19 พ.ย. 2021 เวลา 06:05 • ความคิดเห็น
💡โรงเรียนประถมของสวิส🇨🇭
จัดให้มีนักสังคมสงเคราะห์เป็นที่ปรึกษาแก่เด็กนักเรียน
หากจะบอกว่าเด็กประถมมีชีวิตในวัยเรียนวัยเล่นอย่างสนุกสนานโดยมีความสุขทุกวันในโรงเรียน ก็จะเป็นความจริงที่ไม่ครบถ้วน เด็กเล็กก็มีความทุกข์ ความไม่สบายใจประสาเด็กเช่นกัน
จะดีแค่ไหนถ้าในโรงเรียนซึ่งเป็นโลกอีกหนึ่งใบของเด็ก ๆ มีใครคนหนึ่งคอยให้คำปรึกษา แนะแนวทางในการจัดการความรู้สึกทุกข์ร้อนทุกข์ใจแก่หัวใจดวงน้อย ๆ เพื่อให้ใช้ขีวิตในวัยเรียนได้อย่างราบรื่น สบายใจ
การจัดให้มีนักสงคมสงเคราะห์ในโรงเรียนประถม คือความใส่ใจต่อความรู้สึกของเด็กเล็กอย่างแท้จริง
ขอเล่าถึงเรื่องโรงเรียนประถมของมะลิซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการเปิดภาคเรียนใหม่ปีนี้
ทางบอร์ดของโรงเรียนตัดสินใจว่าจ้าง “นักสังคมสงเคราะห์” ให้มาประจำโรงเรียนประถมในสังกัด ซึ่งรวมอยู่ใน 3 เมืองเล็กร่วมกัน
☝️ก่อนอื่นต้องท้าวความระบบการบริหารโรงเรียนของประเทศนี้ก่อนว่า แม้โรงเรียนหรือสถานศึกษาประจำเมืองจะขึ้นตรงต่อรัฐ คือได้เงินสนับสนุนจากรัฐบาลกลางเป็นหลัก แต่การบริหารจะยกให้กับการปกครองท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นคณะกรรมการบริหารโรงเรียนซึ่งมีการเลือกตั้งท้องถิ่นโดยผู้คนที่อาศัยอยู่ในเขตนั้น ๆ
เข้าใจว่าน่าจะเป็นระบบเดียวกันกับที่อเมริกา เพราะเคยดูหนังดูละครของทางฝั่งอเมริกา ที่บอร์ดของโรงเรียนเป็นผู้ชี้เป็นชี้ตายไล่ออกครูใหญ่ หรือกดดันให้มีบทลงโทษต่าง ๆ ในโรงเรียนได้
ที่สวิสนี้เองก็เช่นกัน บอร์ดของคณะกรรมการบริหารโรงเรียนประถมที่นี่ก็จะเป็นผู้บริหารนโยบายต่าง ๆ อาทิ ว่าจ้างพนักงาน / ครูในโรงเรียน จัดการเกี่ยวพื้นที่ในโรงเรียน จัดการเรื่องรับส่ง ฯ รวม ๆ คือบริหารงานโรงเรียนในเครือในเขตนั่นแหละ
ในปีการศึกษาใหม่นี้ซึ่งเริ่มต้นเมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีการจัดจ้าง “นักสังคมสงเคราะห์” ให้เข้ามาประจำที่โรงเรียนประถมที่มะลิอยู่ หน้าที่รวมคือให้คำปรึกษากับทุกคนในโรงเรียน คอยประสานงานให้บรรยากาศในโรงเรียนดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน นักเรียนกับนักเรียน หรือครูกับผู้ปกครอง
มะลิขึ้น ป.3 ในปีนี้ มีเรื่องที่เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มากที่ทำให้เธอรู้สึกไม่อยากไปโรงเรียนเลย เรื่องมาจากมีครูประจำชั้นคนใหม่เข้ามา ซึ่งอาจจะไม่ตรงจริตของเธอ กลับมาบ้านทุกเย็นจะเล่าว่าไม่สนุกเลย ครูไม่น่ารักเหมือนครูคนเก่าชั้นป.2 / ครูทำโทษทั้งห้องทั้ง ๆ ที่คนทำผิดมีแค่คนเดียว / ครูใช้เสียงที่ดังดุเด็กเกเรในห้องบ่อยมาก ซึ่งถึงแม้ไม่ได้ดุเธอแต่ทำให้บรรยากาศในห้องไม่น่าเรียน และหดหู่ ตอนเธอเล่าก็มีบางครั้งถึงกับกลั้นน้ำตาไว้ไม่ได้ก็มี ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เป็นกับมะลิคนเดียว
