1 พ.ย. 2021 เวลา 01:08 • การศึกษา
รู้เรื่องสัตว์ ๆ ตอนที่ 5: "ต. เต่า"
🕛ระยะเวลาการอ่าน 8-10 นาที
สัตว์ที่ซ่อนอยู่ในอักษรไทยวันนี้ซ่อนตัวเก่งมากเพราะมีตัวช่วยพิเศษนั่นก็คือ “กระดอง” ที่ทำหน้าที่เป็นเกราะกำบังตัวให้ปลอดภัยจากศัตรูและสิ่งรอบตัวทำให้เค้าสามารถ “ทำหัวผลุบๆ โผล่ๆ” ได้
สัตว์ตัวนั้นก็คือ “ต เต่า🐢 หลังตุง” นั่นเอง
แต่รู้หรือไม่ว่าเต่าก็ใช่จะหลังตุงทุกตัว บ้างก็หลังตุง บ้างก็หลังแบนแตกต่างกันไป แล้วที่ว่าทำหัวผลุบๆ โผล่ๆ เข้าๆ ออกๆ ในกระดองได้ ก็ไม่ใช่เต่าทุกชนิดจะทำได้หรอกนะ
เต่าเป็นหนึ่งในสัตว์ที่มีอายุยืนที่สุดในบรรดาสัตว์ทั้งหลายในโลก จัดเป็นสัตว์โลกดึกดำบรรพ์ที่มีบรรพบุรุษซึ่งเคยอยู่ร่วมยุคกับไดโนเสาร์ โดยจากซากฟอสซิล แสดงให้เห็นว่าเต่ามีวิวัฒนาการสืบทอดกันมาอย่างน้อย 200 ล้านปี เลยทีเดียว
วิวัฒนาการกระดองของเต่า ที่มา: Encyclopædia Britannica, Inc./Eliana Tobin
เต่าไม่สามารถแยกลำตัวออกจากกระดองได้เนื่องจากกระดองเชื่อมรวมต่อเข้ากับกระดูกสันหลัง กระดูกซี่โครง กระดูกหน้าอก และกระดูกหัวไหล่บางส่วน ทำให้กระดูกเหล่านี้ถูกยึดติดกับกระดอง กระดองหลัง (carapace) และกระดองท้อง (plastron)
ดังนั้น เต่าจึงไม่สามารถแยกตัวเองออกจากกระดองได้ และถ้าแกะกระดองออกมาตอนที่เต่ายังมีชีวิตอยู่เจ้าเต่าก็จะตายแน่นอน
ที่มา: https://www.everythingreptiles.com/turtle-without-a-shell/
เต่ามีกี่ประเภทกันนะ?🤔
ถึงจะเห็นเต่าอยู่ในน้ำบ้างอยู่บนบกบ้างแต่เต่าไม่ใช่สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกแบบกบเขียดนะ เพราะเต่าเป็นสัตว์เลื้อยคลานชนิดหนึ่งที่แม้จะดูเผินๆ อาจมีลักษณะร่วมที่เหมือนกันคือมีกระดอง
แต่หากจะแบ่งชนิดหรือประเภทของเต่าก็สามารถแบ่งตามแหล่งอาศัยและการดำรงชีวิตได้เป็น 3 ประเภทได้แก่ เต่าบก เต่าน้ำจืด และเต่าทะเล
🐢เต่าบก หรือ tortoise
ใช้ชีวิตส่วนใหญ่บนบก ทำให้ต้องมีกระดองที่นูนหนาเพื่อป้องกันตัว ดังนั้นกระดองของเต่าบกจึงหนักมากและนั่นทำให้เต่าบกไม่สามารถว่ายน้ำได้ ถ้าปล่อยลงน้ำก็จม (ซึ่งมักจะเห็นในกรณีปล่อยสัตว์ได้บาปที่เอาเต่าบกไปปล่อยในน้ำ)
เท้าของเต่าบกมีลักษณะกลม ไม่มีพังผืดเพราะไม่ต้องว่ายน้ำ แต่กลับมีเล็บหนาใช้ขุดดินและขามีเกล็ดแข็ง ส่วนใหญ่กินพืชเป็นอาหาร
🐢💧เต่าน้ำจืด หรือ Terrapin
