17 พ.ย. 2021 เวลา 04:38 • ข่าว
'ปิยบุตร' นำเสนอร่างแก้ไข รธน.ฉบับประชาชน ปฏิรูปศาล รธน.-องค์กรอิสระ ยกเลิกนิรโทษกรรม คสช.
ปิยบุตร เลขาฯ คณะก้าวหน้านำเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีระบบตรวจสอบถ่วงดุลศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระไปจนถึงสถาบันศาล ทั้งนี้เขายืนยันว่ากระบวนการเหล่านี้ไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อครอบงำศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระแต่อย่างใด ส่วนข้อเสนอการลบล้างผลพวงการรัฐประหารคือการยกเลิกการรับรองอำนาจของคณะรัฐประหารและการนิรโทษกรรมคณะรัฐประหารเพื่อป้องกันการรัฐประหารในภายภาคหน้า
16 พ.ย.2564 ที่รัฐสภา มีการพิจารณา ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน “รื้อระบอบประยุทธ์” ที่เสนอโดยกลุ่ม Resolution โดยพริษฐ์ วัชรสินธุ และปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โดยปิยบุตร กล่าวถึงข้อเสนออีก 2 ข้อในประเด็นการปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ และข้อเสนอลบล้างผลพวงการรัฐประหารของ คสช. ต่อจากพริษฐ์ที่เป็นผู้อธิบายหลักการของร่างรัฐธรรมนูญที่ทางกลุ่มเสนอและข้อเสนอครึ่งแรก 2 ข้อจากทั้งหมด 4 ข้อ คือประเด็นการมีสภาเดี่ยวโดยให้ยกเลิกวุฒิสภาและการยกเลิกยุทศาสตร์ชาติ 20 ปี
จากนั้น ปิยบุตรกล่าวถึงการนำเสนอในส่วนของเขาอีก 2 ข้อเสนอคือการปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ข้อเสนอสุดท้ายคือการลบล้างผลพวงการรัฐประหารและการป้องกันการรัฐประหาร แต่เขาได้ขอเสริมในประเด็น การเพิ่มบทบาทของฝ่ายค้านและบทบาทของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สืบเนื่องจากข้อเสนอของกลุ่มยืนยันให้ประเทศไทยใช้ระบบสภาเดี่ยวจึงจำเป้นต้องมีระบบตรวจสอบที่เข้มข้นมากขึ้นกว่าเดิมโดยให้สภาผู้แทนราษฎรมีบทบทมากขึ้นในการตรวจสอบฝ่ายบริหาร
เขาได้ยกตัวอย่างของข้อเสนอในประเด็นนี้ไว้คือการเพิ่มบทบาทให้ฝ่ายค้านคือ
1.การกำหนดให้รองประธานสภาผู้แทนราษฎรอย่างน้อย 1 คน จะต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากฝ่ายค้าน
2. กำหนดให้ประธานกรรมาธิการสามัญในคณะสำคัญที่มีบทบาทในการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินอย่างน้อย 5 คณะจะต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากฝ่ายค้าน
3. การแบ่งสรรปันส่วนประธานกรรมาธิการวิสามัญ จำเป็นต้องแบ่งสัดส่วนกับให้กับ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านด้วยเช่นกัน
นอกจากนั้นต้องยกเลิกร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเงิน ที่ปัจจุบันต้องให้นายกรัฐมนตรีให้การรับรองก่อนเข้าสู่การพิจารณาของสภา เปิดทางให้นายกรัฐมนตรีสามารถคว่ำร่างพระราชบัญญัติที่ ส.ส.เสนอมาได้ ทั้งที่ควรเปิดโอกาสให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้พิจารณากันเอง แล้วนายกรัฐมนตรีก็มีส.ส.เสียงข้างมาในสภาอยู่แล้ว