วันหนึ่งแม่อีกคนที่อยู่ใกล้กันก็เดินมากดกริ่งที่บ้านแล้วเล่าว่าลูกชายเธอไม่อยากไปโรงเรียนเลยซึ่งแปลกมาก พอถามก็จับใจความได้ว่าเกิดความรู้สึกเดียวกันกับมะลินั่นเอง คือคุณครูคนใหม่สร้างบรรยากาศในห้องเรียนได้ไม่ดีนัก
เรื่องนี้ผู้ปกครองก็คิดจะรวมตัวกันเข้าพบกับครูประจำชั้นและตั้งใจจะแจ้งเรื่องนี้ให้ทราบ แต่การเข้ามาของ “นักสังคมสงเคราะห์” ในจังหวะที่พอดีกัน ทำให้เหล่าผู้ปกครองจะรอดูกันไปก่อน
👩🏼นักสังคมสงเคราะห์ท่านนี้เป็นผู้หญิง เด็ก ๆ เรียกเธอว่า มิสซิสดี (นามสมมติ) เธอได้เข้ามาแนะนำตัวและบอกหน้าที่ของเธอให้กับเด็ก ๆ ได้รับรู้ว่า เธอพร้อมจะรับฟังในทุกเรื่องที่เด็ก ๆ มีปัญหา โดยทุกเรื่องจะถูกรักษาไว้เป็นความลับ และหากมีการดำเนินการอะไรที่เกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นชื่อของทุกคนก็จะไม่ถูกเปิดเผยเช่นกัน โดยเด็ก ๆ สามารถจะเดินเข้าไปพูดกับมิสซิสดีโดยตรง จะเขียนจดหมาย (มีกล่องรับเรื่องบนโต๊ะ) หรือจะมาลงชื่อขอใช้เวลาพูดคุยส่วนตัวก็ได้
เรื่องนี้เด็ก ๆ ในห้องของมะลิตื่นเต้นกันมาก มะลิเองก็เช่นกัน เธอบอกว่าเธอและเพื่อน ๆ คิดกันไว้ว่าจะไปบอกเรื่องครูประจำชั้นกับมิสซิสดี
ในเดือนแรก ๆ ได้ข่าวว่าคิวการขอเข้าพูดคุยกับมิสซิสดียาวเป็นหางว่าว นอกจากนี้มิสซิสดีก็จะเข้าร่วมกิจกรรมในบางวิชา เช่นวิชาพละ จะมีเกมส์หรือกิจกรรม (ทางจิตวิทยาเด็ก) มาร่วมเล่นด้วย ทำให้เด็ก ๆ ยิ่งรู้สึกใกล้ชิดและเป็นกันเองกับมิสซิสดีมากพอที่จะเล่าเรื่องราวทุกข์ร้อน คับข้องใจให้ฟัง
เมื่อถึงวันที่มะลิต้องเข้าพบกับมิสซิสดี เธอเตรียมหัวข้อจะพูดคุยปรึกษาอย่างดี แต่พอถึงเวลาเข้าจริง ๆ เรื่องที่เธอปรึกษา กับเป็นเรื่องอื่น เป็นเรื่องที่บางครั้งเธอรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง รู้สึกเหมือนทุกคนจับจ้องมองเธอตลอดเวลา ทำให้เวลาออกไปยืนหน้าชั้นเรียนแล้วกลัว หรือบางครั้งก็ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นเวลาครูถาม เพราะกลัวคนอื่นจะจ้องมองจับผิด
1
ฟังลูกเล่าแล้วนึกถึงการเข้าพบจิตแพทย์ในปัจจุบันของผู้ใหญ่ แต่สิ่งนี้เกิดขึ้นในโรงเรียนประถมกับเด็กอายุ 9 ขวบ ซึ่งส่วนตัวรู้สึกว่าเป็นสิ่งดีงามมาก ไม่ใช่ว่าลูกจะไม่ปรึกษาเรา แต่โลกในบ้านที่อบอุ่นปลอดภัย ไม่ใช่โลกในโรงเรียนที่เธอใช้เวลาทั้งวันตลอดสัปดาห์ การมีใครสักคนที่เด็กรู้สึกว่าสามารถเข้าอกเข้าใจและอยู่ร่วมในโลกของเขา คอยรับฟังและให้คำปรึกษา คือการสร้างโซนปลอดภัยให้เด็ก ๆ เช่นกัน
1
นอกจากรับฟังแล้ว มิสซิสดียังมีกิจกรรมทางจิตวิทยาในการแก้ปัญหา ให้เด็ก ๆ วาดรูปออกมาเพื่อหาทางออก หรือให้เขียนแสดงความรู้สึก ซึ่งมะลิจะกลับมาบ้านพร้อมกับผลลัพธ์ที่ทำให้เธอมีแนวทางในการจัดการความรู้สึกตัวเองได้ดีขึ้น
2
นี่คือเรื่องที่รู้สึกดีกับระบบการจัดการศึกษาชั้นประถมของที่นี่ การบ้านไม่มี เน้นการเรียนวิชาการตามความสามารถของเด็กแต่ละคน มีกิจกรรมที่ได้ใช้มือและทักษะ มีช่วงโมงพละเยอะ และที่สำคัญตอนนี้มีนักสังคมสงเคราะห์มาคอยดูแลจิตใจเด็ก ๆ เพิ่มด้วย จะมีอะไรอุ่นใจไปมากกว่านี้
2

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา