17 พ.ย. 2021 เวลา 04:32 • ข่าว
‘พริษฐ์’ นำเสนอร่างแก้ไข รธน.ฉบับประชาชน ชี้ ‘ส.ว.’ ไม่จำเป็นและไม่เคยถ่วงดุลรัฐบาล-ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีทำตามก็พัง
"ไอติม-พริษฐ์" Re-Solution ชี้ ส.ว.มีปัญหาทั้งที่มาที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน แต่มีอำนาจมากโดยที่ไม่มีความจำเป็น ที่ผ่านมาก็ไม่เคยถ่วงดุลการบริหารของรัฐบาล แต่เป็นประชาชนที่ออกมาทักท้วงทั้งเรื่องเรือดำน้ำและการจัดสรรวัคซีน ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีกลายเป็นข้อจำกัดของรัฐบาลที่จะออกนโยบายให้สอดรับกับสถานการณ์และวิกฤต แต่หากไม่ทำตามก็อาจถึงขั้นรัฐมนตรีถูกถอดออกจากตำแหน่ง
16 พ.ย.2564 ที่รัฐสภา มีการพิจารณา ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน “รื้อระบอบประยุทธ์” ที่เสนอโดยกลุ่ม Re-Solution โดยพริษฐ์ วัชรสินธุ และ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า เป็นผู้เสนอร่างฯ ในช่วงแรกพริษฐ์ เป็นผู้อธิบายหลักการของร่างรัฐธรรมนูญที่ทางกลุ่มเสนอและข้อเสนอครึ่งแรก 2 ข้อจากทั้งหมด 4 ข้อ คือประเด็นการมีสภาเดี่ยวโดยให้ยกเลิกวุฒิสภา และการยกเลิกยุทศาสตร์ชาติ 20 ปี
พริษฐ์ เริ่มโดยกล่าวว่าตนในฐานะตัวแทนของประชาชนจำนวน 135,247 คนที่ลงชื่อสนับสนุนร่างฉบับนี้ ชี้แจงเนื้อหาของร่างเนื้อฉบับนี้ประเทศไทยเผชิญปัญหาอยุ่ 3 ประเด็น
ประเด็นแรก เรื่องเศรษฐกิจที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจช้ากว่าเพื่อนบ้านมาหลายปี ประเด็นที่สองเรื่องความเหลื่อมล้ำเรื้อรังที่ทำให้โอกาสของประชาชนในประเทศนี้ขึ้นอยู่กับโชคชะตา และประเด็นที่สามคือ ประชาธิปไตยหลอกลวงที่เป็นประชาะปไตยแต่เพียงในนาม แต่ไม่ใช่การปฏิบัติจริง
นอกจากนั้น ที่ผ่านมาหลายฝ่ายก็พยายามเสนอแนวทาง ทั้งการเสนอให้มีการปฏิรูประบบราชการ หรือสร้างรัฐสวัสดิการ หรือการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น แต่เมื่อเสนอก็ถูกปฏิเสธ
“เพราะประเทศไทยถูกครอบงำโดยไวรัสตัวหนึ่งอย่างเบ็ดเสร็จไปเรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อประชาชนเห็นว่า คนป่วยคนนี้มีอาการทรุดหนักมากขึ้นในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับระยะยเวลาที่คณะรัฐประหารยึดอำนาจในปี 57 และยึดครองอำนาจของประเทศ หลายคนก็สรุปว่าไวรัสตัวนี้อาจมีชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” พริษฐ์ กล่าว
พริษฐ์ กล่าวต่อว่า หลายคนก็มีข้อสรุปว่า ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกพ้นจากตำแหน่ง ประเทศไทยก็จะหายป่วยจากโรคทุกชนิด แล้วก็กลับมาแข็งแรงเหมือนเดิม แต่ตัวเขาเองและทีมไม่คิดเช่นนั้น เพราะมีสิ่งที่อันตรายกว่าตัว พล.อ.ประยุทธ์คือ “ระบอบประยุทธ์” ซึ่งไม่ใช่เพียงตัวบุคคล แต่คือโครงสร้างและกลไกที่ พล.อ.ประยนุทธ์ และเครือข่ายสร้างขึ้นมาตลอด 7 ปีที่ผ่านมา และควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จเพื่อรักษาผลประโยชน์และอำนาจอยุ่ด้วยกัน และสิ่งที่เป็นเหมือนเกราะคุ้มกันให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ และพวกพ้อง คือ รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ทางกลุ่มเสนอให้แก้ไขในวันนี้
“ถ้ารัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย คือ รัฐธรรมนูญของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน รัฐธรรมนูญ 2560 ก็ไม่ได้เป็นอะไรที่ซับซ้อนไปกว่ารัฐธรรมนูญเพื่อประยุทธ์ เพื่อระบอบประยุทธ์ โดยระบอบประยุทธ์” พริษฐ์ กล่าว