ใช้ชีวิตอยู่ในน้ำเป็นส่วนใหญ่ ว่ายน้ำได้แต่ต้องการพื้นดินไว้เป็นที่พักขึ้นมาอาบแดดในบางครั้ง ดังนั้นจึงมีกระดองค่อนข้างแบนกว่าเต่าบกและมีน้ำหนักเบาเพื่อใช้ในการลอยตัวเวลาอยู่ในน้ำ
เท้าแบน ไม่มีเกล็ด และมีลักษณะสำคัญคือมี 'พังผืดระหว่างนิ้วเท้า' เพื่อใช้ในการว่ายน้ำ มีเล็บขนาดเล็ก
แต่ถึงแม้เต่าน้ำจืดจะว่ายน้ำได้แต่ก็มีถิ่นที่อยู่ที่หลากหลายมาก บางชนิดก็ชอบอยู่ในคลองที่มีน้ำไหล บางชนิดก็ชอบอยู่ในลำธารหรือแหล่งน้ำตื้นที่ไหลช้าหรือน้ำนิ่ง หนองน้ำ ทุ่งนาที่น้ำท่วมขัง เป็นต้น
🐢🌊เต่าทะเล หรือ Sea turtle
ใช้ชีวิตและอาศัยอยูในทะเล จะขึ้นบกมาเฉพาะเวลาวางไข่
เต่าทะเลนั้น ไม่สามารถหดหัวและขาเข้าไปกระดองได้เนื่องจากการที่ดำรงชีวิตอยู่ในน้ำตลอดเวลาทำให้กระดองได้วิวัฒนาการรูปร่างให้เหมาะสมในการว่ายน้ำ จึงมีกระดองที่ค่อนข้างแบนและน้ำหนักเบาเพื่อใช้ในการลอยตัวเวลาอยู่ในน้ำ เท้ากลม ไม่มีพังผืด มีเล็บหนาๆ ขามีเกล็ดแข็ง
รวมถึงมีการปรับเปลี่ยนรูปร่างเพื่อทำให้สามารถเคลื่อนที่ใต้น้ำได้อย่างรวดเร็ว
โดยการพัฒนาให้ลำตัวลู่น้ำทำให้เคลื่อนที่โดยมีแรงต้านน้อย ขณะเดียวกันลำตัวด้านบนที่โค้งและด้านล่างที่ตรงทำให้เกิดแรงยกขณะเคลื่อนที่ไปข้างหน้า เนื่องจากมวลน้ำด้านบนไหลผ่านเร็วกว่ามวลน้ำด้านล่าง เป็นหลักการทำงานเช่นเดียวกับปีกของเครื่องบิน
นอกจากนี้ยังมีกระดูกนิ้วที่ยื่นยาวออกมาเป็นพิเศษ โดยกระดูกนิ้วเชื่อมต่อกันด้วยเอ็นและเนื้อเยื่อพังพืดเมื่อห่อหุ้มด้วยผิว ทำให้ขาคู่หน้าของเต่าทะเลมีลักษณะเหมือน 'ใบพายเรือ' ช่วยในการว่ายน้ำได้ดี
ประเทศไทยมีเต่าประมาณ 30 ชนิด ส่วนใหญ่เป็นเต่าน้ำจืดโดยเฉพาะวงศ์เต่านาต่าง ๆ โดยมีเต่าทะเล 5 ชนิด ได้แก่ เต่ามะเฟือง เต่าตนุ เต่าหญ้า เต่ากระ และเต่าหัวค้อน ส่วนเต่าบกมีประมาณ 3 ชนิด ได้แก่ เต่าเหลือง เต่าหกและเต่าเดือย
ความแตกต่างของเต่าบก เต่าน้ำจืดและเต่าทะเล ที่มา:https://www.facebook.com/getoutdoorsnv/photos/a.403613949686229/2908445852536347/
เต่าที่ตัวใหญ่ที่สุดในโลก
เมื่อรู้จักความแตกต่างของเต่าทั้ง 3 ชนิดแล้ว ลองทายจากภาพซิว่ามง👑จะลงเต่าตัวไหนให้เป็นเต่าที่ตัวใหญ่ที่สุดของแต่ละสาขา (ประเภท) 🏅🏅🏅กันนะ
ที่มา: (ซ้าย) Encyclopædia Britannica, Inc. (ขวา) Encyclopædia Britannica, Inc.
🏅ผู้ชนะสาขา “เต่าบก" ที่ตัวใหญ่ที่สุด ได้แก่...