ปิยุบุตรยังมีข้อเสนอีกว่าให้กฎหมายบังคับให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากส.ส. ป้องกันไม่ให้นายทหารที่ทำรัฐประหารมาสืบทอดอำนาจเป็นนายกรัฐมนตรีทุกครั้ง และเพิ่มบทบาทของประชาชนส่งเสริมประชาธิปไตยทางตรงและแบบประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายได้ โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นเฉพาะหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพหรือหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง20,000 คนขึ้นไปเสนอร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญได้ และ 10,000 ชื่อสามารถเสนอร่างพ.ร.บ.ได้ทั้งหมดโดยไม่จำกัดว่าจะเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับหมวดใด
นอกจากนั้นเขายังเสนอให้มีการตั้งคณะผู้ตรวจการกองทัพ ให้มาจาก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 5 คน ส.ส.ฝ่ายค้านอีก 5 คน แนวคิดนี้มาจากหลักรัฐบาลพลเรือนอยู่เหนือกองทัพที่ใข้กันในประเทศเสรีประชาธิปไตยโดยมองว่ากองทัพก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการดังนั้นกองทัพก็ขึ้นกับรัฐบาลพลเรือนและขึ้นกับสภาผู้แทนราษฎร
ผู้ตรวจการกองทัพจะมีหน้าที่เข้าไปตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของกองทัพ การจัดซื้อจัดจ้างและการหารายได้ของกองทัพ และเป็นหลักประกันที่ให้ทหารชั้นผู้น้อยมีโอกาสร้องเรียนเรื่องทางวินัยต่อคณะผู้ตรวจการกองทัพเพราะปัจจุบันทหารชั้นผู้น้อยไม่มีหลักประกันเลยว่าเพราะการร้องเรียนจากทหารชั้นผู้น้อยทำกันภายในองค์กรทำให้ยากมากที่ทหารชั้นผู้น้อยจะร้องเรียนเรื่องวินัยของตนเองแล้วจะสำเร็จได้เพราะว่าผู้พิจารณาเป็นนายทหารระดับผู้บังคับบัญชาของเขาเอง และยังเสนอให้ ส.ส.ฝ่ายค้าน 1 คนรัฐบาล 1 คน เข้าไปนั่งอยู่ในสภากลาโหม 2 คนเท่านั้นเพราะปัจจุบันสภากลาโหมมีถึง 28 คนเป็นนายทหารทั้งหมด ซึ่งจะเป็นผลดีที่ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งจะเข้าไปเป็นหูเป็นตาว่าในสภากลาโหมมีเรื่องพิจารณาอะไรกัน
หลังจากปิยบุตรกล่าวถึงข้อเสนอเพิ่มเกี่ยวกับระบบตรวจสอบต่างๆ หลังยกเลิกวุฒิสภา เขาอภิปรายต่อถึงข้อเสนอการปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ โดยระบุว่าศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระเกิดขึ้นในประเทศไทยหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นดอกผลของการปฏิรูปการเมืองมาตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 และในที่สุดก็นำมาซึ่งการออกแบบรัฐธรรมนูญ 2540
รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 มีเป้าหมายคือการมีการเมืองที่มีเสถียรภาพและระบบตรวจสอบอำนาจรัฐของรัฐบาล และการประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน จึงมีการออกแบบองค์กรตรวจสอบต่างๆ มากมาย หลายอย่างก็นำรูปแบบของต่างประเทศมาใช้หรือนำปรับปรุงหรือมาจากงานศึกษาทางวิชาการ แต่เมื่อใช้งานไปก็เกิดปัญหาขึ้นมา
ปิยบุตรอธิบายว่า ตอนออกแบบศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระได้ทำให้ที่มาขององค์กรเหล่านี้หลุดไปจาก ส.ส.โดยให้ ส.ส.เข้าไปมีส่วนเฉพาะการสรรหาเท่านั้นจากนั้นเสนอให้วุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งเช่นกันให้ความเห็นชอบ ซึ่งในตอนนั้นก็หวังว่าจะมีทั้งรัฐบาลและระบบตรวจสอบที่เข็มแข็ง
ภายหลังกลับเกิดข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลไปครอบงำวุฒิสภาเพื่อครอบงำที่มาของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระอีกทีหนึ่ง เป็นหนึ่งในข้ออ้างของการทำรัฐประหาร 19ก.ย.49 หลังจากนั้นก็มีการทำรัฐธรรมนูญ 2550 ขึ้นมาและออกแบบให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งครึ่งหนึ่ง แต่งตั้งครึ่งนึง และเพิ่มบทบาทให้ตุลาการศาลปกครองและผู้พิพากษาศาลฏีกาสามารถคัดเลือกหรือเข้ามานั่งในศารัฐธรรมนูญและองคืกรอิสระได้มากขึ้นเรื่อยๆ
ปิยบุตรเล่าต่อไปว่าสุดท้ายก็ยังเกิดการรัฐประหารปี 2557 ที่นำมาซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของพล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ในฐานะหัวหน้า คสช. มาเป็นคนเคาะคนสุดท้ายว่าใครเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระโดยที่หลายคนมาจากความเห็นชอบของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ในสมัยที่ คสช. ยึดอำนาจมาด้วย
“นี่ย่อมแสดงให้เห็นชัด ว่าต่อให้คุณอมพระมาพูด ต่อให้คุณพูดทุกวันคุณเป็นกลางต่อให้คุณพูดทุกวันว่าเป็นอิสระ ต่อให้รัฐธรรมนูญเขียนว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นกลางและอิสระ ต่อให้รัฐธรรมนูญเขียนว่าองค์กรอิสระมีความเป็นกลางและอิสระ แต่ข้อเท็จจริงมันปรากฏให้เห็นอย่างที่เป็นที่ประจักษ์ชัด ว่าที่มานั้นมันไปเชื่อมโยงกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มาจากการแต่งตั้งของคุณประยุทธ์ เชื่อมโยงกับสมาชิกวุฒิสภา 250 คนที่ไปเชื่อมโยงกับหัวหน้า คสช.ก็คือคุณประยุทธ์นั่นเอง” ปิยบุตรกล่าวอธิบายความเชื่อมโยงในการแต่งตั้งในองค์กรกอิสระต่างๆ
ปิยบุตรยังกล่าวต่อไป ว่าผลงานที่ผ่านมาของศาลรัฐธรรมนูญ คำตัดสิน การชี้ขาดหลายเรื่องนำไปสู่ปัญหากับสังคม มีการตั้งคำถามจากประชาชนว่าสุดท้ายแล้วเรามีศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตรวจสอบหรือกลายเป็นเครื่องมือให้ฝักฝ่ายทางการเมืองเข้าไปช่วงชิงกันแน่ และที่ผ่านมาเราก็ไปเพิ่มอำนาจให้กับศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระมากขึ้นจนสามารถชี้ชะตาทางการเมืองและนักการเมืองจำนวนมากได้ ทำให้ทุกฝ่ายการเมืองไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเลือกตั้งหรือจะรัฐประหารเข้ามาก็ตามพยายามเข้ามาช่วงชิงและครอบงำองค์กรเหล่านี้ที่ให้คุณให้โทษทางการเมืองได้อย่างมหาศาล
ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่เราจำเป็นต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่าในเมื่อทุกฝ่ายต่างอยากจะเข้ามาครอบงำกำหนด แล้วต่อให้ออกแบบวุฒิสภาอย่างไรก็หนีการครอบงำทางการเมืองไม่พ้นเพียงแต่คนที่จะเข้ามาครอบงำเป็นส.ว.แต่งตั้งเท่านั้นเอง จึงควรแบ่งสรรปันส่วนอำนาจให้เท่าเทียมกัน
ปิยบุตรกล่าวถึงข้อเสนอว่า ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมี 9 คนเหมือนเดิม ส่วนหนึ่งมาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาและที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด เป็นผู้คัดเลือกมา 6 คน ส.ส.ฝ่ายค้านเสนอมาอีก 6 คน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเสนอมาอีก 6 คน รวมแล้วเป็น 18 คน แล้วนำเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรคัดเลือกให้เหลือฝั่งละ 3 คน ด้วยมติ คือ 2 ใน 3 เพื่อป้องกันไม่ให้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรยึดองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญได้ซึ่งจะทำให้สัดส่วนสมดุลมาก เขากล่าวว่าข้อเสนอนี้นำต้นแบบมาจากออสเตรีย
“ถ้าต้องมีศาลรัฐธรรมนูญ ต้องสร้างความชอบธรรมทางประชาธิปไตยให้กับสาลรัฐธรรมนูญ เพราะศาลรัฐธรรณูญจะต้องเผชิญหน้าอำนาจนิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นคนที่จะมาเป็นศาลรัฐธรรมนูญจำเป็นจะต้องมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยที่พอฟัดพอเหวี่ยงกันจึงเป็นที่มาที่เขาออกแบบให้ ส.ส.เข้ามามีบทบาทในการเลือกศาลรัฐธรรมนูญ” ปิยบุตรอ้างแนวคิดของนักกฎหมายฮานส์ เคลเซนที่ถูกนำไปใช้เป็นฐานในการมีศาลรัฐธรรมนูญทั่วโลก
ส่วนกรณีองค์กรอิสระก็ใช้หลักเดียวกันกับการสรรหาศาลรัฐธรรมนูญคือกำหนดให้มีที่มาจากสัดส่วนของสามฝ่ายทั้งจากการสรรหาของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาและที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดฝ่ายละ 3 คน ร่วมกับที่มาจากการสรรหาของ ส.ส.ฝ่ายค้านและรัฐบาลอีกฝ่าย ละ 4 คน โดยต้องใช้มติสองในสาม
ปิยบุตรยังกล่าวถึงการแก้ไขอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระให้กลับไปเหมือนเดิมคือการพิจารณากฎหมายว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ซึ่งเป็นหัวใจของการมีศาลรัฐธรรมนูญและวินิจฉัยเรื่องอำนาจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ขัดแย้งกัน หลังจากในช่วงที่ผ่านศาลรัฐธรรมนูญถูกเพิ่มอำนาจให้วินิจฉัยเรื่องทางการเมืองด้วยจึงต้องตัดเรื่องการวินิจฉัยคุณสมบัตินักการเมืองออก ยุบพรรคการเมือง หรือดูว่าใครล้มล้างการปกครองหรือไม่ออกไป รวมถึงการตัดอำนาจในการวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย เพราะบทบาทเหล่านี้ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามามีบทบาททางการเมืองมากขึ้น จึงต้องทำให้มีระบบการตรวจสอบถ่วงดุลกัน