ตัวแทนจาก Re-Solution กล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ถูกเขียนขึ้นมา เพื่อสืบทอดอำนาจของระบอบประยุทธ์ หากดูที่มาก็เป็นรัฐธรรมนญูที่ถูกเขียนขึ้นโดยคนไม่กี่คนของ คสช. โดยไม่ได้รับเปิดฟังความเห็นจากประชาชนในวงกว้าง และเจตนาของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็สะท้อนผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมของไทยที่กล่าวว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกดีไซน์มาเพื่อพวกเรา”
แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับบนี้จะผ่านมาจากการทำประชามติเมื่อปี 2559 แต่อย่างไรก็ตาม การทำประชามติในครั้งนั้นก็ไมได้เป็นไปอย่างเสรีและเป็นธรรมให้สองฝ่ายสามารถรณรงค์ได้อย่างเท่าเทียมกัน ฝ่ายสนับสนุนนั้นฝ่ายรัฐทำสรปุข้อดีไปถึงบ้านของประชาชน แต่ฝ่ายคัดค้านแทบทำอะไรไม่ได้ เพราะเมื่อออกมารณรงค์ก็ทำให้มีคนถูกจับกุมดำเนินคดีถึง 200 คน อีกทั้งคำถามพ่วงที่ทำให้ภายหลัง สว.แต่งตั้งมีสิทธิในการออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีก็ถูกเขียนคำถามไว้อย่างซับซ้อนและชี้นำ
“หากใครจะยกเสียงของประชาชน 16 ล้านเสียง มาเป็นข้ออ้างเพื่อไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็อยากจะเตือนว่า 16 ล้านคนที่ลงคะแนนในวันนั้นไม่ได้เห็นชอบการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปตลอดกาล แต่เห็นชอบกับมาตรา 256 ที่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้” พริษฐ์ยังกล่าวเสริมอีกว่า ที่ผ่านมาสมาชิกสภาก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อีกทั้งร่างรัฐธรรมนูญที่มีการทำประชามติไปก็ไม่ใช่ฉบับเดียวกับที่ประกาศใช้
พริษฐ์ กล่าวถึงเนื้อหาที่เป็นปัญหาในฉบับ 2560 ว่ามีการขยายอำนาจของสถาบันทางกรเมืองที่ไม่ได้มาจาการเลือกตั้ง แต่ระบอบประยุทธ์สามารถควบคุมได้อย่างเบ็ดเสร็จ ไม่ว่าจะเป็น สว. องค์กรอิสระ และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การเขียน รธน.แบบนี้ยังเป็นการย้อนเข็มประชาธิปไตย พยายามสกัดการแข่งขันและผูกขาดอำนาจไว้แค่ฝ่ายเดียวไม่ว่าจะบริหารประเทศดีหรือแย่ขนาดไหน
พริษฐ์ กล่าวว่า การให้ พล.อ.ประยุทธ์ พ้นจากตำแหน่งไปนั้นไม่เพียงพอ เนื่องจากประเทศไทยก็อาจจะพบปัญหาอีกในภายหน้า เพราะอาจจะมีคนอื่นที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งด้วยกลไก แรงหนุนจากเครือข่ายเดียวกันนี้อีกโดยไม่มีประชาชนเข้ามาร่วม ดังนั้น สิ่งที่เราต้องการตอนนี้คือการทำให้ประเทศไทยแข็งแรง เพื่อเดินสู่อนาคตโดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
“เปรียบเสมือนการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันจากแหล่งกำเนิดไวรัสที่มีชื่อว่ารัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 แต่ก็เหมือนกับวัคซีนแก้โควิด วัคซีนแก้รัฐธรรมนูญก็จำเป็นต้องฉีด 2 เข็ม เข็มที่ 2 ที่จะทำให้มีภูมิคุ้มกันเต็มรูปแบบจะต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชนเจ้าของประเทศผ่าน สสร. (สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ) ที่มาจากการเลือกตั้งและมีอำนาจแก้ไข (รัฐธรรมนูญ) ทุกหมวดทุกมาตรา” อย่างไรก็ตาม พริษฐ์ ก็เห็นว่าการจะมีร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนก็ยังอาจจะต้องใช้เวลาแม้จะไม่มีสมาชิกรัฐสภามาขัดขวางก็ยังต้องให้ประชาชน
พริษฐ์ อธิบายว่า ครั้งแรกคือการให้ประชาชนอนุญาตให้ตั้ง สสร. อีก 1 ครั้ง เพื่อเลือกสมาชิก สสร. และครั้งที่สามคือออกเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญที่มาจาก สสร.