🐢เต่ากาลาปาโกส หรือ Galápagos tortoise (ชื่อวิทยาศาสตร์ Chelonoidis nigra)
ตัวผู้มีความยาวของกระดอง 122 เซนติเมตร น้ำหนักได้ถึง 250 กิโลกรัม สำหรับตัวเมียจะมีขนาดตัวเล็กกว่า เต่าชนิดนี้มีหัวที่เล็กและมีคอที่ยาวมากเพื่อใช้ในการหาอาหาร
จัดเป็นสิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่นที่พบเฉพาะบนหมู่เกาะกาลาปาโกส กลางมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ ในเขตของประเทศเอกวาดอร์ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของทฤษฎีวิวัฒนาการของสายพันธุ์โดยชาร์ลส์ ดาร์วิน
ดิเอโก้พ่อพันธุ์เต่ายักษ์กาลาปากอสอายุ 100 ปี ที่มา:https://www.theguardian.com/world/2020/jun/16/diego-the-tortoise-father-to-hundreds-and-saviour-of-his-species-finally-retires
🏅ผู้ชนะสาขา “เต่าน้ำจืด" ที่ตัวใหญ่ที่สุด ได้แก่...
🐢เต่าอัลลิเกเตอร์ หรือ Alligator snapping turtle (ชื่อวิทยาศาสตร์ Macrochelys temminckii)
ตัวผู้มีความยาวของกระดอง 66 เซนติเมตร และมีน้ำหนักได้ถึง 80 กิโลกรัม สำหรับตัวเมียจะมีขนาดตัวเล็กกว่า
แถมเต่าชนิดนี้ยังจัดเป็น living fossil ที่ยังเหลืออยู่ในโลก เพราะเป็นเต่าเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Macrochelys ในขณะที่หลายชนิดในวงศ์นี้ได้สูญพันธุ์ไปหมดแล้วตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์
แม้เจ้าเต่าอัลลิเกเตอร์นี้จะถือเป็นเต่าน้ำจืดที่ตัวเบิ้มที่สุดแต่ขนาดก็ยังห่างจากเต่าบกและเต่าทะเลขนาดใหญ่อยู่มาก
แต่อย่างพึ่งประมาทเพราะถึงตัวจะเล็กกว่าแต่แรงกัดของกรามรุนแรงมากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากจระเข้น้ำเค็ม และ ไฮยีน่า!!😱
โดยเต่าอัลลิเกเตอร์ ขนาด 1 ฟุต สามารถมีแรงกัดมากถึง 1,000 ปอนด์ แม้แต่สุนัขขนาดใหญ่ที่ดุร้าย เช่น พิทบูล ยังมีแรงกัดได้เพียง 400-500 ปอนด์เท่านั้น!🥶
เต่าอัลลิเกเตอร์มีการกระจายพันธุ์อยู่ในแหล่งน้ำจืดของหลายพื้นที่ในภาคตะวันออกและภาคใต้ของสหรัฐอเมริกา กินปลาและสัตว์น้ำต่าง ๆ เป็นอาหาร ดังนั้น หากวันหนึ่งเกิดพบเจ้าเต่าชนิดนี้ในแหล่งน้ำในไทยก็คงจะน่ากลัวมาก...
ซึ่งเหตุการณ์นั้นก็เกิดขึ้นแล้ว😔โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมามีข่าวพบเต่าอัลลิเกเตอร์ ยาวประมาณ 12 นิ้ว น้ำหนักประมาณ 15-20 กก. ในแม่น้ำปราณบุรีจังหวัด.ประจวบคีรีขันธ์
ซึ่งคาดว่าน่าจะมีคนนำมาเลี้ยงเป็น Exotic Pets แล้วอาจเบื่อจึงปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งพฤติกรรมในการเลี้ยงสัตว์แบบไม่รับผิดชอบและปล่อยสัตว์ต่างถิ่นสู่แหล่งน้ำธรรมชาติแบบนี้อาจส่งผลคุกคามต่อสัตว์ท้องถิ่นและระบบนิเวศได้😢
เต่าอัลลิเกเตอร์ ที่มา: https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/8/88/Alligator_snapping_turtle.jpg
🏅ผู้ชนะสาขา “เต่าทะเล" ที่ตัวใหญ่ที่สุด ได้แก่...