เขายังเสนออีกว่าบรรดาผู้ดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ จะต้องไม่เคยเป็นคนที่ดำรงตำแหน่งจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารปี 2549 และปี 2557 มาก่อน เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระได้เป็นอิสระเสียที
เลขาฯ คณะก้าวหน้ายังเสอนให้มีการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระด้วย เขาเท้าความว่การถอดถอนแต่เดิมเคยสามารถทำได้ตามรัฐธรรมนูญ 2540 แต่รัฐธรรมนูญ 2560 กลับไปยกอำนาจในการตัดสินให้ศาลฏีกาที่มีหน้าที่ตัดสินคดีความแพ่งและอาญาที่จะใช้เรื่องข้อกฎหมายมาตัดสินในเรื่องการผิดจริยธรรมเรื่องความเหมาะสมมมาตัดสินแทน เขาเห็นว่าควรจะดึงกลับมาให้ฝ่ายการเมืองเป็นผู้พิจารณาแทน การถอดถอนต้องมีเหตุตามสมควร เช่น ส่อว่าทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่าใช้อำนาจโดยมิชอบขัดต่อรัฐธรรมนูญ ส่อว่าจะทุจริตต่อต่อความยุติธรรม แล้วเราเปิดให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าชื่อเสนอถอดถอนด้วย
ปิยบุตรกล่าวถึงกระบวนการในการพิจารณาถอดถอนศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระคือ นอกจากการดึงกลับมาให้ฝ่ายการเมืองผู้พิจารณาแล้วยังให้ประชาชนสามารถเข้าชื่อเพื่อถอดถอนได้ด้วย และจะต้องมีองค์คณะพิจารณาถอดถอน ซึ่งจะมีตุลาการศาลเข้ามานั่งร่วมกับ ส.ส. ให้มีคำวินิจฉัยด้วยมติที่สูงมาก หากมติองค์คณะฯ ให้ยกคำร้องก็ยกไป แต่ถ้าเห็นว่าควรถอดถอนก็ให้มาลงมติต่อที่สภาผู้แทนราษฎร์ ซึ่งต้องใช้มติ 3 ใน 4 จึงจะถอดถอนได้
“เราสร้างศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระมาเป็นองค์กรตรวจสอบ แต่คำถามที่ต้องคิดกันต่อคือแล้วใครตรวจสอบองค์กรตรวจสอบ หากไม่มีคนมาตรวจสอบองค์กรตรวจสอบ องค์กรตรวจสอบก็มีโอกาสใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยเช่นเดียวกัน” ปิยบุตรกล่าว
นอกจากนี้ ปิยบุตรยังกล่าวถึงข้อเสนอให้มีผู้ตรวจการศาลและผู้ตรวจการองค์กรอิสระ เป็นระบบถ่วงดุลกันระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายตุลาการ แม้ว่าในงานบริหารจะแยกออกมาเป็นอิสระได้ก็ยังต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกัน เขาเสนอว่าผู้ตรวจการจะมาจาก ส.ส.รัฐบาล 5 คน ส.ส.ฝ่ายค้าน 5 คน โดยไม่ได้มีอำนาจยกเลิกการตัดสินของศาลและองค์กรอิสระคือเมื่อศาลหรือองค์กรอิสระมีคำตัดสินแล้วก็มีผลทางการกฎหมาย
แต่ผู้ตรวจจะมีอำนาจหน้าที่เพียงเอาคำวินิจฉัยต่าง ๆ มาศึกษา วิเคราะห์ และประเมินผลกระทบ ทำเป็นรายงานเสนอต่อประชาชน ผู้ตรวจการเหล่านี้จะทำได้แค่เสนอแนะการบริหารไปที่ประธานศาลเท่านั้นแต่ผู้ตรวจการเหล่านี้จะเข้าไปนั่งในคณะกรรมการตุลาการและกรรมการศาลปกครองสูงสุดเพียง 1 คนเท่านั้นท่ามกลางผู้พิพากษาของศาลซึ่งต่อให้ออกเสียงไปอย่างไรก็ไม่มีผล แต่เพื่อให้อย่างน้อยที่สุดเป็นจุดเกาะเกี่ยวให้ผุ้แทนจากประชาชนเข้าไปดูการบริหารงานของศาล
ปิยบุตรย้ำอีกครั้งว่าการออกแบบระบบนี้ขึ้นมาเพื่อตรวจสอบถ่วงดุลเท่านั้น แต่ไม่สามารถเข้าไปครอบงำศาลหรือองค์กรอิสระได้
ปิยบุตรยังอภิปรายต่อไปถึงข้อเสนอการลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร ซึ่งประกอบด้วยการยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 279 ที่ว่าด้วยการรับรองให้บรรดาประกาศ/คำสั่ง คสช.และการกระทำที่เกี่ยวเนื่องทั้งหมดชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2560
ปิยบุตรระบุว่าการเขียนรัฐธรรมนูญเช่นนี้ สร้างหลุมดำให้กับระบบรัฐธรรมนูญและเป็นความด่างพร้อยให้กับกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ เท่ากับยอมให้ประเทศมีกฏหมายสองระบบ คือระบบทั่วไปทุกอย่าง สามารถถูกโต้แย้งที่ศาลได้หมด แต่อีกระบบหนึ่งคือบรรดาอำนาจของ คสช.จะชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 ไปชั่วกัลปวสารโดยที่ไม่สามารถโต้แย้งได้ การเขียนรัฐธรรมนูยแบบนี้เป็นเรื่องประหลาดเพราะเขียนไปจนถึงอนาคตในสิ่งที่ยังไม่เกิดให้ชอบรัฐธรรมนูญได้ด้วยและยังเอาสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วมาชอบตามรัฐธรรมนูญ 60 ได้ด้วย
“อะไรที่มันชอบด้วยรัฐธรรมนูญมันย่อมชอบโดยตัวมันเอง ยิ่งคุณเขียนให้มันชอบด้วยรัฐธรรมนูญแสดงว่ามันไม่ชอบ คุณรู้แยู่แก่ใจว่าคุณใช้อำนาจที่ผ่านมาอาจจะขัดรัฐธรรมนูญ 60 คุณเลยเขียนไว้ด้วยความกังวลใจ”
“ถ้าคุณมั่นใจว่าการกระทำหน้าคุณถูกต้องทั้งหมดคุณจะกลัวอะไร แต่ผมก็ได้ยินรัฐมนตรีท่านพูดอยู่บ่อยครั้งด้วย ว่าไม่ทำผิดกลัวอะไร ต้องเคารพกฎหมาย นี่แหละตัวอย่างของการเคารพกฎหมาย อันแรกคือยกเลิกมาตรา 279 ไปเสีย” ปิยบุตรกล่าว
ปิยบุตรยังกล่าวทำให้การนิรโทษกรรมรัฐประหารปี 2557 เป็นโมฆะ และให้สามารถดำเนินคดีกับผู้ยึดอำนาจในวันที่ 22 พ.ค.2557 ตามความผิดฐานกบฏ สามารถถูกดำเนินคดีได้ ซึ่งไม่ใช่การล้างแค้น แต่เพื่อป้องกันไม่ให้นายทหารรุ่นหลังมาทำรัฐประหารอีก
1
“การทำรัฐประหารเทื่อไหร่ที่ทำสำเร็จก็เป็นรัฐฏาธิปัตย์ แต่ถ้าแพ้เป็นกบฎก็โดนดำเนินคดี ป.อาญา มาตรา 113 ดังนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่เขาทำสำเร็จ เขายึดอำนาจแต่งตั้งตนเป็นรัฐฏาธิปัตย์ เขาก็นิรโทษกรรมตัวเองว่าอะไรที่ผิดกฎหมายบอกว่าไม่ผิด เมื่อเขียนกันแบบนี้ทำกันแบบนี้จนเป็นประเพณี จึงเป็นธรรมดาที่นายทหารแต่ละคนวันใดคันไม้คันมืออยากจะยึดอำนาจรัฐประหารก็ทำได้ เพราะเขารู้อยู่แล้วว่ายึดสำเร้จเขาจะไม่มีวันถูกลงโทษเขาจะไม่มีวันถูกดำเนินคดี แต่ถ้าเมื่อไหร่เขารู้ว่าทำแล้วมีความผิดเขาก็จะไม่กล้าทำ” ปิยบุตรอธิบายเหตุผลของข้อเสนอดังกล่าว
