรมการกินโดยใช้ฟันหน้ากัดอาหารแต่กระต่ายไม่ใช่ rodent แต่ก็เป็นญาติที่ใกล้ชิดกัน
นอกจากจะมีความหลากหลายของจำนวนชนิดแล้วยังมีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับแหล่งที่อยู่อาศัยทำให้สัตว์ฟันแทะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในทุกทวีปทั่วโลก ยกเว้นทวีปแอนตาร์กติกา
จึงพบสัตว์ฟันแทะได้ในทุกที่ตั้งแต่หนองน้ำ ป่าฝนเขตร้อน หรือแม้แต่เกาะต่าง ๆ ไปจนถึงทะเลทราย บางชนิดใช้ชีวิตอยู่บนต้นไม้สูง บางชนิดอาศัยอยู่ใต้ดิน
ในประเทศไทยพบเกือบทุกสภาพพื้นที่ ทั้งในพื้นที่ป่าธรรมชาติ พื้นที่เกษตรกรรมหรือในบ้านเรือน
อย่างไรก็ตามในสายตามนุษย์แล้ว ไม่ว่าจะพบหนูที่ไหน ก็มักถูกมองเป็นศัตรูพืชหรือสัตว์ที่สร้างความรำคาญให้กับมนุษย์ แต่ความจริงแล้วหนูมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศที่พวกมันดำรงชีวิตอยู่
🐭ความสำคัญของหนูต่อระบบนิเวศ
หนูรวมถึงสัตว์ฟันแทะต่าง ๆ นับเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีบทบาทสำคัญในสายใยอาหารอย่างมาก
• เป็นเครื่องหว่านเมล็ด🌱
เพราะการที่เป็นสัตว์ที่ชอบตามหาเมล็ดพันธุ์พืชต่าง ๆ มากินบ้างเก็บบ้าง บางครั้งก็เก็บไว้จนลืมทำให้เมล็ดพืชที่ซ่อนไว้เหล่านั้นงอกเป็นต้นไม้ใหม่ ดังนั้น ถึงไม่ได้ตั้งใจแต่ก็ได้ช่วยให้เมล็ดพืชได้กระจายไปยังที่ต่าง ๆ เหมือนเป็นเครื่องหว่านเมล็ดที่มีชีวิต
• เป็นผู้กระจายสปอร์เชื้อรา ช่วยทำให้ป่าไม้สมบูรณ์ขึ้น
โดยเชื้อราในดินช่วยให้ธาตุอาหารแก่พืชในขณะที่พืชก็ให้พลังงานแก่เชื้อราเหล่านี้ให้การเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ เป็นความสัมพันธ์แบบเอื้อประโยชน์ร่วมกัน
แต่การที่สปอร์เหล่านี้จะกระจายออกไปได้ต้องอาศัยสัตว์ฟันแทะที่ชอบเก็บกินเห็ดต่าง ๆ ทำให้สปอร์เชื้อราแตกออกและกระจายออกไป เช่น เมล็ดกล้วยไม้ซึ่งจะไม่สามารถงอกและแตกหน่อได้หากขาดเชื้อรา
• เป็นที่อยู่อาศัยหรือโฮสต์ (Host) ให้กับปรสิตหลายชนิด เช่น ไรและเห็บ (ซึ่งก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่คนก็รังเกียจพอๆ กับหนูนั่นแหละ)
• เป็นเหยื่อที่สำคัญของสัตว์ผู้ล่าบางชนิด เช่น นกแสก🦉 เหยี่ยว หรืองู🐍 เป็นต้น ทำให้ห่วงโซ่อาหารยังคงรักษาสมดุลเอาไว้ได้ แถมยังเป็นเหยื่อของคนอีกด้วยเพราะทั่วโลกก็มีการล่าหนูและสัตว์ฟันแทะอื่น ๆ เป็นอาหาร🍛
• เป็นเครื่องเติมอากาศในดิน💨
โดยสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอกดิน และแพร์รี่ด็อก ที่ชอบขุดโพรงอาศัยอยู่ใต้ดินนั้นนอกจากจะช่วยสร้างที่อยู่อาศัยให้กับสิ่งมีชีวิตใต้ดินอื่น ๆ มากมายแล้ว
ยังเป็นประโยชน์โดยตรงต่อดินเพราะเป็นการช่วยผสมผสานให้ดินชั้นบนและชั้นล่างเข้ากัน เกิดการสะสมธาตุอาหารและกักเก็บคาร์บอนเอาไว้ช่วยในการเจริญเติบโตของพืช
และทำให้น้ำสามารถแทรกผ่านและกักเก็บความชื้นไว้ระหว่างชั้นดินไปจนถึงดินชั้นล่าง ๆ โดยไม่ไหลผ่านไปเฉยๆ
ตลอดจนช่วยในการลำเลียงออกซิเจนผ่านชั้นตะกอนเป็นการเติมอากาศให้ดินและกระตุ้นการเจริญเติบโตให้กับรากอีกด้วย
หนูมีบทบาทสำคัญในสายใยอาหาร (source: nau.edu). ที่มา:https://sharkresearch.rsmas.miami.edu/the-transfer-of-energy-within-a-food-chain-why-do-large-whales-feed-on-small-plankton/
🐀ผู้ร้ายในสายตามนุษย์🥲
ที่กล่าวมาเป็นภาพด้านดี ๆ ของหนูที่มีต่อระบบนิเวศ ซึ่งอาจจะชวนให้หลายคนแปลกใจ เพราะสำหรับมนุษย์แล้วส่วนใหญ่หนูมักจะเป็นผู้ร้ายซะมากกว่า
• เป็นศัตรูสำคัญทางการเกษตร🌾อันดับสองรองจากพวกแมลง
ทำลายผลผลิตทำให้เกิดความเสียหายทั้งทางตรงและทางอ้อม สร้างความเสียหายต่อแหล่งอาหารของประชากรโลก เช่น ข้าว และข้าวโพด คิดเป็นร้อยละ 35-60% ต่อปี ทั้งความเสียหายก่อนผลิตและหลังเก็บเกี่ยว
เช่น หนูตัวใหญ่อย่างหนูพุกใหญ่ และหนูท้องขาว จะกัดโคนต้นข้าวเพื่อทำให้ต้นข้าวล้มแล้วค่อยกินเมล็ดข้าว
ส่วนหนูตัวเล็กอย่างหนูหริ่งนาหางสั้น หนูหริ่งนาหางยาวก็จะใช้วิธีปีนต้นข้าวเพื่อขึ้นไปกัดกินเมล็ดข้าวหรือคอรวงข้าวทำให้เกิดความเสียหาย
หรือแม้แต่ปาล์มก็พบหนูกัดกินต้นกล้าและทะลายปาล์มทำให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตปาล์ม
• เป็นแหล่งรังโรคที่สำคัญ🦠🤢
หนูเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคที่สำคัญทางการแพทย์หลายชนิดสามารถแพร่กระจายเชื้อมายังมนุษย์และสัตว์เลี้ยงได้ทั่วโลก เช่น ไข้ฉี่หนู กาฬโรค โรคพยาธิใบตับ เป็นต้น
• เป็นสัตว์ที่สร้างความรำคาญ สร้างความเสียหายจากการกัดแทะทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้า
คนไม่ชอบหนูแต่รู้มั้ยคนนั่นแหละที่เป็นต้นเหตุให้หนูล้นเมือง🤔🐀🏙
กว่าพันปีที่เราอาศัยอยู่กับหนู ซึ่งได้พิสูจน์แล้วว่าแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะกำจัดหนูได้อย่างสิ้นซาก
เพราะนอกจากหนูจะเก่งในการปรับตัวจนสามารถจะบุกรุกและกระจายตัวไปอยู่แทบทุกมุมเมืองของเรา หนูยังเป็นสัตว์ที่ฉลาดมากทำให้กับดักและยาพิษไม่สามารถทำอะไรได้แถมยังขยายพันธุ์ได้ในอัตราที่น่าตกใจอีกด้วย
และการที่เมืองใหญ่ทั่วโลกรวมถึงกรุงเทพมหานครมีประชากรหนูจำนวนมากนั้น ต้นตอปัญหาที่แท้จริงก็มีสาเหตุมาจาก “คน” นั่นเอง
การพยายามกำจัดหนูด้วยวิธีต่าง ๆ เช่นการวางยาหรือใช้กับดัก เป็นการแก้ที่ปลายเหตุ
เพราต้นเหตุจริงๆ คือแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารอย่างขยะเศษอาหารต่าง ๆ ซึ่งเกี่ยวโยงกับปัญหาการจัดการขยะ ตลอดจนการผลิตและการบริโภคที่ไม่ยั่งยืนที่เกิดขึ้นในสังคมต่าง ๆ โดยเฉพาะสังคมเมือง🌇
หรือการจะใช้ศัตรูตามธรรมชาติ เช่น แมวหรืองู แต่เนื่องจากหนูเป็นสัตว์ที่เพิ่มประชากรได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น ประชากรแมวที่พอจะจับหนูเป็น (แมวบ้านมีอาหารเม็ดกินสบาย ๆ จะไปจับหนูกินทำไมอ่ะมนุษย์🐈‍⬛) จึงไม่เพียงพอ
เท่านั้นไม่พองูต่าง ๆ โดยเฉพาะงูเหลือม🐍ที่ตามกลิ่นหนูมาตามบ้านเรือนก็เป็นสัตว์ที่มนุษย์กลัวเช่นกัน ดังนั้นมนุษย์จึงทำร้ายหรือจับงูออกไป ทำให้ศัตรูของหนูถูกกำจัดไปอีกตัว
ประชากรหนูจึงเพิ่มขึ้น ๆ เรื่อย ๆ บวกกับการกินทิ้งกินขว้างของมนุษย์ทำให้ถังขยะกลายเป็นร้านอาหารบุฟเฟต์แบบที่นั่งกินได้ไม่จำกัดเวลาสำหรับหนูในเมืองเลยทีเดียว
จากงานวิจัยเรื่องประชากรหนูในกรุงเทพฯ ปี พ.ศ. 2559 คาดว่าจากพื้นที่ กทม. 1,569 ตารางกิโลเมตร อาจมีหนู มาถึง 6,276,000 ตัว!!😱
หรือมีหนู 1 ตัวต่อพื้นที่ 250 ตารางเมตร เลยทีเดียว แล้วการที่หนู 1 ตัว สามารถออกลูกครอกละ 8-12 ตัว และแต่ละปีสามารถออกลูกได้มากถึง 4-8 ครอก เพราะใช้เวลาผสมพันธุ์และตั้งท้องเพียง 25 วัน
+-×÷ แล้ว ประชากรหนูสามารถทวีคูณได้อย่างรวดเร็วในสภาพที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ขนาดนี้🐀🐀🐀🐀🐀🐀🐀🐀🐀🐀🐀🐀🐀🐀
ดังนั้น วิธีการที่ดีที่สุดที่จะจำกัดจำนวนประชากรหนูจึงไม่ใช่การวางยาโดยใช้อาหารล่อหรือการปล่อยศัตรูธรรมชาติไปกำจัดหนู
แต่ต้องกำจัดจากต้นเหตุนั่นคือการจัดการพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ที่เป็นแหล่งอาหาร เช่น กองขยะ แหล่งทิ้งเศษอาหาร ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนในชุมชน🚮
https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99/83192
ดังนั้น กุญแจสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาหนูล้นเมืองก็คือ
“การเปลี่ยนมุมมองจากการมองว่าพื้นที่เมืองเป็นสถานที่ของมนุษย์เท่านั้นส่วนหนูนั้นเป็นผู้บุกรุกตัวร้าย แต่ต้องตระหนักและเข้าใจว่าพื้นที่เมืองก็เป็นระบบนิเวศหนึ่งและหนูก็เป็นสิ่งมีชีวิตหนึ่งที่อาศัยอยู่ร่วมกันกับมนุษย์เช่นกัน”
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราต้องรักหนูทุกตัวในโลกหรือไม่ก็ต่างคนต่างอยู่กับหนูไปเลย
แต่ต้องโฟกัสให้ถูกจุดโดยต้องเข้าใจระบบนิเวศในเมือง (urban ecosystem) ว่าถึงแม้จะมีต้นไม้หรือสิ่งมีชีวิตที่หลากหลายน้อยกว่าเมื่อเทียบกับระบบนิเวศอื่น ๆ เช่น ระบบนิเวศป่าไม้
แต่มันก็คือระบบนิเวศรูปแบบหนึ่งเพราะเป็นบริเวณที่มีสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตต่าง ๆ อาศัยอยู่ร่วมกันและมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน...
อ้างอิง
โฆษณา