🐢เต่ามะเฟือง หรือ leatherback sea turtle (ชื่อวิทยาศาสตร์ Dermochelys coriacea)
มีความยาวของกระดอง 210 ซม. หนัก 90 กก. ซึ่งการที่เต่ามะเฟืองรวมทั้งเต่าทะเลชนิดอื่นมีขนาดร่างกายที่ใหญ่มากนั้นก็เนื่องจากสภาวะแวดล้อมในน้ำทำให้ปัญหาเรื่องน้ำหนักกดทับลดน้อยลง จึงสามารถเพิ่มขนาดของร่างกายให้ใหญ่ขึ้นกว่าเต่าที่อาศัยอยู่บนบก
นอกจากนี้ขนาดลำตัวที่ใหญ่ขึ้นยังช่วยลดการสูญเสียน้ำและความร้อนออกจากร่างกายเพราะมีสัดส่วนของพื้นที่ผิวต่อปริมาตรลดลง และยังช่วยให้มีโอกาสรอดจากสัตว์ผู้ล่าต่าง ๆ มากขึ้น
เต่ามะเฟืองนอกจากจะครองแชมป์ความยาวของกระดองแล้วยังควบตำแหน่งแชมป์ว่ายน้ำเต่าอีกด้วย🏊‍♂️🏅
เพราะเต่ามะเฟืองเป็นเต่าที่ว่ายน้ำได้เร็วที่สุดในโลกที่สถิติ 35.4 กม./ชม. เลยทีเดียว ส่วนเต่าบก (ที่ชนะกระต่าย🐰ได้นั้น?) เดินเร็วได้เฉลี่ยที่ 0.21-0.48 กม./ชม.
นอกจากนี้เต่ามะเฟืองยังเป็นเป็นเต่าที่ว่ายน้ำไปได้ไกลมากบางตัวมีรายงานว่าไปได้ไกลกว่า 20,000 กิโลเมตร และมีขอบเขตการแพร่กระจายทั่วโลก
เต่ามะเฟือง (ที่มา: Peter Oxford/Nature Picture Library)
แต่กว่าเต่ามะเฟืองจะโตมาเป็นเต่าที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย
เพราะปัจจุบัน แม้เต่ามะเฟืองจะพึ่งได้รับการประกาศเป็นหนึ่งใน 19 ของสัตว์ป่าสงวนของไทย แต่เต่ามะเฟืองทั่วโลกก็กำลังมีจำนวนลดลงอย่างมากจากภัยคุกคามหลายประการ
ซึ่งการที่ธรรมชาติได้ฟื้นฟูจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้แม่เต่ารู้สึกปลอดภัยที่จะขึ้นมาวางไข่จนทำให้ได้เห็นข่าวแม่เต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่บนชายฝั่งทะเลอันดามันของไทยบ่อยครั้ง
แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ส่งผลกระทบต่อการฟักไข่ของลูกเต่าทะเลโดยหากทรายในหลุมฟักไข่มีอุณหภูมิสูงหรือต่ำเกินไปก็จะทำให้อัตราการฟักลดลง และอุณหภูมิยังมีส่วนกำหนดเพศของลูกเต่าอีกด้วย
โดยถ้าอุณหภูมิประมาณ 29.2°C ไข่เต่าจะมีโอกาสฟักออกมาเป็นเพศผู้และเพศเมียเท่าๆ กัน แต่หากอุณหภูมิสูงขึ้นมากกว่า 31.4°C ลูกเต่าทั้งหมดจะฟักออกมาเป็นเพศเมียทั้งหมด
แต่เมื่อลูกเต่าฟักออกมาจากไข่ และออกว่ายสู่ท้องทะเลอันกว้างใหญ่นั้น กว่าจะเติบโตและรอดชีวิตจากศัตรูตามธรรมชาติต่าง ๆ (ตอนยังเล็กกระดองของลูกเต่าจะยังไม่แข็งและอาจถูกสัตว์น้ำจับกินได้) ก็ต้องมาเจอกับปัญหาขยะทะเล และการติดเครื่องมือประมงอีก
เพราะขยะพลาสติกนั้นเมื่ออยู่ในทะเลมีขนาดและรูปร่างที่คล้ายกับแมงกระพรุนซึ่งเป็นอาหารหลักของเต่าทะเล
แม้เต่าทะเลจะมีประสาทรับกลิ่นและสายตาที่ดีเมื่ออยู่ในน้ำแต่เมื่อพลาสติกปะปนอยู่ในทะเลระยะหนึ่งก็จะมีกลิ่นที่เหมือนกับทะเลและยากที่เต่าทะเลจะแยกแยะได้ ทำให้การกินขยะทะเลเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญของเต่าทะเลและสิ่งมีชีวิตในทะเลอีกหลายชนิด
ถึงตัวจะใหญ่แค่ไหนแต่เกิดเป็นเต่ายุคนี้มันไม่ง่ายเลยนะทุกคน...🐢
https://mgronline.com/indochina/detail/9610000108759
อ้างอิง:
โฆษณา