1
ปิยบุตรยังกล่าวถึงส่วนของสิทธิและหน้าที่ของประชาชนในการต่อต้านการรัฐประหารในทุกวิธีการ และให้บรรดาข้าราชการ ทั้งทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน มีหน้าที่ในการไม่ฟังคำสั่งของคนทำรัฐประหาร พร้อมกันนั้นยังเขียนให้ศาลพิพากษาในลักษณะเป็นการยอมรับการรัฐประหารด้วยเพราะที่ผ่านมาศาลก็มักจะมีคำพิพากษายอมรับอำนาจคณะรัฐประหารในฐานะเป็นรัฐฏาธิปัตย์
ปิยบุตรปิดท้ายการอภิปรายข้อเสนอของ Re-Solution ว่าทั้ง2 ประเด็นที่พูดไปนี้ จะเห็นได้ว่าไม่ได้เขียนขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของฝ่ายการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นการสร้างกติกาที่เป็นกลาง เพื่อนสมาชิกควรคิดอยู่เสมอ ว่าวันหนึ่งเราอาจจะเป็นฝ่ายค้าน วันหนึ่งเราอาจจะกลายมาเป็นรัฐบาล และวันนึงเราก็อาจจะกลับมาเป็นฝ่ายค้านได้อีก
1
รัฐธรรมนูญที่ดีต้องสร้างกติกาการเมืองในลักษณะที่ไม่ใช่เพื่อตัวเองแต่เพียงฝ่ายเดียว ตนอภิปรายมาถึงตรงนี้ ไม่เห็นเหตุผลอื่นใดที่สมาชิกรัฐสภาจะไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ที่พี่น้องประชาชนร่วมกันเข้าชื่อเสนอมา หากเพื่อนสมาชิกให้ร่างนี้ผ่านวาระแรกไปได้แต่ยังมีความเห็นที่แตกต่างกัน เรายังมีโอกาสในการปรับปรุงแก้ไขในวาระที่สอง และหากผ่านวาระที่สาม ก็ยังมีหนทางไปร้องศาลรัฐธรรมนูญได้อีกและยังต้องไปทำประชามติตอนจบอีกด้วยกระบวนการนี้ยังต่อเนื่องยาวนาน
1
ปิยบุตรจึงขอความเห็นชอบจากเพื่อนสมาชิกร่วมลงมติรับหลักการวาระที่หนึ่งไปก่อน อย่างน้อยที่สุดเพื่อเป็นการแสดงออกว่าพวกท่านไม่ได้ปิดประตูใส่พี่น้องประชาชนที่เข้าชื่อเสนอกันมา เป็นการแสดงออกว่าท่านพร้อมรับฟังร่างฯ ที่ประชาชนเสนอมา
1
“หากร่างนี้ผ่านไปได้ในท้ายที่สุด บังคับใช้ได้จริง เราจะได้ศาลรัฐธรรมนูญที่ทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เป็นหลักประกันของระบอบเสรีประชาธิปไตยอันมีพระมหากาตริย์ทรงเป็นประมุข เราจะไม่มีศาลรัฐธรรมนูญที่รับรองการรัฐประหาร ศาลรัฐธรรมนูญที่ตัดสินโดยเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ ศาลรัฐธรรมนูญที่นำมาซึ่งการก่อวิกฤติการณ์ทางการเมือง”
1
“หากร่างนี้ผ่านไปได้จริง เราจะมีองค์กรอิสระที่มีความเป็นกลางและความเป็นอิสระ ได้ดุลยภาพในทุกอำนาจ ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดด้วยกัน ไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือของทุกฝ่ายทางการเมือง คนทำรัฐประหารจะต้องถูกดำเนินคดีและการรัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต ทั้งหมดนี้เป็นประโยชน์ร่วมกันของประเทศชาติและประชาชน ขอความกรุณาเพื่อนสมาชิกรัฐสภาทุกท่านช่วยกันลงมติรับหลักการในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย” ปิยบุตรกล่าวทิ้งท้าย
โฆษณา