พริษฐ์ กล่าวอีกว่า ข้อเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของกลุ่ม Re-Solution ที่เสนอในวันนี้ จึงเปรียบได้กับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ให้กับประเทศ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาทุกอย่างที่มาจากฉบับ 2560 ได้ แต่ก็เล็งเห็นว่าปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคือถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจของระบอบประยุทธ์ ดังนั้น จึงเสนอให้ปลดอาวุธ 4 อย่างที่ระบอบประยุทธ์ใช้สืบทอดอำนาจ
ข้อเสนอแรก คือ การยกเลิกระบบ 2 สภาให้เป็นสภาเดี่ยวเหลือเพียงสภาผู้แทนราษฎร การผลักดันข้อเสนอนี้จะมีเรื่องที่ต้องเห็นพ้องต้องกันใน 2 ประเด็น คือ การยอมรับตรงกันว่า วุฒิสภาในปัจจุบันขาดความชอบธรรมในเชิงประชาธิปไตย
“สมการที่สำคัญที่สุดในการออกแบบวุฒิสภาให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย คืออำนาจของวุฒิสภาต้องสอดคล้องกับที่มา ถ้าวุฒิสภาที่ไหนจะมีอำนาจสูง ที่มาก็ต้องยึดโยงกับประชาชนสูงหรือว่ามาจากการเลือกตั้ง แต่วุฒิสภามาจากการแต่งตั้งไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนสูง อำนาจที่วุฒิสภามีอยู่ ก็จะสูงไม่ได้เช่นกัน”
พริษฐ์ ยกตัวอย่างวุฒิสภาของอังกฤษที่มาจากการแต่งตั้งนั้นมีอำนาจไม่สูงมาก มีหน้าที่เพียงการกลั่นกรองกฎหมายหรือชะลอร่างกฎหมายไว้เพียง 1 ปี หรือสหรัฐฯ ที่วุฒิสภามีอำนาจเยอะมาจากจนสามารถถอดถอนประธานธิบดีได้ เนื่องจาก สว. เองก็มาจากการเลือกตั้ง แต่สำหรับไทยที่โครงสร้างอำนาจของวุฒิสภาไมได้สอดคล้องกับหลักการนี้ เพราะมีอำนาจล้นฟ้า แต่ที่มากลับไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน และอำนาจที่มีก็ยังมากกว่าวุฒิสภาในอดีตที่ผ่านมา สามารถมาร่วมเลือก ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง 500 คนได้ ซึ่งขัดกับหลัก 1 สิทธิ 1 เสียงในระบอบประชาธิปไตย
พริษฐ์ เปรียบเทียบว่าเมื่อคิดจาก ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง 40 ล้านเสียง แต่ ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนกลับมีสิทธิในการเลือกนายกรัฐมนตรีเทียบเท่ากับประชาชน 70,000 คน และใครที่คุม ส.ว. 250 คนได้จะมีอำนาจมากกว่าประชาชนทั้งหมด 19 ล้านคน ซึ่งเรื่องนี้ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 2 ที่ประเทศจะต้องปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
นอกจากนั้น ส.ว.ยังมีอำนาจในการออกเสียงกฎหมายปฏิรูปประเทศ เช่น พ.ร.บ.การศึกษา มีอำนาจในการแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่งตั้งคณะกรรมการในองค์กรอิสระทุกคน และยังสามารถยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนกี่ล้านคนก็ตาม หรือการเห็นชอบจาก ส.ส.กี่ร้อยคน
พริษฐ์ ยังกล่าวอีกว่านอกจาก ส.ว.จะไม่ได้มีที่มาที่ยึดโยงกับประชาชนแล้ว ยังมีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนด้วย คือมี ส.ว. 244 คน ที่ คสช.เป็นคนเลือกเข้ามาในสภาและออกเสียงให้หัวหน้า คสช.กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนอีก 6 คนก็เข้ามาในที่นี้ เพราะเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพ ซึ่งก็ต้องตั้งถามว่าเป็นเรื่องสมควรหรือไม่ที่มีข้าราชการประจำเข้ามานั่งควบตำแหน่งในสภานิติบัญญัติด้วย และเขาได้เน้นย้ำถึงปัญหาที่มาของ ส.ว.อีกครั้ง ซึ่งมาจากระบอบอุปถัมป์อย่างชัดเจนอีกว่า
“อีกความวิปริตที่เราเห็น คือ การตั้งคณะกรรมการสรรหา 10 คน เพื่อมาสรรหา ส.ว. 250 คนใช้งบประมาณประเทศไป 1,300 ล้านบาท และเมื่อไปดูคณะกรรมการสรรหา 10 คนนี้ก็จะเห็นว่ามีการแต่งตั้งพี่หรือน้องตัวเองมาเป็น ส.ว. แต่สมาชิกท่านใดที่ฟังอยู่แล้วยังรู้สึกดีที่อย่างน้อยก็มีอีก 7 คน ไม่ได้แต่งตั้งพี่น้องตัวเองมาเป็น ส.ว. อย่าเพิ่งดีใจ เพราะอีก 7 คนที่เหลือมี 6 คนที่ไม่ได้แต่งตั้งพี่น้องเข้ามาเป็น ส.ว.ก็จริง แต่แต่งตั้งตัวเองเข้ามาเป็น ส.ว.เลย”
พริษฐ์ เห็นว่า ส.ว.ที่ปัญหาความชอบธรรมมากขนาดนี้ไม่ควรจะมีที่ยืนอยู่ในประเทศที่มีระบอบการปกครองประชาธิปไตย
ประเด็นที่สอง คือต้องยอมรับตรงกันว่ารัฐสภาที่ดีที่สุดคือการไม่มีวุฒิสภา เพราะที่ผ่านมาก็มีหลายฝ่ายที่เสนอให้มีการแก้ไขอำนาจหรือที่มาของวุฒิสภาแต่วุฒิสภาก็ไม่รับข้อเสนอใดเลย ดังนั้น จึงเสนอให้เป็นสภาเดี่ยวเหลือเพียงสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง และเขายกข้อดีของการมีสภาเดี่ยว 3 ประการคือ 1.ประหยัดงบประมาณประเทศจากการมีค่าใช้ราว 800 ล้านบาทต่อปี เฉพาะในส่วนของเงินเดือน ส.ว. และคณะทำงานและหากรวมค่าประชุม ค่าเดินทาง ค่าน้ำค่าไฟ เขามั่นใจว่าจะประหยัดได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี
ประเด็นที่สอง การมีสภาเดี่ยวจะทำให้สภามีความยึดโยงกับประชาชนในกรอบประชาธิปไตย เพราะหากจะมีวุฒิสภาก็เป็นเรื่องที่ท้าทายมากทั้งในต่างประเทศและในไทย เช่น นิวซีแลนด์ที่เคยพยายามจะมีวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง แต่พวกเขาก็รู้ว่าเป็นไปได้ยากที่จะมีกระบวนการแต่งตั้งที่จะได้คนที่เป็นกลางทางการเมืองมาจริง ทำให้ยกเลิกวุฒิสภาไปในปี ค.ศ. 1951 และสวีเดนที่พยายามคงวุฒิสภาที่มีอำนาจสูง และมาจากการเลือกตั้ง แต่ชาวสวีเดนก็พบว่าการเลือกตั้งในสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา คนที่เข้ามาหน้าตาก็ไม่ต่างกันมาก ก็เลยยุบวุฒิสภาไปในปี ค.ศ. 1970 เช่นกัน
พริษฐ์ ยกกรณีของไทยว่า การจะหาวุฒิสภาที่มีสมดุลกันระหว่างที่มาและอำนาจก็ยังไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเขายกตัวอย่างวุฒิสภาที่มาจากรัฐธรรมนูญ 2540 ก็ยังไม่พ้นจากข้อครหาว่ามาจากกลุ่มการเมืองเดียวกันในสภาผู้แทนราษฎร แม้ว่าจะไมได้มีปัญหาเรื่องที่มาที่เป็นประชาธิปไตย แต่ก็ชวนให้คิดว่า ถ้าเหมือนกันแล้วจะมี 2 สภาไปทำไม
“การใช้สภาเดี่ยวจึงเป็นทางเลือกเรียบง่ายในเรื่องที่เราพยายามหาสมดุลมาหลายสิบปีแต่ก็ไม่เคยหาเจอ” พริษฐ์ กล่าว
พริษฐ์ กล่าวถึงข้อดีสุดท้ายของสภาเดี่ยวว่าจะเป็นการออกแบบกระบวนการนิติบัญญัติที่ทันสมัยและเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกมากกว่า การคงกระบวนการนิติบัญญัติที่มี 2 สภา อาจจะทำให้กฎหมายหลายตัวของประเทศไม่สามารถปรับตัวได้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกในบรรยากาศที่เทคโนโลยีนั้นถูกคิดค้นนำมาใช้ในอัตราที่รวดเร็วขึ้น และเขาเชื่อว่าสมาชิกรัฐสภาก็น่าจะเห็นด้วยในเรื่องนี้ เพราะที่ผ่านมารัฐธรรมนูญ 60 ก็มีการบัญญัติไว้ว่ากฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศก็ได้รับการพิจารณาพร้อมกันทั้ง 2 สภาที่เดียวเสร็จโดยไม่ได้แบ่งว่ากฎหมายต้องผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรแล้วค่อยขึ้นไปวุฒิสภา
“ความผิดปกติของรัฐธรรมนูญ 60 ไม่ใช่การพยายามทำให้กระบวนการออกกฎหมายกระชับหรือรวดเร็วขึ้น แต่ความผิดปกติของรัฐธรรมนูญ 60 คือ การมี ส.ว. 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งที่นั่งอยู่ในห้องนี้”
พริษฐ์ กล่าวถึงข้อกังวลกรณีที่ใครจะมามีบทบาทในหน้าที่ที่ ส.ว. เคยทำว่า เรามีกลไกอื่นที่ทำแทนได้และมีประสิทธิภาพมากกว่า อย่างเช่น ประเด็นเรื่องผู้เชี่ยวชาญจากแต่ละสาขาอาชีพที่จะมาออกความเห็นในการออกกฎหมายก็สามารถเพิ่มเข้าไปในคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเปิดพ้นที่ให้ผู้เชี่ยวชาญได้เข้ามาร่วมออกกฎหมายตั้งแต่ต้น แทนการมาปิดท้ายในกระบวนการของวุฒิสภาแบบปัจจุบัน
พริษฐ์ ยังยกประเด็นที่ ส.ว.เป็นตัวแทนของจังหวัดที่มีประชากรน้อยแล้วมี ส.ส.น้อย เขาก็พบบว่าประชาชนในหลายจังหวัดไม่ได้ต้องการมี ส.ว. 250 คน มานั่งในที่นี้ แต่คือการกระจายอำนาจให้เขามีผู้ว่าราชการจังหวัดที่สามารถเลือกด้วยตัวเองได้ให้จังหวัดมีอำนาจบริหารจัดการตนเองได้
ประเด็นต่อมาคือการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร ทาง Re-Solution ก็มีข้อเสนอเพิ่มอำนาจ ส.ส.ฝ่ายค้านที่มีหน้าที่ตรวจสอบรัฐฐบาลอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งรองประธานสภา 1 ตำแหน่งหรือมีตำแหน่งประธานกรรมาธิการท่มีความสำคัญในการตรวจสอบรัฐบาลเช่นกรรมาธิการงบประมาณ และการตรวจสอบรัฐบาลก็ไม่จำเป็นต้องพึ่ง ส.ว. 250 คน แต่ยังสามารถติดอาวุธให้กับประชาชนในการตรวจสอบรัฐบาลได้อีก เช่น การให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลการดำเนินงานของรัฐที่ละเอียดอ่อนมากขึ้น หรือออกกฎหมายคุ้มครองคนที่ออกมาเปิดโปงการทุจริตหรือการประพฤติมิชอบของรัฐ
“ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในแต่ละครั้งที่รัฐบาลชุดปัจจุบันย่อมถอยกฎหมายหรือนโยบายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการชะลอซื้อเรือดำน้ำ การปรับเกณฑ์การกระจายวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับบริจาคจากสหรัฐฯ ไม่ได้เกิดขึ้นจากการทักท้วงของสมาชิกวุฒิสภาในที่นี้ มันเกิดขึ้นจากการทักท้วงของประชาชนบนท้องถนน และในโลกออนไลน์ ที่มันเสียงดังจนรัฐบาลไม่สามารถเพิกเฉยได้”
พริษฐ์ อภิปรายของตัวเองว่า ข้อกังวลที่กล่าวไปก็เป็นเรื่องที่เขาและทีมยินดีรับฟังและทำทุกวิถีทางเพื่อคลี่คลาย แต่ก็อยากชวนให้ประชาชนจับตาความจริงใจของวุฒิสภาบางคนที่จะหยิบยกข้อกังวลเหล่านี้ขึ้นมา
“ใครก็ตามที่หยิบยกข้อกังวลเหล่านี้ แต่ยังปกป้องวุฒิสภารูปแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ข้อตั้งคำถามต่อควาจริงใจของท่าน เพราะหากท่านอ้างว่าประเทศต้องการมี ส.ว.เพื่อเปิดพื้นที่ให้มีผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาวิชาชีพแล้วท่านรับได้อย่างไรกับวุฒิสภาปัจจุบันที่ใน 250 คน มีเกือบครึ่งที่ประกอบแค่ 2 อาชีพ คือ ทหารแล้วก็ตำรวจ”
“แล้วหากท่านจะอ้างว่าประเทศจำเป็นต้องมี ส.ว. เป็นตัวแทนของจังหวัดที่มีประชากรน้อย แล้วท่านรับได้อย่างไรที่วุฒิสภาปัจจุบันออกโรงปกป้องรัฐธรรมนูญ 60 ที่ไม่พูดถึงการกระจายอำนาจแม้แต่คำเดียว”
“แล้วหากจะอ้างว่าประเทศต้องมี ส.ว. เพื่อถ่วงดุลรัฐบาลก็ต้องถามกลับไปว่ารับได้อย่างไรที่วุฒิสภาปัจจุบันที่แทบให้ท้ายการกระทำและรับรองทุกมติของรัฐบาลชุดนี้ ผมจำได้ถึงการลุกฮือของสมาชิกวุฒิสภาในการถ่วงดุลรัฐบาลคือตอนที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ส.ฝ่ายค้าน ร่วมกันเสนอให้ตัดอำนาจของพวกท่านในการเลือกนายกฯ”
อีกทั้งพริษฐ์ยังได้ยกตัวอย่างประเทศทั่วโลกว่ามีถึง 2 ใน 3 ที่ใช้ระบบสภาเดี่ยว ดังนั้น ระบบสภาเดี่ยวจึงเป็นทางเลือกหลัก แต่ระบบสภาคู่ต่างหากที่เป็นทางเลือกรอง ดังนั้น คำถามที่จะต้องพิสูจน์จึงไม่ใช่เรื่องทำไมถึงจะต้องยกเลิก ส.ว. แต่ฝ่ายที่ต้องตอบคำถามทำไมต้องมีวุฒิสภาคือสมาชิกรัฐสภาที่ต้องการคง ส.ว.ไว้
พริษฐ์ กล่าวถึงส่วนข้อเสนอที่สองคือการยกเลิกยุทธศาตร์ชาติ 20 ปี และแผนปฏิรูปประเทศว่า แม้พวกเขาจะไม่ใช่ว่าไม่เห็นประโยชน์ของการดำเนินนโยบายที่มีความต่อเนื่อง หรือการบริหารอย่างมียุทธศาสตร์ แต่การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ก็พัง แต่ไม่ทำตามก็ผิด
เขาอธิบายว่าองค์ประกอบของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่ถูกตั้งมาโดย คสช. 35 คนมีถึง 11 คนที่เป็นทหารหรือตำรวจและเป็นภาคธุรกิจโดยไม่มีตัวแทนของภาคประชาชนหรือฝ่ายวิชาการเลย และกระบวนการรับฟังความเห็นก็ถูกรวบรัดจากกฎหมายที่ให้ถือว่ายุทธศาสตร์ชาติได้รับฟังความเห็นจากประชาชนแล้วโดยอ้างการรับฟังความเห็นที่จัดขึ้นก่อนกฎหมายจะออกถึง 2 ปี นอกจากนั้นเนื้อหหลายส่วนก็ควรถูกตั้งคำถาม เช่น การไม่ได้จับลำดับความสำคัญแผนที่ต้องทำก่อนหลัง หรือขาดความกล้าหาญในการตั้งเป้าหมายและตัวชี้วัดให้กับประเทศ
อย่างไรก็ตาม การตั้งเป้าหมายให้กับประเทศไปข้างหน้าถึง 20 ปีท่ามกลางโลกที่มีความผันผวนไม่มีความแน่นอน และซับซ้อน เพราะหากย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ใครจะคิดว่าโลกจะต้องเผชิญกับการสูญเสียจากการระบาดของโควิด-19 และเมื่อคิดว่าต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากในการทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ก็เป็นเรื่องที่ได้ไม่คุ้มเสีย
พริษฐ์ กล่าวถึงประเด็นที่ว่า หากไม่ทำตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีแล้วมีความผิด คือ หากจะมีแล้วไม่เกิดประโยชน์ก็คงเป็นเพียงเรื่องเสียแรงและเวลา
“แต่ที่น่ากลัวกว่าคือรัฐธรรมนูญ 60 และกฎหมายที่ตามมานั้นเปิดช่องให้ลงโทษรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้หากไม่ทำตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีถึงขั้นขับรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งได้” พริษฐ์ย้ำข้อกังวลนี้อีกว่าองคาพยพที่สามารถลงโทษรัฐบาลที่ไม่ทำตามยุทธศาสตร์ชาติได้ก็คือสถาบันทางการเมืองที่ปัจจุบันระบอบประยุทธ์สามารถควบคุมได้ไม่ว่าจะเป็น ส.ว.หรือองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบต่างๆ
“ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ตอนแรกดูจะเปล่าประโยชน์ก็มีประโยชน์ขึ้นมาทันทีเลย แต่ไม่ได้เป็นประโยชน์ในการออกแบบนโยบายให้ก้าวทันโลก แต่เป็นประโยชน์ในฐานเป็นเครื่องมือของระบอบประยุทธ์ในการสืบทอดอำนาจและเล่นงานคู่แข่งทางการเมือง การมีอยู่ของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีจึงเหมือนโซ่ตรวนที่ล็อกคอประเทศ การยกเลิกยุทศาสตร์ชาติ 20 ปีจะไม่ทำให้ประเทศนั้นโกลาหลหรือไร้ทิศทาง แต่จะทำให้รัฐบาลนั้นมีความยืดหยุ่นในการออกแบบและนำเสนอนโยบายที่สอดรับกับสถานการณ์และวิกฤติในแต่ละช่วงเวลา และเป็นการคืนอำนาจให้กับประชาชนในการตัดสินใจคุณภาพของนโยบายผ่านสนามเลือกตั้ง” พริษฐ์ กล่าว
พริษฐ์ กล่าวทิ้งท้ายในการอภิปรายนำเสนอของตัวเองว่า ข้อเสนอทั้งหมดที่ Re-Solution มาเสนอวันนี้ไม่ใช่ข้อเสนอที่สุดโต่งและเป็นปกติมากในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ส่วนข้อกังวลเกี่ยวกับประเด็นที่ร่างฉบับประชาชนนี้มีเรื่องระบบเลือกตั้งอยู่ เนื่องจากเป็นร่างที่เขียนขึ้นก่อนสภามีมติรับร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขระบบเลือกตั้ง หากรัฐสภารับร่างฉบับประชาชนก็สามารถแก้ไขได้ในวาระที่สองในชั้นกรรมาธิการให้เหมือนกับร่างที่ผ่านสภาไปแล้ว และอยู่ระหว่างรอพระมหากษัตริย์ลงปรมาภิไธยอยู่ได้
โฆษณา